วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

ททท.ชูแคมเปญ “เที่ยวเสริมชะตา สักการะพระเกจิ@ภาคกลาง” เปิดตัวเส้นทางใหม่ “สักการะพระเกจิโซนภาคกลาง”

On September 20, 2020

t1

หลังโควิด-19 คลี่คลายเบาบางลง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจกระตุ้นการท่องเที่ยวในทุกมิติ ทุกภาคส่วน ครั้งนี้เอาใจนักท่องเที่ยวและพุทธศาสนิกชนสายมูเตลูที่มีกำลังทรัพย์ จัดแคมเปญ “เที่ยวเสริมชะตา สักการะพระเกจิ” ด้วยการเปิดตัวเส้นทางใหม่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เชิญชวนนักท่องเที่ยวและพุทธศาสนิกชนสายมูเตลูออกมาท่องเที่ยวในด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านความเชื่อ ความศรัทธา พาไปไหว้พระสักการะพระเกจิผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในภูมิภาคภาคกลาง เพื่อเสริมมงคลชีวิต เสริมดวงชะตาในด้านเมตตามหานิยม นำพาชีวิตรุ่งเรือง รุ่งโรจน์ เจริญก้าวหน้า ช่วยให้ชีวิตมีที่ยึดเหนี่ยวทางใจ เร่งสร้างความดีปฏิบัติตัวรักษาศีล 5 หมั่นฝึกตนพัฒนาด้านจิตใจควบคู่กับการพัฒนาด้านสังคม ชีวิตจะได้รอดพ้นจากภยันตรายต่างๆ เดินตามรอยแบบอย่างพระเกจินั่นเอง ซึ่งถือเป็นการท่องเที่ยวแบบวิถีปกติใหม่สไตล์ 5.0 โดยงานนี้มีการเชิญชวนนักท่องเที่ยวและพุทธศาสนิกชนสายมูเตลูร่วมเปิดตัวทริปนำร่อง “เที่ยวเสริมชะตา สักการะพระเกจิ ในภูมิภาคภาคกลาง จ.สุพรรณบุรี-จ.อ่างทอง-จ.นครปฐม-จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.สิงห์บุรี” อีกด้วย

นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคกลาง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ททท. ตระหนักและมุ่งเน้นการทำงานด้านการท่องเที่ยวในทุกมิติ เพื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับภาคของประชาชนในทุกภูมิภาคให้กลับมาฟื้นตัวในเร็ววันหลังโควิด-19 โดยเฉพาะในส่วนโซนภูมิภาคภาคกลางนี้มีกิจกรรมในระดับชุมชนที่น่าสนใจ รวมถึงมีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีอยู่เดิมและเกิดใหม่น่าเที่ยวมากมาย ซึ่งนักเที่ยวส่วนใหญ่ยังไม่ทราบ ททท. จึงได้ดึงจุดไฮไลท์ที่สำคัญเหล่านี้นำมาคิดแคมเปญการท่องเที่ยวในด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านความเชื่อ ความศรัทธา ในชื่อแคมเปญว่า “เที่ยวเสริมชะตา สักการะพระเกจิ@ภาคกลาง” โดยมีวัตถุประสงค์คือ ต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวและพุทธศาสนิกชนสายมูเตลูกล้ากลับมาเดินทางอีกครั้งหลังคลายล็อกดาวน์โควิด-19 เพื่อเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการระดับท้องถิ่น และยังเป็นการรณรงค์และเผยแพร่ในด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านความเชื่อ ความศรัทธา ควบคู่กันไปด้วย

t3

นายอภิชัยกล่าวเสริมอีกว่า อยากเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวและพุทธศาสนิกชนทุกคนหันหน้าเข้าวัด มุ่งเน้นการพัฒนาด้านจิตใจควบคู่กับการพัฒนาด้านสังคมไปพร้อมๆกัน ดังเช่นพระเกจิอาจารย์พระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบสายภาคกลาง ตามเส้นทางแคมเปญที่ได้เปิดตัวในครั้งนี้ เพราะพระเกจิอาจารย์แต่ละรูปมีบุญบารมีมากมาย การได้ท่องเที่ยวตามรอยพระเกจิดังกล่าวนี้ นอกจากนักท่องเที่ยวและพุทธศาสนิกชนสายมูเตลูจะได้รู้จักวัตถุมงคลที่มีอำนาจทางพุทธคุณต่างๆที่สามารถนำมาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจได้เป็นอย่างดีของพระเกจิอาจารย์แต่ละรูปแล้ว นักท่องเที่ยวและพุทธศาสนิกชนสายมูเตลูยังจะได้ทราบถึงวิธีการพัฒนาด้านจิตใจ การครองวัตรการปฏิบัติตนของพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบแต่ละรูป ดังคำสอนที่ฟังคุ้นหูและถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน นั่นคือ หมั่นให้ทาน รักษาศีล และภาวนา หรือที่เรียกว่า “ไตรสิกขาสาม” ซึ่งทุกคนสามารถถือปฏิบัติได้ง่ายมากๆ เพียงแค่เริ่มเดินตามรอยพระเกจิเท่านั้นเอง ซึ่งพระเกจิอาจารย์แต่ละรูปก็มีวิธีการสอนที่แตกต่างกันไปตามสไตล์ ขึ้นอยู่ที่ว่านักท่องเที่ยวและพุทธศาสนิกชนสายมูเตลูจะชื่นชอบและเลือกการประพฤติปฏิบัติตนตามพระเกจิรูปใดก็ไม่ผิด เพราะพระเกจิทุกรูปมีหลักคำสอนให้ทุกคนเป็นคนดี

สำหรับการเปิดตัวเส้นทางท่องเที่ยวไหว้พระ “เที่ยวเสริมชะตา สักการะพระเกจิ@ภาคกลาง” ครั้งนี้ ทุกท่านสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ทั้งวันธรรดาและวันหยุด มีเวลาแค่วันเดียวก็เที่ยวได้ เพราะเส้นทางไม่ไกลจากกรุงเทพฯมากนัก

เริ่มกันที่เส้นทางเที่ยวเสริมชะตา สักการะพระเกจิ จ.นครปฐม น.ส.สรียา บุญมาก ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครปฐม-ราชบุรี กล่าวว่า เส้นทางท่องเที่ยวไหว้พระ “เที่ยวเสริมชะตา สักการะพระเกจิ จ.นครปฐม มีพระเกจิอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหลายท่าน ที่สำคัญต้องไม่พลาดไปกราบสักการะเลยคือ “หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ” พระเกจิอาจารย์แห่งเมืองนครชัยศรี ความเชื่อจากชาวบ้านท้องถิ่นถึงกิตติศัพท์อันโด่งดังและเลื่องชื่อของหลวงเปิ่น ได้แก่ ท่านเข้มขลังในด้านแคล้วคลาดปลอดภัย เมตตามหานิยม ค้าขายร่ำรวย หลวงพ่อเปิ่นเข้าพิธีอุปสมบทเมื่ออายุครบ 20 ปี ที่พัทธสีมาวัดบางพระ ท่านเป็นคนให้ความสนใจในเรื่องวิทยาคมตั้งแต่วัยเด็ก รวมถึงได้มีโอกาสเรียนรู้อักขระโบราณเป็นรูปแบบยันต์ต่างๆ การลงอาคม จากการอุปัฏฐากรับใช้พระอาจารย์หิ่ม หลวงพ่อเปิ่นได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางพระ ท่านได้พัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองด้วยระยะเวลาอันรวดเร็ว ด้านการปฏิบัติธรรมทางด้านไสยศาสตร์ หลวงพ่อเปิ่นถือเคร่งในวัตรปฏิบัติจนเป็นที่เลื่อมใสแก่ผู้ที่มากราบไหว้ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ท่านเป็นตัวอย่างของพระนักศึกษาทั้งทางรูปธรรมและนามธรรมอย่างเห็นได้ชัด เป็นผู้ที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ความเมตตาต่อผู้ที่มาหาท่าน รวมถึงสัตว์ต่างๆจวบจนสิ้นสุดชีวิตของท่าน

t2

น.ส.สรียากล่าวเสริมอีกว่า อีกวัดที่ไม่ควรพลาด ได้แก่ วัดอรัญญิการาม หรือวัดสามง่าม ที่ชาวบ้านศรัทธาในหลวงพ่อเต๋ คังคสุวัณโณ ในด้านเมตตามหานิยม เรื่องโชคลาภกับกุมารทอง นอกจากนี้พระศรีธีรวงศ์ (สมัย สจฺจวโร ป.ธ.๙)  รักษาการเจ้าอาวาสวัดสามง่าม มีความตั้งใจจะสร้างอาคารวิปัสสนากรรมฐาน 2 ชั้น ความยาว 40 เมตร จำนวน 1 หลัง ทางด้านทิศตะวันออกของวัดติดกับโรงพยาบาล ซึ่งเป็นสถานที่เงียบสงบ อยู่ชายน้ำ เหมาะกับการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ตั้งใจจะทำสถานที่ตรงนั้นให้เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำอำเภอดอนตูม เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของสถานที่ปฏิบัติธรรม สำหรับผู้ที่มีเวลาน้อย วันศุกร์-วันอาทิตย์ก็สามารถเข้ามาปฏิบัติธรรมกันได้ การคมนาคมสะดวก หากผู้มีจิตศรัทธาท่านใดสนใจบริจาคทรัพย์สร้างเป็นตึกปฏิบัติธรรมประจำตระกูลทางวัดก็มีความยินดี ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ วัดสามง่าม มูลนิธิหลวงพ่อเต๋ คงทอง โทร.09-8641-5599

นอกจากนี้ยังมีวัดอื่นๆที่มีเกจิอาจารย์ที่ประชาชนให้ความศรัทธาอีกมากมาย เช่น หลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ วัดดอนยายหอม หรือพระราชธรรมาภรณ์ หลวงพ่อวัดไร่ขิง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) ได้อัญเชิญมาจากวัดศาลาปูน ที่น่าไปกราบสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล หรืออีกเส้นทางที่ไปเชื่อมกับ จ.ราชบุรี หลวงปู่แผ้ว วัดกําแพงแสน จ.นครปฐม พระเถระผู้เปี่ยมด้วยเมตตา มากด้วยบารมี เป็นที่เลื่อมใสศรัทธา หลวงปู่หลิว ปณฺณโก วัดไร่แตงทอง นับเป็นผู้ทรงอภิญญาและมีพุทธาคมสูงส่ง ท่านเป็นผู้ที่มีเมตตา พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก พอเข้าไปที่ราชบุรีแล้วยังมีอีกหลายวัดที่น่าสนใจ เช่น วัดคงคาราม ที่มีจิตรกรรมฝาผนังงดงาม หรือจะเป็นวัดไทรอารีรักษ์ เป็นวัดที่รวมศิลปวัฒนธรรมของชาติพันธุ์หลายชาติอยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นจีน ลาว มอญ ส่วนในตัวเมืองราชบุรีเองมีวัดสมัยทวารวดี เช่น วัดมหาธาตุวรวิหาร อยากเชิญชวนให้ทุกท่านเข้ามาท่องเที่ยวเชิงศาสนาใน จ.นครปฐม และ จ.ราชบุรี สักการะพระเกจิอาจารย์ เยี่ยมชมวัด เพื่อเสริมสิริมงคลชีวิตให้กับตัวเรา ทั้งนี้ ยังมีแหล่งท่องเที่ยวชุมชนอื่นๆที่น่าสนใจอีกมาก เช่น ตลาดหล่มสัก อยู่ในวัดกฐิน บ้านโป่ง หรือตลาดม่อนหินกอง ต.หินกอง อ.เมือง จ.ราชบุรี ด้านอาหารการกินก็อร่อย ที่พักสะดวก ราคาย่อมเยา สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวกันได้ สอบถามข้อมูลท่องเที่ยวเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานราชบุรี โทร.032-919-176-8 / FB ททท.สำนักงานราชบุรี

สำหรับเส้นทางเที่ยวเสริมชะตา สักการะพระเกจิ แห่งสุพรรณบุรี มีพระเกจิอาจารย์ที่มีบุญบารมีมากหลายท่าน อาทิ หลวงพ่อมุ่ย พระครูสุวรรณวุฒาจารย์ วัดดอนไร่ ต.หนองสะเดา อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี เป็นพระคณาจารย์ถึง 5 รัชกาล ที่เกียรติคุณชื่อเสียงโด่งดังที่สุดของ จ.สุพรรณบุรีอีกรูปหนึ่ง เป็นพระสมถะ และปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดเสมอต้นเสมอปลาย ขยันในการศึกษาหาความรู้ทุกด้าน โดยเฉพาะในเรื่องตัวเลขอักขระยันต์ คาถาอาคมของท่านเข้มขลังยิ่งนัก ถือเป็นพระนักปฏิบัติธรรม ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ที่ชาวบ้านต่างให้ความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างมาก เมื่อท่านมรณภาพไปแล้วแต่ร่างกายไม่เน่าเปื่อย แวะไปกราบสรีระสังขารท่านได้ตลอดเวลา ทางวัดยินดีเป็นอย่างยิ่ง ความเชื่อจากชาวบ้านท้องถิ่นถึงกิตติศัพท์อันโด่งดังและเลื่องชื่อของหลวงพ่อมุ่ยคือ ท่านได้ไปศึกษาคาถาอาคมจากหลวงพ่ออิ่ม อดีตเจ้าอาวาสวัดหัวเขา จนมีความเข้มขลังเป็นที่กล่าวขานกันไปทั่วในด้านคงกระพัน เมตตามหานิยม และในด้านค้าขาย ถือได้ว่าครอบจักรวาล หรือถูกคุณไสยต่างๆ หลวงพ่อมุ่ยก็สามารถช่วยถอนให้ได้ เป็นต้น

t4

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เมื่อไป จ.สุพรรณบุรีแล้วถ้าไม่ได้ไปไหว้พระที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุแสดงว่าไปไม่ถึงสุพรรณบุรี เพราะวัดนี้ถือเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองที่ปลูกสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอู่ทอง มีอายุไม่ต่ำกว่า 600 ปี จุดเด่นของวัดอยู่ที่องค์พระปรางค์ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของพระพิมพ์ผงสุพรรณบุรีที่โด่งดังมากในวงการพระเครื่อง ในทางประวัติศาสตร์นักโบราณคดีให้ความเห็นว่า พระปรางค์องค์นี้น่าจะเป็นศิลปะการก่อสร้างสมัยอู่ทองสุพรรณภูมิ ซึ่งเป็นวิธีการเก่าแก่ก่อนสมัยอยุธยา วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นวัดเก่าแก่ที่มีมาแต่สมัยโบราณ เป็นต้นกำเนิดของพระเครื่องหนึ่งใน “เบญจภาคี” อันลือลั่น เป็นพระอารามเก่าแก่ ปรากฏพระปรางค์องค์ประธานตั้งโดดเด่นเป็นสง่า เดิมชาวบ้านเรียกวัดพระธาตุ เป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง จ.สุพรรณบุรีมาแต่ครั้งโบราณในสมัยอู่ทอง แต่จำต้องร้างเพราะภัยสงครามระหว่างไทย-พม่าเมื่อคราวกรุงศรีอยุธยาแตก เมื่อเข้ามาในวิหารแล้วจะได้พบกับพระผงสุพรรณขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่บนวิหาร อยู่ทางด้านหน้าทางเข้าพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สาเหตุที่เรียกว่า “ผงสุพรรณ” ก็เนื่องจากการค้นพบจารึกลานทอง กล่าวถึงการสร้างจากผงว่านเกสรดอกไม้อันศักดิ์สิทธิ์ จึงได้รับการเรียกขานกันว่า “ผงสุพรรณ” นั่นเอง นอกจากนี้ยังมีโลงบรรจุสังขารพระครูศรีรัตนาภิรักษ์ (หลวงพ่อโพธิ์) อยู่ในวิหารพระผงสุพรรณ ซึ่งชาวบ้านท้องถิ่นมีความเชื่อถึงกิตติศัพท์อันโด่งดังและเลื่องชื่อของ หลวงพ่อโพธิ์ ได้แก่ ความเข้มขลังในด้านวาจาศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนทั่วไปจึงได้เข้าไปกราบสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล

t5

สำหรับเส้นทางที่ไม่ควรพลาดในการไปเที่ยวเสริมชะตา สักการะพระเกจิ ของ จ.อ่างทอง คือ “พระครูวิบูลอาจารคุณ” หรือ “หลวงพ่อเกษม อาจารสุโภ” วัดม่วง ต.หัวสะพาน อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งเมืองอ่างทอง มีชื่อเสียงโด่งดัง วิทยาคมเข้มขลัง และที่สำคัญ ณ วัดม่วงแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานของ “พระพุทธมหานวมินทร์ศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ” หรือหลวงพ่อใหญ่ ซึ่งหลวงพ่อเกษมรวบรวมจิตอธิษฐานร่วมกับประชาชนผู้มีจิตศรัทธาสมทบทุนในการสร้าง เพื่อน้อมเกล้าฯถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ 9 ขนาดหน้าตักกว้าง 62 เมตร สูง 93 เมตร ใช้เวลาการก่อสร้างนานถึง 16 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สุดในโลก วัดมีความวิจิตรงดงามใหญ่โต ภายในมีภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับประวัติพระพุทธเจ้า หลวงพ่อเกษมถือเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบรูปหนึ่ง เมื่อท่านละสังขารไปแล้ว สังขารของท่านไม่เน่าเปื่อยบุบสลายเป็นที่น่าอัศจรรย์ และได้บรรจุไว้ในโลงแก้วเพื่อให้ประชาชนได้เข้าไปกราบสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล และบริเวณโดยรอบวัดม่วงแห่งนี้ผู้ที่เดินทางมานมัสการจะได้ศึกษาประวัติศาสตร์ที่ควรจดจำมากมายอีกด้วย

อีกหนึ่งพระเกจิของ จ.อ่างทอง ก็คือ หลวงปู่ผาด อภินนฺโท หรือพระครูมงคลสาธุวัตร วัดไร่ ต.ศาลเจ้าโรงทอง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง หลวงปู่ผาดเกิดเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2459 เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดยางมณี โดยมีหลวงพ่อชวนเป็นพระอุปัชฌาย์ ครั้นมีอายุครบบวชเข้าพิธีอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดยางมณี ณ วันที่ 17 พฤษภาคม 2481 โดยมีหลวงพ่อปลื้ม วัดช้าง เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงปู่ผาดยังได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ท่านเจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี หรือหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ นอกจากนี้หลวงปู่ผาดยังเรียนวิชาสำคัญจากพระเกจิสายอ่างทองชื่อดังหลายท่าน อาทิ เรียนทำผงวิเศษจากหลวงพ่อภู วัดดอนรัก เรียนทำเบี้ยแก้ เสกปรอท จากหลวงพ่อพัก วัดโบสถ์ เรียนทำตะกรุดโบสถ์ลั่น จากหลวงปู่คำ วัดโพธิ์แก้ว หลวงปู่ผาดเป็นพระอริยสงฆ์ท่านหนึ่งที่ปลุกเสกด้านเครื่องรางหรือวัตถุมงคลต่างๆได้เข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ ล้วนแล้วแต่ทรงคุณอันวิเศษ ท่านมีวิทยาคมที่สามารถอัญเชิญพญาครุฑ เทพ พรหม ได้ หลวงปู่ผาดมรณภาพเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2557 เวลา 20.59 น. สิริรวมอายุได้ 98 ปี 76 พรรษา สังขารของท่านยังไม่เน่าเปื่อยบุบสลาย ถูกบรรจุไว้ในโลงแก้ว สามารถเข้าไปกราบสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล

t6

ด้านเส้นทางท่องเที่ยวไหว้พระ เที่ยวเสริมชะตา สักการะพระเกจิ จ.พระนครศรีอยุธยา ต้องไม่พลาดไปสักการะพระครูวิหารกิจจานุการหรือหลวงพ่อปาน โสนันโท เกิดตรงกับรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในปี พ.ศ. 2439 ณ พัทธสีมาวัดบางนมโค โดยมีหลวงพ่อสุ่น วัดปลาหมอ เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อปานเป็นผู้มีจิตเมตตา เมื่อท่านฉันภัตตาหารเพลแล้วมักชอบออกมาสงเคราะห์ชาวบ้านอยู่เสมอ นอกจากนี้ท่านยังได้ร่ำเรียนการปลุกเสกพระเครื่องและเป่ายันต์เกราะเพชรจากอาจารย์แจง สวรรคโลก รวมถึงได้รับพระคาถาปัจเจกโพธิสัตว์มาจากครูผึ้ง หลวงพ่อปานได้ละสังขารไปในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลพระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8)

ตบท้ายกันที่เส้นทางท่องเที่ยวไหว้พระ เที่ยวเสริมชะตา สักการะพระเกจิ  จ.สิงห์บุรี ต้องไม่พลาดไปกราบสรีระสังขาร “พระธรรมมุนี” หรือที่รู้จักกันในนามหลวงพ่อแพ เขมังกโร เป็นชาวสิงห์บุรีโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2448 ณ บ้านสวนกล้วย ต.พิกุลทอง อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี บรรพชาเป็นสามเณรตอนอายุ 16 ปี ที่วัดพิกุลทอง มีพระอธิการพัน จันทสโร เจ้าอาวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ และเมื่ออายุครบบวชก็กลับมาอุปสมบทที่วัดพิกุลทองอีกในปี พ.ศ. 2469 โดยมีพระมงคลทิพย์มุนี เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส กรุงเทพฯ เป็นพระอุปัชฌาย์

t8

หลวงพ่อแพเป็นผู้มีใจใฝ่การศึกษา ท่านศึกษาด้านสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐานที่สำนักพระครูภาวนา นอกจากนั้นได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อศรี วัดพระปรางค์ เพื่อเรียนวิชาอาคมจนแตกฉานเชี่ยวชาญ การสร้างวัตถุมงคลของท่านเป็นที่กล่าวขานในเรื่องความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ ท่านจะพิถีพิถันในการปลุกเสกทั้งวิชาอาคมและอำนาจจิต เพื่อให้เกิดความเข้มขลัง แคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งปวง หลวงพ่อแพได้รับการนิมนต์จากชาวบ้านให้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพิกุลทอง ซึ่งขณะนั้นอายุเพียง 26 ปี ในช่วงแรกวัดพิกุลทองมีความชำรุดทรุดโทรมมาก แต่ด้วยบารมีของพระเกจิท่านนี้จึงสามารถบูรณปฏิสังขรณ์ รวมทั้งสร้างถาวรวัตถุภายในวัดได้ในเวลาอันรวดเร็ว ปัจจุบันเป็นวัดที่มีความสวยงามด้วยศิลปกรรมและการตกแต่ง ภายในมีศาสนสถานที่สำคัญหลายอย่าง มีรูปหล่อเหมือนหลวงพ่อแพองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารทรงสูงที่เหล่าลูกศิษย์ร่วมกันสร้างถวายแด่หลวงพ่อหลังจากท่านได้มรณภาพลง ท่านได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์เรื่อยมา สมณศักดิ์สุดท้ายเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่พระธรรมมุนี ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 สิริรวมอายุ 94 ปี พรรษา 73 สรีระของหลวงพ่อแพยังคงประดิษฐาน ณ วัดพิกุลทอง เพื่อให้ญาติโยมและพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้สักการะบูชา

t9

ขอเชิญชวนทุกท่านที่มีกำลังทรัพย์ออกเดินทางอีกครั้งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระดับภาคประชาชนในทุกภูมิภาคให้กลับมาฟื้นตัวในเร็ววัน และสามารถ “เที่ยวเสริมชะตา สักการะพระเกจิ” สไตล์ 5.0 กันได้ทุกวัน ที่สำคัญควรพัฒนาจิตใจควบคู่กับการพัฒนาสังคมไปพร้อมๆกันด้วย สนใจเที่ยวเสริมชะตา สักการะพระเกจิ เที่ยวพลิกชีวิตสไตล์ 5.0 ติดต่อได้ที่ บริษัท เทรลออฟเอเซีย จำกัด โทร.0-2950-1200, 08-9172-7294 FB : https://www.facebook.com/Trailsofasia/


You must be logged in to post a comment Login