วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

“ทางสองแพร่งของศาสนา” โดยผศ.สุรพศ ทวีศักดิ์

On November 1, 2019

ทำไมชาวพุทธจึงมีความเห็นเป็นสองฝ่ายกรณี “พระพุทธรูปอุลตร้าแมน” ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องลบหลู่ดูหมิ่นพุทธะ สมควรที่อำนาจรัฐและองค์กรปกครองสงฆ์จะต้องเข้ามาจัดการ เช่น ให้นักศึกษาที่วาดพระพุทธรูปอุลตร้าแมนมากราบขอขมาเจ้าคณะจังหวัด ซึ่งก็ถามต่อได้ว่า หากนั่นเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นพุทธะ เหตุใดต้องมาขอขมาเจ้าคณะจังหวัด พุทธะมอบหมายให้เจ้าคณะจังหวัดเป็นตัวแทนตั้งแต่เมื่อใด หรือเจ้าคณะจังหวัดอ้างตนเป็นตัวแทนของพุทธะได้อย่างไร บางคนยังเห็นว่าแค่ขอขมายังไม่สาสม ต้องแจ้งความเอาผิดทางกฎหมายด้วย

ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าหากยึดถือตามคำสอนของพุทธะแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลใดที่ต้องลงโทษคนวาดพระพุทธรูปอุลตร้าแมน เพราะพุทธะไม่เคยสอนให้ลงโทษใครก็ตามที่ถูกมองว่าลบหลู่ดูหมิ่นพุทธะ ธรรมะ และสังฆะ ถ้ามีใครพูดจาหรือแสดงออกในทางใดๆต่อพุทธะ ธรรมะ และสังฆะ ผิดจากความเป็นจริง ก็ให้พุทธศาสนิกโต้แย้งด้วยเหตุผลเท่านั้น

นี่คือ “ทางสองแพร่ง” ของศาสนา ทางหนึ่งคือ การใช้อำนาจรัฐเข้ามาปกป้องคุ้มครองและจัดการคนที่ถูกกล่าวหาว่าลบหลู่ดูหมิ่นศาสนา อีกทางหนึ่งคือ การเดินตามคำสอนของพระศาสดา

ปัญหาแบบเดียวกันนี้มีอยู่ในศาสนาหลักๆของโลก เช่น ในคริสต์ศาสนา เยซูสอนให้มองศาสนิกของศาสนาอื่นเป็นเพื่อนบ้าน ให้ “รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง” และให้อภัยแก่ศัตรู “หากเขาตบหน้าก็หันอีกข้างให้เขาตบ” แต่ประวัติศาสตร์ของชาวคริสต์นั้นยากยิ่งที่จะทำตามคำสอนเช่นนี้ได้

ในยุคแรกเริ่ม เยซูมุ่งมั่นที่จะนำพาเหล่าสาวกเดินบนเส้นทางแห่งความรักและการให้อภัย เพราะเชื่อว่านี่คือวิถีแห่งสวรรค์ของพระเจ้า แต่เยซูก็ถูกเล่นงานโดยอำนาจรัฐที่ไม่เคยมีความรักและให้อภัยแก่ผู้ใด โดยเฉพาะใครก็ตามที่ประกาศตนเป็น “พระเมสสิยาห์” ย่อมถือว่าเป็นกบฏที่ต้องถูกตรึงกางเขน และสำหรับบรรดาผู้นำศาสนายิวนิกายฟาริสี ศาสนาของพวกเขาย่อมเป็นศาสนาที่แท้จริงเหนือกว่าศาสนาอื่นๆ ดังนั้น ใครที่ประกาศตนเป็น “บุตรของพระเจ้า” และยังสอนให้มองศาสนาอื่นๆเป็นเพื่อนบ้านที่ควรรักเท่ากับรักตนเอง เขากำลังชักนำออกนอกทางที่ถูกต้อง และนี่คือการดูหมิ่นพระเจ้า

สุดท้ายการประกาศเส้นทางแห่งความรักและการให้อภัยเพื่อสร้างสวรรค์บนโลกก็ถูกโลกที่โหดร้ายลงโทษเยซูด้วยการตรึงกางเขน ยุคต่อมาที่คริสต์ศาสนาเข้าสู่กรุงโรม ชาวคริสต์ถูกปราบปรามอย่างโหดร้ายยิ่งกว่าเยซูเคยถูกกระทำมาก่อนเสียอีก แต่ในที่สุดเมื่อจักรพรรดิคอนสแตนตินตัดสินใจนับถือคริสต์ศาสนาและได้ใช้ “ไม้กางเขน” นำทัพพิชิตกองทัพศัตรูสำเร็จ จึงอุปถัมภ์คริสต์ศาสนาให้รุ่งเรือง ทำให้เกิดศาสนจักรคริสต์ที่ยิ่งใหญ่และเรืองอำนาจครอบคลุมยุโรปร่วมพันปีตลอดยุคกลาง

ถึงตอนนี้บรรดาผู้นำศาสนาที่กุมอำนาจศาสนจักรก็ลืมคำสอนเรื่อง “ความรักและการให้อภัย” ของเยซูเสียสิ้น พวกเขาใช้สารพัดวิธีที่โหดเหี้ยมในการทรมานและประหารชีวิตพวกนอกรีต ขณะเดียวกันพวกเขาก็พร้อมจะใช้สัญลักษณ์ไม้กางเขนบนธงในสงครามศาสนา เช่น สงครามครูเสด และในยุคหลังปฏิรูปนิกายโปรเตสแตนต์ ชาวคริสต์นิกายต่างๆก็หันกลับมารบรากันเองอีกยาวนาน จนเมื่อเกิดแนวคิดโลกวิสัย (secularism) และการปฏิวัติประชาธิปไตยล้มระบบ “อำนาจเทวสิทธิ์” ของกษัตริย์และสันตะปาปาลงไปได้ จึงเกิดระบอบประชาธิปไตยและการแยกศาสนาจากรัฐ การกดขี่และความรุนแรงในนามศาสนาแบบยุคกลางจึงจบลง

ชาวพุทธบ้านเรามักมองอย่างเข้าข้างตัวเองว่า ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาไม่ได้กดขี่รุนแรงเหมือนประวัติศาสตร์คริสต์ศาสนาและอิสลาม แต่นี่เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในเอเชียอาคเนย์และสยาม/ไทยก็คือประวัติศาสตร์ที่รัฐกับศาสนาไม่ได้แยกจากกันเช่นเดียวกับยุโรป ต่างกันตรงที่ประวัติศาสตร์ยุโรปมีการถกเถียงและต่อสู้กันมาตลอดยุคกลางว่า อำนาจในนามพระเจ้าของกษัตริย์กับสันตะปาปาใครควรเหนือกว่าใคร

บางช่วงเวลาที่กษัตริย์เรืองอำนาจ ศาสนจักรก็อยู่ใต้บงการของรัฐ แต่บางช่วงเวลาที่ศาสนจักรเรืองอำนาจเหนือกว่า ศาสนจักรก็บงการรัฐ บางครั้งก็ทำสงครามกันระหว่างศาสนจักรกับรัฐต่างๆ แต่หลังปฏิรูปโปรเตสแตนต์ศาสนาถูกควบคุมโดยรัฐ และเป็นเครื่องมือทางการเมืองของชนชั้นนำชัดเจนขึ้น

ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาไม่เคยสร้างศาสนจักรเรืองอำนาจเช่นนั้น เนื่องจากวินัยสงฆ์และประเพณีนักบวชไม่เอื้อให้สังคมสงฆ์สถาปนาอำนาจอย่างเป็นเอกภาพขึ้นมาได้แบบคริสต์ศาสนาและอิสลาม แต่อำนาจตามความเชื่อทางศาสนาถูกยกมาอยู่ที่ชนชั้นปกครองอย่างเบ็ดเสร็จ เพราะพุทธศาสนาสถาปนาชนชั้นปกครองเป็นสมมุติเทพ พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัว

แต่ชนชั้นปกครองก็ไม่ได้อาศัยความชอบธรรมจากความเชื่อของพุทธศาสนาเท่านั้น เนื่องจากคำสอนพุทธศาสนาไม่ระบุว่าผู้ปกครองต้องใช้อำนาจเด็ดขาด ในจักกวัตติสูตรระบุว่าผู้ปกครอง “ไม่ควรใช้ศัสตราวุธและอาชญา” หรือไม่ควรใช้อำนาจเด็ดขาดและความรุนแรงในการปกครอง หากควรใช้คุณธรรมปกครองให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ใต้ปกครอง ชนชั้นปกครองจึงต้องนำคติพราหมณ์ในมนูธรรมศาสตร์ที่ยืนยันการใช้อำนาจเด็ดขาด (despotism) มาใช้ในการปกครองด้วย

ดังนั้น อำนาจของชนชั้นปกครองจึงเป็นระบบอำนาจผสมระหว่างปรัชญาการเมืองแบบพุทธกับพราหมณ์ ปรัชญาการเมืองแบบพุทธสถาปนาภาพลักษณ์ด้านคุณธรรมและผู้มีบุญญาธิการ ปรัชญาการเมืองแบบพราหมณ์สถาปนาอำนาจเด็ดขาดและศักดิ์สิทธิ์แตะไม่ได้ของชนชั้นปกครอง

ผู้ปกครองในรัฐพุทธศาสนา (ผสมพราหมณ์) ตลอดระยะเวลาราว 800 ปี จึงมีอำนาจเด็ดขาดปกครองทั้งอาณาจักรและพุทธจักร ถามว่าในรัฐพุทธศาสนามีการใช้ความรุนแรงไหม ก็มีมาตลอด โดยเฉพาะในความขัดแย้งทางการเมืองชิงราชสมบัติของชนชั้นนำที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ พระสงฆ์ก็เลือกข้างทางการเมืองมาตลอด ทั้งเลือกข้างผู้ชนะและผู้แพ้ บางครั้งพระสงฆ์ก็นำกำลังบุกวังทำรัฐประหารเสียเอง (เช่น กรณีพระเจ้าทรงธรรม) บางครั้งก็ตั้งก๊กก่อกบฏก็มี ยังไม่นับว่ารัฐพุทธศาสนาด้วยกันก็รบพุ่งกันตลอดเวลาไม่ต่างจากประวัติศาสตร์ยุโรปก่อนยุคสมัยใหม่เลย อาจต่างเพียงรายละเอียดของอุดมการณ์ทางการเมืองและแสนยานุภาพเท่านั้น

แต่ไม่ว่ารายละเอียดของอุดมการณ์ทางการเมืองแบบศาสนาจะต่างกัน มันก็เหมือนกันอยู่อย่างคือ เมื่อศาสนากลายมาเป็นอุดมการณ์ทางการเมือง เช่น ให้ “อำนาจเทวสิทธิ์” หรือ “อำนาจธรรมราชา” แก่กษัตริย์ อำนาจเช่นนั้นก็คืออำนาจทางชนชั้นที่ครอบงำกดขี่เฉกเช่นกัน เพราะศาสนาที่ไม่ได้แยกจากรัฐได้กลายเป็นศาสนาที่สถาปนาอำนาจของผู้ปกครอง วัฒนธรรมทางชนชั้นศักดินา เจ้าขุนมูลนาย ไพร่ ทาสขึ้นมา

ดังนั้น ยุคกลางที่ศาสนาคริสต์รุ่งเรือง ความรุ่งเรืองนั้นจึงสะท้อนภาพด้านตรงข้ามกับวิถีแห่งความรักและการให้อภัยตามคำสอนของเยซู เช่นเดียวกันช่วงเวลาที่พุทธศาสนารุ่งเรืองในยุครัฐพุทธศาสนาตั้งแต่สุโขทัยจนถึงช่วงก่อนปฏิวัติสยาม 2475 วิถีของพุทธศาสนาก็เป็นวิถีของการสนับสนุนอำนาจเด็ดขาดของกษัตริย์และระบบชนชั้นศักดินาเสมอมา ซึ่งตรงข้ามกับคำสอนที่ว่าพุทธะปฏิเสธระบบชนชั้นวรรณะโดยสิ้นเชิง

แต่น่าเสียดายที่หลัง 2475 คณะราษฎรไม่ได้แยกศาสนาจากรัฐ นี่เป็นเพราะว่าสังคมไทยไม่เคยเกิดแนวคิดโลกวิสัยมาตั้งคำถามต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาว่า มันก่อปัญหาการครอบงำทางความคิด อุดมการณ์ในหมู่ประชาชนอย่างลึกซึ้งเพียงใด ฝ่ายซ้ายบ้านเรา ยกเว้น “จิตร ภูมิศักดิ์” แล้ว ก็แทบไม่มีใครวิพากษ์ประเด็นศาสนากับรัฐอย่างจริงจัง

เหมือนไม่ตระหนักกันว่า การปกครองนั้นไม่ใช่ตัดสินจากการใช้อำนาจรูปธรรม เช่น กองทัพ กฎหมาย ศาล ระบบราชการ เป็นต้นเท่านั้น ยังอาศัยอำนาจครอบงำทางความคิด ความเชื่อ และอุดมการณ์อย่างมากด้วย พุทธศาสนาไทยถูกใช้ครอบงำทางความคิดและอุดมการณ์สนับสนุนระบบศักดินามายาวนาน จนยากที่ความคิดเรื่องเสรีภาพและประชาธิปไตยจะหยั่งรากและงอกงามขึ้นมาได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง

กรณีพระพุทธรูปอุลตร้าแมนคือภาพสะท้อนชัดเจนว่า แม้แต่เสรีภาพทางศาสนาก็ยังมีไม่ได้อย่างแท้จริง และเมื่อพิจารณาความเป็นจริงที่ว่า ระบบปกครองสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้ “พระราชอำนาจ” ตามโบราณราชประเพณีเท่านั้น ก็ยิ่งชัดเจนว่าคติรัฐพุทธศาสนาแบบโบราณยังถูกนำมาใช้แม้ในยุคศตวรรษที่ 21 ทำให้พระสงฆ์ไม่มีอิสรภาพปกครองกันเอง และพุทธศาสนาโดยรวมก็ถูกใช้สนับสนุนอำนาจที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยอยู่เสมอไป

กล่าวโดยสรุป ทางแพร่งที่เป็นการเดินตามคำสอนของพุทธะอย่างแท้จริงไปกันได้กับประชาธิปไตย หรือไม่ขัดกับเสรีภาพและประชาธิปไตย แต่ทางแพร่งที่พุทธศาสนาผูกติดกับอำนาจรัฐเป็นทางแพร่งที่ทำให้พุทธศาสนาเป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพและประชาธิปไตย ชาวพุทธส่วนใหญ่จะเลือกทางไหน นี่เป็นปัญหาท้าทายในยุคปัจจุบัน

 

 

***

1 พฤศจิกายน 2562

แจกฟรี!! ฉบับพิเศษ

“โลกวันนี้” ขึ้นปีที่ 21

คลิกอ่านที่นี่

 

https://www.lokwannee.com/stg/wp-content/uploads/2019/10/lokwannee20.pdf

 

พบกับคอลัมนิสต์รับเชิญ พระพยอม กัลยาโณ, ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข, ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, ผศ.สุรพศ ทวีศักดิ์, ดร.โสภณ พรโชคชัย, “โบว์” ณัฏฐา มหัทธนา, ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ, ทนายวิญญัติ ชาติมนตรี และ ผศ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์


You must be logged in to post a comment Login