วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2567

เผย 10 อำเภอนำร่อง “อำเภอขับขี่ปลอดภัย” ดึง 4 เสาหลักช่วยลดอุบัติเหตุ

On November 22, 2023

จากความสำเร็จของตำบลขับขี่ปลอดภัยที่สามารถดึงชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายต่างๆในพื้นที่เข้ามาจัดการปัญหาและลดการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ด้วยคนในพื้นที่ ซึ่งปรากฏว่า การดำเนินงานของตำบลขับขี่ปลอดภัยในอดีต ได้ก้าวมาสู่การเป็นอำเภอขับขี่ปลอดภัยในวันนี้ ที่ผ่านมาได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนความปลอดภัยทางถนน โดยชุมชนท้องถิ่นประจำปี 2567 และลงนามบันทึกข้อตกลง(MOU) “อำเภอขับขี่ปลอดภัย” และได้มีการนำร่องทำ 10 อำเภอขับขี่ปลอดภัยทั่วทุกภูมิภาค โดยมี 4 เสาหลักในพื้นที่จับมือขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนน

อำเภอบ้านแฮด ศูนย์ประสานงานการจัดการความปลอดภัยทางถนนหรือ ศปง. ทต.บ้านแฮด อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น คือ 1 ใน 10 ของอำเภอนำร่อง อำเภอขับขี่ปลอดภัย โดยนางสาวอารดา หายักวงษ์ ผู้ช่วยสาธารณสุขอำเภอบ้านแฮดจังหวัดขอนแก่น ,ผู้แทน ศปถ.อำเภอบ้านแฮด ได้กล่าวบนเวทีเสวนา  “ร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน สู่ชุมชนวิถีใหม่” ในหัวข้อนวัตกรรมอำเภอขับขี่ปลอดภัย ลดเหตุ ลดตาย ว่า ในภาพรวมของจังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดที่การเกิดอุบัติเหตุที่ค่อนข้างสูง และในอำเภอบ้านแฮดมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเป็นอันดับ 1 ของจังหวัดขอนแก่น จึงจัดว่าเป็นอำเภอที่มีความเสี่ยงสูง  เช่น สถิติในช่วงเทศกาลปีใหม่ (29 ธ.ค.64 – 4 ม.ค.66) เกิดอุบัติเหตุจำนวน 8 ครั้ง เมื่อเทียบกับปี 65 สถิติการเกิดอุบัติเหตุมีจำนวน 4 ครั้ง สาเหตุที่พบคือ ดื่มสุรา การขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด และสภาพถนนไม่พร้อมใช้งาน ทั้งนี้สาธารณสุขอำเภอและเครือข่ายจะมีทีมสอบสวนของการเกิดอุบัติเหตุ เมื่อพบปัญหาและสาเหตุทางผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นได้มีนโยบายขับขี่ปลอดภัย 365 วัน ในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งจะมีการทำMOU ร่วมกันกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภอ ส่วนราชการต่างๆ

นางสาวอารดา กล่าวว่า จุดแข็งของเราคือได้มีการจัดทำผ้าป่าหมวกกันน็อค นำไปแจกให้กับโรงเรียนต่างๆ ส่วนราชการถ้าใครไม่สวมหมวกกันน็อคเข้ามาจะไม่สามารถจอดรถจักรยานยนต์ในพื้นที่ส่วนราชการได้ และในหมู่บ้านจะมีจุดให้ยืมหมวกกันน็อค นอกจากนี้เรายังมีการประชาสัมพันธ์ข่าวสารของพื้นที่ให้ประชาชนได้ทราบ รวมทั้งมีการตั้งด่านชุมชนขึ้นมาเพื่อกวดขันระเบียบวินัยของคนในชุมชน และนอกจากนี้ยังได้มีการแก้ไขจุดเสี่ยงต่างๆ เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ ส่วนเรื่องของข้อมูลยังเป็นปัญหาเนื่องจากว่ายังไม่มีการแชร์ข้อมูลต่างๆของทุกพื้นที่ ถ้าทำได้ข้อมูลที่มีจะกลายเป็นข้อมูลในภาพรวมของอำเภอ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด

ส่วนกลยุทธ์ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้นั้น เราไม่สามารถเดิน (ทำงาน) คนเดียวได้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันและเดินไปด้วยกันแบบไร้รอยต่อ

ด้าน นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ   กรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การทำงานของ สสส.กับท้องถิ่น พื้นที่ เป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยนโยบายของ สสส.จะเน้นให้เขาใช้ข้อมูลและหาปัญหาในพื้นที่จริงเข้ามา โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความปลอดภัยทางถนน จะเป็นประเด็นใหญ่ที่เราสนับสนุนท้องถิ่น โดยเราจะสนับสนุนข้อมูลเชิงวิชาการ การจัดการและเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ ท้องถิ่น อบต. ภาครัฐ และภาคเอกชน ประชาชนที่เราเรียกว่าสี่เสาหลัก

ซึ่งพื้นที่จะรู้ปัญหาจริงรวมถึงการจัดการแก้ปัญหา เราจึงพยายามจะเน้นในเรื่องวิชาการใหม่ๆให้เขาคิด และเกิดการพัฒนาการ โดยเฉพาะเรื่องของคนที่พฤติกรรมของคนเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งคนในพื้นที่จะเข้าใจและให้ความร่วมมือ และในมุมของพื้นที่จะมีการทำงานแบบเชื่อมโยงกับระบบกฎหมายซึ่งจะมีภาคราชการระดับอำเภอจะเป็นศูนย์ความปลอดภัยทางถนนจะเข้าไปเสริมในแง่ของการทำงาน เพื่อออกกฎ ระเบียบเพื่อควบคุมพฤติกรรมของคน

จากตำบลขับขี่ปลอดภัยไปสู่ระดับอำเภอ ในการทำงานของระบบตำบลเราจะเน้นเรื่องของความร่วมมือกัน การมีส่วนร่วม และการเชื่อมโยงกับเพื่อนที่ใกล้เคียง เพราะว่าถนนจะเชื่อมโยงกันระหว่างหมู่บ้าน ตำบล อำเภอแล้วไปจังหวัด เพราะฉะนั้นการจะใช้ถนนให้ปลอดภัยจะต้องมีการเชื่อมโยง พูดคุยกันเชิงระบบ ซึ่งจะทำให้เครือข่ายของท้องที่จะร่วมมือกันทุกตำบลจะกลายเป็นระดับอำเภอซึ่งจะทำให้การจัดการได้ง่าย ส่วนระดับจังหวัดจะเป็นนโยบายเสริมเข้าไป เพราะในการจัดการบางเรื่องที่เป็นเหตุเภทภัยจะมีทางจังหวัดเข้าไปเสริมด้วย ซึ่งเรื่องนี้คิดว่า ประสบการณ์การทำงานร่วมกันจะเกิดพลัง ลดความสูญเสียได้มากขึ้น

ทั้งนี้ สสส. โดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) บูรณาการความร่วมมือกับสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม (สำนัก 10) ขยายเครือข่ายตำบลสุขภาวะ และหน่วยงานในระดับอำเภอ โดยในระยะแรกดำเนินงานตำบลขับขี่ปลอดภัย 115 ตำบลและในปีนี้ขยายการทำงานสู่ระดับอำเภอเชื่อมต่อพื้นที่อำเภอเสี่ยงสูงและสูงมาก 21 อำเภอจาก 275 อำเภอ (ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค) ในปี 2566 เพื่อให้เกิดมีแผนมีการทำงานจัดการความปลอดภัยทางถนน จากตำบลสู่อำเภอเชื่อมโยงสู่จังหวัดและระดับประเทศในที่สุด สนับสนุนให้เกิดการยกระดับการทำงาน และขับเคลื่อนเป้าหมายการลดอุบัติเหตุ สู่ “อำเภอขับขี่ปลอดภัย” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบกลไกจัดการความปลอดภัยทางถนน กำหนดเป้าหมายในการลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับตำบล และอำเภอ ในพื้นที่นำร่อง 10 อำเภอ  ซึ่งระบบของชุมชนท้องถิ่นในการสนับสนุนการทำงานตามยุทธศาสตร์ S-2I คือ 1) การจัดการพื้นที่ (Systematization) 2) การสร้างและพัฒนานวัตกรรมชุมชน (Innovative Creation) และ 3) การบูรณาการภายในชุมชนท้องถิ่น และหน่วยงานสนับสนุนจากภายนอก (Integration and Collaboration) ใช้แนวคิด เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ศักยภาพทุนทางสังคม กระตุ้นให้เกิดแนวทางการพัฒนา และวิธีการใหม่ พัฒนาทักษะคนทำงาน ร่วมขับเคลื่อนนโยบายทั้งระดับอำเภอ จังหวัด ภูมิภาค ประเทศ อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน

นางธัญญา  แสงอุบล ผู้รับผิดชอบโครงการเสริมศักยภาพชุมชนท้องถิ่นเพื่อการจัดการความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า จากการขับเคลื่อน “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” 115 องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดำเนินการโดยศูนย์ประสานงานตำบลขับขี่ปลอดภัย โดยในช่วงเทศกาลปีใหม่ และสงกรานต์ปี 2566 เกิดการทำงานร่วมกันระหว่าง 11 ศูนย์ประสานงานกับ ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนหรือ ศปถ.อำเภอ เกิดรูปธรรมในการทำงานจาก ตำบลขับขี่ปลอดภัยสู่อำเภอขับขี่ปลอดภัย เป็นที่มาของการนำบทเรียน และแนวทางการออกแบบการทำงานร่วมกันในพื้นที่ตำบล และอำเภอ โดยใช้ทุน ศักยภาพในการบริหารจัดการระดับพื้นที่ตำบล และอำเภอให้มีความสามารถในการจัดการความปลอดภัยทางถนน สร้างกลไกเชื่อมประสาน 4 ภาค ของเครือข่ายตำบลสุขภาวะ  สนับสนุนการขับเคลื่อนงานตำบลขับขี่ปลอดภัย 115 ตำบล และ ยกระดับสู่ 10 อำเภอขับขี่ปลอดภัย สานพลังความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปสู่การลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนอย่างมีประสิทธิภาพ

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนปี 2565 จำนวน 17,379 ราย ประมาณการมีผู้พิการอีกกว่า 7,000 รายต่อปี อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดในกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ และมีข้อมูลว่า ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเสียชีวิตไม่ไกลจากบ้านในระยะ 5-10 กิโลเมตร จึงต้องเร่งสร้างมาตรการและกลไกจัดการเสริมความร่วมมือท้องถิ่นสู่ความปลอดภัยทางถนน โดยใช้แนวคิดขับเคลื่อน 1. วิเคราะห์ความเสี่ยง ให้ลึกถึงรากปัญหา ของสภาพแวดล้อม เงื่อนไขที่ไม่ปลอดภัย ปัจจัยเสี่ยง ร่วมแก้ปัญหากับเจ้าของพื้นที่ ร่วมกันจัดการปัญหา 2. เชื่อมกลไกกับ ศปถ. บูรณาการมาตรการกับผู้เกี่ยวข้องให้เกิดความยั่งยืน เกิดมาตรการชุมชน อาทิ บริเวณหน้าโรงเรียน ควรบูรณาการความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ ตำรวจ และโรงเรียน จัดการกายภาพและมีระบบเฝ้าระวังความเสี่ยงหน้าโรงเรียน มีระบบอบรม ส่งเสริมกำกับ ลงโทษกรณีไม่ชะลอหยุด หรือถ้าชนคนข้าม ลงโทษหนัก และทางโรงเรียน ส่งเสริมการเรียนรู้ “คาดการณ์  ทักษะข้ามถนน” ที่ปลอดภัย ประเมินก่อนและขณะข้าม ไม่เล่นมือถือ ฯลฯ

สำหรับ 10 อำเภอขับขี่ปลอดภัย นำร่อง ได้แก่

1. อำเภอวังทอง ศปง.ทต.วังทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก

2. อำเภอเมืองลำพูน ศปง.อบต.หนองหนาม อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน

3. อำเภอเมืองอุทัยธานี ศปง.อบต.น้ำซึม อ.เมืองอุทัยธานี จ.อุทัยธานี

4. อำเภอบ้านแฮด ศปง.ทต.บ้านแฮด อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น

5. อำเภอสุวรรณภูมิ ศปง.ทต.สุวรรณภูมิ อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด

6. อำเภอหนองกี่ ศปง.อบต.บุกระสัง อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์

7. อำเภอท่ายาง ศปง.อบต.ท่าคอย อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี

8. อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ศปง.อบต.ห้วยทราย อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์

9. อำเภอเมืองสตูล ศปง.อบต.ฉลุง อ.เมืองสตูล จ.สตูล

10. อำเภอรัตภูมิ ศปง.อบต.คูหาใต้ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา


You must be logged in to post a comment Login