วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

ทรรศนะ Toynbee ‘อำนาจและการเมือง’ เรื่องที่ทุกคนต้องการและอยากรู้? / โดย เรืองยศ จันทรคีรี

On September 19, 2016

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร
ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี

สำหรับข้อเขียนบทนี้ผมต้องขออนุญาตเขียนถึงตัวเองบ้าง คิดว่าผู้อ่านที่ติดตามคงรู้จักชื่อเสียงของผมมาพอสมควรและคงแปลกใจไม่น้อย เพราะผลงานส่วนใหญ่ในอดีตจะเป็นงานวิเคราะห์ทางการเมืองและงานข่าว รวมทั้งเกี่ยวกับวรรณกรรมซึ่งเป็นบทกวีและเรื่องสั้น แต่ตอนนี้เหมือนพลิกบทมาจับประวัติศาสตร์อย่างเดียว

ข้อนี้คงขอเรียนว่า ข้อหนึ่ง เพราะผมพบความจริงว่าการศึกษาประวัติศาสตร์เหมือนกับการว่ายน้ำไปในทะเล ซึ่งไม่มีขอบเขตสิ้นสุด ทำให้เราต้องแสวงหาความรู้อย่างรอบด้าน ข้อสอง เนื่องจาก 5 ปีที่ผ่านมา ผมได้รับบาดเจ็บและล้มป่วยกลายสภาพเป็นคนพิการ เพียงแต่สมองในส่วนความคิด ความจำ การใช้วาจา และการใช้มือข้างขวายังเหมือนคนปรกติทั่วไป ผมจึงต้องใช้งานประวัติศาสตร์มาเป็นโอสถรักษาตัวเอง คือใช้ชีวิตอยู่เพียงการอ่านและการค้นคว้า ทำให้เป็นคนพิการที่พอมีสาระอยู่บ้าง ข้อสาม จากการเขียนงานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ทำให้ผมพอมีรายได้อยู่บ้างแม้ไม่มากมายนัก ข้อสี่ เป็นการเตรียมพื้นฐานเพื่อตอบสนองปณิธานและความฝันของผม ซึ่งรู้ตัวดีว่าผมเกิดมาเพื่อจะเขียนนวนิยายแค่ 5 เล่ม และแต่ละเล่มจะต้องใช้ความรู้ทางประวัติศาสตร์มากมาย

นวนิยายเรื่องแรกที่จะเขียนจะเป็นวรรณกรรมสำหรับเยาวชน แต่สามารถสื่อสารกับผู้ใหญ่ได้ และตั้งใจจะเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเริ่มติดต่อกับตัวแทนสำนักพิมพ์ต่างประเทศไว้บ้างแล้ว คงจะเริ่มต้นลงมือในเร็วไวนี้ วรรณกรรมเรื่องชื่อ “ลูกอ๊อด” โดยจะเขียนในภาคภาษาไทยก่อนแล้วค่อยแปลเป็นภาษาอังกฤษ เป็นวรรณกรรมเกี่ยวกับปรัชญาทางพุทธ

นวนิยายเรื่องต่อมาผมมีพล็อตเรียบร้อยแล้วและตั้งชื่อว่า “Lord of himmapanta VS The little princess from digital world” เรื่องนี้เป็นปรัชญาความขัดแย้งระหว่างโลกเก่าแห่งอดีตกับโลกใหม่แห่งอนาคต เขียนให้อ่านอย่างสนุกสนาน ซึ่งต้องใช้ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก เรื่องนี้ตั้งใจจะเขียนในบั้นปลายจริงๆ อาจจะอีก 5 ปีข้างหน้า และนวนิยายเรื่องสุดท้ายซึ่งจะลงมือเขียนในปีหน้านี้ตั้งชื่อไว้ว่า “เฝ้ารอคอยฤดูดอกปีบบาน” เป็นเรื่องราวของโศกนาฏกรรมเกี่ยวกับความรัก ความขัดแย้งหรือย้อนแย้งทางอุดมการณ์ ความขัดแย้งทางการเมืองและอำนาจ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์และการปกครอง โดยมีความตั้งใจว่านวนิยายเรื่องดังกล่าวนี้คือการหล่อหลอมและตกผลึกทั้งจากการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและการใช้ชีวิตจริงมาเกือบจะ 60 ปี

ที่ผมเปิดพล็อตโดยไม่เกรงว่าใครจะลอกเลียนได้เพราะมีเหตุผล 2 ประการ ประการแรก เขาจะต้องทุ่มเทการศึกษาค้นคว้าทั้งประวัติศาสตร์การเมืองและปรัชญาอย่างน้อยเป็นเวลา 40 ปีติดต่อกัน และประการที่ 2 เขาจะต้องลงทุนเอาชีวิตตัวเองไปแลกกับประสบการณ์ที่เป็นจริง ซึ่งล้วนเต็มไปด้วยความปวดร้าว โดยผมไม่เชื่อว่าใครจะกระทำเช่นนั้นได้

“เฝ้ารอคอยฤดูดอกปีบบาน” เป็นงานวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ที่ผมตั้งใจเขียน เกิดมาเพื่อนวนิยายเรื่องนี้เรื่องเดียวและเป็นเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่ผมจะกระทำได้ เพื่ออุทิศให้เป็นข้อคิดแก่บ้านเมืองของตัวเองและเขียนรำลึกถึงคนรักเพียงคนเดียวที่ต้องจากไปอย่างไม่มีวันกลับมา ซึ่งเกิดจากความขัดแย้งและสงคราม

ข้างต้นนั้นค่อนข้างจะรำพันไร้สาระเกี่ยวกับตนเอง มาเข้าเรื่องของ Arnold Toynbee บ้าง เขามีข้อคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ในโลกนี้มีคำถามอยู่ 3 คำถาม คำถามแรกคือ “การมีอยู่จริงนั้นมีอยู่อย่างไร?” คำถามที่สอง “มีอะไรกี่ชนิดที่จะดำรงอยู่ได้บ้าง?” และคำถามสุดท้าย “สภาวะที่ดำรงอยู่จะพัฒนาและคลี่คลายเพื่อการดำรงอยู่ได้อย่างไร?”

ประวัติศาสตร์ไม่ใช่เป็นเพียงหนังสือเล่มหนึ่งที่น่าเบื่อหน่าย จริงๆแล้วไม่อาจบอกได้ด้วยภาษา หรือไม่อาจมีรายละเอียดในหนังสือแต่ละชุดที่จะบ่งบอกอะไรได้ละเอียดอ่อนทั้งหมด แต่เป็นความรู้สึกที่กระตุ้นให้เรารู้สึกถึงยุคสมัยที่ตัวเองดำรงอยู่

นอกจากนั้นอาจจะมีคนถามว่าประวัติศาสตร์มีประโยชน์อะไร ที่ชัดเจนที่สุด ประวัติศาสตร์จะเกิดประโยชน์เฉพาะผู้มีสติปัญญาที่จะใช้เป็นคู่มือในการเดินทางไปข้างหน้าของตัวเอง ประวัติศาสตร์ยังก่อให้เกิดประกายที่เพริศพริ้งและบรรเจิดในทางสมอง และประการสำคัญสามารถนำมาเป็นคู่มือตรวจสอบอนาคต ซึ่งพอจะตอบคำถามได้ว่าภายในทศวรรษข้างหน้าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ผมอ่านงานเขียนของ Toynbee ซึ่งพยากรณ์ไว้เมื่อ พ.ศ. 2482 ล่วงหน้าก่อนเหตุการณ์จริงจะเกิดขึ้นเป็นเวลา 10 ปี ข้อแรกพยากรณ์ว่า สหภาพโซเวียตที่ยิ่งใหญ่จะล่มสลายและพ่ายแพ้ลัทธิชาตินิยม ข้อต่อมาพยากรณ์ว่า ถึงที่สุดแล้วลัทธิทุนนิยมจะประสบชัยชนะ และประการสุดท้ายซึ่งเราเห็นผลมาจนปัจจุบัน เขาพยากรณ์ว่าวัฒนธรรมตะวันตกจะเป็นพื้นฐานในการครอบงำโลก

มีข้อน่าสังเกตประการหนึ่งซึ่ง Toynbee ฝากเป็นข้อคิดโดยระบุว่า ปัญหาความอยุติธรรมในสังคมจะก่อให้เกิดความเกลียดชังและความโกรธ ซึ่งจะต้องระวังผู้คนจะอาศัยความรุนแรงโดยคิดว่าเป็นทางเดียวที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆให้ลุล่วงได้ ซึ่งข้อนี้ผมไม่เห็นด้วยเช่นเดียวกับ Toynbee

สุดท้าย Toynbee ได้สรุปว่า สิ่งที่มนุษยชาติทุกคนปรารถนาให้ประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งอำนาจและการเมือง และไม่ต้องการให้มีระบบอภิสิทธิ์ชน มีคำตอบอยู่เพียง 4 ประการเท่านั้น ซึ่งเขียนเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Hope-Bread-Peace คือทุกคนมีความต้องการเพียงให้ตัวเองอยู่อย่างมีความหวัง มีอาหารบริโภค และต้องการให้สังคมเกิดการปรองดองและมีสันติภาพ

นี่คือ 4 ประการของ Toynbee ซึ่งอาจแตกต่างจากที่พระพุทธเจ้าสอนในเรื่องปัจจัย 4 แต่คงไม่ได้แตกต่างจาก Toynbee นัก คือที่แตกต่างมีอยู่ 2 ข้อคือ Hope และ Peace ข้อคิด 4 ประการในเรื่องของ Hope-Bread-Peace พรรคการเมืองใดจะนำไปใช้เป็น concept เพื่อเขียนเป็นนโยบายหาเสียงก็เข้าทีดีนะครับ!


You must be logged in to post a comment Login