วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

“เมืองไทยหลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562” โดย ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

On November 1, 2019

ในที่สุดการเลือกตั้งทั่วไป 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 ก็ผ่านไปพร้อมกับความน่าสนใจหลายประการ

ผมเลยอยากทบทวนความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศนี้ในบางส่วนเพื่อให้เราได้เดินไปด้วยกันต่อครับ

ประการแรก การเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในความหมายที่รับรู้กันทั่วไปในระดับสากล ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าประเทศของเรายังเป็นเผด็จการ แต่ประเทศไทยหลังการเลือกตั้งไม่ใช่เผด็จการเต็มรูป และไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มรูป

แต่เป็นระบอบการปกครองแบบผสมที่เรียกว่าระบอบพันทาง (hybrid regime) ซึ่งในการพูดถึงระบอบพันทางบ้างก็เรียกว่าระบอบผสม (mixed regime)

การเรียกว่าระบอบพันทางหรือไฮบริดนั้นมีความหมายสำคัญอยู่ 2 ความหมาย

1.เป็นระบอบที่มีการผสมกันขององค์ประกอบทั้งประชาธิปไตยและเผด็จการ แต่ความสำคัญไม่ใช่การอธิบายว่าแค่มีของทั้ง 2 อย่างอยู่ด้วยกัน แต่ต้องอธิบายว่าองค์ประกอบของทั้ง 2 ระบอบนั้นอยู่ด้วยกันได้อย่างไร เหมือนที่เราอธิบายว่าระบบไฮบริดนั้นมี 2 องค์ประกอบ แต่สิ่งสำคัญคือทั้ง 2 ระบบทำงานร่วมกันอย่างไร

2.นอกจากการทำงานของระบอบพันทางจะเป็นเรื่องของการอธิบายองค์ประกอบและการทำงานร่วมกันแล้ว สิ่งที่สำคัญต่อมาก็คือ ที่มาที่ไปของระบอบพันทางนั้นคืออะไร? ด้วยว่าในการศึกษาในระดับหลักวิชานั้น ระบอบพันทางดูเหมือนว่าจะมีลักษณะที่คล้ายกับความเป็นจริงมากกว่า โดยที่ระบอบพันทางอาจเกิดได้ทั้งจากการแทรกแซงจากภายนอกประชาธิปไตย เช่น การทำรัฐประหาร แล้วก็พยายามที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบโดยนำเอาองค์ประกอบบางอย่างของประชาธิปไตยเข้ามาผสม เช่น การเปิดรับความคิดเห็น การตั้งตัวแทนภาคประชาชนบางกลุ่ม การสร้างพันธมิตรร่วมกับสื่อมวลชนบางกลุ่ม หรือกับนักการเมืองบางกลุ่ม

แต่ในอีกด้านหนึ่งระบอบพันทางอาจจะมาจากการกลายสภาพของประชาธิปไตยเอง อาทิ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งพยายามลดทอนบทบาทการตรวจสอบของฝ่ายค้านและประชาชน หรือไม่ฟังเสียงข้างน้อย

โดยสรุปแล้ว ระบอบพันทางล้วนแล้วแต่ต้องการอยู่ในอำนาจให้นานขึ้น แล้วก็ต้องพยายามที่จะสร้างความชอบธรรมของตนเองด้วยการหยิบยืมองค์ประกอบบางประการของอีกระบอบหนึ่งมาใช้

การทำความเข้าใจระบอบการปกครองแบบพันทางนี้ทำให้เราเข้าใจประเด็นเรื่องการเปลี่ยนผ่านและการเปลี่ยนไม่ผ่านมากขึ้น เพราะไม่ใช่การตัดสินง่ายๆว่าตกลงประเทศไทยเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตย แต่เข้าใจองค์ประกอบ การทำงาน และความมุ่งหมายของระบอบพันทางแบบประเทศไทย

โดยสรุปประเทศไทยจึงเป็นระบอบพันทางที่ใช้การเลือกตั้งเป็นกลไกสำคัญในการพยายามรักษาอำนาจในนามของการเปลี่ยนผ่าน แต่การเปลี่ยนผ่านเป็นเพียงข้ออ้างในการรักษาอำนาจต่อ เพราะถ้าเป็นการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงเราคงไม่ต้องเจอกับสภาพของการสร้างกฎกติกาจำนวนมากที่ทำให้การเลือกตั้งดูจะมีบทบาทและความสำคัญน้อยลง ด้วยว่าการตั้งนายกรัฐมนตรีนั้นจำต้องพึ่งพาคะแนนเสียงจากสภาแต่งตั้งที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ซึ่งในท้ายที่สุดสภาที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารร่วมกับพรรคการเมืองจำนวนหนึ่งที่นำโดยพรรคการเมืองที่ตั้งใหม่โดยสมาชิกของรัฐบาลที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารก็มีมติแต่งตั้งหัวหน้ารัฐประหารและนายกรัฐมนตรีที่แต่งตั้งโดยสภานิติบัญญัติที่เลือกโดยคณะรัฐประหาร และเป็นแคนดิเดตคนเดียวของพรรคที่สัมพันธ์แนบชิดกับคณะรัฐประหาร

ประการที่สอง ในการพิจารณาเรื่องการเลือกตั้งว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้ “เสรีและเป็นธรรม” หรือไม่ อาจจะเป็นการพิจารณาที่ไม่ทรงพลังหรือมีความหมายน้อยลงกว่าการรณรงค์การเลือกตั้งแบบนี้เมื่อหลายปีก่อน ทั้งนี้เพราะกรอบการพิจารณาเรื่องความเสรีและเป็นธรรมของการเลือกตั้งนั้นอาจจะไม่สามารถให้คำตอบที่แท้จริงในการประเมินเรื่องการเลือกตั้งร่วมสมัยได้ง่ายนัก  ด้วยว่าในอุตสาหกรรมประเมินการเลือกตั้งนั้น สุดท้ายเมื่อเจอหลักฐานถึงความไม่เสรีและไม่เป็นธรรมของการเลือกตั้ง เหล่าผู้ประเมินการเลือกตั้งก็จะพบว่าพวกเขาต้องเจอสถานการณ์ของการประเมินการเลือกตั้งโดยมีเส้นแบ่งบางๆที่จะต้องฟันธงว่าพวกเขาจะประณามหรือจะปล่อยผ่านไปอยู่ดี เช่น เมื่อเขาเจอสถานการณ์ว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งในระดับหนึ่งพวกเขาจะประเมินให้ตกหรือให้ผ่าน ด้วยว่าการเลือกตั้งนั้นย่อมไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องในอุดมคติอยู่ดี (ในรอบนี้ผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งนั้นไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมอย่างเป็นทางการ ยกเว้นบางองค์กรที่มีความสัมพันธ์ยาวนานกับองค์กรการเลือกตั้ง)

ความสำคัญในการพิจารณาการเลือกตั้งจึงต้องทำความเข้าใจว่า แม้จะมีการทุจริต หรือแม้กระทั่งเพียงความไม่ปกติ หรือความน่าสงสัยในเรื่องความไม่ชอบมาพากลในการเลือกตั้ง แต่สิ่งที่เราเห็นในรอบนี้ก็คือ ผลการเลือกตั้งไม่ได้มีลักษณะที่มีเสียงข้างมากเด็ดขาด และฝ่ายที่ถูกจัดการทางการเมืองก็ยังคงคะแนนนิยมในพื้นที่ได้มาก หากไม่นับการยุบพรรคไทยรักษาชาติ ฝ่ายเพื่อไทยก็อาจจะมีคะแนนพรรคพันธมิตรที่ใกล้ชิดบวกเข้ามาอีก

ยิ่งไปกว่านั้น การหยุดเวลาแห่งพัฒนาการของการเมืองไทยเอาไว้ด้วยวิธีคิดเดิมๆที่ว่ ประชาธิปไตยนั้นหยุดได้ด้วยวิธีนอกประชาธิปไตย โดยเชื่อว่ายังไม่พร้อมและรอได้ ละเลยคนจำนวนมากที่ถูกพรากอำนาจการเลือกตั้งในรอบแรกของเขายาวนานเกือบ 8 ปีนับจากการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 และการทำรัฐประหารนั้นไม่ได้เป็นเพียงการหยุดยั้งอำนาจประชาชนจากการเลือกตั้งในระยะสั้นๆเหมือนการทำรัฐประหารในอดีตซึ่งมักจะหยุดยั้งได้สักปีกว่าๆ แต่มาในครั้งนี้การทำรัฐประหารนั้นเกิดจากการที่พลังนอกประชาธิปไตยระลอกแรกได้หยุดยั้งการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นไปเสียก่อนด้วยเงื่อนไขของการเลือกตั้งที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ตามมาด้วยการทำรัฐประหารซ้ำ และการยื้ออำนาจไว้อย่างยาวนาน

ผลพวงของการยื้ออำนาจอย่างยาวนานทำให้เกิดกระแสความหวังใหม่ๆให้กับพรรคอนาคตใหม่ที่กำเนิดมาจากระบอบกติกาที่ไม่เป็นคุณกับพรรคเพื่อไทย และส่งเสริมการเกิดพรรคใหม่ๆ เช่น พรรคพลังประชารัฐที่มีความใกล้ชิดกับระบอบอำนาจเดิม การเลือกตั้งครั้งนี้จึงไม่ใช่การเลือกตั้งที่ผู้ชนะคือผู้ที่กำหนดกติกาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะปัจจัยที่คาดไม่ถึงมีอยู่มากมาย

ในการพิจารณาการเลือกตั้งในรอบนี้ ถ้าเราไม่ยึดติดกับการประเมินความซับซ้อนด้วยหลักการที่ต้องฟันธงแบบว่าตกลงเรารับความไม่เสรีและไม่เป็นธรรมได้แค่ไหน เราจะพบว่าในท้ายที่สุดฝ่ายระบอบอำนาจเดิมนั้นไม่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

พรรคพลังประชารัฐแม้จะอ้างว่าได้คะแนนเสียงมากที่สุด แต่ได้เก้าอี้น้อยกว่าเพื่อไทย ทั้งที่พรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัครน้อยกว่า ส่วนหนึ่งจึงต้องถามว่าการจัดเขตเลือกตั้งใหม่นั้นเป็นคุณกับฝ่ายผู้มีอำนาจมากแค่ไหน นอกจากนั้นแล้วพรรคอนาคตใหม่ก็ได้คะแนนมาเป็นที่สาม ทั้งที่ได้ที่นั่งรายเขตน้อยกว่าพรรคพลังประชารัฐ แต่กลับได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมากเป็นอันดับหนึ่ง

กล่าวอีกอย่างก็คือ ลำพังระบอบการเมืองการปกครองของคณะรัฐประหาร พรรคพลังประชารัฐและผู้ที่สนับสนุนระบอบรัฐประหารอย่างพรรคเล็กๆไม่กี่พรรคที่แสดงออกอย่างออกนอกหน้านั้นไม่ประสบความสำเร็จในการได้รับชัยชนะในรอบนี้จากการเลือกตั้ง เพราะคะแนนเสียงไม่เพียงพอในการจัดตั้งรัฐบาล พวกเขาจึงสร้างชัยชนะด้วยเงื่อนไขสำคัญ 2 ประการคือ การเปิดเผยสูตรที่นับพรรคเล็กที่คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ให้กลายเป็นผู้มีสิทธิถูกนับเป็นพรรคที่มีที่นั่งจากบัญชีรายชื่อ และเท่านั้นก็ยังไม่พอ พวกเขายังจะต้องพึ่งพาการเจรจากับพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยเพิ่มเข้าไปอีกถึงจะได้ชัยชนะที่ปริ่มน้ำในการจัดตั้งรัฐบาล และธำรงรักษาการเปลี่ยนผ่านแบบกลายพันธุ์เอาไว้ได้

ในประการที่สามซึ่งเป็นประการสุดท้ายในข้อสังเกตการเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง จะพบว่าความขัดแย้งในสังคมไทยนั้นไม่ได้ลดลงไปจาก 5 ปีก่อนที่การทำรัฐประหารอ้างว่าพวกเขาเข้ามาแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย โดยเฉพาะความขัดแย้งแบบเหลืองแดง

การเมืองไทยภายหลังการทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 นำไปสู่ความขัดแย้งใหม่ที่ซ้อนทับและเชื่อมโยงอย่างพิสดารกับความขัดแย้งเดิม โดยเกิดความขัดแย้งในมิติใหม่ ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายสนับสนุนรัฐประหารและฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร เพราะศูนย์กลางของความขัดแย้งนั้นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาสู่ตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และระบอบรัฐประหาร แต่ก็เกาะเกี่ยวสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นกับความขัดแย้งในมิติเดิม

เมื่อเกิดกระแสการเลือกตั้งและการเปิดโอกาสให้ความเคลื่อนไหวทางการเมืองเกิดขึ้นได้ ความขัดแย้งในมิติที่สามก็เกิดขึ้นคือ ความขัดแย้งระหว่างพรรคอนาคตใหม่กับฝ่ายต่อต้านพรรคอนาคตใหม่ที่เปิดตัวทั้งที่แจ้งและอยู่ในที่ลับ (รวมทั้งอินเทอร์เน็ต)

การเมืองหลังการเลือกตั้งจึงเผชิญหน้ากับความขัดแย้งอย่างน้อย 3 มิติ (และอาจจะมีมิติที่ 4 และ 5 และ 6 เพิ่มขึ้นเข้าไปอีก) แต่ประเด็นที่ท้าทายก็คือการแสวงหาความเข้าใจถึงความซับซ้อนของมิติทางการเมืองที่ซ้อนทับกันและเกาะเกี่ยวกันนั่นแหละครับ

 

 

***

1 พฤศจิกายน 2562

แจกฟรี!! ฉบับพิเศษ

“โลกวันนี้” ขึ้นปีที่ 21

คลิกอ่านที่นี่

 

https://www.lokwannee.com/stg/wp-content/uploads/2019/10/lokwannee20.pdf

 

พบกับคอลัมนิสต์รับเชิญ พระพยอม กัลยาโณ, ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข, ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, ผศ.สุรพศ ทวีศักดิ์, ดร.โสภณ พรโชคชัย, “โบว์” ณัฏฐา มหัทธนา, ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ, ทนายวิญญัติ ชาติมนตรี และ ผศ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์


You must be logged in to post a comment Login