วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

การเตรียมตัวความพร้อมก่อนฉีดวัคซีนสำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง

On July 23, 2021

คอลัมน์ : เปิดโลกสุขภาพ

ผู้เขียน : นพ.ทวนทศพร สุวรรณจูฑะ

ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจ รพ.พญาไท 2

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 23-30 ก.ค. 64)

ปัจจุบันคนไทยเริ่มมีการรับวัคซีน ป้องกัน COVID-19 แต่เหตุที่เป็นปัจจัยหลัก หรืออุปสรรคที่ส่งผล คือในเรื่องของ ”ความดันโลหิตสูง” ด้วยเหตุนี้เองทางเครือโรงพยาบาลพญาไท เปาโล จึงมาคลายข้อสงสัยในวันนี้

ในทั่วโลกทางฝั่งอเมริกาและยุโรปเอง มีการยืนยันมาว่า การวัดความดันก่อนการฉีดวัคซีนไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ มากนัก เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วการฉีดวัคซีนแล้วจะเกิดความดันสูง เช่น การทำการวิจัยในสวิตเซอร์แลนด์ พบว่า 12,000 คนที่มาฉีดวัคซีน ส่งผลให้ความดันโลหิตสูง เพียง 9 คน แต่ทุกรายกลับมาเป็นปกติ

แต่ในประเทศไทยเนื่องจากว่า คนไทยเองเกิดความกังวลเรื่องการฉีดวัคซีนแล้วจะมีผลกระทบ เลยมีการกำหนดในการวัดความดันคือ ผลด้านบนไม่เกิน 180 ด้านล่างไม่เกิน 110 หากเกินจากข้อกำหนด เป็นผลในการไม่ได้รับการฉีดวัคซีน โดยจะมีการให้นั่งพัก เพื่อให้ความดันลดลง แต่หากผู้ที่มารับการฉีดวัคซีนเป็น ”โรคความดันโลหิตสูง” ก่อนไปรับวัคซีนแนะนำให้มีการปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อปรับความดันในร่างกาย

นพ.ทวนทศพร สุวรรณจูฑะ

สาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง

โรคความโลหิตสูงสามารถเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุรวมกัน (multi-factorial)

  • อาจส่งผลมาจากพันธุกรรม หากคุณมีญาติพี่น้องที่มีความดันโลหิตสูง คุณอาจเสี่ยงความดันโลหิตสูงจากกรรมพันธุ์
  • เกิดจากพฤติกรรม เช่น ชอบรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม
  • การรับประทานอาหารที่มี ไฟเบอร์ น้อย
  • ดื่มแอลกอฮอล์ พักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียดสะสมระยะยาว
  • การใช้ชีวิตประจำวันที่ก่อให้เกิดความเครียด เช่น ทั้งทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เสียงที่ดังเกินปกติ หรืออยู่ในที่มีการจราจรทางอากาศเสียงดัง/ มลภาวะทางอากาศ PM 2.5 สามารถกระตุ้นให้เกิดความดันสูงได้

ด้วยปัจจัยดังกล่าวข้างต้น พบว่าคนที่ใช้ชีวิตในกรุงเทพมหานครจึงเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากกว่ากลุ่มประชากรต่างจังหวัด และพบว่าประมาณ 44% ของคนไทยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง “ไม่เคยทราบมาก่อนว่า ตนเองเป็นโรคนี้”  เนื่องจากโรคนี้ 90% ไม่แสดงอาการ หรือที่เรียกว่า “โรคความดันโลหิตสูงแฝงเร้น”

การเช็กอาการเบื้องต้น

10% ที่มีอาการ คือ ตาพร่ามัว ปวดมึนศีรษะ มึนท้ายทอย หรือ หน้ามืดเป็นลม แต่ส่วนใหญ่โรคนี้คือ โรคแห่งตัวเลข คือ ตัวเลขการวัดความดันเท่านั้นจึงจะบอกได้ เพราะฉะนั้นหากคุณไม่เคยไปวัดความดันคุณจะไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคความดันโลหิตสูง

วิธีเตรียมความพร้อมก่อนฉีดวีคซีน

  • ถ้าคุณเป็นกลุ่มคนตรวจสุขภาพเป็นประจำอยู่แล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มของคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจอยากให้ปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก่อนการรับวัคซีน โดยเฉพาะเมื่อวัดความดันที่บ้าน แล้วยังสูงกว่า 160/100 มิลลิเมตรปรอท
  • ควรเตรียมตัว เตรียมใจให้สบาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ถ้ามียาเกี่ยวกับโรคหัวใจและความดันโลหิต ให้ทานยาให้เรียบร้อยก่อนรับวัคซีน คิดแง่บวกเสมอ เพราะความดันโลหิตสูง ส่วนใหญ่เกิดจาก “ความวิตกกังวลและความกลัว” คือ กลัวเข็ม กลัวไม่ได้ฉีด เพราะฉะนั้นควรรับประทานทานยาให้เรียบร้อย เมื่อไปถึงสถานที่รับวัคซีน นั่งรอทำใจให้สบาย ควรเผื่อเวลาเพื่อไปรอรับวัคซีน ไม่ควรเร่งรีบ หรือหากคุณพาญาติผู้ใหญ่ไปรับวัคซีน อาจขอรถเข็น เพื่อลดการเร่งรีบเดินเข้าไปวัดความดันเพราะนั่นอาจทำให้ความดันโลหิตเกินค่ามาตรฐาน

หลังรับวัคซีน ความดันขึ้น หรือ ตก อันตรายหรือไม่

เมื่อรับวัคซีนเสร็จแล้ว ทุกคนที่มารับการบริการจะต้องสังเกตอาการโดยทีมแพทย์พยาบาล อย่างน้อย 30 นาที  กรณีที่มีความดันขึ้น รพ. จะมีกระบวนการดูแลโดยแพทย์และเจ้าหน้าที่พยาบาล ถ้าจำเป็นต้องรับยากลับบ้านทางทีมเจ้าหน้าที่จะมีการส่งพบแพทย์เพื่อทำการสั่งยา แต่ในการสังเกตการส่วนใหญ่มักจะมีอาการขึ้นหรือต่ำในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ อย่างเช่น 1-2 วัน แล้วก็จะกลับมาปกติ แต่ในบางท่านอาจถือเป็นโอกาสอันดีในการมารับวัคซีน เป็นวันที่ท่านได้โอกาสรับรู้และตระหนักถึงโรคความดันโลหิตสูงแฝงเร้นของท่าน และควรรับการรักษาเรื่องความดันโลหิตสูงอย่างต่อเนื่องใน ระยะยาว

ฝากถึงคนที่กังวลเรื่องความดันสูง ก่อนฉีดวัคซีน

หากคุณคิดว่าตนเองอยู่ในโซนสุ่มเสี่ยงในการแพร่ระบาด คุณควรพยายามที่จะมารับการฉีดวัคซีนให้ได้ ทานยาโรคประจำตัวอย่างสม่ำเสมอ ทำใจให้สบาย ถ้าหากมาแล้วเกิดความดันสูง จนไม่สามารถรับวัคซีนได้ ไม่ต้องกังวลเพราะทุกที่ รพ. มีนโยบายเลื่อนให้ท่านได้โดยไม่เสียสิทธิ์การฉีด และทุกศูนย์ในการฉีดวัคซีนมีกระบวนการในการดูแลทุกท่านให้ปลอดภัยด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ


You must be logged in to post a comment Login