วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

“สัญชัย ยำสัน” ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาสังคม สะท้อนปัญหาการศึกษาเด็กชุมชนคลองเตยจากผลกระทบวิกฤติโควิด-19

On June 21, 2021

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)  ทำให้พื้นที่คลองเตยต้องเผชิญกับปัญหาซับซ้อนมากขึ้นจากเดิมที่ปัญหาเก่าๆ ก็ยังไม่คลี่คลายนัก โดยเฉพาะโอกาสที่ไม่เท่าเทียมของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ที่ต้องถูกซ้ำเติมหนักขึ้นด้วยเงื่อนไขของสถานการณ์โรคระบาด 

นายสัญชัย ยำสัน   หัวหน้าโครงการพัฒนาเด็กและชุมชน มูลนิธิดวงประทีป   ในฐานะผู้คลุกคลีอยู่กับพื้นที่ทั้งในฐานะผู้อยู่อาศัยที่เติบโตมาในชุมชนคลองเตยและคนทำงานด้านพัฒนาสังคม  ได้ออกมาแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าวที่อาจส่งผลกระทบต่อการเรียน การศึกษาของเด็กและเยาวชนในชุมชนคลองเตยไว้อย่างน่าสนใจว่า  ที่ผ่านมาได้พยายามที่จะสื่อสารให้คนภายนอกรับรู้และเข้าใจสิ่งที่คนคลองเตยเป็นมาโดยตลอดทั้งที่ผ่านมามูลนิธิดวงประทีปและความพยายามช่วยเหลือเด็กที่ประสบปัญหาต่างๆ เริ่มต้นจากการสร้างความสัมพันธ์ด้วยการเข้าไปเป็นครูอาสา สอนวิชาแนะแนวหรือทักษะชีวิตในห้องเรียน หลังจากนั้นก็เฝ้าติดตามโดยมีคุณครูในโรงเรียนช่วยแจ้งเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับเด็กให้ทราบอย่างต่อเนื่อง  

“เคยมีคุณครูแจ้งมาว่า คุณไฝ (สัญชัย) ครับ มีเด็กคนหนึ่งมาที่โรงเรียนแล้วหลับตลอดเวลา เขาไม่รู้ว่าปัญหาของเด็กเป็นอย่างไร ถ้าครูที่ไม่เข้าใจก็คงจะดุเด็กทันที เราก็เลยต้องตามไปคุยกับเด็กที่บ้านว่าทำไมไปเรียนแล้วถึงหลับ สอบถามแล้วได้ความว่า เมื่อเด็กเลิกเรียนต้องไปทำงาน เลิกงานเสร็จกว่าจะได้นอนก็ตี 2 พอไปโรงเรียนก็ง่วง เราก็อธิบายเรื่องนี้ให้ครูเขาเข้าใจ ขณะเดียวกันก็ไปคุยกับผู้ปกครองของเด็กเพื่อแก้ปัญหาด้วย” นายสัญชัย กล่าว 

นายสัญชัย กล่าว  กล่าวด้วยว่า   นอกจากนี้ทางมูลนิธิยังพยายามสนับสนุนด้านการศึกษา โดยมีทุนการศึกษาให้กับเด็กที่ยากจนและเรียนดี แต่ด้วยสถานการณ์โควิดเช่นนี้จึงเน้นไปที่การประชาสัมพันธ์บอกเด็กๆ และพ่อแม่ว่าให้กักตัว หากขาดเหลืออะไรให้แจ้งเข้ามา   

“ช่วงนี้เรากำลังจัดถุงยังชีพให้กับคนที่กักตัว ทุกๆ วันเราจะจัดอาหารมื้อเที่ยงและมื้อเย็นให้กับครอบครัวที่กักตัวอยู่ ส่วนมื้อเช้าจะให้ถุงยังชีพไปเพื่อให้เขาได้ทำกินในบ้านเอง   จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในคลองเตยตอนนี้ถือว่าค่อนข้างเยอะ เท่าที่ดูเมื่อช่วงวันที่ 9 พฤษภาคม (2564) อยู่ที่ราวๆ 400 คนน่าจะได้ ที่ชุมชนพัฒนาใหม่ผู้ประสานงานบอกว่ามีอยู่ 110 คน เฉพาะชุมชนเดียวนะ ส่วนแถวบ้านผมเองมีผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 26 รายแล้ว ซึ่งชุมชนที่ผมอาศัยอยู่มีประมาณ 1,500 หลังคาเรือน” 

นายสัญชัย  ได้ประเมินสถานการณ์คร่าวๆ ให้ทราบ ถึงแม้จะเป็นการพูดคุยกันในช่วงบ่ายวันอาทิตย์ แต่ก็เป็นช่วงเวลาว่างอันน้อยนิดที่เขาพยายามแบ่งเวลามาพูดคุยด้วยได้  ตนสังเกตว่าอาจจะมีเด็กๆ ติดโควิดกันไม่ใช่น้อย เด็กประถมติดโควิดหลายรายพอสมควร เพราะว่าเด็กๆ อาจจะซุกซน ไปเล่นกับเพื่อนแล้วติดกันมา ถ้าเป็นเด็กโต ปัญหาของเขาคือต้องอยู่แต่ในบ้าน ออกมาวิ่งเล่นข้างนอกไม่ได้ จะทำกิจกรรมอะไรก็ไม่สะดวก แต่ก็มีเด็กบางส่วนที่เป็นแกนนำ เข้ามาเป็นอาสาสมัครบ้าง มาทำกิจกรรมช่วยเหลือชุมชนบ้าง  

พร้อมกล่าวด้วยว่า  เมื่อคนในชุมชนรู้สึกกังวล มีความกลัว ส่วนใหญ่ก็จะให้ลูกหลานอยู่แต่ในบ้าน พยายามไม่ให้ลูกหลานออกไปข้างนอก ถามว่าเมื่อเด็กๆ เหล่านี้อยู่บ้านแล้วเขาทำอะไร ก็เล่นโทรศัพท์ ถ้าเด็กในครอบครัวนั้นมีโทรศัพท์มือถือ ส่วนใหญ่แล้วเขาก็เล่นเกมกันซึ่งมันก็ไม่มีประโยชน์ แล้วผู้ปกครองเองอาจจะไม่มีความสามารถในการแนะนำได้ว่าเขาควรจะดูแบบไหนอย่างไร เพราะตัวเองก็ต้องดิ้นรนหากินเหมือนกัน การอ่านหนังสือหรือการทบทวนตำรับตำราก็มีจำนวนที่ไม่มากหรอก เพราะผู้ปกครองเองก็ไม่ได้เรียนสูง ถ้ามีหนังสือนิทานหรือสมุดระบายสีต่างๆ ก็น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับเด็กบ้าง” 

ปัญหาด้านการศึกษาที่เกิดขึ้นกับเด็กในชุมชนคลองเตยอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ว่าจะเป็นความเอาใจใส่ของผู้ปกครอง สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเรียน ซึ่งสัญชัยมองว่านี่คือกับดักความเหลื่อมล้ำที่เด็กคลองเตยติดอยู่อย่างยาวนานก่อนเกิดการระบาดของโควิด 

“ส่วนใหญ่แล้วเด็กๆ จะเรียนอยู่ที่โรงเรียนสังกัด กทม. เป็นหลัก เพราะหนึ่ง-ใกล้บ้าน สอง-ไม่เสียค่าใช้จ่าย สาม-อุปกรณ์การเรียนการสอนพอจะรองรับเด็กๆ เหล่านี้ได้ ซึ่งก็คงไม่เท่าเทียมกับเด็กข้างนอกอยู่แล้ว เด็กข้างนอกเขาอาจจะมีอาหารกลางวันดีๆ ตอนเช้ามีพ่อแม่ดูแลเรื่องอาหารการกินที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้กับลูก แต่เด็กคลองเตยคงจะไม่ได้แบบนั้น ที่ผ่านมาเราเองก็พยายามผลักดันเรื่องนี้ จนท้ายที่สุดแล้วโรงเรียน กทม. เขาก็มีข้าวให้กิน หมายถึงข้าวเช้านะ ซึ่งเมื่อก่อนไม่มี แต่เดี๋ยวนี้ก็เริ่มมีแล้ว 

“ส่วนเด็กอนุบาลในโรงเรียนอนุบาลใกล้ๆ ละแวกชุมชน ก็อาจจะไม่มีข้าวเช้า ต้องกินอาหารข้างนอกก่อนเข้าโรงเรียน อาจเป็นมาม่าผัด 5 บาท ใส่น้ำโจ๊กน้ำต้มข้าวบ้าง เพราะฉะนั้นเด็ก 3-6 ขวบเหล่านี้ ก่อนจะเข้าเรียนก็ไม่มีอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการไปบำรุงหรอก ไม่ได้มีอาหารที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของสมองเท่าไร ประเด็นที่ผมอยากเสนอคือ ทำอย่างไรให้เด็กได้กินอาหารเหมือนกับคนอื่นบ้าง ได้มีโอกาสกินอาหารดีๆ เพื่อบำรุงสมองอะไรแบบนี้” 

สำหรับปัญหาในด้านการเรียน สัญชัยมองว่า    ในเด็กเล็กยังไม่ค่อยพบปัญหานัก ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กระดับมัธยมต้น เช่น ออกจากโรงเรียนกลางคัน ไม่สามารถเรียนต่อได้ แม้จะมีนโยบายเรียนฟรี แต่ก็ยังมีค่าเดินทาง ค่าอาหาร และต้องมีเงินติดตัวไปโรงเรียนบ้าง รวมถึงเด็กบางคนยังมีปัญหาทางครอบครัวและสภาพแวดล้อมที่บ้าน  

“เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ผมเข้าไปสอนเรื่องทักษะชีวิตและวิชาแนะแนว เราจะสังเกตเห็นได้ว่าช่วง ม.1 สมมุติว่ามีนักเรียน 80 คน พอขึ้น ม.2 เด็กจะหายไปสัก 20 เปอร์เซ็นต์ พอขึ้น ม.3 หายไปสัก 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าถึงแม้จะมีนโยบายเรียนฟรี แต่เด็กก็ยังต้องออกกลางคัน ผมเองที่ดูแลเด็กเหล่านี้อยู่ก็พยายามตามไปดูว่าเกิดปัญหาอะไร ถ้าเราสามารถแก้ได้ทันท่วงที เราก็จะนำเด็กกลับมาที่โรงเรียนเพื่อมาเรียนต่อ อย่างน้อยให้เขาจบ ม.3 เพื่อให้เขาหางานทำได้ อ่านออกเขียนได้ มีอาชีพเป็นแม่บ้าน เป็น รปภ. หรือเป็นอะไรที่เขาพอทำได้ ก็ยังดีกว่าไม่มีความรู้เลย” 

เมื่อพูดถึงสถานการณ์หลังจากโควิดระบาดรอบที่ 3 สัญชัยรู้สึกกังวลใจค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นห่วงสภาพความเป็นอยู่ของเด็กๆ และปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นก็แย่ลงด้วยเช่นกัน 

“ผมว่ามันหนักขึ้นมากๆ ปัญหาที่เด็กๆ จะต้องเจอคือ เมื่อโรงเรียนไม่เปิด พออยู่บ้าน บางคนก็ไม่มีข้าวกิน แต่อยู่โรงเรียนยังมีข้าวมีนมให้กิน ใจจริงผมอยากให้ครูเรียกเด็กๆ มาที่โรงเรียนแล้วก็รับนมไป ช่วงเทอมที่แล้วที่มีการระบาดระลอก 2 ก็ทำไปแล้วบ้าง ซึ่งผมเห็นว่าสถานการณ์แบบนี้ควรมีอาหารหรือนมให้เด็กๆ ได้กินกัน 

“ปัญหาต่อมาคือ เด็กในชุมชนต้องเรียนออนไลน์ ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก เพราะมันไม่ใช่บ้านแบบคนปกติทั่วไป บางทีบ้านหลังหนึ่งอยู่กัน 4-5 คน โทรศัพท์มีเครื่องเดียว แล้วจะเรียนกันอย่างไร สมาธิในการเรียนก็ไม่มี เพราะไม่มีห้องส่วนตัว มันเป็นแค่ห้องสี่เหลี่ยมห้องเดียว บางทีไอ้ตัวเล็กเสียงดัง มันเรียนไม่ได้หรอกครับ บางทีโรงเรียนมีใบงานมาให้ทำ แต่เด็กก็อาจจะได้ความรู้ไม่มากนัก ถ้าบ้านไหนโชคดีหน่อย มีลูกไม่กี่คน แล้วอุปกรณ์พร้อม เด็กก็จะมีสมาธิหน่อย แต่สิ่งแวดล้อมในชุมชนก็จะเป็นปัญหาอีก”  

นอกจากนี้สัญชัยยังเสริมเรื่องคุณภาพทางการศึกษาอีกว่า ความเหลื่อมล้ำทำให้เด็กคลองเตยไม่สามารถแข่งขันกับเด็กข้างนอกได้ อีกทั้งสภาพสังคมก็ไม่ส่งเสริมให้เด็กได้รับการพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น 

“เด็กๆ ของเราส่วนใหญ่แล้วเวลาไปสอบเทียบกับโรงเรียนอื่นข้างนอก เขาจะได้อยู่ห้องท้ายๆ หมายความว่า ไม่สามารถจะไปอยู่ห้องที่เขาเรียกว่าอะไรนะ ห้องคิงใช่ไหม ห้องอะไรพวกนั้น เด็กเหล่านี้ไม่มีโอกาสหรอกครับ เพราะไม่มีตังค์ การเรียนห้องพวกนั้นต้องมีตังค์ด้วย เด็กพวกนี้ก็เลยต้องไปอยู่ห้องท้ายๆ เป็นห้องที่แบบว่าเสือ สิง กระทิง แรด มารวมตัวกัน สุดท้ายเด็กที่พอจะมีพฤติกรรมดีๆ หน่อย พอไปอยู่รวมกันก็โยงกันไปทั้งห้อง  

“ผมกังวลว่าเด็กคลองเตยจะมีปัญหาสะสมไปเรื่อยๆ ถ้าไม่มีผู้ปกครองที่เอาใจใส่ดูแล ผมเคยถามว่าทำไมเขาถึงไม่มีเวลาดูลูกบ้าง คำตอบที่ได้รับมาตรงๆ ก็คือ ‘แค่หาข้าวให้มันแดกก็แทบแย่แล้ว จะต้องเอาเรื่องนี้มาอีกหรือ’ เขาเองที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองทำงานถึงตีสี่ตีห้า กว่าจะกลับบ้านลูกก็หลับแล้ว เพราะฉะนั้นการทำมาหากินของเขากับการดูแลลูกของเขามันไม่ค่อยสอดคล้องกัน แต่ถ้าสังคมเกิดความเท่าเทียม ไม่เหลื่อมล้ำ รายได้สมเหตุสมผล ผมเชื่อว่าคนเหล่านี้เขาน่าจะมีเวลาดูแลลูกได้   ผมคิดว่าเราควรจะต้องจัดครูให้ครบตามหลักสูตรการเรียนการสอน อย่างเช่นบางทีโรงเรียนขาดครูภาษาอังกฤษก็เอาครูคนอื่นไปสอนแทน เราจำเป็นต้องมีครูให้ครบตามจำนวนวิชา และต้องเป็นครูที่เข้าใจ หมายความว่าเข้าใจบริบทความเป็นชุมชน บางทีมีครูที่เขามาถึงหน้าโรงเรียนแล้วเห็นว่าอยู่ในคลองเตย ถึงสอบบรรจุมาได้ก็อยากย้ายไปที่อื่น เราก็อยากได้ครูที่เขามีใจอยากพัฒนาเด็กๆ ในชุมชนมากๆ ในขณะเดียวกันถ้ารัฐจัดให้ได้ ผมคิดว่าต้องให้ค่าตอบแทนพิเศษเขาไปด้วย คล้ายๆ แบบจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเบี้ยพิเศษอะไรแบบนั้น” นายสัญชัย  กล่าว  

สัญชัยบอกอีกว่า    สำหรับตัวเด็กเอง หากเขาไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ ทางมูลนิธิก็จะพยายามส่งเสริมให้ได้เรียน กศน. เพื่อที่อย่างน้อยจะได้มีวุฒิการศึกษา นอกจากนี้จะมีการฝึกวิชาชีพ 2-3 วิชาชีพ ตามความชอบหรือความถนัด ถ้าเด็กสนใจเรื่องอะไร ทางมูลนิธิก็จะส่งเสริมให้ เช่น มีการเปิดหลักสูตรร้านขายก๋วยเตี๋ยว ร้านขายกาแฟ ถ้าเด็กคนไหนชอบแล้วอยากเรียนก็ดึงเข้ามา ให้เขาเลือกอาชีพที่เขาอยากเป็น อยากทำ และจะดีกว่านั้นถ้ามีเงินค่าตอบแทนให้เด็กด้วย  

“บางคนอาจสงสัยว่าก็ให้เรียนฟรีแล้ว ทำไมต้องให้ค่าตอบแทนด้วย คือชีวิตคนมันต้องกินน่ะครับ ถ้าวันนี้เขามาเรียนแล้วเขาจะเอาตังค์ที่ไหนไปกิน หิวก็ต้องกิน ท้องก็ต้องอิ่ม เพื่อให้อยู่ได้ก่อนที่จะเรียนอะไรได้ ถ้าต้องมาเรียนเป็นสัปดาห์ก็ไม่อยากเรียน เพราะคิดว่าไปหาตังค์ดีกว่า จะได้มีกินมีใช้  

“ถ้าถามถึงความฝันของเด็กในชุมชนว่า เป้าหมายชีวิตมีไหม ผมตอบเลยว่าบางคนมีความฝันอันยิ่งใหญ่ แต่ความฝันนั้นกว่าจะไปถึงมันแทบจะเป็นไปไม่ได้ ตัวอย่างเช่น บางคนฝันอยากเป็นครู ตั้งหน้าตั้งตาเรียนสายครูเต็มที่ แต่บังเอิญมีหัวหน้าครอบครัวที่เป็นคนหารายได้หลักเสียชีวิต เด็กก็ไปต่อไม่ได้ ต้องออกมาทำงานช่วยเหลือครอบครัว แล้วหาเงินส่งน้องเรียนต่อไป วัฏจักรมันก็จะวนเวียนอยู่แบบนี้” 

ท้ายที่สุดแล้ว สัญชัยมองว่านโยบายด้านการศึกษาของรัฐมีความสำคัญอย่างมากในการลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้การศึกษากลายเป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างแท้จริง 

“การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำพาเด็กๆ ในชุมชนคลองเตยไปสู่อนาคตที่ดี จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กชนชั้นกลางกับเด็กเปราะบางเหล่านี้ ซึ่งถ้ารัฐจัดสวัสดิการได้ดีพอก็จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของเด็กเหล่านี้ได้ เด็กๆ จะมีอนาคตและสามารถพยุงตัวเองไปได้ ผมยังเชื่อมั่นนะว่าการศึกษาจะเป็นทางออกของเด็กคลองเตยได้”  

 บทสรุปของนายสัญชัยที่อยากฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ  การตอกย้ำให้เห็นว่า   การศึกษาคือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเด็กคลองเตย อย่างน้อยที่สุดก็ควรมีทักษะทางอาชีพที่สามารถต่อยอดได้ และต้องให้ทุนสนับสนุนโดยไม่ละเลยเรื่องปากท้องที่เป็นอุปสรรคสำคัญ รวมถึงมีบุคลากรครูที่ตั้งใจจะช่วยให้เด็กๆไปถึงฝั่งฝันของชีวิตนั่งเอง  


You must be logged in to post a comment Login