วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567

โรงไฟฟ้าถ่านหินเท่านั้นที่ไทยต้องการ

On August 25, 2020

คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 28  ส.ค.-4 ก.ย. 2563)

บางคนบอกว่าถ่านหินไม่ดี ชาวบ้านที่ต้องการถ่านหินจึงเอาก้อนถ่านหินใส่น้ำแล้วดื่มให้ดูว่าไม่เป็นไร บางคนบอกว่าลมและแดดดีที่สุด จริงหรือ มาพูดกันให้รู้เรื่อง

ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ผมไปฟังการสานเสวนาในเวทีต่างๆ ได้แก่ ชุมพร กระบี่ และหาดใหญ่ ในฐานะกรรมการกำกับการศึกษา SEA หรือ Strategic Environmental Assessment (การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์) ซึ่งเป็นการนำมาประยุกต์ใช้ในระดับ “แผนแม่บท (Master Plan)” ไม่ใช่ใช้ในระดับ “โครงการ (Project)” โดยผมได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คณะกรรมการประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ผมได้รับความรู้มาจากผู้รู้จึงขออนุญาตถ่ายทอดให้เห็นบางประการ เช่น

1.โรงไฟฟ้าถ่านหิน 800 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าได้ 6,000 ล้านหน่วยต่อปี ต้นทุนถ่านหินถูกกว่าก๊าซ 1 บาท ตลอด 30 ปีการเดินเครื่อง ประหยัดไป 180,000 ล้านบาท

2.ในขณะนี้มาเลเซียผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน 11,000 เมกะวัตต์ ประหยัดเงินไป 84,000 ล้านบาทต่อปี คิดเป็น 2.52 ล้านล้านบาทตลอด 30 ปี เงินมหาศาล 2.52 ล้านล้านบาท ที่มาเลเซียประหยัดค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเทียบกับไทย

3.ยิ่งถ้าไปซื้อไฟจากแหล่งผลิตประเภทสายลมและแสงแดดก็ยิ่งแพงเข้าไปใหญ่ เงินส่วนใหญ่ไปตกอยู่กับเครื่องมือต่างๆ ซึ่งแสนแพง (แม้จะลดราคาลงมามากแล้วก็ตาม) เงินไหลออกนอกประเทศอีกต่างหาก ถ้าเราคิดให้ดีๆ ใช้ถ่านหิน มีพลังงานราคาถูกใช้ จะทำให้ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงกว่านี้มหาศาล ประชาชนจะสามารถ “ลืมตาอ้าปาก” ได้ ไม่ “จนดักดาน” อย่างที่เป็นอยู่

4.คนที่คัดค้านถ่านหินก็เพราะเชื่อว่าถ่านหินสกปรก แต่เคยมีผู้นำชุมชนเอาถ่านหินใส่น้ำดื่มมาแล้วว่าปลอดภัย เพราะต้องเผาจึงจะเกิดความร้อนเท่านั้น กองไว้เฉยๆแทบไม่มีปัญหา ยิ่งกว่านั้น ถ้าควบคุมให้ดีจะสามารถลดมลพิษให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานองค์การอนามัยโลกได้

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าถ้าไทยไม่เลือกถ่านหินก็จะเสียโอกาสเป็นอย่างมาก ทำให้ไทยต้องใช้พลังงานในราคาแพง ท่านทราบหรือไม่ ค่าไฟฟ้าในครัวเรือนของไทยแพงกว่ามาเลเซียถึง 1 เท่าตัว เพราะมาเลเซียใช้ถ่านหินเป็นสำคัญ ก๊าซเขาพยายามใช้เพื่อการหุงต้ม รถยนต์ และอื่นๆ แทนที่จะเอามาใช้เพื่อการผลิตไฟฟ้า นอกจากนี้ก๊าซก็ยังเก็บไว้ได้ไม่เกิน 7-14 วัน ในขณะที่เรากองสต็อกถ่านหินไว้ได้ราว 2-6 เดือนเลยทีเดียว

เฉพาะที่กระบี่ใช้ไฟฟ้า 140 เมกะวัตต์ โซลาเซลล์มีศักยภาพเป็น 1,000 เมกะวัตต์ ถ้าดูตามนี้จะคิดง่ายๆว่า “จบเกมกันไปเลย” โซลาเซลล์อย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว แต่ในความเป็นจริงโซลาเซลล์ผลิตได้เฉพาะตอนมีแดด ในขณะที่ไฟฟ้ามีการใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง จะเห็นได้ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้ากระบี่สูงสุดเวลา 20.00 น. ถึง 140 เมกะวัตต์ ในขณะที่ไฟฟ้าที่ผลิตจากแดดได้ 0 เมกะวัตต์

ปกติแล้ววิธีแก้ก็คือ ต้องซื้อแบตเตอรี่ชนิดพิเศษที่สามารถเก็บไฟที่ผลิตในช่วงกลางวันมาไว้ใช้ช่วงกลางคืน แต่ปัญหาก็คือแบตเตอรี่มีราคาแพง อายุการใช้งานไม่เกิน 2 ปีก็ต้องซื้อใหม่ เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายแล้วไม่คุ้มค่า ที่เกาะศรีบอยามีผู้ใช้ไฟฟ้าจากแสงแดด แต่ปรากฏว่าไม่คุ้มค่าที่จะใช้ ต้นทุนสูงมาก เทียบกับคนที่อยู่บนชายฝั่งเสียค่าไฟเดือนละ 300-600 บาทแล้ว ถือว่า “ต่างกันราวฟ้ากับเหว”

ในขณะนี้หลายพื้นที่มีการติดโซลาเซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในตอนกลางวัน ส่วนกลางคืนใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลักที่เดินเครื่องได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งก็คือไฟฟ้าจากก๊าซ น้ำมันเตา ถ่านหิน น้ำมันปาล์มนั่นเอง แสดงว่าเรายังต้องพึ่งโรงไฟฟ้าหลัก โดยเฉพาะถ่านหินที่ถูกที่สุดและสะอาด โดยมาตรฐานเทคโนโลยีของโรงไฟฟ้าถ่านหินของไทยที่จะสร้างที่กระบี่นั้น ปรากฏว่าดีกว่าที่มาเลเซียที่ตั้งอยู่ริมทะเลหลายสิบโรงด้วยซ้ำไป

ด้วยเหตุนี้การที่พวกเอ็นจีโอพูดว่าผลิตไฟฟ้าจากโซลาเซลล์รองรับการใช้ไฟฟ้าจังหวัดกระบี่ได้นั้นจึงไม่ตรงกับความเป็นจริง ไม่ตรงกับการใช้งานจริง ท่านเชื่อหรือไม่ว่า ยิ่งเราปฏิเสธโรงไฟฟ้าหลัก โอกาสเกิดขึ้นของโซลาเซลล์ก็ยิ่งมีน้อยลงไปด้วย เพราะโซลาเซลล์เป็นเสมือนทางเลือก “เสริม” ถ้ามีอย่างเดียว ผลิตไฟฟ้าไปแล้วไม่คุ้มค่า สิ้นเปลืองวัสดุอุปกรณ์ต่างๆที่มีอายุสั้น ราคาแพง เท่ากับถูกโกงไปซึ่งหน้าตั้งแต่แรกที่ซื้อโรงงานผลิตไฟฟ้าจากสายลมและแสงแดดแล้ว

เราต้องนึกให้ดี อย่าให้พวกเอ็นจีโอทำร้ายชาติ ทำให้ชาติของเราตกต่ำลง เพราะต้องทนใช้ไฟในราคาแพง แพงกว่ามาเลเซียถึง 1 เท่าตัว

gg

ดูรีสอร์ตยื่นลงทะเลเคียงข้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในมาเลเซีย (ไร้ปัญหา)


You must be logged in to post a comment Login