วันพฤหัสที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567

สธ.เตรียมมาตรการเข้มรองรับสงกรานต์ ขับขี่ปลอดภัย ห่างไกลโควิด

On April 8, 2021

เมื่อวันที่ 8 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายยงยุทธ นาคแดง รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ แถลงข่าวการเตรียมการรองรับเทศกาลสงกรานต์ 2564 กระทรวงสาธารณสุข “สงกรานต์สุขใจ ขับขี่ปลอดภัย ห่างไกลโควิด”

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์ปี 2564 ประเทศไทยยังอยู่ในสถานการณ์โรคโควิด 19 ศบค. ได้กำหนดแนวทางการจัดกิจกรรมงานบุญตามประเพณีสงกรานต์ ภายใต้สโลแกน ริน รด พรม ใส่หน้ากาก ไม่สาดน้ำ และเดินทางข้ามจังหวัดกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวได้ เพื่อให้เกิดความสมดุล ทั้งระบบสุขภาพและเศรษฐกิจของประเทศ ใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด พิจารณาความเหมาะสมในการจัดกิจกรรม เข้มมาตรการป้องกันการแพร่กระจายโรคโควิด 19 รวมทั้ง สธ.จะเสนอ ศบค.ให้พิจารณาปิดผับ บาร์ คาราโอเกะ และสถานประกอบการอาบ อบ นวด ซึ่งเป็นสถานที่เสี่ยงสูง มีการแพร่กระจายเชื้อได้ง่าย ในจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อและจังหวัดที่มีความเสี่ยง เช่น เป็นทางผ่าน หรือเมืองใหญ่ 41 จังหวัด

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ป้องกันลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ เนื่องจากมีการเดินทางใช้รถใช้ถนนมากกว่าช่วงปกติ โอกาสเกิดอุบัติเหตุ บาดเจ็บ และเสียชีวิตจึงมากขึ้นเป็น 2 เท่า โดยกำชับให้ อสม.ทั่วประเทศ คัดกรองผู้ขับขี่ที่ดื่มแล้วขับที่ด่านชุมชน เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ออกไปขับรถบนถนน เนื่องจากอุบัติเหตุส่วนใหญ่มักเกิดในถนนรอง เป็นรถจักรยานยนต์มากที่สุด มีสาเหตุจากดื่มแล้วขับสูงกว่าร้อยละ 40  รวมถึงเปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ที่ส่วนกลางและจังหวัด เพื่อเป็นศูนย์ประสานและสนับสนุนการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมสั่งการให้หน่วยงานและโรงพยาบาลในสังกัดสนับสนุนการทำงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เตรียมความพร้อมศูนย์รับแจ้งเหตุ และเตรียมหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับ 8,255 หน่วย รถปฏิบัติการฉุกเฉิน  20,338 คัน รวมทั้งหน่วยปฏิบัติการทางอากาศและทางเรือ และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับ 164,795 คน จัดหน่วยกู้ชีพระดับพื้นฐานและหน่วยปฏิบัติการระดับสูงประจำบนเส้นทางถนนสายหลักที่มีจุดตรวจ/จุดบริการอยู่ห่างกันมาก เพื่อดูแลรักษาพยาบาลอย่างรวดเร็ว กรณีบาดเจ็บ/เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตรับบริการที่โรงพยาบาลใกล้ที่สุด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงแรก ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ ดำเนินการเจาะเลือดตรวจระดับแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุ ตามการร้องขอของเจ้าหน้าที่ตำรวจกรณีที่ไม่สามารถเป่าลมหายใจผ่านเครื่องตรวจได้ รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่เน้นมาตรการป้องกันโควิด 19 ทุกครั้งที่ลงปฏิบัติงาน ณ จุดเกิดเหตุ และในโรงพยาบาล

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในทุกเทศกาลยังพบร้านค้ากระทำผิด ทั้งขายสุราในสถานที่และเวลาห้ามขาย ขายให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี จึงเดินหน้าทำงานในเชิงรุก โดยช่วงก่อนเทศกาลมีการออกตรวจเตือน/ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ช่วงเทศกาลบังคับใช้กฎหมายทั่วประเทศอย่างเข้มข้น และขอให้ประชาชนเป็นหูเป็นตาคอยสอดส่องดูแลผู้กระทำผิดกฎหมาย ถ้าพบเห็น เช่น ขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปั๊มน้ำมัน สถานที่ราชการ  สถานศึกษา  ศาสนสถาน สวนสาธารณะของทางราชการ ขายในเวลาห้ามขาย เร่ขาย และโฆษณาส่งเสริมการขาย ให้โทรศัพท์แจ้งได้ที่ศูนย์ร้องเรียนบุหรี่และสุรา สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค หมายเลข 0-2590-3342 หรือสายด่วน 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคยังได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดทำโครงการขับขี่ปลอดภัย มั่นใจไร้แอลกอฮอล์ โดยกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน กรมการขนส่งทางบก สนับสนุนค่าตรวจแอลกอฮอล์ในเลือดทุกราย ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยตรวจแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ทุกรายที่เกิดอุบัติเหตุแล้วทำให้มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต โดยวิธีเป่าลมหายใจผ่านเครื่องตรวจ หากไม่สามารถเป่าได้ให้ตำรวจส่งตัวผู้ขับขี่ไปโรงพยาบาลเพื่อเจาะเลือดตรวจแอลกอฮอล์ เพื่อนำผลตรวจไปประกอบสำนวนคดีตามกฎหมายต่อไป  

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า การรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 ได้ดึงพลังภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม คือ อสม.ในการตั้งด่านชุมชน คัดกรองผู้มีอาการมึนเมาในขณะขับขี่ยานพาหนะช่วง 7 วันอันตราย (10 – 16 เมษายน 2564) ตามแนวทางประเมินอาการมึนเมาสุราเบื้องต้น พร้อมบันทึกข้อมูลและรายงานผลการดำเนินงานคัดกรองแก่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาและกำหนดแนวทางการดำเนินการด่านชุมชนให้ตอบโจทย์การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังประสานความร่วมมือสถานพยาบาลเอกชนเตรียมความพร้อมให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินและฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งจะต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที ไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใน 72 ชั่วโมงแรก ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ โดยจะส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าตรวจความพร้อมของสถานพยาบาลเอกชน ทั้งด้านมาตรฐานของสถานพยาบาลและความพร้อมในการคัดกรองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เพื่อป้องกันการปฏิเสธหรือเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต

ดร.นพ.ไพโรจน์  เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ สสส. รณรงค์ “คิดถึง…กลับให้ถึง อย่างปลอดภัย” เน้นมาตรการ “ดื่มไม่ขับ สวมหมวกกันน็อก และขับไม่เกิน 80” โดยใช้พลังของความคิดถึงเตือนสติในการขับขี่และใช้รถใช้ถนน เพื่อให้เดินทางให้ถึงบ้านอย่างปลอดภัย โดยร่วมกับตำรวจภูธรภาค 4 จัดอาสาสมัครจราจรหญิง มีสมาชิกว่า 2,000 คน ใน 12 จังหวัด ที่ผ่านการฝึกอบรมแล้ว เป็นผู้ช่วยสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลความสงบเรียบร้อยในชุมชน ร่วมตั้งด่านชุมชน ตรวจเตือนคนที่ดื่มแล้วขับขี่ในชุมชน และส่งเสริมให้มีการสวมหมวกกันน็อกทุกครั้งเมื่อขับขี่  และร่วมกับเครือข่ายลดอุบัติเหตุ มูลนิธิเมาไม่ขับ เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ 100 เครือข่ายทั่วประเทศ สนับสนุนการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ ให้กวดขันมาตรการ “ดื่มไม่ขับ” สนับสนุนให้มีการตรวจวัดแอลกอฮอล์ในเลือด กรณีที่เกิดอุบัติเหตุแล้วมีผู้เสียชีวิตทุกกรณี

“ที่น่าห่วงคือ ในช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์นี้ มีสัญญาณว่าอาจมีการตั้งวงดื่มเพิ่มขึ้น จึงขอความร่วมมือประชาชนงดกิจกรรมเสี่ยงทุกชนิด เพราะการดื่มแอลกอฮอล์ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดเชื้อต่างๆ รวมทั้งโควิด-19 และเพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อในปอดถึง 2.9 เท่า รวมถึงหาก “ดื่มแล้วขับ” จะสร้างความสูญเสียอีกมาก” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว


You must be logged in to post a comment Login