วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

สายกลางคือทางรอด

On December 2, 2021

คอลัมน์ : สันติธรรม

ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน

ในอดีต คำสอนของศาสนาเคยทำหน้าที่เป็นกฎหมายจัดระเบียบสังคมก่อนที่โลกของเราจะมีรัฐบาลหรือรัฐสภามาร่างรัฐธรรมนูญและออกกฎหมายจัดระเบียบสังคม เนื่องจากคำสอนของศาสนามาจากพระเจ้าผู้สร้างจักรวาลและทุกสิ่งรวมทั้งมนุษย์ด้วย ดังนั้น คำสอนของศาสนาจึงไม่ขัดกับธรรมชาติ

ความจริงแล้ว  ศาสนาก็คือกฎหมายนั่นเอง  แต่กฎหมายที่อยู่ในศาสนาแตกต่างไปจากกฎหมายที่มนุษย์สร้างขึ้น  กฎหมายศาสนาที่มาจากพระเจ้าจะควบมนุษย์ทั้งสองด้าน คือด้านจิตวิญญาณและด้านพฤติกรรมภายนอก  แต่กฎหมายที่มนุษย์สร้างขึ้นไม่คำนึงถึงด้านจิตวิญญาณที่มีความเชื่อในพระเจ้า การลงโทษหลังความตายและการปฏิบัติพิธีกรรมรวมอยู่ด้วยเพื่อรักษาความเชื่อไว้คอยเตือนมนุษย์มิให้ทำผิด

การปฏิบัติตามกฎหมายสองประเภทจึงมีผลแตกต่างกัน  ผู้ปฏิบัติตามกฎหมายศาสนาจะไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุขที่เป็นสาเหตุแห่งความเสื่อมเพราะความเกรงกลัวการถูกลงโทษในโลกหน้าโดยไม่ต้องมีอำนาจรัฐคอยควบคุม แต่กฎหมายที่มนุษย์สร้างขึ้นกลับส่งเสริมให้มีอบายมุขเพียงเพื่อได้เงินเข้ารัฐและเข้ากระเป๋านักธุรกิจอบายมุขโดยไม่คำนึงถึงความเสื่อมทรามของสังคม

ในสังคมที่ปกครองด้วยกฎหมายสมัยใหม่  ศาสนากลายเป็นแค่ความเชื่อและพิธีกรรมส่วนบุคคลที่ใครจะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้  แต่ในบางสังคม การปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาเป็นที่ต้องห้าม อย่างไรก็ตาม จนทุกวันนี้ยังมีผู้คนที่มีความเชื่อและปฏิบัติตามกฎหมายทางศาสนาอยู่

กฎหมายศาสนาเริ่มสูญเสียบทบาทในการจัดระเบียบสังคมเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นในคริสตจักรระหว่างนักวิทยาศาสตร์กับนักบวชที่ทำหน้าที่เหมือนผู้รักษากฎหมาย  เมื่อฝ่ายโปรเตสแตนต์ที่แยกตัวออกจากอำนาจการปกครองของพระสันตะปาปาและเจริญก้าวหน้าหลังยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ คนรุ่นใหม่จึงเริ่มคิดว่าศาสนาไม่มีความจำเป็นอีกแล้ว ความคิดเช่นนี้เองที่ก่อให้เกิดลัทธิเซคิวลาร์(Secularism)ขึ้นมา  ลัทธินี้ถือว่ามนุษย์จะทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องอยู่ในกรอบคำสอนของศาสนา

ดังนั้น เมื่อมนุษย์คิดจะทำอะไรก็ได้ตามที่ตัวเองต้องการ ลัทธิเซคิวลาร์จึงก่อให้เกิดความสุดโต่งทางความคิดและการปฏิบัติที่ต่างกัน เช่น มนุษย์กลุ่มหนึ่งคิดว่าทรัพยากรบนโลกใบนี้เป็นของมนุษย์ มือใครยาวสาวได้สาวเอา นี่คือต้นกำเนิดความคิดของลัทธิทุนนิยมที่เปิดโอกาสให้คนรวยเอาเปรียบคนจน

เมื่อคนยากจนที่มีจำนวนมากขึ้นเกิดความไม่พอใจ จึงมีคนนำเสนอความคิดว่าทรัพยากรบนโลกใบนี้เป็นของมนุษย์ทุกคน  ดังนั้น ทรัพยากรจะต้องถูกนำมาจัดแบ่งให้คนในสังคมอย่างเท่าเทียมกันและไม่อนุญาตให้ใครมีกรรมสิทธิ์ นี่คือที่มาของลัทธิคอมมิวนิสต์

ลัทธิทุนนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์จึงเปรียบเสมือนกับสองด้านที่ตรงข้ามกันของเหรียญเซคิวลาร์ เมื่อคิดต่างกัน การปฏิบัติก็ต่างกัน  ผลที่ตามมาก็คือโลกได้เห็นการทำสงครามของสองลัทธินี้นานนับหลายสิบปีโดยที่ผู้คนในสังคมทั้งสองฝ่ายต้องล้มตายนับสิบล้านคนจากทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกขุดคุ้ยไปผลิตเป็นอาวุธสงครามแทนที่จะนำไปใช้เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์

แต่ความคิดทางเศรษฐกิจของอิสลามถือว่าทรัพยากรไม่ได้เป็นของมนุษย์ เพราะมนุษย์ไม่ได้เป็นผู้สร้างทรัพยากร  แต่ทรัพยากรเป็นของพระเจ้าที่พระองค์มอบให้มนุษย์นำมาใช้เพื่อสร้างความเจริญและนำไปแลกเปลี่ยนหรือแบ่งปันระหว่างมนุษย์ที่พระเจ้าสร้างมาให้มีฐานะและความสามารถที่แตกต่างกัน

แนวความคิดทางเศรษฐกิจของอิสลามอนุญาตให้มนุษย์มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน  แต่เมื่อมนุษย์มีทรัพย์สินถึงขีดที่อิสลามถือว่ามีความมั่งคั่ง อิสลามจะกำหนดให้ผู้มีความมั่งคั่งต้องจ่ายทรัพย์สินจำนวนหนึ่งเป็นซะกาต(หรือภาษีทางศาสนา)ถวายพระเจ้าโดยนำซะกาตนั้นไปให้คนยากจนเพื่อยึดโยงคนรวยกับคนจนไว้มิให้ห่างกัน

ปัจจุบัน  การต่อสู้ของสองลัทธิสุดโต่งทำให้ลัทธิคอมมิวนิสต์ล่มสลายไปแล้ว คงเหลือแต่ลัทธิทุนนิยมที่ครองโลกอยู่และมนุษย์คิดว่าลัทธิทุนนิยมคือทางรอด  แต่ในตอนนี้ โลกเริ่มเห็นพิษภัยของลัทธิทุนนิยมแล้วจากการที่สาวกของลัทธินี้ทำกิจกรรมที่ละเมิดขอบเขตกฎหมายทางศาสนาได้อย่างเสรี

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่ามนุษย์ในลัทธิทุนนิยมมองเห็นพิษภัยของการละเมิดขอบเขตกฎศาสนาหรือไม่และจะหันกลับมาสู่ขอบเขตทางศีลธรรมบนทางสายกลางอย่างไร


You must be logged in to post a comment Login