วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2567

จากมักก๊ะฮฺสู่มะดีนะฮฺ จากวิกฤตสู่โอกาส

On November 24, 2023

คอลัมน์ : สันติธรรม

ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่  24 พ.ย.  66 )

สิบสามปีเต็มๆที่นบีมุฮัมมัดเผยแผ่สั่งสอนเรื่องความศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียวท่ามกลางการต่อต้านของชาวเมืองมักก๊ะฮฺส่วนใหญ่ที่เสพติดการกราบไหว้เจว็ดบูชาและผลประโยชน์ทางวัตถุ  ตลอดระยะเวลาดังกล่าว  นบีมุฮัมมัดไม่เคยสั่งมุสลิมที่อ่อนแอและมีจำนวนน้อยใช้กำลังโต้ตอบ  แต่ท่านกำชับสาวกทุกคนให้ใช้ความอดทนอดกลั้นและการวิงวอนขอความช่วยเหลือต่อพระเจ้าเป็นอาวุธ

แต่เมื่อสถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆจนถึงขั้นหากอยู่ก็ถูกไล่ หากไม่ไปก็ถูกฆ่า  ในที่สุด พระเจ้าได้มีบัญชาให้ท่านอพยพออกจากมักก๊ะฮฺไปสู่เมืองยัษริบหรือมะดีนะฮฺ

ยัษริบมีปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้แก่การปฏิบัติภารกิจเผยแผ่อิสลามเป็นอย่างมาก  เพราะยัษริบเป็นเมืองที่มีพื้นที่ทำการเกษตร ผิดกับมักก๊ะฮฺที่ปลูกอะไรไม่ได้เลย  และที่นั่นเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชุมชนพหุวัฒนธรรมที่เมล็ดพันธุ์แห่งอิสลามเติบโตได้ง่ายด้วยเหตุผลสองสามประการ

ประการแรก  ยัษริบมีสองเผ่าใหญ่ที่อพยพมาจากเยเมนเมื่อหลายร้อยปีก่อน  แต่สองเผ่านี้ไม่ลงรอยกันในเรื่องจะให้ใครเป็นผู้นำที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับ  แต่เมื่อตัวแทนของสองเผ่านี้ไปทำฮัจญ์และพบนบีมุฮัมมัด  ทั้งสองเผ่าต่างเห็นพ้องต้องกันที่จะเชิญนบีมุฮัมมัดให้มาเป็นผู้นำของพวกตนในเมืองยัษริบและตัวแทนสองเผ่านี้สัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือมุสลิมและนบีมุฮัมมัดในการเผยแผ่อิสลาม ชาวยัษริบเหล่านี้จึงถูกเรียกว่า “อันซอรีย์” ซึ่งหมายถึง “ผู้ให้ความช่วยเหลือ”

ประการที่สอง  นอกจากสองเผ่าใหญ่ในแผ่นดินอาหรับแล้ว  ชานเมืองยัษริบยังมีพวกลูกหลานอิสราเอลที่มิใช่ชาวอาหรับสามเผ่ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่อย่างน้อยห้าร้อยปีก่อนนบีมุฮัมมัดถือกำเนิด ลูกหลานอิสราเอลสามเผ่านี้อพยพหลบหนีจากการถูกกองทัพโรมันกวาดล้างทำลายเมืองเยรูซาเล็มเมื่อ ค.ศ.70

ประการที่สาม  ยัษริบเวลานั้นเป็นสังคมเผ่า  ไม่มีรัฐบาลที่มีอำนาจสูงสุด  เผ่าเล็กต้องอาศัยการคุ้มครองจากเผ่าใหญ่จึงจะอยู่รอด  ส่วนเผ่าใหญ่ๆก็ไม่ต้องการให้อีกเผ่าหนึ่งมีอำนาจเหนือเผ่าตน

ลูกหลานอิสราเอลรู้จักพระเจ้า รู้จักชื่อนบีที่เป็นบรรพบุรุษของพวกตน เชื่อในโลกหลังความตาย  มีคัมภีร์ทางศาสนา  ปัจจัยดังกล่าวนี้ทำให้ดูเหมือนว่านบีมุฮัมมัดคงสามารถเผยแผ่คำสอนอิสลามในหมู่คนเหล่านี้ได้ง่ายดาย  แต่มันกลับมิได้เป็นเช่นนั้น เพราะพวกลูกหลานอิสราเอลถือว่าตัวเองเป็นชนชาติที่เหนือกว่าและมีความรู้มากกว่าชาวอาหรับ

นบีมุฮัมมัดได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นเมื่ออพยพไปถึงยัษริบ  ผู้คนต่างพยายามชวนให้ท่านไปอยู่ที่บ้านของตน  แต่เพื่อมิให้เกิดความรู้สึกเลือกที่รักมักที่ชัง  ท่านจึงขอให้ทุกคนที่ปรารถนาดีต่อท่านดูว่าอูฐพาหนะที่ท่านขี่ไปคุกเข่าลงตรงไหน  ท่านจะสร้างที่พักของท่านตรงนั้น

เนื่องจากมีมุสลิมชาวมักก๊ะฮฺจำนวนไม่น้อยอพยพล่วงหน้ามายังเมืองยัษริบก่อนหน้านบีมุฮัมมัดและคนเหล่านี้ต่างไม่ได้นำทรัพย์สินติดตัวมา  จึงตกอยู่ในสถานะลำบาก  ท่านจึงขอให้ชาวเมืองยัษริบที่มีฐานะดีรับผู้อพยพจากมักก๊ะฮฺไปดูแล  ส่วนที่เหลือ  ท่านได้สร้างมัสยิดขึ้นเป็นศูนย์กลางทางด้านจิตวิญญาณและเป็นแหล่งพักพิงของผู้ที่อพยพมาจากมักก๊ะฮฺ

นบีมุฮัมมัดรู้ดีว่าถึงแม้ท่านอพยพออกจากเมืองมักก๊ะฮฺแล้ว  หัวหน้าชาวเมืองมักก๊ะฮฺคงไม่ปล่อยให้ท่านและอิสลามเติบใหญ่เป็นพลังท้าทายอำนาจและผลประโยชน์ของพวกตนอย่างแน่นอน  ดังนั้น ท่านจึงเรียกทุกกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในเมืองยัษริบมาทำข้อตกลงในการอยู่ร่วมกัน  ข้อตกลงนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นธรรมนูญแรกของเมืองยัษริบที่จะเติบโตเป็นรัฐอิสลามแห่งแรกของโลก  ข้อตกลงมีสาระโดยสรุปดังนี้

  • ยัษริบเป็นเมืองของทุกเผ่าและทุกเผ่าต้องร่วมกันป้องกันเมืองเมื่อถูกรุกราน
  • แต่ละกลุ่มแต่ละเผ่าต้องรับผิดชอบการจ่ายค่าสินไหมถ้าคนของตนไปฆ่าใครหรือไถ่ตัวคนของตนเองที่ถูกจับตัวเป็นเชลย
  • ทุกเผ่ามีสิทธิเสรีภาพทางความเชื่อและการปฏิบัติศาสนกิจตามความเชื่อของตน
  • เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิ่งใดในข้อตกลงนี้  เรื่องทั้งหมดต้องให้ขึ้นอยู่กับการตัดสินของนบีมุฮัมมัด

ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งจากทั้งหมด 51 ข้อ  มันบ่งบอกถึงการยอมรับความเป็นผู้นำของนบีมุฮัมมัดและกุศโลบายทางการเมืองของท่านในสังคมพหุวัฒนธรรมซึ่งทำให้ยัษริบเริ่มค่อยๆก่อตัวเป็นรัฐในความหมายทางวิชารัฐศาสตร์เป็นครั้งแรกในคาบสมุทรอาหรับ


You must be logged in to post a comment Login