วันพฤหัสที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2567

รอมฎอนแรกในอิสลาม

On April 16, 2021

คอลัมน์ : สันติธรรม

ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 16-23 เม.ย. 64 )

คัมภีร์กุรอานกล่าวไว้ว่าพระเจ้าได้กำหนดให้ปีหนึ่งมีสิบสองเดือน ก่อนหน้าอิสลาม ชาวอาหรับโบราณมีชื่อเรียกเดือนทั้งสิบสองนี้แล้ว  แต่ชื่อเดือนเหล่านั้นได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นชื่อที่ใช้เรียกในปัจจุบันประมาณ 150 ปีก่อนหน้าสมัยนบีมุฮัมมัดและเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่เก้าของเดือนที่ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่

ก่อนนบีมุฮัมมัดเริ่มเผยแผ่อิสลาม การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนยังไม่มี แต่ชาวอาหรับ ชาวยิวและชาวคริสเตียนมีการถือศีลอดกันแล้ว ชาวยิวและชาวคริสเตียนถือศีลอดตามแบบของโมเสสและพระเยซูตามปฏิทินของตน ส่วนชาวอาหรับมีการถือศีลอดเป็นบางโอกาส เช่น ในวันที่มีการเปลี่ยนผ้าคลุมก๊ะอฺบ๊ะฮฺ

นบีมุฮัมมัดเคยถือศีลอดตามชาวอาหรับก่อนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้เผยแผ่คำสอนอิสลาม ในวันว่างจากการค้าขาย ท่านมักจะนำอาหารและน้ำติดตัวขึ้นไปเพื่อละศีลอดในระหว่างที่ปลีกวิเวกในถ้ำบนภูเขาบริเวณชานเมืองมักก๊ะฮฺ

แม้จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสนทูตและเผยแผ่สั่งสอนอิสลามอยู่ในเมืองมักก๊ะฮฺเป็นเวลา 13 ปี การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนก็ยังไม่ได้ถูกกำหนดลงมา และไม่มีบันทึกชัดเจนว่าท่านถือศีลอดอย่างไร

เมื่อนบีมุฮัมมัดและมุสลิมถูกกดขี่ข่มเหงจนต้องอพยพไปยังเมืองมะดีนะฮฺ  ที่นั่น ท่านเห็นชาวยิวที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนถือศีลอดกัน ท่านจึงสั่งมุสลิมให้ถือศีลอดตามแบบอย่างของชาวยิวเพราะท่านถือว่าชาวยิวเป็นสาวกของโมเสส(นบีมูซา)ผู้เป็นศาสนทูตของพระเจ้าก่อนหน้าท่าน

ตามคัมภีร์ไบเบิล โมเสสถือศีลอดเป็นเวลาสี่สิบวันโดยอดอาหารตลอดทั้งวัน เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า โมเสสจะละศีลอดและถือศีลอดต่อไป พระเยซู(นบีอีซา)ผู้มาทีหลังโมเสสก็ทำตามนั้น แต่ชาวยิวรุ่นหลังส่วนใหญ่ไม่สามารถถือศีลอดตามโมเสสได้ จึงถือศีลอดในบางวันที่สำคัญเช่นวันที่ชาวยิวเชื่อว่าเป็นวันที่โมเสสได้รับคัมภีร์จากพระเจ้าบนภูเขาซีนาย

เมื่อไปถึงเมืองมะดีนะฮฺ นบีมุฮัมมัดได้เข้าหาชุมชนชาวยิวเพื่อบอกถึงภารกิจของท่านและท่านคิดว่าชาวยิวคงจะเข้าใจได้ดีเพราะอิสลามมีรากฐานความเชื่อที่เหมือนกับความเชื่อของชาวยิว แต่เพราะชาวยิวทระนงในเชื้อชาติของตนและดูถูกชาวอาหรับ นบีมุฮัมมัดจึงถูกชาวยิวปฏิเสธและต่อต้าน

ด้วยเหตุนี้ ในปีที่สองของการอพยพไปยังมะดีนะฮ พระเจ้าจึงได้กำหนดรูปแบบการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนแก่มุสลิมเป็นครั้งแรกโดยมีรูปแบบเหมือนกับที่มุสลิมปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบัน

แต่ก่อนจะถึงเดือนรอมฎอนแรกได้ประมาณหนึ่งเดือน นบีมุฮัมมัดผู้ได้รับการแต่งตั้งจากชาวเมืองให้เป็นผู้นำเมืองมะดีนะฮฺเห็นผู้คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้อพยพทุกคนมีสภาพลำบากยากจนและท่านยังไม่มีรัฐบาลหรือรัฐมนตรีคอยดูแลช่วยเหลือคนยากจน ท่านจึงกำหนดให้มุสลิมผู้ศรัทธาในพระเจ้าช่วยกันสำรวจดูว่าใครในชุมชนที่ประสบความอัตคัดขัดสนและถ้ามุสลิมคนใดมีอาหารเหลือกินเกินหนึ่งวัน มุสลิมผู้นั้นต้องนำอาหารส่วนเกินของตัวเองไปมอบให้เป็น “ซะกาตฟิฏร์” แก่คนยากจนที่ตนพบก่อนสิ้นเดือนรอมฎอน

ซะกาตฟิฏร์คืออาหารท้องถิ่นที่ผู้คนกินเป็นประจำ เช่น ข้าวหรือแป้งที่มีปริมาณตามเครื่องตวงของชาวอาหรับในเวลานั้นซึ่งหากเป็นข้าวสารของไทยจะมีน้ำหนักประมาณ 2.75 – 3 กิโลกรัม

การจ่ายซะกาตฟิฏร์ถือเป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติ ผู้นำครอบครัวมุสลิมนอกจากจะต้องจ่ายสำหรับตัวเองแล้วยังต้องจ่ายแทนสมาชิกในครอบครัวที่อยู่ในการดูแลของตนด้วย ใครไม่จ่ายก็ถือว่าการถือศีลอดของคนผู้นั้นยังถูกแขวนอยู่ในชั้นฟ้า ยังไม่เป็นที่ยอมรับจากพระเจ้า นอกจากนี้แล้ว การจ่ายซะกาตฟิฏร์ยังถือเป็นการชดใช้ข้อบกพร่องในระหว่างการถือศีลอดด้วย เช่น การพูดจาไร้สาระหรือการนินทาคนอื่น เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ซะกาตฟิฏร์ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ยากจนได้มีโอกาสนำข้าวที่ได้รับไปแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งของอย่างอื่นหรือนำไปทำเป็นอาหารเฉลิมฉลองการสิ้นสุดการถือศีลอดในวันอีดุลฟิฏร์อย่างมีศักดิ์ศรีด้วย


You must be logged in to post a comment Login