วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

ชป.จับมือหลายหน่วยงานฝ่าวิกฤตแล้ง หลังเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง

On June 28, 2021

กรมชลประทาน จับมือหลายหน่วยงานเร่งให้การช่วยเหลือประชาชนให้มีน้ำกินน้ำใช้อย่างเพียงพอ พร้อมเดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรที่ทำนาปีไปแล้ว เพื่อลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด ตามข้อสั่งการของรัฐบาล โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) รวมถึงกิจกรรมการใช้น้ำภาคส่วนอื่นๆ พร้อมทั้งวางแผนสำรองน้ำไว้ในฤดูแล้งหน้า เร่งสร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วนในการจัดรอบเวร การประหยัดน้ำ คาดว่าฝนที่ตกช่วงต้นเดือนกรกฎาคมจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนทางตอนบนได้

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบัน (28 มิ.ย. 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 34,314 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 10,384 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 7,788 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 31 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 1,092 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งในขณะนี้มีการเพาะปลูกข้าวนาปี 64 ไปแล้วทั้งประเทศรวม 8.55 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 51 ของแผน เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 4.70 ล้านไร่  คิดเป็นร้อยละ 59 ของแผน

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้ จะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้นทางตอนบนของประเทศ แต่ส่วนใหญ่ยังคงมีฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ปัจจุบันมีพื้นที่หลายแห่งเริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในการผลิตประปา รวมไปถึงสถานการณ์น้ำเค็มรุกล้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ส่งผลกระทบต่อน้ำดิบผลิตประปาของการประปานครหลวง(กปน.) ทำให้ต้องระบายน้ำเพิ่มจากแผนที่วางไว้ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ กรมชลประทาน ได้ติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความแปรปรวนสูง อาจจะส่งผลกระทบต่อน้ำต้นทุนเพื่อใช้ในการเพาะปลูกของเกษตรกร และยังคงจำเป็นต้องจัดสรรน้ำตามรอบเวรให้กับพื้นที่การเกษตรที่ทำการเพาะปลูกไปแล้ว โดยจะให้ความช่วยเหลืออย่างศักยภาพ ส่วนเกษตรกรที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูก ขอให้ชะลอการเพาะปลูกออกไปก่อน จนกว่าจะมีปริมาณฝนตกในพื้นที่สม่ำเสมอและมีปริมาณน้ำเพียงพอ ทั้งนี้ ได้ร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค บรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ตลอดจนรักษาระบบนิเวศและพื้นที่การเกษตรในหลายพื้นที่ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภายใต้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ขึ้นบินเพื่อปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่เหนือเขื่อนอย่างต่อเนื่องในระยะนี้ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น และเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ให้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ประสานขอความร่วมมือไปยังกระทรวงมหาดไทยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อชี้แจงประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้ทุกภาคส่วนรับทราบอย่างต่อเนื่อง

กรมชลประทาน ขอยืนยันว่าจะบริหารจัดการน้ำตามมาตรการที่วางไว้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้มีน้ำอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ ตลอดจนน้ำเพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอตามแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 64 พร้อมกำชับให้โครงการชลประทานทุกแห่งติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเดินหน้าประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง จึงขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อสอบถามได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา


You must be logged in to post a comment Login