วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

ม.มหิดล ติดอันดับ 1 ของไทย ใน 5 สาขาวิชา จากการจัดอันดับของ QS World University Rankings by Subject 2020

On March 6, 2020

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 Quacquarelli Symonds (QS) ประกาศผลการจัดอันดับ QS World University Rankings by Subject 2020 ซึ่ง มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการจัดอันดับจำนวนทั้งสิ้น 14 สาขาวิชา โดยเป็นอันดับ 1 ในไทย ใน 5 สาขาวิชา ได้แก่ Life Sciences & Medicine อันดับที่ 143 (จากเดิม อันดับที่ 148) Medicine อันดับที่ 101-150 (อันดับคงที่) Pharmacy & Pharmacology อันดับที่ 101-150 (จากเดิม อันดับที่ 151-200) Linguistics อันดับที่ 151-200 (จากเดิม อันดับที่ 201-250) และ Biological Sciences อันดับที่ 201-250 (อันดับคงที่)

จากผลการจัดอันดับดังกล่าว ยังคงแสดงถึงความเข้มแข็งของมหาวิทยาลัยมหิดลในสาขาวิชา Life Sciences & Medicine, Medicine, Pharmacy & Pharmacology, Linguistics และ Biological Sciences โดย มหาวิทยาลัยมหิดลยังคงตระหนักในเรื่องการพัฒนาคุณภาพการศึกษา การบริการวิชาการ การบริการทางการแพทย์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

S__31072279

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การจัดอันดับในลักษณะของภาพรวมที่เราเรียกว่า World University Rankings เป็นภาพของมหาวิทยาลัยทั้งหมด ซึ่งเวลาที่คิดคะแนน จะมีมิติต่างๆ ทั้งในส่วนของการเรียนการสอน การวิจัย เงินทุน ความเป็นนานาชาติ ตลอดจนความมีชื่อเสียงของสถาบัน ซึ่งพิจารณาจากแบบสอบถามที่ส่งถึงผู้บริหารระดับสูงในสถาบันการศึกษา และภาคธุรกิจ ซึ่งคะแนนความมีชื่อเสียงของสถาบันในด้านการจัดการเรียนการสอน ร่วมกับคะแนนความมีชื่อเสียงทางด้านงานวิจัย จะเป็นคะแนนที่พิจารณาในเรื่องของคุณภาพที่ดูจากผลกระทบที่เกิดจากการอ้างอิงผลงานวิจัย (citation) ที่ทำให้มีมาตรฐาน โดยเอาจำนวนบุคลากรไปหาร เพื่อความเสมอภาค และดูจำนวนการอ้างอิงต่อคน ของแต่ละองค์กร นอกจากนี้จะใช้วิธีการเทียบด้วยผลกระทบจากการตีพิมพ์ โดยดูการอ้างอิงต่อเรื่อง นอกจากนี้ในส่วนของความเป็นนานาชาติ จะพิจารณาจากจำนวนสัดส่วนชาวต่างชาติ ทั้งที่เป็นอาจารย์ และนักศึกษา เทียบกับจำนวนอาจารย์ทั้งหมด ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงความเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทำให้ชาวต่างชาติเชื่อถือในคุณภาพ อยากมาเรียน มาร่วมงานกับองค์กร ในส่วนคุณภาพของการเรียนการสอน จะพิจารณาจากสัดส่วนของอาจารย์ต่อนักศึกษา หรือสัดส่วนของนักศึกษาต่ออาจารย์ โดยมีการทำวิจัยกันว่า ถ้ามีนักศึกษาจำนวนมาก แต่มีอาจารย์จำนวนน้อย เชื่อว่าผลการเรียนการสอนจะไม่ดีเท่ากับการมีนักศึกษาจำนวนไม่มาก แต่มีอาจารย์มากพอ

S__31072281

“ในกรณีของการจัดอันดับของ QS World University Rankings by Subject 2020 นั้นเป็นการประเมินเฉพาะวิชา ซึ่งจะมีลักษณะของการคิดแตกต่างออกไป โดยจะพิจารณาเพียง 2 เรื่อง คือ ความมีชื่อเสียงในศาสตร์นั้นๆ ร่วมกับผลอ้างอิงที่มาจากผลกระทบของงานวิจัย หรือคุณภาพของงานวิจัย โดยมหาวิทยาลัยมหิดลมีความเชี่ยวชาญ และมีการสอนส่วนใหญ่ทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ และวิทยาศาสตร์สุขภาพ รวมทั้งวิชาทางด้านชีววิทยา หรือ Biological Science ซึ่งเป็นความมีชื่อเสียงที่ปรากฏมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ ผลงานวิจัยของเราก็มีผลกระทบ หรือมีการอ้างอิงสูง จึงทำให้เราเป็นที่ 1 ของประเทศไทยในด้านดังกล่าวตามความคาดหมาย โดยเป็นการรักษาระดับของมหาวิทยาลัยให้อยู่ในการจัดอันดับของมหาวิทยาลัยโลกตามสาขาวิชาต่างๆ ที่เรามีความสันทัด ซึ่งเราก็สามารถทำได้อยู่ในลำดับที่เป็นที่น่าพอใจ” ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ กล่าวทิ้งท้าย

 

***** สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร.0-2849-6210


You must be logged in to post a comment Login