วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

จิตเวชโคราช ดึงพลังผู้ป่วยจิตเวชสู้ภัยโรคโควิด -19 !! ทำ“เฟช ชิลด์” มอบฟรีให้ทีมแพทย์ ใช้ป้องกันเชื้อ

On April 4, 2020

นายแพทย์กิตต์กวี  โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์  จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการจัดบริการในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19(COVID-19) ในขณะนี้ว่า  รพ.จิตเวชฯได้ปรับเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังป้องกันและลดความเสี่ยงการติดเชื้อในกลุ่มบุคลากรที่ปฏิบัติงานและผู้ป่วยจิตเวชที่ใช้บริการทั้งแผนกผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในที่พักรักษาตัวในรพ.ที่มีวันละกว่า 200 คนอย่างเคร่งครัด โดยได้เพิ่มการให้ความรู้เรื่องการป้องกันโรคโควิด-19 ให้แก่ผู้ป่วยจิตเวชที่อาการทางจิตทุเลาลงแล้ว  เพื่อให้สามารถปฏิบัติตัวดูแลป้องกันตัวเองในเบื้องต้นได้ เช่น การล้างมือฟอกสบู่ การใช้เจลแอลกอฮอล์ลูบมือที่ถูกต้อง การป้องกันการแพร่เชื้อขณะไอจาม การใช้หน้ากากอนามัย เป็นต้น

ประการสำคัญยังได้เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตสงบดีแล้ว  เป็นจิตอาสา  มีส่วนร่วมในการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19  โดยดึงพลังความสามารถที่มีอยู่ในตัวของผู้ป่วย ร่วมทำหน้ากากพลาสติกหรือเฟซ ชิลด์ (Face Shield)ซึ่งเป็นอุปกรณ์ป้องกันละอองฝอยต่างๆไม่ให้สัมผัสกับใบหน้า เพื่อมอบให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรอื่นๆที่ทำงานและมีความเสี่ยงสัมผัสเชื้อจากผู้ป่วย สำหรับใช้ป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ขณะปฏิบัติหน้าที่โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ

“ผลที่ได้จากการทำหน้ากากพลาสติกครั้งนี้   จะช่วยให้ผู้ป่วยจิตเวชได้ฟื้นฟูสมรรถภาพตนเอง ได้ประสบการณ์เรียนรู้และรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ สร้างความสุขและภาคภูมิใจ เกิดความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและมีความสามารถ  ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการเกิดพลังใจ ให้ผู้ป่วยฟื้นคืนสู่สภาวะปกติได้ดีและเร็วยิ่งขึ้น”   นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว

2

ทางด้านนางสาวนิศากร แก้วพิลา พยาบาลจิตเวชหัวหน้าหอผู้ป่วยจิตเวชหญิงทองอุไร รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯกล่าวว่า อุปกรณ์ที่ใช้ทำหน้ากากพลาสติกมี 5 อย่าง ได้แก่ 1.แผ่นพลาสติกใสขนาดเอ4 ที่ใช้ทำปกหนังสือ  2.เทปกาว 2 หน้าขนาด1 นิ้ว  3.แผ่นฟองน้ำที่ใช้สำหรับฉาบปูน ตัดเป็นชิ้นเล็กขนาดกว้าง 1 นิ้ว ความยาวเท่ากับแผ่นใส เพื่อใช้รองศีรษะ ไม่ให้แผ่นพลาสติกแนบชิดกับใบหน้า 4. ยางยืดเพื่อใช้รัดศีรษะ ขนาดกว้าง 2 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร 5.ลวดเย็บกระดาษ  ขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยาก  โดยติดเทปกาว 2 หน้ากับแผ่นใส  จากนั้นวางฟองน้ำแนบไปกับกระดาษกาว และใช้ลวดเย็บกระดาษเย็บติดยางยืดยึดหน้ากาก  หน้ากากพลาสติกนี้จะคลุมได้ทั้งหน้าของผู้ใช้  จากการทดสอบการใช้งานในเบื้องต้น พบว่าใช้การได้ดี น้ำหนักเบา ผู้ใช้ปฏิบัติงานได้สะดวก เสริมสร้างความมั่นใจยิ่งขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับหน้ากากอนามัย ราคาต้นทุนเฉลี่ยชิ้นละไม่ถึง 10 บาท

3

“ขณะนี้ผู้ป่วยจิตเวชได้ทำหน้ากากพลาสติกไปแล้วประมาณ 1,000 ชิ้น ส่วนหนึ่งได้นำมาแจกจ่ายให้บุคลากรของรพ.จิตเวชฯใช้ขณะปฏิบัติงาน อีกส่วนหนึ่งได้จัดส่งให้รพ.ต่างๆโดยไม่คิดมูลค่า เช่น รพ.มหาราชนครราชสีมา รพ.จิตเวชสงขลาราชนครินทร์ สถาบันประสาทวิทยา กทม. เป็นต้น  ช่วยผ่อนคลายความกังวลความเสี่ยงต่อการติดเชื้อลงได้ โดยผู้ป่วยจิตเวชได้เขียนคำอวยพร ส่งกำลังใจและขอบคุณทีมแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่อื่นๆที่ปฏิบัติงานด้วย   ” นางสาวนิศากรกล่าว

5

นางสาวนิศากรกล่าวต่อไปว่า   หน่วยงานที่สนใจอยากได้หน้ากากพลาสติกจากผลงานของผู้ป่วยจิตเวช สามารถติดต่อได้ที่หมายเลข 0 4423 3999    ทั้งนี้ทุนทรัพย์ที่นำมาใช้ทำหน้ากากพลาสติกได้มาจากการบริจาคทั้งหมด  หากประชาชนหรือห้างร้านที่สนใจต้องการสนับสนุนกิจกรรมการทำหน้ากากพลาสติก เพื่อร่วมฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยจิตเวชให้ดีวันดีคืน และสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรการแพทย์และบุคลากรอื่นๆเพื่อต่อสู้กับโรคโควิด-19 สามารถติดต่อบริจาคได้ทั้งอุปกรณ์หรือเงิน ที่หมายเลข  0 4423 3999 ในวันเวลาราชการ


You must be logged in to post a comment Login