วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

“คดีการเมืองไทยใน 2 ทศวรรษ” โดย วิญญัติ ชาติมนตรี

On November 1, 2019

ก่อนที่จะเข้าสู่บทความชิ้นสำคัญของชีวิต ผมขอขอบคุณหนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวันที่เป็นสื่อมวลชนผู้ที่ทำหนังสือพิมพ์ จำหน่ายหนังสือพิมพ์รูปแบบกระดาษให้แก่ประชาชนทั่วไปจนถึงช่วงปลายปี พ.ศ. 2557 “โลกวันนี้” มีคำขวัญที่ผมจำได้แม่นคือ “เปิดโลกความคิด ให้ชีวิตทันโลก” นำเสนอข่าวสารความจริง มุมมองความคิดที่แปลกไม่เหมือนสื่อมวลชนอื่นในท้องตลาด ทั้งด้านสังคม การเมือง ธุรกิจ และการพัฒนาประเทศ คอลัมนิสต์หลายท่านผมชื่นชอบเป็นการส่วนตัวในงานเขียนมาตลอด ซึ่งผมก็เป็นผู้หนึ่งที่ติดตามอ่านหนังสือพิมพ์โลกวันนี้ตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหงปีหนึ่งจวบจนปัจจุบัน

ผมจึงขอขอบคุณอีกครั้งที่ผมในฐานะผู้อ่านคนหนึ่งได้รับเกียรติให้เป็นคอลัมนิสต์พิเศษ เขียนบทความลงฉบับพิเศษครบรอบ 20 ปีนี้ ถือเป็นห้วงเวลาใกล้เคียงกับระยะเวลาอายุของใบอนุญาตทนายความของผมมาแล้ว 22 ปี ผมได้ว่าความในศาลตั้งแต่แรกซึ่งขณะนั้นกำลังศึกษาชั้นเนติบัณฑิต จึงได้เห็นงานด้านกฎหมายทั้งด้านดีและเห็นความเลวร้ายของผู้คนในกระบวนการยุติธรรมที่จะหาจากตำรากฎหมายเล่มไหนไม่ได้อีกแล้ว ส่วนการทำงานอาสาช่วยประชาชนด้านกฎหมายในภาคสนามผมทำตั้งแต่ก่อนจะเป็นทนายความ ซึ่งผมภาคภูมิใจกับการใช้ชีวิตและคุ้มค่าแล้วสำหรับผม

กว่า 2 ทศวรรษของผมที่ได้สัมผัสกับกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นธารมาจนปัจจุบัน

ในทรรศนะของผมกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมประเทศไทย สรุปสั้นๆว่ามันคือ “การคุมขังอนาคตไว้กับอดีต”

อดีตของคดีการเมืองในประเทศที่ไม่มีอะไรน่าชื่นชมหรือน่าภาคภูมิใจนัก อาจกล่าวได้ว่าเป็นตราบาปคุมขังอนาคตของประเทศไว้ในความมืดมนอย่างต่อเนื่อง ไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นมากในสายตาผม

หลายกรณีในอดีตถูกอำนาจตุลาการ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 อำนาจอธิปไตย ใช้อำนาจในมือเล่นงานจนไม่เหลือภาพลักษณ์ของชาติบ้านเมือง รวมถึงความอัปยศน่าสังเวชต่อกรณีที่บุคคลต่างๆต้องถูกกระบวนการยุติธรรมจัดหนักขึ้นมาเรื่อยๆจวบจนปัจจุบันไปสู่อนาคตข้างหน้าด้วย

อำนาจตุลาการในที่นี้ยอมรับเอาอำนาจผู้ปกครองแบบผสมผสานอำนาจทางการทหาร บริหารงานบุคคล และด้านรัฐประศาสโนบาย มาใช้ในงานกระบวนการยุติธรรม โดยยึดโยงความต้องการคุมอำนาจทางการเมืองมาเป็นตัวกำหนดความยุติธรรมได้อย่างแนบเนียน แม้ในประเทศที่เจริญแล้วจะสร้างมาตรฐานของงานด้านความยุติธรรมเป็นรากฐานในการสร้างการเมืองให้เกิดเสถียรภาพ นี่คือการเอาอดีตที่ชอกช้ำมาเป็นเครื่องพันธนาการทิศทางอนาคตของชาติและประชาชนไว้โดยการชี้ขาดคดีการเมืองให้เห็นเป็นระยะๆ

หันกลับมามองปัญหาในประเทศไทยว่าด้วย “คดีการเมืองใน 2 ทศวรรษ” ผมเห็นคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจหรือผู้ปกครอง แม้จะเป็นเพียงข้อถกเถียงปัญหาของการเมืองไทยและการปกครอง ถ้าใครพูดดีแสดงการสนับสนุนแนวทางประชาธิปไตยที่เป็นแบบไทยแลนด์สไตล์ นั่นคือ คนในชาติต้องยอมตนเป็นเบี้ยล่าง รับเอาสิ่งที่จะต้องเชื่อ และการสร้างภาพคนดี ต้องไม่มีปากไม่มีเสียง มีความเท่าเทียมเป็นเพียงหน้าฉาก มีความเหลื่อมล้ำขาดโอกาสเป็นเรื่องที่รับได้ อย่างนี้ถือว่าผ่าน

ในขณะที่อีกด้าน หากมีใครเป็นหัวก้าวหน้า ทั้งกระทำในทางตรงกันข้ามกับภาพคนดีที่ว่ามานั้น แม้จะมีความหวังดีต่อชาติบ้านเมืองสักเพียงใด เป็นนักเรียนนอกหรือเด็กวัดเก่ง รวยเป็นเซเลบ มีคนชื่นชอบมากก็เถอะ ผมเห็นคนเหล่านั้นไปได้ไม่ไกล และถูกชี้หน้าว่าเป็น “คนไม่ดีหรือคนโกง” ตกเป็นจำเลยของสังคมและจำเลยในศาลได้ในที่สุด

ที่พูดอย่างนี้เพราะผมเชื่อว่าหากกระบวนการยุติธรรมดีจริง ประเทศชาติก็จะดี มีความเจริญก้าวหน้าตามไปด้วย

ย้อนกลับไปถึงปฐมเหตุแห่งความขัดแย้งที่เด่นชัดที่สุดในช่วง 2 ทศวรรษ

ในสายตาผมมองว่าการรัฐประหารในปี 2549 ถือเป็นการเริ่มต้นของความพยายามที่จะฟื้นฟูอำนาจนำของชนชั้นสูงที่เป็นกลุ่มทุนเก่า นายทหารระดับสูง ข้าราชการระดับสูง และกลุ่มผลประโยชน์ผูกขาดทางอำนาจ ซึ่งอาจเรียกว่า “กลุ่มอำนาจเก่า”

หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 พรรคการเมืองคือผู้แทนปวงชนชาวไทย เป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนที่จะได้แสดงออกทางการเมือง แต่ในขณะเดียวกันคือภัยคุกคามของชนชั้นนำ

ก่อนการรัฐประหารโดยทหารในครั้งนั้น พรรคการเมืองหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า “พรรคไทยรักไทย” ถือเป็นพรรคการเมืองแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ได้รับอาณัติจากประชาชนให้เข้ามาบริหารประเทศ พรรคไทยรักไทยได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ฉันทามติจากการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศส่งผลเป็นการขัดขวางธรรมเนียมปฏิบัติอันยาวนานที่มีรูปแบบเป็นรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ ทำให้พรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องสยบยอมมอบอำนาจที่แอบซ่อนตัวภายใต้รัฐธรรมนูญทุกฉบับอีกต่อไป โดยการเมืองและการปกครองจะเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

เมื่อรัฐบาลพรรคไทยรักไทยยืนยันอำนาจบริหารประเทศที่ต้องการควบคุมกระบวนการกำหนดนโยบายพัฒนาประเทศ รวมถึงการจัดวางกองทัพให้อยู่ภายใต้การควบคุมของพลเรือน และทำลายเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ของกลุ่มอำนาจนิยมลง การดำเนินนโยบายเปิดตลาดเสรีของพรรคไทยรักไทยได้ส่งผลทำให้กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อิงแอบกับกลุ่มอำนาจเก่าต้องเผชิญการแข่งขันมากขึ้น สัญญาณของการแย่งชิงอำนาจจากประชาชนจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง

เมื่อกลุ่มอำนาจเก่าไม่สามารถหาวิธีขจัดหรือบั่นทอนอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยวิธีอื่นใดได้ ทหารบางกลุ่มจึงรับหน้าที่โดยใช้วิธีการพิเศษในฐานะที่มีทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังพลทางทหาร ทั้งยังมีกองกำลังในเครือข่ายอำนาจเก่าในระบบราชการผสมผสานกับงานการข่าวหรือปฏิบัติการข่าวสารให้สอดรับกับงานด้านความมั่นคงในการเข้ามาทวงอำนาจปกครองประเทศคืนจากตัวแทนของประชาชน

การทำรัฐประหารหลายครั้งจึงเกิดขึ้นโดยการสนับสนุนจากอำนาจเก่า ความร่วมมือกับสื่อมวลชนสายอำนาจนิยมต่างผนึกกำลังแบ่งหน้าที่กันอย่างออกหน้า หลายกรณีก็ได้แสดงอาการหวงอำนาจทางการเมืองของฝ่ายตนให้อยู่กับกลุ่มอำนาจเก่า โดยการแอบซ่อนอยู่หลังฉาก แต่มีเป้าหมายหลอกหรือคอยสร้างภาพว่า “ประเทศเป็นประชาธิปไตยแบบมีรัฐธรรมนูญ”

คนไทยจึงได้เห็นกลุ่มคนที่อยู่ในอำนาจตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ พวกเขามีความรู้ความสามารถหลายด้าน จึงมีการพัฒนารูปแบบการดำเนินการที่หลากหลาย แต่ตั้งเป้าหมายของความสำเร็จอย่างเด็ดขาด ไม่จำกัดวิธีการและรูปแบบ ไม่แพ้วิธีการรบแบบกองโจรก็ว่าได้

คนเหล่านี้ตอบสนองความต้องการของกลุ่มอำนาจเก่าชนิดที่เรียกว่า “มีความชำนาญในการบิดเบือนระบบนิติรัฐแต่ไร้ซึ่งหลักนิติธรรม”

การทุ่มเทสรรพกำลังต่อภารกิจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเพื่อสิ่งตอบแทน การมองข้ามความสำคัญของหลักการประชาธิปไตยจึงไม่ใช่เรื่องเหนียมอายอีกต่อไป เพียงเพื่อให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายเพื่อกำจัดพรรคการเมืองและนักการเมืองที่ประชาชนนิยมชมชอบออกจากพื้นที่ทางการเมืองให้ได้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเครือข่ายอำนาจเก่าจะกลับไปสู่การครองอำนาจเบ็ดเสร็จที่มีรัฐบาลอ่อนแอหรือตัวแทนผู้สืบทอดอำนาจ และพวกเขาก็พร้อมที่จะยอมรับใช้กลุ่มอำนาจเก่า

การสืบทอดอำนาจของเครือข่ายกลุ่มอำนาจเก่าที่สนับสนุนการก่อรัฐประหาร ไม่ว่าผู้ก่อการหรือคณะรัฐประหารจะตั้งใจใช้อำนาจโดยตรงหรือโดยอ้อมผ่านการใช้ตัวแทนในองค์กรต่างๆ หรือการเข้าควบคุมบงการรัฐบาลพลเรือนที่อ่อนแอก็ตามแต่ จะพบว่ารูปแบบที่มีการจัดระบบโครงสร้างการสืบทอดอำนาจในปัจจุบันเรียกว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ” นั่นเอง

สภาวะตัวแทนของเครือข่ายนี้จะดำรงอยู่ไปจนกว่าจะมีกลุ่มทหารกลุ่มอื่นทำรัฐประหารครั้งใหม่ หรือสร้างรัฐบาลผสมที่อ่อนแอภายใต้อาณัติกลุ่มอำนาจเก่าอย่างมั่นคงแล้ว ทั้งนี้ ตราบใดที่ยังมีภัยคุกคามที่พวกเขาอุปโลกน์ขึ้น การออกแบบโครงสร้างประเทศให้เป็นประชาธิปไตยแบบมีรัฐธรรมนูญจึงยังจำเป็นอยู่ต่อไป เพราะรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือเพื่อการรับรองดุลอำนาจเก่าในคราบของรัฐบาลใหม่ให้มั่นคง ยั่งยืน โดยจะสร้างกฎกติกาและเงื่อนไขหรือข้อห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ การถูกกล่าวหาว่าล้มล้างการปกครองหรือความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในประเทศจึงเป็นอาวุธทางการเมืองที่ถูกใช้เสริมความชั่วร้ายให้สำเร็จตามเป้าหมายเสมอมา

ที่ผ่านมาจะพบว่าประเทศไทยมีช่วงประชาธิปไตยสั้นๆเพียง 3 ครั้ง ที่มีรากฐานอยู่บนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการเลือกตั้งอย่างแท้จริงคือ

• ครั้งแรก หลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2489

• ครั้งที่สอง หลังจากการประท้วงใหญ่ในปี พ.ศ. 2516

• ครั้งที่สาม หลังจากการเลือกตั้งที่ได้ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ. 2531

การรัฐประหารครั้งอื่นผมเชื่อว่าประเทศไทยถูกแทนที่ด้วยระบบที่เหมาะสมกับกลุ่มอำนาจเก่าเพื่อการคุ้มครองอำนาจและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของกลุ่มอำนาจเก่าและเครือข่าย “ทุนนิยมพวกพ้อง” รวมทั้งเครือข่ายข้าราชการพลเรือนและทหารด้วย จนมีคำพูดที่เรียกแนวคิดของระบอบนี้ว่า “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ”

ผมมองแนวคิดประชาธิปไตยแบบไทยๆ (ไทยแลนด์สไตล์) ที่เป็นรูปธรรมทางการปกครองคือ ระบอบการปกครองที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการยินยอมที่ปราศจากเสรีภาพ ประชาชนไม่มีปากไม่มีเสียง โดยแอบแฝงยุทธวิธีที่ใช้ทำลายฝ่ายตรงข้ามอำนาจเก่าด้วยการสร้างวิกฤตปัญหาด้านความมั่นคง แต่กลับไม่สนใจความมั่งคั่งของประเทศและปัญหาปากท้องของประชาชนอย่างจริงจัง

นี่คือการหมุนเวียนของระบบวงจรอุบาทว์ที่สร้างขึ้นโดยกลุ่มอำนาจเก่า กระบวนการยุติธรรมจึงถูกกลไกอำนาจรัฐภายใต้อาณัติของกลุ่มอำนาจเก่าใช้แรงงานเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะ

การจะหลุดพ้นจากวงจรนี้ได้ ณ เวลาอันสั้นนี้ก็คือ การคืนสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการที่จะปกครองตนเอง ทำให้ประชาชนในประเทศมีปากมีเสียงเป็นพลังทางการเมือง ทำให้เม็ดเงินงบประมาณแผ่นดินถูกใช้เพื่อพัฒนาคน พัฒนาคุณภาพชีวิต เสริมสร้างงานขั้นพื้นฐาน เพื่อยืนหยัดความเป็นประชาธิปไตยให้ประชาชนเป็นพลเมืองที่มีศักยภาพและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้ได้

จะเห็นว่าในอดีตมีบุคคลเพียงไม่กี่คน หมายถึงอดีตนายกรัฐมนตรี อดีตนักการเมือง ถูกสร้างความชั่วร้ายจนกลายเป็นตำนานทางการเมืองหรือเป็นผีทางการเมืองที่คอยหลอกหลอนกลุ่มอำนาจเก่าและเครือข่ายว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง หลายกรณีถูกยกระดับจากผีการเมืองเป็นบ่อนทำลายชาติ แม้ต่อมาการเมืองสมัยใหม่จะถูกพัฒนาการเรียนรู้ ตลอดจนการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ขยายผลถึงประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศกลายสภาพเป็นกลุ่มภัยคุกคามต่อความมั่นคงเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ข้ออ้างว่ามีภัยคุกคามต่อความมั่นคงภายในประเทศ ทำให้ต้องเพิ่มการจัดสรรงบประมาณด้านการข่าวและอบรมพัฒนาบุคลากรฝ่ายความมั่นคงจำนวนมาก เม็ดเงินมหาศาลถูกนำมาใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ รวมทั้งการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์โดยไม่จำเป็นและไม่ต้องคำนึงวินัยทางการคลังก็ได้ หลายครั้งจะเห็นการบูรณาการหน่วยงานเพื่อเฝ้าระวังการเคลื่อนไหวของประชาชนตามสิทธิทางการเมืองอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แทนที่รัฐจะให้ความคุ้มครองรับรองสิทธินั้น กลับเป็นภัยคุกคามอำนาจรัฐนำไปสู่การตั้งข้อหาทางอาญา การมอบอำนาจเช่นนี้จึงก่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนในประเทศอย่างต่อเนื่อง

ผลจากการทำรัฐประหารทำให้ความเป็นชาติหายไป

หลายคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน การชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกและจัดการเลือกตั้งใหม่ในช่วงปี 2552-2553 ประชาชนนับพันคนถูกฟ้องดำเนินคดีอาญาต่อศาลยุติธรรม ความขัดแย้งของคนในชาติจึงเพิ่มมากขึ้น แต่ความอยุติธรรมหลายมาตรฐานก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

คงไม่ต้องพูดถึงว่าผลของคดีใดเป็นอย่างไร เป็นพวกใด เสื้อสีใด เพราะถึงวันนี้ชัดเจนแล้วว่าความเป็นชาติไม่เหลือความเป็นปึกแผ่นไว้อีกต่อไป ความรักสามัคคีของคนในชาติถูกทำลายลงอย่างย่อยยับ เพราะการทำรัฐประหารโดยสมรู้ร่วมคิด ยินยอมพร้อมใจกับเครือข่ายในกระบวนการยุติธรรมเป็นตัวการผู้ลงมือทำเสียเองอย่างเป็นระบบและมีแบบแผน

กลุ่มอำนาจเก่าเอาแต่โทษประชาชนว่า “โง่และไร้การศึกษา” จึงไม่พร้อมที่จะเป็นประชาธิปไตย คำกล่าวเช่นนี้ไม่ได้เจ็บปวดในความคิดของผม แต่มันกลับเป็นสิ่งชั่วร้ายที่สัมผัสได้จากคนพวกนี้ ผมได้เห็นคดีความต่างๆที่อาจไม่ใช่คดีการเมืองโดยตรง แต่ผลมาจากการกระทำทางการเมืองและการใช้สิทธิพลเมือง ผมก็ขอเรียกมันว่า “คดีการเมือง”

ภาระของประชาชนที่ต้องแบกรับจากการถูกยัดเยียดข้อหาร้ายแรงเกินความเป็นจริง ในการพิสูจน์ความจริงจากการถูกใส่ร้าย การต่อสู้คดีของจำเลยและทนายจำเลยในกระบวนการยุติธรรมต่างรู้ดีว่าผู้มีอำนาจและเจ้าหน้าที่รัฐที่มาเกี่ยวข้องกับการใช้กองกำลังทหารเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างโหดร้ายไร้มนุษยธรรมของคนบางกลุ่มและผู้มีอำนาจตามส่วนต่างๆของภาครัฐที่ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้กับเหตุการณ์ฆ่าประชาชนในครั้งนั้นอยู่

การต่อสู้ในศาลหลายคดีใช้เวลายาวนานกว่า 9 ปี อย่างเช่น คดีก่อการร้ายที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมทางการเมืองในกรุงเทพมหานครที่ประชาชนถูกตั้งข้อหาร้ายแรง ไม่สอดคล้องกับคำนิยามหรือคำจำกัดความของการก่อการร้าย แต่ภายใต้กระบวนการยุติธรรมของไทย การเป็นผู้ก่อการร้ายไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

คดีนี้องค์คณะผู้พิพากษาในศาลอาญาเห็นว่า การกระทำอันเป็นความผิดก่อการร้ายจะต้องเป็นการกระทำอันเข้าองค์ประกอบความผิดที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 (1) ถึง (3) คือ ต้องมีลักษณะเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกายหรือเสรีภาพของบุคคลใดๆ หรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงหรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน แต่หากเป็นการกระทำในการเดินขบวน ชุมนุมประท้วง โต้แย้ง หรือเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือหรือให้ได้รับความเป็นธรรม อันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย

พยานบุคคลฝ่ายรัฐไม่ได้เบิกความยืนยันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นการกระทำของบุคคลใดหรือเป็นการกระทำของฝ่ายใด และไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องของแหล่งข่าวว่าเป็นจริงหรือไม่ และยังมีพยานโจทก์อีกหลายปากเบิกความต่อศาลว่าการชุมนุมเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องทางการเมืองให้นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมก็ไม่มีพยานปากใดเบิกความยืนยัน

การปราศรัยเรียกร้องให้ประชาชนทำการต่อต้านการทำรัฐประหารเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่สามารถทำได้ ไม่ถือเป็นความผิดต่อกฎหมายแต่อย่างใด การชุมนุมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องทางการเมือง

นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการมีส่วนร่วมที่จะพิทักษ์ไว้ซึ่งหลักการประชาธิปไตยและเพื่อความยุติธรรมในสังคม ซึ่งก็คล้ายกับเหตุการณ์หนึ่งที่ประชาชนต้องการแสดงออกทางการเมือง แต่กระบวนการยุติธรรมที่อยู่ภายใต้นโยบายทางการเมืองเป็นปัญหาหมักหมมไว้ เกิดขึ้นกับประชาชนทางภาคใต้ของประเทศไทยมายาวนาน

เมื่อไม่นานนี้เองผู้พิพากษาซึ่งเป็นบุคลากรสำคัญในองค์กรศาลท่านหนึ่งได้สร้างวีรกรรมอันส่งผลสั่นสะเทือนต่อวงการยุติธรรมไทยอย่างมาก ด้วยการแสดงออกต่อความอึดอัดใจต่อบทบาทหน้าที่ในงานตุลาการและแฝงด้วยข้อเรียกร้องทางเมือง

“คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา” “คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”

กลายเป็นประโยคทองแห่งปีที่โด่งดังที่สุดในรอบหลายทศวรรษ เนื้อหาและรายละเอียดที่ปรากฏในคำแถลงการณ์ของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีสะท้อนให้เห็นว่า มีหลายคดีที่เกิดขึ้นในศาลพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ อันเป็นผลจากการใช้อำนาจทางการทหารและฝ่ายความมั่นคงในรูปแบบการกระทำละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง มีลักษณะเดียวกันกับคดีการเมืองอื่นในรอบทศวรรษที่ผ่านมา

ความน่าสนใจของรายละเอียดในเนื้อหาในคำแถลงการณ์ ปรากฏว่าสิ่งที่ถ่ายทอดออกมาไม่ใช่เรื่องภายในองค์กรศาลยุติธรรมเท่านั้น หากแต่เป็นสิ่งตอกย้ำความล้มเหลวด้านกระบวนการยุติธรรมและความเป็นอยู่ของชาติบ้านเมืองอย่างชัดเจน

ผมได้อ่านแถลงการณ์แล้ว เกิดความกลัว เรื่องท่านผู้พิพากษาตั้งเจตจำนงกับเหตุความไม่เป็นธรรมในประเทศครั้งนี้ว่า

จะไม่มีการสอบสวนข้อเท็จจริงตามเนื้อหาของแถลงการณ์อย่างจริงจัง

องค์กรศาลและองค์กรอื่นที่มีแนวความคิดล้าหลังจะทำให้เป็นเรื่องปิดลับ

ความเสียสละชีวิตเลือดเนื้อของผู้พิพากษาท่านนี้จะสูญเปล่าไปด้วยการบิดผันเป็นเรื่องส่วนตัว

กลัวว่ากระบวนการยุติธรรมยังเห็นเป็นเรื่องอัปยศ ซ่อนเร้นมันไว้ใต้พรมอันสวยหรูเหมือนในอดีต

สุดท้ายกลัวจากอุทาหรณ์ทางคดีที่เห็นมาตลอดว่าประชาชนจะถูกจัดแจงความยุติธรรมอย่างเลือกปฏิบัติ”

ปัญหาความเหลื่อมล้ำผสมผสานความอยุติธรรม โดยเฉพาะในคดีการเมืองที่ตกอยู่ภายใต้การฉ้อฉลแห่งอำนาจบาปแทบทั้งสิ้น

ในองคาพยพที่รวมตัวกันนี้สะท้อนปัญหาความไม่เป็นธรรมออกมาจากการใช้อำนาจขององค์กรต่างๆตามรัฐธรรมนูญ เกิดกระบวนการแทรกแซงการทำหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจ และการกดดันบีบบังคับบุคลากรในองค์กรต่างๆรวมถึงผู้พิพากษาจนขาดความเป็นอิสระ

หลายคนในสังคมไทยโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในฝ่ายกลุ่มอำนาจเก่ากล่าวถึงการฆ่าตัวตายหรืออัตวินิบาตกรรมนี้ว่า เป็นเรื่องความเครียดส่วนตัว เป็นปัญหาสุขภาพและปัญหาทางจิต เป็นการบอกปัดและพร้อมจะฝังกลบปัญหาใหญ่ของกระบวนการยุติธรรมนี้ให้เป็นเรื่องไร้ความรับผิดชอบ ไม่แยแสอยู่ต่อไป เพื่อกลบเกลื่อนปัญหาความอยุติธรรมในประเทศที่เกิดขึ้นจริง

ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาเป็นเครื่องชี้วัดทิศทางของความยุติธรรม

ในประเทศไทยบัญญัติเรื่องความเป็นอิสระของตุลาการไว้ในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม รวมทั้งในหมวด 10 ว่าด้วยศาล ตามรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 188 วรรคสอง บัญญัติว่า “ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง” ซึ่งความเป็นอิสระของผู้พิพากษาแบ่งได้ 2 ประการคือ

1) ความเป็นอิสระในการทําหน้าที่พิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษา และไม่ต้องอยู่ในอาณัติของบุคคลหรือองค์กรใดๆ คําสั่งและคําแนะนําต่างๆเป็นสิ่งที่ต้องห้ามโดยสิ้นเชิงในความเป็นอิสระ โดยนัยเรียกว่า “ความเป็นอิสระในเนื้อหา”

2) ความเป็นอิสระในการทําหน้าที่ของผู้พิพากษานั้น ผู้พิพากษาจะต้องกระทําโดยปราศจากความกลัวว่าจะได้รับผลร้ายหรือถูกกลั่นแกล้งภายหลัง คือต้องมี “ความเป็นอิสระในทางส่วนตัว”

ดังนั้น ในการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาตามกระบวนการยุติธรรมให้เกิดความน่าเชื่อถือ และเกิดความเคารพศรัทธาจากประชาชนต่ออำนาจตุลาการให้เป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนได้จริง ในทางปฏิบัติต่อการใช้อำนาจและการทำหน้าที่ฝ่ายตุลาการ ผู้พิพากษาที่มีบทบาทในคดีการเมืองประกาศตนว่าเป็น ”ตุลาการภิวัฒน์” หรือ “ตุลาการธิปไตย” นั่นคือเป็นหายนะของชาติ

จะยอมรับกันหรือไม่ว่ามีกระบวนการแทรกแซงในการทำหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจรัฐกันจริง ทั้งในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและกระบวนการยุติธรรมในองค์กรต่างๆตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ผลจากการใช้อำนาจเป็นไปตามที่กำหนดไว้ ไม่ว่าจะในทางตรงหรือทางอ้อม ไม่ใช่เฉพาะเรื่องใหญ่และทุกเรื่องที่เครือข่ายนี้ต้องการชัยชนะ

ทัศนคติทางการเมืองของผู้ทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เคยยอมรับความแตกต่างตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นสัญญาณของความรุนแรงในประเทศ เมื่อนำนโยบายทางการเมืองของผู้ปกครองที่ขาดคุณธรรมก็ยิ่งส่งผลต่อความเป็นกลางของบุคลากรในองค์กรตรวจสอบเด่นชัดขึ้น

หลายกรณีมีการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางการเมือง ตัดทอนหรือรบกวนความเป็นอิสระขององค์กรรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนในช่วง 2 ทศวรรษนี้ ในท่ามกลางภาวการณ์การแทรกแซงมักบิดผันอำนาจให้เกิดการเลือกปฏิบัติ หลายกรณีผลของการตรวจสอบที่ไม่สมเหตุสมผลหลายเรื่องที่เกิดขึ้นจริงนี้ส่งผลบั่นทอนภาพลักษณ์ของประเทศให้เสียหายในสายตาประชาคมโลก ทั้งที่ไม่ได้เป็นประเด็นที่สร้างขึ้นจากฝ่ายตรงข้ามเพื่อโจมตีหรือให้ร้ายทางการเมือง

ผลจากการทำรัฐประหาร ปี 2557 คือคำตอบของความอยุติธรรมในประเทศ

หากโฟกัสช่วงหลังการยึดอำนาจ 2557 คดีความส่วนใหญ่เริ่มต้นด้วยข้อกล่าวหาคดีความมั่นคง เจ้าหน้าที่จะจับกุมด้วยวิธีรุนแรงเด็ดขาดราวกับขบวนการก่อการร้ายระดับโลก การควบคุมตัวประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยนำไปคุมขังในค่ายทหาร มีม่านผ้ากั้นฉากไว้ บางห้องเปิดแอร์เย็นจนหนาวสั่น มีเตียงทหารหรืออาจไม่มี ห้องคุมขังถูกปิดไม่เห็นแสงตะวัน ตลอดการซักถามทั้งวันทั้งคืน แบ่งเจ้าหน้าที่ไว้หน้าม่านและหลังม่าน การสอบสวนดำเนินไปตามข้อมูลที่ต้องการให้เป็น จบลงด้วยความกลัวจนรับสารภาพ

กระบวนการซักถามตามกฎอัยการศึกมีกรอบเวลา 7 วันแรก เมื่อได้คำรับสารภาพโดยทหารเป็นชุดแรก หลังจากนั้นก็ทำบันทึกซักถามเป็นพยานหลักฐานส่งให้ตำรวจทำบันทึกสอบปากคำตามแบบฟอร์มของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อขอออกหมายจับที่ศาลทหาร แล้วนำหมายจับ ทำบันทึกจับกุม ทั้งๆที่ตัวผู้ต้องหาถูกจับมาก่อนแล้วหลายวัน

เกือบทุกรายจะถูกนำมาแถลงข่าวแจ้งข้อหาร้ายแรงจากคำรับสารภาพของผู้ถูกกล่าวหา การสอบสวนอย่างรวบรัดและไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหานำพยานหลักฐานมาโต้แย้งหักล้าง บางคดีห้ามทนายความที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ต้องหามิให้เข้าพบผู้ต้องหา โดยอ้างว่าตำรวจจัดทนายขอแรงให้แล้ว ซึ่งทนายขอแรงหรือทนายอาสาเหล่านั้นเพียงเพื่อให้ครบองค์ประกอบตาม ป.วิ.อาญา แต่ผู้กล่าวหาไม่มีความไว้วางใจ และมักเปิดโอกาสให้เกิดการโน้มน้าวให้ผู้ต้องหาเกิดความเครียดจนต้องรับสารภาพทั้งๆที่พวกเขาไม่ได้กระทำความผิด

การพิจารณาคดีในศาลทหารก็คือ กระบวนการแบบทหารที่มีตุลาการศาลทหาร อัยการศาลทหาร เจ้าหน้าที่ธุรการในศาลทหาร ต่างต้องรับหน้าที่ตามที่ คสช. มอบหมาย แม้ในเวลาต่อมาในทางนิตินัย คสช. ซึ่งเป็นคณะรัฐประหารจะสิ้นสภาพไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แต่มรดกบาปแห่งอำนาจที่สร้างผลกระทบรุนแรงต่อสังคมและประชาชนยังตกทอดมาถึงปัจจุบัน ความเป็นจริงในกระบวนการบังคับใช้กฎหมายในประเทศจะยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่องไปถึงในอนาคตอีก นั่นคือ ยังมีความผิดที่ถูกกล่าวหาที่ดำเนินการในศาลทหารต้องโอนคดีให้ศาลยุติธรรมพิจารณาพิพากษา ความเสี่ยงทางคดีที่อาจตีความว่าเป็นความผิดจึงยังมีอยู่

การก่อการรัฐประหารของ คสช. ไม่ได้เกิดประโยชน์ใดๆต่อชาติ โดยเฉพาะงานด้านกระบวนการยุติธรรมที่สร้างภาระแก่ประชาชนเกินสมควรและหลายคดีร้ายแรงเกินจริง แม้ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 265 ให้ คสช. ที่ดํารงตําแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ยังคงอยู่ในตําแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ ความจำเป็นของความมีอยู่ของ คสช. หมดลงแล้ว ประกาศและคำสั่งที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเป็นอันใช้บังคับมิได้ ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ด้วยเช่นกัน

แต่การเขียนคำสั่งให้กระบวนพิจารณาคดีที่ได้กระทำไปแล้วก่อนวันที่มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 ให้ถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาของศาลที่รับโอนคดีตามข้อ 2 วรรคท้าย แต่โดยหลักการความชอบด้วยหลักนิติธรรมอาจจะเกิดปัญหาในทางปฏิบัติและการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลยุติธรรม เนื่องจากทุกคดีที่พิจารณาในศาลทหารมาจากการพิจารณาสั่งคดีของอัยการศาลทหาร (เป็นข้าราชการทหาร)

ตลอดระยะเวลา 5 ปี ภายใต้การบริหารราชการแผ่นดินใต้อำนาจ คสช. จึงส่งผลทำให้กระบวนการยุติธรรมปกติจำเป็นต้องไม่ปกติ โดยอำนาจศาลยุติธรรมที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพลเรือนจะต้องรับเอากระบวนพิจารณาของศาลทหารมาต่อยอดกระบวนพิจารณาคดีในศาลยุติธรรมหรือศาลที่รับโอนคดีต่อไปนั้น นักกฎหมายและทนายความที่ทำงานในภาคสนามหลายคนมองว่าเป็นความเลวร้ายของกระบวนการยุติธรรมไทย

ข้อโต้แย้งหรือคำคัดค้านเพื่อให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายอันเกิดจากการทำรัฐประหารที่เกิดผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน หลายกรณีสะท้อนจากการสอบสวนในชั้นสอบสวนภายใต้ความเกรงกลัวอำนาจ คสช. การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลมีหลายเรื่องยังต้องเรียกร้องให้ปฏิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชน

หรือนี่จะเป็นโอกาสที่จะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมใหม่ เพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจอันเกิดจากคณะรัฐประหาร

แต่ศาลยุติธรรมต้องไม่กลายเป็นสูตรสำเร็จของอำนาจคณะรัฐประหาร แม้ศาลยุติธรรมอาจต้องตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก และอาจจะถูกมองว่าเป็นเครื่องมือที่ก่อให้เกิดสภาพบังคับต่อประชาชนให้จำยอมการกดขี่ต่างๆ จำต้องรับรองสภาพของประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารก็ตาม อยู่ที่ประชาชนจะยอมให้เกิดวงจรอุบาทว์ปกคลุมประเทศนี้อยู่ต่อไปหรือไม่

คำตอบสุดท้ายที่ต้องเกิดขึ้นจริงให้ได้คือ ศาลจำต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม ทั้งนี้ ศาลยุติธรรมอาจใช้โอกาสนี้ทำหน้าที่ฝ่ายตุลาการเรียกศรัทธาจากประชาชนและศักดิ์ศรีของฝ่ายตุลาการคืนมา

แม้ประชาชนไม่มีความมั่นใจมากนักในการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรต่างๆภายใต้อำนาจที่ยังดำรงอยู่ แต่ความยุติธรรมอย่างเป็นธรรมชาติของศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์จำต้องมีอยู่ด้วยความร่วมมือของประชาชน.

 

***

1 พฤศจิกายน 2562

แจกฟรี!! ฉบับพิเศษ

“โลกวันนี้” ขึ้นปีที่ 21

คลิกอ่านที่นี่

 

https://www.lokwannee.com/stg/wp-content/uploads/2019/10/lokwannee20.pdf

 

พบกับคอลัมนิสต์รับเชิญ พระพยอม กัลยาโณ, ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข, ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, ผศ.สุรพศ ทวีศักดิ์, ดร.โสภณ พรโชคชัย, “โบว์” ณัฏฐา มหัทธนา, ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ, ทนายวิญญัติ ชาติมนตรี และ ผศ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์


You must be logged in to post a comment Login