วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

อำนาจรัฐ-ศาสนา ซึมลึกถึงระดับครอบครัว / โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

On January 16, 2017

คอลัมน์ : ทรรศนะแสงสว่าง
ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์

เคยไหมครับ ในวันหยุดยาวเราอยากพักผ่อนกับครอบครัว หรือไปเที่ยวผ่อนคลายหลังการทำงานมาตลอดสัปดาห์ แต่ลูกเราบอกว่าครูสั่งงานให้ไปทำบุญที่วัดเนื่องในวันสำคัญทางศาสนาและให้ถ่ายภาพที่ตนไปทำบุญกับครอบครัวส่งครูที่สอนวิชาพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุผลที่ว่าการสั่งงานดังกล่าวเป็นการฝึกเด็กให้รู้จักทำหน้าที่ชาวพุทธที่ดี

อีกตัวอย่างหนึ่ง ผู้หญิงไทยมักกังวลใจหรือทุกข์ใจถ้าสามีคบเพื่อนที่ชอบดื่มเหล้า เจ้าชู้ ชอบชวนสามีเธอเที่ยวกลางคืน แต่ปัจจุบันเธอทุกข์ใจเมื่อพบว่าสามีเธอคบเพื่อนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองต่อต้านเผด็จการ เมื่อเห็นเพื่อนสามีที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเช่นนั้นมาพูดคุยกับสามีที่บ้าน เธอไม่สบายใจ บางทีในครอบครัวญาติพี่น้องไม่สามารถคุยปัญหาบ้านเมืองกันได้ เพราะมีความคิดทางการเมืองต่างกัน บางครอบครัวพ่อแม่แจ้งข้อหา 112 ให้ตำรวจจับสามี กระทั่งจับลูกตัวเองติดคุก ดังที่เราทราบตามที่เป็นข่าว

ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เราเห็นว่า อำนาจรัฐ อำนาจศาสนาซึมลึกเข้าไปแทรกแซงวิถีชีวิตในครอบครัว โดยปรกติแล้ว วิถีครอบครัวเป็นวิถีของความผูกพันกันบนพื้นฐานของความเข้าใจ ความรัก สามี ภรรยา พ่อ แม่ ลูก พี่น้อง ญาติมิตร มีปฏิสัมพันธ์กันแบบปฐมภูมิคือ ปฏิสัมพันธ์แบบคนกับคนที่มีความผูกพันสนิทสนมกัน จริงใจต่อกัน ไม่ใช่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบความสัมพันธ์ที่เป็นทางการ

แต่ทุกวันนี้อำนาจรัฐที่เป็นอำนาจแบบทางการกำลังซึมลึกแทรกแซงวิถีครอบครัว ทำให้คนในครอบครัวสูญเสียอิสรภาพ ความเป็นตัวของตัวเองในการใช้เวลาร่วมกัน และการแสดงออกทางความคิดเห็น

อำนาจรัฐและศาสนาที่ซึมลึกถึงระดับครอบครัว ทำให้สามี ภรรยา พ่อ แม่ ลูก พี่น้อง ญาติมิตร แปลกแยกจากกัน ห่างเหินจากกัน ไม่คุยกันในบางเรื่อง ทั้งๆที่พื้นที่ในครอบครัวควรเป็นพื้นที่ที่คุยกันได้ทุกเรื่อง แย่กว่านั้นคือ ทำให้ขัดแย้งกัน ทะเลาะกัน บางครอบครัวสามีภรรยาต้องแยกทาง หรือลูกต้องย้ายออกจากบ้านเพราะความคิดเห็นทางการเมืองไม่ตรงกัน หรืออยู่ด้วยกันก็จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงที่จะคุยเรื่องการเมือง เป็นต้น

ศาสนาก็ไม่ได้แยกจากอำนาจรัฐ การเรียนศาสนาในโรงเรียนก็เพราะระบบการศึกษาของรัฐบังคับให้เรียน การบ้านที่ครูสั่งให้ไปทำกิจกรรมทางศาสนากับครอบครัวในวันหยุดก็เป็นการบ้านจากอำนาจของครูที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ โดยปรกติแล้วความเชื่อทางศาสนาเป็น “อำนาจ” บางอย่างที่ทำให้คนกลัวอยู่แล้ว เช่น กลัวบาป กลัวนรก กลัวอำนาจของพระเจ้า อำนาจกฎแห่งกรรม เป็นต้น แต่ความเชื่อเช่นนี้ควรเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่มีเสรีภาพในการเลือกที่จะเชื่อและปฏิบัติตามอย่างสมัครใจ ไม่ควรนำมาผูกติดกับอำนาจรัฐและใช้กลไกอำนาจรัฐบังคับให้เรียนรู้และทำตามอย่างสลับซับซ้อนและซึมลึกแทรกแซงถึงระดับวิถีชีวิตในครอบครัว

แน่นอนผู้มีอำนาจรัฐ พระสงฆ์ ครู ผู้เคร่งศาสนา หรือบรรดาผู้ศรัทธาและเห็นคุณค่าของศาสนา อาจจะบอกว่าที่ต้องบังคับให้เรียนศาสนาในโรงเรียน ให้นักเรียนกับครอบครัวไปทำกิจกรรมทางศาสนาร่วมกันในวันหยุดและถ่ายภาพเป็นการบ้านส่งครู เป็นต้น คือ “ความปรารถนาดี” ต่อเด็กๆ แรกๆเด็กอาจรู้สึกถูกบังคับ แต่จะเสียหายอะไรในเมื่อเป็นการบังคับให้ทำความดี เมื่อเด็กได้สัมผัสกับการทำความดี เขาจะค่อยๆซึมซับและยอมรับการทำความดีนั้นจนเป็นนิสัยประจำตัว ต่อไปเขาก็จะเต็มใจทำและอยากทำความดีตามคำสอนศาสนาเองโดยไม่ต้องบังคับ ในความเป็นจริงพ่อแม่ก็บังคับลูกๆให้ทำความดีอยู่แล้วไม่ใช่หรือ

ฟังดูก็เหมือนจะมีเหตุผล ถ้าเราถือว่า “รัฐคือครอบครัวใหญ่” ที่มีผู้ปกครองเป็นพ่อ ผู้ใต้ปกครองเป็นลูก แต่รัฐสมัยใหม่ที่เป็นอารยะเขาไม่มองประชาชนเป็นลูก เพราะการมองเช่นนั้นคือการมองประชาชนเป็นเด็กไม่รู้จักโต ด้วยเหตุนี้จึงต้องเคารพความมีวุฒิภาวะของประชาชนที่จะคิดเอง ตัดสินใจเองในเรื่องความเชื่อทางศาสนาและการมีชีวิตที่ดีตามแนวทางความเชื่อส่วนตัว พื้นที่ครอบครัวจึงควรเป็นพื้นที่ส่วนตัวที่รัฐและศาสนาเข้าไปแทรกแซงได้น้อยที่สุด ไม่ใช่รัฐและศาสนาเข้าไปแทรกแซงบงการตั้งแต่ระดับจิตสำนึก อุดมการณ์ทางการเมือง จนถึงระดับการทำกิจกรรมทางศาสนาของครอบครัวแบบรัฐไทยปัจจุบัน

เมื่อศาสนากับรัฐเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อำนาจรัฐก็ไม่ใช่อำนาจที่อยู่บนฐานของความเป็นเหตุเป็นผล แต่เป็นอำนาจแบบศาสนาที่ครอบงำจิตสำนึกของประชาชนให้จงรักภักดีและกลัวเกรงชนชั้นปกครอง ขณะเดียวกันศาสนาก็ไม่ใช่เรื่องเสรีภาพส่วนบุคคล ไม่ใช่เรื่องการทำความเข้าใจชีวิตเพื่อการมีอิสรภาพด้านใน แต่เป็นเรื่องการทำให้ศีลธรรมกลายเป็นอำนาจครอบงำบังคับ เพราะเอาศีลธรรมศาสนาไปผูกกับความจงรักภักดีต่อชนชั้นปกครองและความสงบเรียบร้อย ความมั่นคง สภาวะเช่นนี้จึงไม่เป็นผลดีต่อการสร้างประชาธิปไตย และไม่เป็นผลดีต่อความเจริญของศาสนาในมิติที่เป็นแก่นสารที่แท้จริง

ตัวอย่างที่ชัดเจนอีกตัวอย่าง (ซึ่งมีหลายตัวอย่างมากเหลือเกิน) คือกรณีที่รัฐลงโทษทัณฑ์ต่อคนตัวเล็กๆในสังคม เช่น กรณีจับ “ไผ่ ดาวดิน” ติดคุกและถอนสิทธิประกันตัว ซึ่งเป็นการใช้อำนาจรัฐที่ไม่ได้อยู่บนฐานของความเป็นเหตุเป็นผล เพราะไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมเมื่อมีคนแชร์ข่าวหลายพันคนจึงมีความผิดเพียงคนเดียว และสื่อที่เผยแพร่ข่าวนั้นโดยตรงก็ไม่ผิด ทำไมการเย้ยหยันอำนาจรัฐซึ่งไม่ได้ระบุเป็นความผิดตามกฎหมายใดๆจึงถูกอ้างเป็นเหตุผลในการถอนสิทธิประกันตัวได้ เป็นต้น

สังคมเราคงยากจะเป็นประชาธิปไตยได้จริงถ้าไม่เรียนรู้ มองเห็น วิพากษ์ และพยายามต่อสู้ด้วยเหตุผล เพื่อจะมีอิสรภาพจากอิทธิพลครอบงำของอำนาจรัฐและศาสนาที่ซึมลึกถึงระดับจิตสำนึกของบุคคลและวิถีชีวิตในครอบครัว การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเพื่ออนาคตที่ดีกว่าจึงหลีกเลี่ยงการต่อสู้และการถอดรื้ออำนาจครอบงำดังกล่าวไม่ได้


You must be logged in to post a comment Login