วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

“ยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศภายใต้ระยะเปลี่ยนผ่าน” โดย ผศ. ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ

On November 1, 2019

ยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศนั้นต้องพิจารณาภายใต้พลวัตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและพลวัตของระบบโลก และต้องเริ่มต้นด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์อาเซียนของไทยไปด้วยพร้อมกัน นอกจากนี้ยุทธศาสตร์การปฏิรูปต้องมีลักษณะเป็น Regional Approach ที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก (Regional common benefits) และมีลักษณะเป็น Inclusiveness โดยการกำหนดยุทธศาสตร์และการดำเนินการควรดึงการมีส่วนร่วมจากกลุ่มหลากหลายในประเทศ งบประมาณปี 2563 ต้องสะท้อนถึงยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศลักษณะดังกล่าวด้วย หากพิจารณาดูพบว่างบประมาณปี 2563 ยังขาดเป้าหมายหรือยุทธศาสตร์เชิงรุกในการรับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและผลกระทบจากสงครามทางการค้า เศรษฐกิจไทยโดยภาพรวมขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพจะทำให้งบประมาณอาจขาดดุลมากกว่าที่ประมาณการเอาไว้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มเติมจากฐานขาดดุลเดิม 454,000 ล้านบาท อีก 30% หรือประมาณ 136,200 ล้านบาท เพิ่มจาก 2.5% ต่อ GDP เป็น 2.6% ต่อ GDP เป็นอย่างน้อยเพื่อรับมือความท้าทายจากความถดถอยของเศรษฐกิจโลกปีหน้า แม้นสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยยังอยู่ในระดับที่ยังบริหารจัดการได้ แต่เนื่องจากรัฐบาล คสช. ได้จัดทำงบประมาณขาดดุลมาอย่างต่อเนื่องแต่เศรษฐกิจก็ยังไม่สามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายหรือขยายตัวไม่เต็มศักยภาพ นอกจากนี้ยังมีปัญหาการกระจายรายได้และความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีความยากลำบากทางเศรษฐกิจ แต่รัฐบาล คสช. และรัฐบาลชุดนี้ซึ่งเป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจจาก คสช. ยังคงนำเงินภาษีของประชาชนไปจัดซื้ออาวุธเพิ่มขึ้นทุกปี เพิ่มงบประมาณความมั่นคงทั้งที่ประเทศไม่ได้มีปัญหาวิกฤตความมั่นคงใดๆ ขณะที่โรงพยาบาลขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ โรงเรียนขาดครูคุณภาพ มหาวิทยาลัยขาดงานวิจัยและการลงทุนนวัตกรรม เกษตรกรขาดระบบชลประทาน เผชิญปัญหาภัยแล้งสลับน้ำท่วม เพราะขาดการลงทุนทางด้านการบริหารจัดการน้ำ งบปี 2563 ไม่ได้ตอบโจทย์เหล่านี้ จำเป็นที่พรรคฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยต้องทำการแปรญัตติให้มีการจัดสรรงบประมาณกันใหม่ เพื่อมุ่งเป้าสู่การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ดีขึ้น

งบประมาณยังขาดการรับมือความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่จำเป็นต้องมีโครงการหรืองบประมาณเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ งบประมาณจึงไม่ได้ถูกใช้ไปอย่างมียุทธศาสตร์เพื่อบริหารประเทศแบบมองไปข้างหน้า ไม่ได้มุ่งสู่การแก้ปัญหาใหญ่ๆของประเทศที่เผชิญโดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การลดการผูกขาดเพิ่มการแข่งขัน ปัญหาความถดถอยของความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนความยากลำบากทางเศรษฐกิจและหนี้สินของประชาชนระดับฐานรากและการขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการพื้นฐาน งบประมาณจำนวนไม่น้อยถูกจัดสรรเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าผ่านบัตรสวัสดิการคนจน ใช้วิธีการแจกเงินมากกว่ามาตรการแบบยั่งยืนในลักษณะสร้างงาน สร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้ในระยะยาว งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 จำนวน 3,200,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2,393,120.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2562 จำนวน 120,463.8 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.3% และคิดเป็นสัดส่วน 74.7% ส่วนรายจ่ายลงทุน จำนวน 655,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2562 จำนวน 5,861.8 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.9% และคิดเป็นสัดส่วน 20.5% ของวงเงินงบประมาณรวม ลดลงจากปีงบประมาณ 2562 ซึ่งมีสัดส่วน 21.6% เห็นได้ว่างบประมาณปี 2563 ก็ไม่ได้มีการปฏิรูปโครงสร้างงบประมาณ งบลงทุนจึงมีสัดส่วนต่ำเช่นเดียวกับโครงสร้างงบประมาณในหลายทศวรรษที่ผ่านมา การที่ไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างงบประมาณเนื่องจากรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้เอาจริงเอาจังในการปฏิรูประบบราชการและการลดขนาดของหน่วยราชการ ยุบและเลิกหน่วยงานที่ไม่มีภารกิจหรือไม่ค่อยมีความจำเป็นแล้ว งบปี 2563 จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่มาก เพราะไม่ได้มีโครงการที่ก่อให้เกิดการจ้างงานมากทั้งที่ขณะนี้เรากำลังเผชิญปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้นอยู่ การประมาณการรายได้จากการเก็บภาษีอาจสูงเกินไป อาจจะเกิดการขาดดุลมากกว่าที่คาดการณ์ เพราะเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าประมาณการทำให้เก็บภาษีได้น้อย รัฐบาลอาจสามารถจัดเก็บรายได้ประมาณ 2.725 ล้านล้านบาทหากเศรษฐกิจขยายตัวได้ 3-4% ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ในระดับดังกล่าว มีการใช้การวิเคราะห์ข้อมูลโดยเทคโนโลยีเพื่อติดตามให้ผู้ประกอบการเสียภาษีสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง และการเข้าสู่ระบบบัญชีเดียวทำให้กรมสรรพากรสามารถเก็บภาษีได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การจัดสรรงบกลางสูงเกินไปกว่า 500,000 ล้านบาท ทำให้ขาดรายละเอียดเรื่องโครงการการใช้เงินงบประมาณ ตรวจสอบการใช้เงินยากขึ้น ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการถูกปรับลดงบค่อนข้างมาก อย่างหน่วยงานรัฐสภาตั้งงบรวมกันที่ 8,684.6 ล้านบาท ลดลงจากเดิม 13.23% ที่น่าสนใจคือสำนักงานเลขาธิการสภาถูกตัดงบในภาพรวมลงไป 18.47%

ขณะที่หน่วยงานของศาล ประกอบด้วย สำนักงานศาลปกครอง, สำนักงานศาลยุติธรรม, สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งงบรวมกันที่ 20,234.9 ล้านบาท ลดลงจากเดิม 10.49% ขณะที่น่าสนใจว่าศาลรัฐธรรมนูญกลับได้รับงบเพิ่ม 25.83% กระทรวงกลาโหมขอตั้งงบ 233,353.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 เป็นเงิน 6,226.8 ล้านบาท (คิดเป็น 2.74%) โดยกองทัพบกได้รับงบ 113,677.4 ล้านบาท มากที่สุด งบประมาณกลาโหมควรเน้นไปที่ยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศและความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติจะดีกว่า โดยเฉพาะรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ควรเพิ่มงบประมาณทางด้านการศึกษา การวิจัย และสาธารณสุข รวมทั้งควรมีโครงการลงทุนทางด้านการบริหารจัดการน้ำเพิ่มเติม มหาวิทยาลัย 53 แห่งถูกปรับลดงบประมาณลง โดยมหาวิทยาลัยมหิดลถูกปรับลดงบสูงสุดมากกว่าพันล้านบาท ส่วนอีก 23 สถาบันถูกลดงบประมาณไม่ต่ำกว่าร้อยล้านบาท กระทรวงการอุดมศึกษาฯควรไปต่อรองไม่ให้มีการปรับลดงบมากเกินไป เพราะจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาขั้นสูงของประเทศได้

นอกจากนี้การจัดทำงบประมาณควรให้ความสำคัญกับการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์เพิ่มขึ้น และให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์สร้างโอกาสและความเสมอภาคเพิ่มขึ้น

การเอาจริงเอาจังในเรื่องการปฏิรูปจะทำให้ “ไทย” สามารถก้าวสู่การเป็นประเทศร่ำรวยหรือพัฒนาแล้วได้ในระยะ 15-20 ปีข้างหน้า โดยต้องเริ่มต้นการพัฒนาให้ระบอบประชาธิปไตยมีคุณภาพและเข้มแข็ง โลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิมจากการขยายตัวของลัทธิกีดกันทางการค้า ผลกระทบสงครามทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ปัญหาฮ่องกงกับพลวัตความสัมพันธ์ระหว่างชาติตะวันตกกับจีน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดความเสี่ยงและโอกาสต่อประเทศไทย การวางตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ (Strategic Positioning) และการกำหนดวัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Objective) ของประเทศ มีความสำคัญต่อการฟันฝ่าภาวะความผันผวนไม่แน่นอนและนำพาประชาชนไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

หลายคนอาจตั้งคำถามว่าเรามียุทธศาสตร์ในการปฏิรูปประเทศหรือไม่? เราจะปฏิรูปประเทศท่ามกลางความขัดแย้งในระยะเปลี่ยนผ่านได้อย่างไร? การเปลี่ยนผ่านในระยะนี้คือการเปลี่ยนผ่านจากระบอบกึ่งประชาธิปไตย (ระบอบสืบทอดอำนาจจาก คสช.) ไปยังระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การปฏิรูปเป็นสิ่งที่จะมาคลี่คลายความขัดแย้งในระยะเปลี่ยนผ่านได้หรือไม่?

ความขัดแย้งในระยะเปลี่ยนผ่านคือ การต่อสู้ระหว่างฝ่ายที่พยายามรักษาสถานภาพเดิมกับฝ่ายที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง เหมือนดั่งที่อันโตนิโอ กรัมชี (Antonio Gramsci) กล่าวไว้ว่า “วิกฤตการณ์ย่อมก่อตัวขึ้นเมื่อสิ่งเก่ากำลังจะตายและสิ่งใหม่ยังไม่สามารถถือกำเนิด ในช่วงว่างนี้จะมีอาการวิปริตผิดเพี้ยนมากมายหลากหลายแบบปรากฏออกมา” การปฏิรูปจะช่วยทำให้ความขัดแย้งรุนแรงและวิกฤตการณ์เบาบางลงด้วยกระบวนการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการหารือ เจรจาต่อรองกัน กระบวนการดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดเมื่ออยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เพราะสามารถดึงการมีส่วนร่วมของคนจำนวนมากที่สุดได้

ยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศนั้นต้องพิจารณาภายใต้พลวัตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและพลวัตของระบบโลก และต้องเริ่มต้นด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์อาเซียนของไทยไปด้วยพร้อมกัน นอกจากนี้ยุทธศาสตร์การปฏิรูปต้องมีลักษณะเป็น Regional Approach ที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก (Regional common benefits) และมีลักษณะเป็น Inclusiveness โดยการกำหนดยุทธศาสตร์และการดำเนินการควรดึงการมีส่วนร่วมจากกลุ่มหลากหลายในประเทศ เป็นการกำหนดจาก “ล่างสู่บน” มากกว่า “บนสู่ล่าง” แบบใช้อำนาจสั่งการด้วยนโยบายจากผู้มีอำนาจทางเดียว

ยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศนี้ไม่ควรตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในทุกเรื่อง ประชาคมและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 ควรมีลักษณะหลายศูนย์กลางที่เกื้อกูลและเติมเต็มกันมากกว่าการจัดรูปแบบเช่นเดียวกับจักรวรรดิในอดีต การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของประชาคมอาเซียนจะประกอบไปด้วยประชากรราว 600 กว่าล้านคน คิดเป็นร้อยละ 6 ของประชากรโลก ขนาดของจีดีพีเท่ากับร้อยละ 5 ของโลก อาเซียนมีความหลากหลายทั้งในแง่การเมืองการปกครอง ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจ ระบบการเงิน ทรัพยากรธรรมชาติ และขนาดของประเทศ

การส่งออกและการค้าระหว่างไทยกับอาเซียนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งล่าสุดเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย สัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังอาเซียนในปี พ.ศ. 2557 อยู่ที่ร้อยละ 26.11  เทียบกับปี พ.ศ. 2537 อยู่ที่ร้อยละ 19

ขนาดของเศรษฐกิจไทยนั้นอยู่ในอันดับที่ 31 ของโลก และคิดเป็นเพียง 0.5% ของจีดีพีโลก เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่ใหญ่ที่สุดมีขนาดใหญ่กว่าไทย 40 เท่า การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ (Economic Integration) ของไทยจะเป็นประโยชน์ต่อไทยทั้งในแง่อำนาจต่อรองในเวทีการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ และการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

เดิมผู้นำอาเซียนต้องการให้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอันเป็นหนึ่งในเสาหลักของประชาคมเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) ต่อมาในช่วงต้นปี ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) ผู้นำอาเซียนได้เลื่อนกำหนดการรวมกลุ่มเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนให้สามารถบรรลุผลได้ในปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) ต่อมาจึงมีการเลื่อนเป็นต้นปี พ.ศ. 2559 เนื่องจากประเทศสมาชิกบางส่วนไม่มีความพร้อม

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) ได้มีการกำหนดพิมพ์เขียวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไว้ 4 ยุทธศาสตร์ ภายในต้นปี พ.ศ. 2559 การเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน การเงิน และแรงงานฝีมือ 8 สาขาวิชาชีพ จะเป็นไปอย่างเสรีเต็มรูปแบบ เป็นไปตามกรอบยุทธศาสตร์ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่หนึ่ง การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน ยุทธศาสตร์ที่สอง การเป็นภูมิภาคที่มีความสามารถในการแข่งขัน ยุทธศาสตร์ที่สาม การเป็นภูมิภาคที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค ยุทธศาสตร์ที่สี่ การเป็นภูมิภาคที่มีบูรณาการเข้ากับระบบเศรษฐกิจโลก

ก่อนที่เราจะกล่าวถึงการปฏิรูปประเทศเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน ต้องพิจารณาประเด็นความท้าทายภายในอาเซียนเสียก่อน ประชาคมอาเซียนมีความล่าช้าในการดำเนินการตามเป้าหมายและพันธกิจเพราะใช้หลักฉันทามติ กระบวนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจจึงล่าช้า แต่เมื่อดำเนินการได้แล้วจะเกิดความแน่นอนสูง การขาดท่าทีร่วมกันในบางประเด็นและความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของกลุ่มประเทศสมาชิกเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการคืบหน้าของประชาคม สมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ยังต้องเผชิญกับ “กับดักเทคโนโลยีขั้นกลาง (Medium-Technology Trap)” ยังไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองได้ ต้องการซื้อเทคโนโลยีพื้นฐานจากชาติตะวันตกเพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดหรือดัดแปลง

การปฏิรูปประเทศไทยต้องดำเนินการให้ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งการปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปเศรษฐกิจ ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปสังคม ปฏิรูปศาสนาและวัฒนธรรม ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปศาลและกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปสื่อมวลชน เป็นต้น การปฏิรูปต้องเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางมุ่งยกระดับ “คุณภาพชีวิต” ของประชาชน การปฏิรูปต้องนำมาสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน มีเสถียรภาพ มีคุณภาพและมีพลวัต การเติบโตและความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ต้องแลกมาด้วยความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การละเมิดสิทธิมนุษยชน และสิทธิแรงงาน มีประชาชนในอาเซียนจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสต่างๆ การปฏิรูปของประเทศอาเซียนจึงต้องอาศัยทั้งเจตจำนงร่วมกันของผู้นำแต่ละประเทศสมาชิกและเป้าหมายร่วมกันของประชาคม

สำหรับประเด็นปฏิรูปประเทศภายใต้พลวัต AEC หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีหลายเรื่อง ในบทความทางวิชาการชิ้นนี้จะเน้นไปที่มิติทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในพื้นที่หรือปัจจัยที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลาง ประเด็นที่ไทยต้องรองรับและเตรียมความพร้อมเพื่อให้ได้ประโยชน์จากพลวัตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มที่

การปฏิรูปเศรษฐกิจโดยภาพรวม

ต้องดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจใน 2 ด้านสำคัญคือ สร้างความเป็นธรรมและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ในประชาคมอาเซียนเองนั้นมีปัญหาความยากจนและปัญหาความเท่าเทียมกันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV (ประกอบไปด้วย เขมร ลาว พม่า และเวียดนาม) การจะแก้ปัญหาได้ต้องอาศัยแนวทางแบบบูรณาการและมีความหลากหลาย (Multidimentional and Integrated Approach) เน้นยุทธศาสตร์การเติบโตแบบ Inclusive Growth และการคุ้มครองทางสังคม (Social Protection) ไทยและอาเซียนต้องแสวงหาความร่วมมือระดับมหภาคระหว่างประเทศผ่านทาง ESCAP และ ADB เนื่องจาก 2 หน่วยงานนี้สนับสนุนให้มีการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหภาคเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและเสมอภาค (Macroeconomic Policies for Inclusive and Sustainable Development)

ภายใต้โลกาภิวัตน์และการเปิดเสรีโดยเฉพาะภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หากรัฐบาลไม่สามารถจัดการดูแลบรรดาธุรกิจอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม รวมทั้งกิจการที่ปรับตัวไม่ทันและแข่งขันไม่ได้ จะทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจมีความซับซ้อนและกระจายตัวมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะกลุ่มคนที่สูญเสียอาชีพและยังไม่สามารถไปทำอย่างอื่นได้ ขณะที่กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมหรือกิจการที่แข่งขันได้ ตลาดที่เปิดกว้างมากขึ้นและใหญ่ขึ้นย่อมเป็นโอกาสแห่งการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดได้

การลดช่องว่างทางรายได้ การแก้ความยากจนและสร้างความเป็นธรรมทางสังคมจำเป็นต้องดำเนินการใน 2 ด้านคือ ด้านผู้มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจอย่างเหลือล้น – ใช้แนวทางการคลัง การงบประมาณ การภาษี และการป้องกันการผูกขาด ส่วนด้านคนยากไร้ – ผลักดันให้กลุ่มผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส หลุดพ้นจากภาวะขัดสนยากจนด้วยการสร้างโอกาสให้เข้าถึงปัจจัยการผลิต พัฒนาระบบสวัสดิการโดยรัฐอย่างเป็นระบบ จัดให้มีระบบการคุ้มครองทางสังคม (Social protection) และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบายสาธารณะ

ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีและความรู้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะทำให้ปัญหาการกระจายรายได้รุนแรงยิ่งขึ้น ความแปรปรวนของภูมิอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ จะทำให้เกษตรกรยากจน ต้องประสบความแร้นแค้นทางด้านชีวิตความเป็นอยู่ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) เราตั้งเป้าไปสู่ สังคมอยู่เย็นเป็นสุข (green and happiness society)” แต่ดูเหมือนสภาพความเป็นจริงที่ทุกคนเผชิญไม่เป็นไปตามเป้าหมายเลย ทั้งความแตกแยกขัดแย้งรุนแรงทางการเมือง ปัญหาสิ่งแวดล้อมและความไม่ชัดเจนของกฎเกณฑ์กรณีมาบตาพุด ต่อมาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) ต้องการพัฒนาประเทศสู่ความสมดุลและยั่งยืน ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วน ทั้งในระดับชุมชน ระดับภาค และระดับประเทศ ในทุกขั้นตอนของแผนอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์และทิศทางการพัฒนาประเทศ รวมทั้งร่วมจัดทำรายละเอียดยุทธศาสตร์ของแผนเพื่อมุ่งสู่ “สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง”

เแม้นปัญหาจะมากแต่ก็ต้องเริ่มต้นสร้างภาวะการกินดี อยู่ดี มีสุข และมีสิทธิ ให้เกิดขึ้นในหมู่คนไทย โดยอาศัยฐานของระบบสวัสดิการที่เข้มแข็ง ฐานสวัสดิการดังกล่าวนำมาซึ่งสิทธิและสวัสดิการ โดยทิศทางแนวนโยบายด้านสวัสดิการสังคมที่เป็นไปได้และสามารถดำเนินการได้ทันทีคือ การสร้าง สังคมสวัสดิการ (welfare society)” ขึ้นโดยผนึกกำลังจากภาคส่วนต่างๆในสังคมสร้างสรรค์สวัสดิการสังคมขึ้นในหลายรูปแบบ มีการจัดการโดยหลายสถาบัน และสร้างความร่วมมือจากหลายฝ่ายให้เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตสวัสดิการอย่างกว้างขวางครอบคลุม โดยแต่ละรูปแบบและแต่ละสถาบันมีความเป็นอิสระต่อกัน ภายใต้ความรับผิดชอบและการดูแลของสังคมโดยรวม

การสร้างและการพัฒนาสังคมสวัสดิการซึ่งเป็นระบบสวัสดิการที่หลากหลาย เปิดกว้างเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และมีการจัดการในหลายรูปแบบ ทั้งเอกภาคี ทวิภาคี ไตรภาคี และพหุภาคี ตามแต่ลักษณะของผู้จัดสวัสดิการสามารถดำเนินการเป็นขั้นตอนได้ดังนี้

การปฏิรูปภาษี ต้องปฏิรูปทั้งโครงสร้างภาษี อัตราภาษี ฐานภาษี ใช้เครื่องมือภาษีในการจัดการทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองให้ดีขึ้น โดยปฏิรูปให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและมาตรฐานอาเซียน ระบบภาษีต้องทำให้เศรษฐกิจและหน่วยงานทางเศรษฐกิจสามารถแข่งขันได้และมีความเป็นธรรม

มาตรการภาษีสามารถจัดการทางด้านเศรษฐกิจได้ทั้งในมิติด้านการส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (ลดภาษีการลงทุน การบริโภค หรือกิจกรรมการผลิต) การกระจายความมั่งคั่ง (เพิ่มภาษีทรัพย์สินและภาษีมรดก) สนับสนุนความสามารถในการแข่งขัน (ลดภาษีให้กับวัตถุดิบหรือปัจจัยการผลิตบางประเภท) กระตุ้นให้เกิดการลงทุนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุน) และยังช่วยในการจัดการทางด้านสังคม (ภาษีบาปควบคุมกิจกรรมอบายมุข) และปัญหาสิ่งแวดล้อม (เก็บภาษีมลพิษต่างๆ) รวมทั้งการเสริมสร้างให้ระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็งด้วยการทำให้พรรคการเมืองและสถาบันทางการเมืองเป็นของมหาชนมากขึ้นผ่านการบริจาคภาษีหรือบริจาคเงินสนับสนุนพรรคการเมืองแล้วสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้


You must be logged in to post a comment Login