วันพฤหัสที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567

องค์กรสตรี เด็ก ครอบครัว จี้ กสทช. เอาผิดทีวีเสนอฉากข่มขืนในละคร

On February 22, 2021

วันนี้ (22กุมภาพันธ์2564) ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล นายชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว พร้อมด้วย มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และภาคีเครือข่ายกว่า 30 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ พลโท ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสทช. เรียกร้องให้เอาผิดสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ที่เผยแพร่ละครเรื่อง “เมียจำเป็น” ออกอากาศช่วงไพรม์ไทม์ ที่เด็กเยาวชนส่วนใหญ่เข้าถึง ปรากฏฉากข่มขืน ความรุนแรง คุกคามทางเพศ ผลิตซ้ำมายาคติ ทำลายความเสมอภาคระหว่างเพศ

นางสาวอังคณา กล่าวว่า จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ฉากข่มขืนในละครเรื่อง “เมียจำเป็น” ทางช่อง 3 มีเนื้อหาทรมาน ทารุณ ทำร้ายร่างกายและจิตใจ รวมถึงฉากพยายามข่มขืน ซึ่งวัฒนธรรมการข่มขืน เป็นมุมมองทางสังคมเกี่ยวกับเพศ การกดทับ ส่งผลต่อการล่วงละเมิดทางเพศปัญหาการข่มขืนตามมา โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ 1.ทำให้เป็นเรื่องปกติ เช่น ฉากพระเอกข่มขืนนางเอก เป็นการส่งเสริม มองว่าเป็นเรื่องปกติ โรแมนติก เกี่ยวกับความรัก หรือใช้คำว่าปล้ำแทนข่มขืน เพื่อให้ดูเบาลง 2.ความเสื่อมถอย เช่น โทษว่าเป็นความผิดของฝ่ายหญิง เป็นผู้หญิงชอบมั่ว ไม่ระมัดระวังตนเอง ส่งผลให้ผู้หญิงไม่ได้รับความยุติธรรม หรือมองการถูกข่มขืนเป็นเรื่องน่าอับอาย เป็นตราบาป ทำให้ผู้ถูกข่มขืนไม่กล้าพูด กลัวสังคมตีตรา เหมือนเป็นการส่งเสริมให้มีการข่มขืนต่อไป หรือมองว่าการถูกข่มขืนต้องเกิดอยู่ในป่า ที่ลับตาคนเท่านั้น ทำให้ไม่เชื่อว่าการข่มขืนเกิดในบ้าน โรงเรียน หรือโรงพยาบาล เป็นต้น 3.การใช้กำลัง เช่น การปล้ำ การข่มขืน การมอมเหล้า วางยา เป็นต้น  

“สื่อโทรทัศน์ เป็นสื่อที่มีอิทธิ เข้าถึงผู้ชมได้กว้างขวางทุกเพศทุกวัย รายการโทรทัศน์ไม่ว่าข่าว ละคร รายการเด็ก เกมโชว์ หรือโฆษณา ส่วนมากจะนำเสนอภาพของผู้หญิงและผู้ชาย ความสัมพันธ์ออกมาแบบตายตัว ตอกย้ำบทบาททางเพศตามแบบฉบับดั้งเดิม และผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายถูกใช้ความรุนแรง ถูกนำเสนอให้เป็นเรื่องปกติ ผลิตซ้ำมายาคติผิดๆ ต่อการข่มขืนผ่านละคร สอดคล้องกับสถานการณ์ความรุนแรงทางเพศ จากหนังสือพิมพ์ ที่มูลนิธิฯรวบรวมไว้ เมื่อปี 2562 พบว่า ความรุนแรงทางเพศโดยเฉพาะการข่มขืนยังเป็นปัญหาที่ไม่ลดลง เนื่องจากข่าวความรุนแรงทางเพศสูงถึง 333ข่าว แบ่งเป็น ข่าวข่มขืน ร้อยละ 43.9ข่าวบังคับค้าประเวณี ร้อยละ11.7ข่าวพยายามข่มขืน ร้อยละ10.2สำหรับอายุผู้ถูกกระทำ พบมากที่สุด คือเด็กและเยาวชน 11-15ปี ร้อยละ47.3ความสัมพันธ์ เกิดจากบุคคลแปลกหน้า/ไม่รู้จักกัน ร้อยละ 45.9เป็นคนรู้จักคุ้นเคยและเป็นบุคคลในครอบครัว ร้อยละ 45.6ถูกกระทำจากบุคคลที่รู้จักกันผ่าน Social Network ร้อยละ 8.5และพบปัจจัยกระตุ้นมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้ยาเสพติด” นางสาวอังคณา กล่าว  

นายชูวิทย์ กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้ กดทับการล่วงละเมิดทางเพศ ทำให้ผู้ถูกข่มขืนไม่กล้าพูด ทำให้เกิดการล่วงละเมิดต่อเรื่อยๆ และสนับสนุนวัฒนธรรมการข่มขืน ในฐานะกสทช.เป็นหน่วยงานอิสระของรัฐที่มีบทบาทหน้าที่ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม มูลนิธิฯ และภาคีเครือข่าย จึงขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอ ดังนี้1.ทำหน้าที่กำกับดูแลเนื้อหาละครโทรทัศน์ที่ผลิตซ้ำมายาคติผิดๆ ต่อการข่มขืนผ่านละคร จากกรณีละครเรื่อง “เมียจำเป็น” มีลักษณะสนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมการข่มขืนทับถมด้วยคำพูดรุนแรง และตอกย้ำความคิดแบบชายเป็นใหญ่ ถือเป็นอุปสรรคต่อความเสมอภาคระหว่างเพศ ซึ่งในกรณีนี้ต้องเอาผิดและลงโทษสถานีโทรทัศน์ช่องดังกล่าวด้วย2.ขอให้ กสทช. ร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เชิญผู้ผลิตละคร และสถานีโทรทัศน์ ทีวีดิจิตอล รวมไปถึงช่องสื่อออนไลน์ที่มีละคร มาทำความเข้าใจเพื่อยุติเนื้อหาละครที่ไม่สร้างสรรค์และยังสร้างทัศนคติผิดๆเกี่ยวกับการข่มขืน และการคุกคามทางเพศ  3.ในขณะที่หลายๆฝ่ายกำลังรณรงค์เพื่อทำความเข้าใจเรื่องการคุกคามทางเพศ การข่มขืนในความหมายที่ถูกต้องอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง กสทช. จึงจำเป็นต้องมีมีกลไกติดตามเฝ้าระวังเพื่อจัดการให้อยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง และ 4. มูลนิธิและภาคีเครือข่ายยินดีสนับสนุนการทำงานของ กสทช. เพื่อเฝ้าระวังและแจ้งเหตุความไม่เหมาะสมต่างในสื่อโทรทัศน์ ทุกรูปแบบ 

พลโท ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสทช. กล่าวภายหลังรับเรื่องว่า  ต้องขอบคุณเครือข่ายฯ ที่ห่วงใยต่อกรณีที่เกิดขึ้น ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 16ก.พ. กสทช.ได้ดำเนินการสั่งให้ทางช่อง3 ปรับระดับความเหมาะสม เป็น น.13 คือผู้ใหญ่ต้องให้คำแนะนำผู้ที่อายุต่ำกว่า13ปี และสั่งย้ายเวลาออกอากาศ จากนั้นเราได้ติดตามตรวจสอบการออนแอร์ของช่อง ก็พบว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งเป็นบทลงโทษที่แรงกว่าการปรับเงิน อยากฝากถึงสื่อทุกช่องว่า การนำเสนอฉากละคร ต้องดูให้รอบคอบรอบด้าน เนื้อหาต้องไม่ขัดต่อศีลธรรม ฉากข่มขืนต้องหายไป อย่าทำละครเพียงเพื่อสะใจคนดู ต้องคำนึงถึงความเหมาะสม หญิงชายต้องเสมอภาคเท่าเทียม


You must be logged in to post a comment Login