วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567

สสส. จับมือ ศศก.-SAB สำรวจพฤติกรรมประชาชนใช้สารเสพติดช่วงโควิด-19

On June 19, 2020

ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. จัดงานแถลงข่าว “สถานการณ์ยาเสพติดในช่วงระบาดของโควิด-19 ลดน้อยลงหรือโดดเพิ่มขึ้น” โดย ดร.สุริยัน บุญแท้ ผู้จัดการ SAB เปิดเผยผลสำรวจการรับรู้ความเสี่ยงและพฤติกรรมการใช้สารเสพติดในช่วงการระบาดของโควิด-19 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 15 ปีขึ้นไป 1,825 ราย ในพื้นที่ 15 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี อยุธยา นครปฐม เชียงใหม่ เชียงราย เพชรบูรณ์ ขอนแก่น  นครราชสีมา  อุดรธานี  อุบลราชธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา สำรวจเมื่อวันที่  20-24 พฤษภาคมที่ผ่านมา พบกลุ่มตัวอย่างเกินครึ่ง คือ ร้อยละ 61.2 รู้ว่าการใช้สารเสพติดเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ขณะที่ร้อยละ 79.3 รู้ว่าสารเสพติดทำลายภูมิต้านทานของร่างกาย ติดเชื้อง่าย ที่น่าสนใจคือ ร้อยละ 12.8 พบเห็น/ รับรู้ว่ามีการใช้สารเสพติดในชุมชน โดยบุคคลที่ใช้สารเสพติดส่วนใหญ่เป็นเพื่อนบ้าน รองลงมาคือ คนในชุมชน นอกจากนี้ ร้อยละ 7.6ยังพบเห็น/ รับรู้ว่ามีการซื้อขายสารเสพติดในชุมชน โดยผู้ขายครึ่งหนึ่งเป็นคนในชุมชน

2

ดร.สุริยัน กล่าวต่อว่า การสำรวจยังได้ถามถึงการใช้สารเสพติดในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา โดยกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 4.6 มีการใช้สารเสพติด อาทิ กัญชา ใบกระท่อม รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ แต่ในช่วงการระบาดโควิด-19 มีแนวโน้มใช้สารเสพติดน้อยลง ร้อยละ 29.8 หรือบางรายไม่ใช้เลย สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากไม่ได้พบปะสังสรรค์กับเพื่อน ประกอบกับมาตรการภาครัฐที่ให้กักตัวอยู่บ้าน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขลงพื้นที่ถี่ขึ้น การซื้อขายในยามวิกาลทำได้ยากเพราะมีเคอร์ฟิว ขณะที่กลุ่มที่ใช้ยาเสพติดมากขึ้น อยู่ที่ร้อยละ 6  เกิดจากความเครียด เบื่อหน่าย และมีเวลาว่างมาก ส่วนประเด็นเรื่องการปลดกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 42.6 รู้ข่าวการออกกฎหมาย โดยร้อยละ 38.6 เห็นด้วย มองว่าเป็นพืชสมุนไพรใช้เป็นยา ขณะที่ร้อยละ 24.4 ไม่เห็นด้วย มองว่าเป็นยาเสพติดให้โทษ และมอมเมาเด็กและเยาวชนให้ติดยา อย่างไรก็ตาม ควรนำกรณีศึกษาของเสรีกัญชาเป็นตัวอย่าง เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่ากัญชาคืออะไร ขณะเดียวกันมาตรการควบคุม กำกับติดตาม ยังไม่ชัดเจน ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมาให้ข้อมูลที่ชัดเจน เพราะคนที่ไม่เข้าใจอาจตีความในทางลบ

3

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ประเทศไทยรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี จากผลสำรวจของ SAB ในช่วงการระบาดของโควิด-19 มีผู้ใช้สารเสพติดรวมถึงแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลงอย่างมาก ในกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่ใช้สารเสพติดร้อยละ 4.6 เป็นผู้ใช้สารเสพติดประเภทใบกระท่อมลดลงถึง 1 ใน 3 หรือ ร้อยละ 39 ดื่มแอลกอฮอล์ลดลง ร้อยละ 56.4 สูบบุหรี่ลดลง ร้อยละ 28.1 สาเหตุหลักที่ทำให้ใช้สารเสพติดลดลงมาจากมาตรการ Social distancing ทำให้ลดปัจจัยเสี่ยงที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ขณะเดียวกันประชาชนตื่นตัวด้านการรักษาสุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่คนไทยหันมาใส่ใจต่อสุขภาพมากขึ้น

4

“ขณะนี้ปัญหายาเสพติดในเด็กและเยาวชนไทยยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กอายุ 12-19 ปี ที่มีการใช้สารเสพติดมากถึงร้อยละ 3.72 ในปี 2562 โดยครึ่งหนึ่งกำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มสารเสพติดที่ใช้เพิ่มขึ้น คือ กัญชา พืชกระท่อม และเฮโรอีน และมีแนวโน้มการใช้สารเสพติดผิดกฎหมายมากกว่าหนึ่งชนิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งนี้ สสส. และภาคีเครือข่าย จะนำผลสำรวจไปศึกษาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาแนวทางการทำงานเฝ้าระวัง และเยียวยา นำไปสู่การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

5

รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้จัดการ ศศก. กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนวินเชสเตอร์คอลเลจ ประเทศอังกฤษ ได้ทำการสำรวจรวมกัน เรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคมในช่วงการระบาดโรคโควิด-19 กับผลทางสุขภาพจิตในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาในอังกฤษและไทย ผลศึกษาเบื้องต้นพบเยาวชนมีภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลสูงร้อยละ 42-62 และมีการใช้สารเสพติดในช่วงโควิด-19 ระบาด เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ กัญชา ซึ่งเป็นในทิศทางเดียวกับผลสำรวจของ SAB โดยกลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มผู้ใช้สารเสพติดประเภทสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ที่เสพโดยการสูดควันเข้าสู่ร่างกาย เช่น ไอซ์ ยาบ้า กัญชาแบบสูบ ซึ่งเป็นอันตรายต่อปอดโดยตรง หากติดโควิด-19 จะมีอาการที่แย่ลงกว่าคนปกติ เนื่องจากเชื้อไวรัสเข้าไปทำลายปอด รวมถึงสารที่มีฤทธิ์ระงับอาการปวดกลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) เช่น ฝิ่น เฮโรอีน หรือยาแก้ปวด จะส่งผลให้ผู้ติดเชื้อ มีอาการทรุดลง เพราะออกฤทธิ์กดประสาททำให้หายใจช้าลง และระดับออกซิเจนในเลือดลดลงตาม

“หากโควิด-19 ระบาดในไทยรอบ 2 แพทย์ต้องเตรียมรับมืออาการของโรคที่เกิดจากผลข้างเคียงในผู้ใช้สารเสพติด ทั้งนี้ ผู้เสพยาเสพติดถือเป็นกลุ่มที่เปราะบาง ในช่วงที่มีผู้ใช้สารเสพติดลดลง รัฐควรออกมาตรการต่อเนื่องหรือเพิ่มเติมเพื่อให้สารเสพติดเข้าถึงประชาชนได้ยากขึ้น รวมถึงสร้างความเข้าใจกับประชาชน ไม่รังเกียจหรือกีดกันผู้ติดยาเสพติด เพื่อให้คนในกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงแพทย์ได้อย่างเต็มที่เมื่อมีการติดเชื้อโควิด-19”

รศ.พญ.รัศมน กล่าว


You must be logged in to post a comment Login