วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567

ทรรศนะ Toynbee ต่ออิสลาม ควันหลงการเจรจากับมาราปัตตานี / โดย เรืองยศ จันทรคีรี

On September 12, 2016

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร
ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี

ทรรศนะของ Arnold Toynbee เกี่ยวกับศาสนาอิสลามเป็นเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ ในข้อเขียนของเขาบอกว่า ศตวรรษที่ 20 คือเรื่องของการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นยุคของสงคราม แต่มาถึงศตวรรษที่ 21 เขาเห็นว่าโลกนี้เป็นยุคสมัยของวัฒนธรรมและมนุษยธรรม ตลอดจนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี นี่เองคือสิ่งที่บอกว่าความรู้ของ Toynbee เป็นความรู้ที่กว้างขวาง ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะประวัติศาสตร์และปรัชญา หากแต่เป็นไปทั่วบริบท แม้กระทั่งวิทยาศาสตร์และเศรษฐศาสตร์

ขอกล่าวถึงผลงานชิ้นหนึ่งของ Toynbee ซึ่งเป็นหนึ่งในชุดผลงานใหญ่ A study of history ที่ชื่อ “decline of the west” หรือ “การปฏิเสธวัฒนธรรมตะวันตก” ความจริงแล้วงานเขียนเกี่ยวกับการปฏิเสธวัฒนธรรมตะวันตก คนที่เริ่มต้นคือ Oswald Spengler นักปรัชญาประวัติศาสตร์ชาวเยอรมันที่ให้ความสนใจประวัติศาสตร์และคณิตศาสตร์ นับเป็นผู้มีชื่อเสียงมากในเยอรมนีอย่างนิทเช่ แม้งานเขียนของ Spengler จะถูกบางฝ่ายมองว่าโน้มเอียงเข้าข้างลัทธิชาตินิยมและเชียร์นาซี แต่โดยรวมแล้วมีอิทธิพลต่อ Toynbee ไม่น้อย

Spengler มองว่าอารยธรรมมีจุดสูงสุดของมัน ทำให้เราพอคิดคำนวณเรื่องอายุได้ ตรงนี้เองที่ Toynbee จับมาขยายความกลายเป็นทฤษฎีวงจรชีวิตของอารยธรรมที่มีการเกิด มีวิกฤต ซึ่งเป็นช่วงยากลำบากในการแก้ไขปัญหา จนเข้าสู่สถานการณ์ทั่วไปก่อนจะถึงขั้นสุดท้ายคือการทำลายตัวเอง

งานเขียนของ Spengler มองว่ามีวัฒนธรรมที่เข้มแข็งเป็นคู่ขนานซึ่งต่อสู้และขัดแย้งกันอยู่ โดยแนวคิดเรื่อง parallel วัฒนธรรมคู่ขนานนี้ถูกนำมาใช้ในงานเขียนของ Toynbee กรณีวัฒนธรรมโรมัน ซึ่งมีส่วนผสมของวัฒนธรรมกรีก เกิดคู่ขนานขัดแย้งกับลัทธิความเชื่อศาสนาคริสต์ในยุคนั้น ก่อนที่อาณาจักรโรมันจะแบ่งเป็น 2 ฝ่าย และถูกบุกรุกด้วยนานาอารยชน จนกระทั่งมีการแผ่อิทธิพลของพวกอิสลามจากตะวันออกกลางเข้ามาจนเกิดเป็นสงครามครูเสด นั่นเป็นความขัดแย้งเริ่มต้นของคริสต์และอิสลาม ถือเป็นการปฏิเสธตะวันตกที่เห็นชัดเจนมาก

ในทรรศนะความรู้ของปราชญ์ชาวอิสลามมองว่า สงครามครูเสดยังไม่ยุติ แต่ดำเนินอย่างต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่จะลงความเห็นว่ากระแสโลกาภิวัตน์คือความพยายามควบคุมโลกให้อยู่ในกำมือของตะวันตก โดยสหรัฐอเมริกาถูกหนุนหลังโดยลัทธินายทุนยิวสากล ดังนั้น อิสลามจึงต้องต่อต้านตะวันตก พวกเขายังอธิบายว่า มันคือความขัดแย้งระหว่างอธรรมกับธรรมะ หรือระหว่างคำสั่งสอนของพระเจ้ากับพวกซาตาน

โดยข้อเท็จจริงแล้ว Toynbee ก็ให้ความสำคัญต่อการศึกษาเรื่องลัทธิความเชื่อของศาสนาต่างๆ รวมทั้งศาสนาอิสลาม โดยเห็นว่าจุดแข็งและข้อเด่นที่สุดของศาสนาอิสลามคือการสลายเส้นแบ่งของลัทธิชาตินิยมด้วยคำสอนที่ว่ามุสลิมทั้งหลายเป็นพี่น้องกัน แต่คำสอนของอิสลามบริสุทธิ์เช่นนี้ย่อมก่อเกิดเสียงร่ำไห้และความเจ็บปวดของเหยื่อบริสุทธิ์เกิดขึ้น ตรงนี้ Toynbee ทิ้งท้ายว่า ศาสนาและลัทธิต่างๆในโลกมักเลี่ยงที่จะเกิดเหยื่อแบบบาปบริสุทธิ์ ซึ่งสมการนี้ยังอยู่คู่โลกจนถึงปัจจุบัน ทำให้เขาตั้งข้อสังเกตว่าวันหนึ่งข้างหน้ามนุษย์อาจจำเป็นต้องเลือกการสวดภาวนาด้วยพลังในตนเอง หรือการพึ่งพิงอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า

เมื่อวันที่ 2 กันยายน มีการพูดคุยที่เรียกว่า “การส่งเสริมสันติภาพ” ระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มมาราปัตตานี หรือแนวร่วมปฏิบัติการแห่งชาติปัตตานี ซึ่งเป็นองค์กรร่มธงที่มีขบวนการต่างๆร่วมถึง 6 ขบวนการ เป็นการเจรจาปรองดองหรือเจรจาสันติภาพ แต่ยังไม่ถึงขั้นลงนาม MOU ปัญหาก็มาสะดุดที่ข้อตกลงจะต้องสร้าง “พื้นที่ปลอดภัยสาธารณะ” หรือภาษายาวีเรียกว่า “ตือเปาะออแกรามา”

โดยส่วนตัวผมไม่ใช่เป็นการยกหัวชูหางตัวเอง แต่ผลงานที่ผ่านมาในอดีตไม่ว่าจะถามความเห็นของนักหนังสือพิมพ์อย่างสุทธิชัย หยุ่น สนธิ ลิ้มทองกุล หรือพันศักดิ์ วิญญรัตน์ บุคคลเหล่านี้คงให้เครดิตผมพอสมควรในผลงานเกี่ยวกับปัญหามุสลิมภาคใต้ ดังนั้น ข้อเขียนชิ้นนี้คงเกิดประโยชน์แก่ฝ่ายต่างๆบ้าง เพื่อจะได้นำไปสู่ข้อสรุปในอนาคต เพราะเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้นั้น ทุกกลุ่มทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายขบวนการหรือฝ่ายรัฐก็บอกว่าตัวเองไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ผมขอตั้งข้อสังเกตเป็นพิเศษว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่สถานการณ์ต่างๆไม่ได้เกิดขึ้นจากฝีมือของขบวนการแบ่งแยกดินแดน และไม่ได้เป็นการสร้างสถานการณ์ของฝ่ายรัฐ แต่อาจเกี่ยวเนื่องจากแนวคิดเรื่อง decline of the west คือเป็นการต่อสู้ของ 2 อารยธรรมระดับโลกระหว่างอารยธรรมตะวันตกกับอารยธรรมของอิสลาม

ถ้าเราย้อนไปดูเหตุการณ์ในอดีตจากกรณีพระพุทธรูปบามิยันในอัฟกานิสถานที่ถูกรัฐบาลตอลิบานทำลายลง ครั้งนั้นได้ก่อความเสียหายแก่ศาสนาอิสลามมาก กลายเป็นว่าถือเคร่งสุดขั้วและทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นความคิดและความเชื่อของศาสนาอื่นๆ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นการขัดกับคำสอนของศาสนาอิสลามเองที่สั่งสอนว่า “ศาสนาของท่าน ท่านจงปฏิบัติ ศาสนาของเรา เราก็ปฏิบัติ ต่างก็ให้เกียรติซึ่งกันและกัน” นี่เองคือความหมายที่ว่า “ศาสนาอิสลามคือศาสนาแห่งสันติภาพ”

ผมจึงขอตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า ความรุนแรงต่างๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่มีผลสะท้อนอย่างหนึ่งเหมือนกันคือ เป็นการทำลายหลักการของอิสลาม ตรงนี้น่าจะเกิดคำถามว่าใครได้ประโยชน์ และคงต้องจบด้วยภาษายาวีที่ว่า “สา ปอ วะ กา ปอ” แปลเป็นไทยว่า “ใครเป็นคนทำอะไรกัน?”

ถ้าตอบคำถามตรงนี้ไม่ได้ เหยื่อบาปบริสุทธิ์ก็ต้องเกิดขึ้นต่อไป ทุกคนและทุกฝ่ายต้องไปคิดโจทย์นี้ให้ออก สันติภาพจึงจะพอมีความหวังบ้าง


You must be logged in to post a comment Login