วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567

“จาก 14 ตุลา-6 ตุลา-ขณะนี้ เผด็จการทรราชยังอยู่ (อีกไม่นาน)” โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

On November 1, 2019

ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและความอยู่ดีกินดีของประชาชนทุกคนมีมานานแล้ว และยังต่อสู้ต่อไป เพราะเผด็จการทรราชยังอยู่ยั้งยืนยงอยู่ (อีกไม่นาน)

14 ตุลาคม 2516 ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ที่โค่นล้ม “3 ทรราช” ออกไปจากประเทศไทย และเป็นจุดเริ่มต้นของยุคประชาธิปไตยของประชาชน แต่ความจริงที่ซ่อนเร้นน่าจะมีมากมายที่ต้องเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ที่แตกต่างจากความเชื่อเดิม

1.ประวัติศาสตร์หน้านี้เป็นการวางแผนอย่างเป็นกระบวนการในการสร้างกระแสเกลียดชัง “3 ทรราช” ตั้งแต่การใช้เรื่องทุจริต การใช้กระแสการอนุรักษ์ธรรมชาติ อย่างการตีข่าวการพบซากสัตว์ป่าจากอุทยานฯในเฮลิคอปเตอร์ทหาร จนมีการตีพิมพ์ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” เพื่อรวมกระแสพุ่งเป้าไปที่ “3 ทรราช”

2.สาเหตุสำคัญหนึ่งของเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่มีการกล่าวถึงคือการสืบทอดอำนาจของ “3 ทรราช” แต่รัฐบาลประยุทธ์ที่ครองอำนาจจากรัฐประหารมา 5 ปีก็ยัง “สืบทอดอำนาจ” เช่นกัน แต่ไม่มีกระแสต่อต้าน เพราะเหล่าชนชั้นนำประสานประโยชน์กันได้ ซึ่งก็เช่นเดียวกับการสืบทอดอำนาจของจอมพลถนอม กิตติขจร ตั้งแต่หลังการตายของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และการทำรัฐประหารตัวเองในปี 2514 ก็ไม่มีใครต่อต้าน เพราะฝ่ายต่อต้านยังไม่พร้อม ยังรอการสุกงอมของสถานการณ์

3.การที่นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เคลื่อนขบวนนักศึกษาประชาชนไปวังสวนจิตรฯโดยพลการนั้น (https://bit.ly/2yRXiop) ในแง่หนึ่งอาจเป็นความบังเอิญ แต่ในอีกแง่หนึ่งอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่าเป็นการรับแผนร้ายมาจากใครหรือไม่ เพราะการเคลื่อนขบวนเช่นนี้ทำให้เกิดการจลาจลขึ้น

4.รัฐบาล “3 ทรราช” ในขณะนั้นไม่ได้หวังสร้างความรุนแรง ได้เปิดการเจรจาตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคมแล้ว และได้บรรลุข้อตกลงทั้งการปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม และให้มีการร่างรัฐธรรมนูญและเลือกตั้งใหม่ แต่ฝ่ายตรงข้ามกับ “3 ทรราช” ได้ฉวยโอกาสก่อการจลาจลขึ้น

5.ที่มีข่าวลือว่า พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ยิงประชาชนบนถนนราชดำเนินนั้น พ.อ.ณรงค์ปฏิเสธมาโดยตลอดว่าไม่เป็นความจริง (https://bit.ly/2OLtnHq) ซึ่งก็คงเป็นไปได้ตามนั้น เพราะหากมีการกราดยิงใส่ผู้คนจำนวนมากจริง ยอดผู้เสียชีวิตคงมีมากกว่า 77 รายเป็นแน่ และคงพบผู้ที่ถูกกราดยิงด้วยกระสุนจากเฮลิคอปเตอร์บ้าง

6.การเผาแล้วได้เป็นวีรชนในเหตุการณ์ 14 ตุลานั้น คล้ายกับการเผาในกรณีเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 แต่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับการเผาในเหตุการณ์พฤษภา 2553 แต่คนเผาอาจเป็นคนพวกเดียวกันที่สร้างสถานการณ์ขึ้นมาให้ดูวุ่นวายว่าเป็นความโกรธแค้นของประชาชน

7.สถานที่หนึ่งที่ถูกเผาก็คือตึก กตป. (สำนักงานคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามผลการปฏิบัติราชการ) ซึ่งเป็นศูนย์ปราบปรามการทุจริต ในประวัติศาสตร์อ้างว่าประชาชนโกรธแค้นที่ พ.อ.ณรงค์เป็นผู้บังคับบัญชาที่นั่น แต่ก็มีข้อน่าสังเกตว่า ฝ่ายตรงข้ามกับ “3 ทรราช” อาจมีหลักฐานในการทำผิดคิดชั่วเก็บอยู่ในอาคารนั้น จึงสั่งชายฉกรรจ์นอกเครื่องแบบมาเผา

8.นอกจากการเผาแล้วยังมีการทุบทำลายไฟจราจรตามสี่แยกต่างๆจำนวนมาก คล้ายกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 อีกเช่นกัน การสร้างความวุ่นวายอย่างนี้ก็เพื่อสร้างกลียุค หวังผลในการโค่นล้มผู้ปกครองในยุคนั้น (3 ทรราช / พล.อ.สุจินดา)

9.ผู้เผาทำลายสถานที่ต่างๆในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 และเหตุการณ์พฤษภา 2553 นั้น เห็นหน้าตาชัดเจน แต่ไม่เคยจับคนเผาได้ ใน 2 เหตุการณ์แรก บุคคลนิรนามเหล่านั้นอาจได้รับการยกย่องเป็นวีรชน แต่สำหรับเหตุการณ์พฤษภา 2553 การเผาของบุคคลนิรนามเหล่านั้นกลับถูกใช้ใส่ร้าย “เสื้อแดง” ว่าเป็นคนเผา ซึ่งภายหลังศาลฎีกาก็ได้ยกฟ้องไปในที่สุด (https://bit.ly/31jtvjP)

10.รัฐบาลจอมพลถนอมพอเห็นเหตุการณ์บานปลายจึงตัดสินใจลาออก และยอมที่จะออกนอกประเทศ ซึ่งแม้ในขณะนั้นจะกุมอำนาจเต็ม หากสั่งการปราบปรามเฉียบขาดแบบกรณีเทียนอันเหมินประชาชนก็คงถูกฆ่าตายเป็นเบือ โดยกรณีเทียนอันเหมินตาย 400-3,000 คน (https://bit.ly/2ON33N5) ส่วนเหตุการณ์ 14 ตุลา ตาย 77 คน (https://bit.ly/2kUGB1R) นี่แสดงว่ารัฐบาลในสมัยนั้นเห็นแก่ชีวิตของประชาชน ในขณะที่ผู้ก่อจลาจลซึ่งเป็นบุคคลนิรนามในที่มืดที่ถูกบงการโดยศัตรูทางการเมืองของ “3 ทรราช” ที่ใช้ชีวิตของประชาชนมาเปลี่ยนแปลงการปกครองต่างหากที่สมควรถูกประณาม

11.กรณีการยึดทรัพย์ “3 ทรราช” ปรากฏว่ามีทรัพย์สินที่ยึด 434 ล้านบาท (https://bit.ly/35y1KYh) ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ 2,874 ล้านบาท (https://bit.ly/2IR8ebb) อย่างไรก็ตาม ทรัพย์สินที่ “3 ทรราช” ถูกยึดจริงมีน้อยกว่าตัวเลขดังกล่าวมาก และส่วนมากเป็นมรดกตกทอดกันมา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทุจริต แต่การ “ใส่ไข่” ในการข่าวทำให้พวกเขากลายเป็นมารไป

12.การสร้างวาทกรรม “3 ทรราช” ก็เหมือนกับการสร้างวาทกรรม “เผาบ้านเผาเมือง” ซึ่งแม้จะไม่จริงที่ว่าเสื้อแดงเผา แต่ก็ได้ผลชะงัดกับการป้ายสีหรือใส่ร้ายศัตรูทางการเมือง กระบวนการใส่ร้ายป้ายสีทางการเมืองเกิดขึ้นมานานตั้งแต่สมัยนายปรีดี พนมยงค์ ที่โดนมาแล้ว จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ถูกกล่าวหาว่า “โกงเลือกตั้ง” พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ก็เคยถูกป้ายสีว่าอยากเป็นประธานาธิบดีคนแรกของไทย (https://bit.ly/2nHuRXY) เป็นต้น ศัตรูในที่มืดของเหล่าทหารที่กุมอำนาจใช้กลเม็ดนี้ในการทำลายฝ่ายตรงข้ามอย่างมีประสิทธิภาพ

13.เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ไม่ใช่การปฏิวัติของประชาชน แต่เป็นเพียงการ “ดราม่า” ใช้ชีวิตผู้คนที่รักชาติ รักประชาธิปไตย เป็นเครื่องมือในการโค่นล้ม “3 ทรราช” เพื่อขึ้นมามีอำนาจแทน จะเห็นได้ว่าหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ผู้นำนักศึกษา ประชาชน ชาวนา กรรมกร ถูกหมายหัวฆ่าตายทีละคนสองคนอย่างโหดเหี้ยม

14.ขั้วอำนาจตรงข้ามกับ “3 ทรราช” นี้ทำให้ชีวิตประชาชนตายไปเหมือนผักปลา อย่างเช่นเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็เกิดจากกระบวนการป้ายสีนักศึกษาอย่างเป็นระบบตลอด 3 ปี (2516-2519) ให้เกิดความเกลียดชังคล้ายการเกลียดชัง “3 ทรราช” ป้ายสีว่าไม่จงรักฯ/หมิ่นฯ แล้วเข้าปราบปราม อย่างคนที่เอาเก้าอี้ฟาดศพนักศึกษาที่ถูกแขวนคอก็เป็นไปได้ว่าคือคนนอกเครื่องแบบที่แอบมาสร้างสถานการณ์ สร้างความเกลียดชังในหมู่ชน แต่ไม่ใช่ประชาชนแท้ๆ

15.เราได้โค่นล้ม “3 ทรราช” ลงแล้ว แต่ระบอบเผด็จการทรราชยังอยู่ ทรราชก็ยังแอบอยู่ และยังมี “ทรราช” อีกหลายตัวค่อยๆทยอยปรากฏ บ้างก็อยู่ในที่ลับ บ้างก็อยู่ในที่แจ้ง ข้อนี้แตกต่างจากกรณีการโค่นล้มทรราชมาร์กอสแห่งฟิลิปปินส์ ทรราชซูฮาร์โตแห่งอินโดนีเซีย ที่หลังจากโค่นล้มแล้วก็ไม่มีทรราชหลงเหลืออยู่อีกเลย

16.ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 วันนั้นพวกเรามุ่งแต่จะต่อต้านทรราชที่บวชเข้ามาในไทย ไม่เคยคิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแม้แต่น้อย แต่พวกเรากลับถูกใส่ร้ายป้ายสี และถูกรุมฆ่าหมู่ ทั้งที่เราชุมนุมอย่างสงบในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยไม่ได้ออกไปก่อความวุ่นวายอะไรเลย นี่คือความโหดร้ายป่าเถื่อนของพวกเผด็จการทรราชที่ฆ่าคนไทยด้วยกันเองเพื่ออำนาจ

17.หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เราก็อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการที่ใช้กลไกประชาธิปไตยครึ่งใบมาจนถึงปี 2531 ก่อนที่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ จะได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้มีประชาธิปไตยในช่วงสั้นๆ แต่เมื่อฝ่ายเผด็จการทรราชเห็นว่าจะคุมรัฐบาลประชาธิปไตยที่มีผลงานโดดเด่นไม่อยู่ ก็ใส่ร้ายป้ายสีว่าโกงกินสารพัด ก่อนที่จะ “กดปุ่ม” ทำรัฐประหารอีก แต่การกลับไปสู่ระบอบเผด็จการอีกครั้งคงไม่ง่ายนักเพราะการต่อสู้ของนักศึกษาประชาชน จึงเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬที่ฝ่ายเผด็จการทรราชต้องยอมให้กลไกอำนาจปืนกลับเข้ากรมกอง ประชาชนจึงได้ประชาธิปไตยกลับมาในช่วงปี 2535-2544

18.รัฐบาลประชาธิปไตยใส่ใจประชาชนด้วยนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนหมู่บ้าน ปราบปรามพวกบ่อนทำลายประชาชนด้วยยาเสพติด ปราบหวยเถื่อน ทำหวยบนดินให้คนมีงานทำ 4 แสนคน จนประชาชนนิยมและศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยที่กินได้ที่ส่งผลต่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน เมื่อนั้นฝ่ายเผด็จการทรราชก็เห็นว่าจะไม่อาจควบคุมรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากประชาชนได้อีกต่อไป จึง “กดปุ่ม” รัฐประหารเข้าให้อีกเมื่อปี 2549 ยัดข้อหาทุจริตโกงกินเช่นเคย แถมป้ายสีด้วยข้อหาไม่จงรักภักดี นอกจากนี้ยังฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญฉบับที่เลือกผู้แทนของประชาชนมาร่างอย่างเป็นประชาธิปไตยที่สุดฉบับหนึ่งอีกด้วย

19.เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ในปี 2551 ตามรัฐธรรมนูญที่บิดเบี้ยวไม่เป็นประชาธิปไตย ปรากฏว่ารัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยก็ชนะการเลือกตั้งเข้ามาอีก จนฝ่ายเผด็จการทรราชทนไม่ไหว จึง “กดปุ่ม” ทำรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557 คราวนี้เพื่อให้มั่นใจว่าจะครองอำนาจได้ยาวนาน จึงสร้างรัฐธรรมนูญที่เป็นเผด็จการหนักขึ้นกว่าเดิม รัฐบาลฝ่ายเผด็จการนอกจากใช้ช่องทางกลไกรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเข้ามากุมอำนาจแล้ว ยังใช้เล่ห์กลสารพัด ทั้งบัตรเขย่ง การใช้องค์กรที่ไม่อิสระ กลยุทธ์ซื้อตัวงูเห่าเพื่อจะได้ครองอำนาจ แต่ก็ได้แค่ “ปริ่มน้ำ” เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่เอาด้วยกับฝ่ายเผด็จการ

20.แม้วันนี้ 43 ปีผ่านมาตั้งแต่ปี 2519 เรายังวนเวียนอยู่กับระบอบเผด็จการทรราชที่ผลิตหัวหน้าคณะรัฐประหารคนแล้วคนเล่า แต่เราก็ได้ตาสว่างแล้วว่าแม้ประชาชนจำนวนมากจะยังถูกพวกเผด็จการทรราชมอมเมาอยู่ แต่ก็ค่อยๆรู้แล้วว่าพวกมันเอาแต่กอบโกยความมั่งคั่งเข้าตัวเองและพวกพ้อง ไม่ได้เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติ ได้แต่โยนเศษเงินแบบบัตรคนจนให้กับประชาชน

21.ประเทศที่เจริญขึ้นทุกวันนี้เพราะประชาชนคนเล็กคนน้อยเสียภาษีทางอ้อมผ่านระบบภาษีมูลค่าเพิ่มและอื่นๆ คนรวยที่หลบเลี่ยงภาษีเก่ง เสียภาษีน้อยกว่าประชาชน คนรวยที่บริจาคนับร้อยล้านก็เพื่อหวังผลตอบแทน และก็เป็นเงินแค่กระผีกริ้นเมื่อเทียบกับทรัพย์สมบัติมหาศาล ไม่ได้ครึ่งของประชาชนคนเล็กคนน้อย ประชาชนมองเห็นแล้วว่า คนที่ทำคุณต่อประชาชนนั้นคือคนที่มีหัวใจรักในประชาธิปไตยที่มักถูกรัฐประหารไปเพราะทำเกินหน้าเกินตาพวกเผด็จการ

22.ต้นไม้เผด็จการที่ผุกร่อน เน่าใน คงอยู่ได้อีกไม่นาน รอให้ใบเหี่ยวเฉาค่อยๆร่วงลงพื้นเอง วีรชน 6 ตุลาคม 2519 ไม่ได้มีโอกาสเห็นชัยชนะของประชาชน ผู้รักประชาธิปไตยหลายคนก็ตายไปมากมายก่อนที่จะเห็นชัยชนะของฝ่ายประชาชน แต่ก็คงอีกไม่นานแล้ว ประชาชนไม่มีอะไรจะสูญเสียมากไปกว่านี้อีกแล้ว พวกเผด็จการทรราชต่างหากที่กำลังตัวสั่นงันงกรอวันสูญเสียอำนาจอธรรมไป

23.ถึงแม้ว่ายังมีสมุนเผด็จการทรราชเกิดขึ้นมาทุกวันเพราะได้รับเศษเงิน ลาภยศสรรเสริญ และปลอกคอ แต่จำนวนประชาชนผู้รักชาติ รักประชาธิปไตยโดยไม่หวังผลตอบแทน ก็เกิดขึ้นทุกวันเช่นกัน เท่านี้ทุกท่านก็คงคิดได้แล้วว่าฝ่ายใดจะชนะ

เผด็จการทรราชมีจุดตายที่ต้องปรนเปรอพวกสมุนให้อยู่ดีมีสุข เสพสุขเหนือความทุกข์ยากของประชาชน นี่คือความผุกร่อนของพวกมัน พวกมันดูเหมือนแข็งแกร่งแต่เน่าใน พวกมันคงอยู่ได้อีกไม่นาน ระบอบเผด็จการทรราชต้องหมดสิ้นไปจากประเทศไทยเช่นเดียวกับประเทศอื่น ประเทศจะได้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

นี่คือสัจธรรม

 

****

1 พฤศจิกายน 2562

แจกฟรี!! ฉบับพิเศษ

“โลกวันนี้” ขึ้นปีที่ 21

คลิกอ่านที่นี่

 

https://www.lokwannee.com/stg/wp-content/uploads/2019/10/lokwannee20.pdf

 

พบกับคอลัมนิสต์รับเชิญ พระพยอม กัลยาโณ, ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข, ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, ผศ.สุรพศ ทวีศักดิ์, ดร.โสภณ พรโชคชัย, “โบว์” ณัฏฐา มหัทธนา, ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ, ทนายวิญญัติ ชาติมนตรี และ ผศ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์


You must be logged in to post a comment Login