วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

อยู่ที่ใจ คสช.? / โดย ลอย ลมบน

On March 6, 2017

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : ลอย ลมบน

แม้สถานการณ์บ้านเมืองจะวุ่นวายจากกรณีปัญหาวัดพระธรรมกายจนกระทบต่อบรรยากาศบ้านเมืองอยู่บ้าง แต่การสร้างความปรองดองของรัฐบาลทหาร คสช. ยังเดินหน้าต่อไป

ข่าวดีของวันนี้คือ พรรคการเมืองทุกพรรค กลุ่มการเมืองทุกกลุ่ม ตอบรับเข้าให้ความเห็นเรื่องการสร้างความปรองดองกับคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง

เป็นความยินยอมพร้อมใจที่ไม่เคยเห็นมาก่อนหน้านี้

ไม่ว่าเบื้องหลังความยินยอมพร้อมใจครั้งนี้จะเป็นอะไร

แต่ถ้ามองในแง่ดีก็คือ ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือแบบเต็มที่ 100% ไม่มีขาดตกบกพร่อง

เมื่อมีความพร้อมเพรียงกันอย่างนี้ เชื่อว่าการเปิดรับฟังความเห็นจากพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง จะทำได้สำเร็จตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้เบื้องต้น 30 วัน

ก่อนจะเปิดเวทีรับฟังความเห็นนั้น ฝ่ายการเมืองทั้งที่เป็นพรรคและเป็นกลุ่มถูกกดดันให้เข้าร่วมเสนอความเห็น ถูกกดดันให้ร่วมมือโดยที่ไม่อาจปฏิเสธได้

หรือที่เรียกว่ามัดมือชก

แต่เมื่อทุกพรรคการเมือง ทุกกลุ่มการเมืองเข้าให้ความเห็นครบหมดแล้ว ความกดดันจะไปตกอยู่ที่รัฐบาลทหาร คสช. แทน

ทั้งนี้เพราะประชาชน พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง จะจับตาดูว่ารัฐบาลทหาร คสช. จะตอบสนองต่อข้อเสนอแนะต่างๆที่พรรคการเมือง กลุ่มการเมืองนำเสนอไปอย่างไร

การสังเคราะห์ข้อเสนอให้ตกผลึกมาเป็นข้อตกลงจึงเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมาก และเป็นเรื่องยากที่จะทำออกมาแล้วให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันหรือยอมรับ

ทั้งนี้ ข้อเสนอจากฝ่ายต่างๆที่เข้ามาให้ความเห็นซึ่งถูกกองไว้บนโต๊ะ แม้จะถูกจำกัดด้วย 10 หัวข้อที่กำหนด แต่รายละเอียดนั้นมีอยู่มาก และเต็มไปด้วยความแตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม แม้รายละเอียดในข้อเสนอจะมีจำนวนมากและแตกต่างกัน แต่หลักการสร้างความปรองดองเชื่อว่าไม่ต่างกันมาก และเป็นเรื่องที่พูดกันมานานแล้ว เช่น

หลักการที่ว่าให้ทุกฝ่ายลดวิวาทะ ลดอคติ ลดการใส่ร้ายป้ายสีซึ่งกันและกัน และนำไปสู่การเจรจา

ปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปประเทศ โดยต้องปฏิรูปการเมืองสู่ประชาธิปไตยที่ถูกต้องสมบูรณ์เป็นสากล ปฏิรูประบบราชการให้บริการประชาชนได้ดี แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ที่มาของอำนาจในทุกองค์กรต้องมาจากประชาชน

ส่วนแนวทางในการดำเนินการนั้นควรเริ่มจากจุดเล็กๆเพื่อให้ความเชื่อมั่นระหว่างกัน ก่อนจะนำไปสู่งานที่ท้าทายและใช้เวลามากขึ้น

รัฐบาลควรขอความร่วมมือให้องค์กรอิสระและองค์กรในกระบวนการยุติธรรมเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เพราะหนึ่งในสาเหตุคือกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม

สิ่งที่พูดกันมาตลอดก่อนหน้านี้ยังมีเรื่องการมองหาคนกลางที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนคณะหนึ่งมาทำหน้าที่สร้างความปรองดอง และนำผลการศึกษาของหลายองค์กรก่อนหน้านี้มาใช้ปฏิบัติให้เกิดผลอย่างจริงจัง

ข้อเสนอทั้งหลายนี้จะประสบความสำเร็จได้หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดใจรับข้อเสนออย่างจริงใจ และใช้อำนาจที่มีสนับสนุนกระบวนการสร้างความปรองดอง ขจัดอุปสรรคปัญหาที่มีอย่างเต็มที่

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่เป็นหัวเรือใหญ่รับผิดชอบงานสร้างความปรองดองในครั้งนี้ ต้องบัญชาการให้มือไม้ของรัฐบาลสนองต่อการสร้างความปรองดองอย่างเต็มกำลัง ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ หน่วยงานรัฐ หรือแม้แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ต้องออกกฎหมายมารองรับเพื่อให้เกิดความปรองดอง

จะเห็นได้ว่าความคิดเห็นที่ถูกนำเสนอมาไม่ว่าจะฝ่ายไหน หลักการเป็นไปในทิศทางเดียวกันมาโดยตลอด แต่ปัญหาอยู่ที่การปฏิบัติ

ที่ผ่านมาแม้จะมีผลการศึกษาออกมามากมายแต่ทำไม่ได้ เพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนรัฐบาลทหาร จะทำอะไรก็มักถูกมองว่าเลือกข้าง ถูกนำไปเป็นประเด็นกล่าวหาโจมตีกันทางการเมืองจนความขัดแย้งปะทุขึ้นมาอีก

ผลการศึกษาของคณะกรรมการทุกคณะ ทุกชุดก่อนหน้านี้จึงเป็นหมัน ศึกษามาแล้วต้องเก็บเข้าลิ้นชัก เสียงบประมาณมากมายแต่ไม่สามารถนำมาใช้ปฏิบัติได้

เมื่อรัฐบาลทหาร คสช. นำเรื่องการสร้างความปรองดองขึ้นมาทำในช่วงท้ายๆของการอยู่ในอำนาจ หลายฝ่ายจึงหวังว่าจะมีความจริงจัง จริงใจให้ความปรองดองในชาติเกิดขึ้นได้จริง

เพราะถ้ากระบวนการต่างๆไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมในยุคที่รัฐบาลมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเช่นนี้แล้ว ในยุคการเมืองปรกติกระบวนการต่างๆที่พูดกันอยู่ในตอนนี้ไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นหรือเป็นจริงได้เลย

ในเมื่อใช้อำนาจกดดันให้พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง ตอบรับเข้าสู่กระบวนการสร้างความปรองดองได้ 100% อย่างที่ไม่เคยมีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ ก็ควรใช้อำนาจที่มีอยู่ทำต่อไปให้สะเด็ดน้ำ

ที่สำคัญบทสรุปของการสร้างความปรองดองครั้งนี้ต้องไม่ใช่เพียงนำความเห็นของฝ่ายต่างๆมาสรุปเป็นแนวทางสร้างความปรองดองแล้วเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบ ทิ้งไว้เป็นเพียงสัญญาประชาคมที่จะทำร่วมกันเท่านั้น

แต่ต้องออกกฎหมายมารองรับเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริงด้วย

หากจะอ้างว่าเวลาของรัฐบาลเหลือน้อย การออกกฎหมายต้องใช้เวลามากอาจทำไม่ทัน ก็ควรพิจารณาใช้อำนาจพิเศษมาตรา 44 เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการสร้างความปรองดอง

ที่ผ่านมาใช้อำนาจพิเศษหลายเรื่องแล้ว จะใช้อำนาจพิเศษนี้กับการสร้างความปรองดองในชาติอีกสักเรื่องจะเป็นไรไป

ความจริงจัง จริงใจของผู้มีอำนาจ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้กระบวนการสร้างความปรองดองเกิดขึ้นได้จริง


You must be logged in to post a comment Login