วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

3D Printing in Medical: นวัตกรรมเพื่อชีวิต​ “เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติขั้นสูง เพื่อวินิจฉัยและวางแผนการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ”

On December 19, 2019

​สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. ร่วมกับ บริษัท หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) จัดงานแถลงข่าวผลงานนวัตกรรมและงานสัมมนา “เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติขั้นสูง เพื่อวินิจฉัยและวางแผนการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ” มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อยอดไปสู่โอกาสทางการสร้างธุรกิจนวัตกรรมไทย ภายในงานแถลงข่าว ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้มากล่าวบทบาทของและหน้าที่ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติในการสนับสนุนและพัฒนานวัตกรรมด้านการแพทย์ และ ดร.เจน ชาญณรงค์ กรรมการบริหาร บริษัท หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ และการพัฒนา 3D Med

​ซึ่งการแถลงข่าวครั้งนี้ ได้นำเสนอถึงเรื่องการสร้างแบบจำลองอวัยวะสามมิตินับเป็นนวัตกรรมที่สนับสนุนแพทย์ในการแสดงให้เห็นถึงความผิดปกติหรือรอยโรคได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการรักษาที่มีข้อจำกัดในการสร้างภาพ CT Scan / MRI เช่น การผ่าตัดเปิดหัวใจเด็กแรกเกิด เนื่องจากมีขนาดหัวใจเล็ก ทำให้เห็นภาพจาก MRI/CT ไม่ชัดเจน และเทคโนโลยีดังกล่าวยังเป็นการทำให้เห็นภาพ 2 มิติ ที่แพทย์ต้องจินตนาการถึงมิติที่ 3 คือในมิติของความลึก ดังนั้นการใช้เทคโนโลยี 3D เข้ามาช่วยวางแผนในการรักษานี้ทำให้เกิดการรักษาที่ประสิทธิภาพ แม่นยำ และลดเวลาในการผ่าตัดลงได้ เป็นการยกระดับมาตรฐานการรักษา อีกทั้งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายซึ่งในต่างประเทศพบว่าการสร้างแบบจำลองกะโหลกศีรษะช่วยลดเวลาในการผ่าตัดได้ถึง 3-4 ชั่วโมง คิดเป็นมูลค่าจากการลดการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์ทั้งห้องผ่าตัดและบุคลากรราว 100,000 บาทต่อการผ่าตัดหนึ่งครั้ง เป็นการลดค่าใช้จ่ายได้มากเมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายการสร้างแบบจำลองอวัยวะระดับหลักพันถึงหมื่นบาท

1576760450663

​จากวัตถุประสงค์ของการดำเนินการดังกล่าว นับเป็นการสร้างให้เกิดการบริการทางพาณิชย์ด้านการพิมพ์สามมิติในประเทศไทยครั้งแรก ที่ระบบบริการทางการแพทย์ของไทยสามารถเข้าถึงในราคาที่เหมาะสม ซึ่งความสำเร็จในโครงการจะช่วยยกระดับความสามารถของการแพทย์ไทยไปอีกขั้น ให้ใกล้เคียงหรือเท่าเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้วในระดับราคาที่เข้าถึงได้  โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดส่งแบบจำลองอวัยวะให้โรงพยาบาลต่างๆ ได้นำไปรักษาจริงแล้ว 50 ชิ้น ในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ระยอง ชลบุรี อุบลราชธานี ขอนแก่น สงขลา และกรุงเทพมหานคร

1576760457871

นอกจากนี้ ยังมีการเสวนา ทิศทางและการเติบโตของเทคโนโลยี 3D Med กับวงการแพทย์ในประเทศไทยและการต่อยอดไปสู่โอกาสทางการสร้างเศรษฐกิจนวัตกรรมไทย 3D นวัตกรรมทางการแพทย์โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ อาจารย์ นายแพทย์ ดร.กรกช เกษประเสริฐ กรรมการศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ (MIND Center) และภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ,คุณอุกฤช กิจศิริเจริญชัย ผู้จัดการพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมด้วย ดร.เจน ชาญณรงค์ กรรมการบริหาร บริษัท หาญ         เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ดำเนินรายการโดย โดย ดร.แทนไท ประเสริฐกุล นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โดยบุคคลทั่วไปที่สนใจลงทะเบียนมาร่วมฟัง

​​


You must be logged in to post a comment Login