วันอังคารที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2567

มูลนิธิเอสซีจีผนึกกำลังเครือข่ายช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบอุทกภัย “รวมพลังคืนสุขชาวอีสาน”

On October 16, 2019

“ตอนที่เห็นสภาพโรงเรียนครั้งแรกหลังน้ำเหลือระดับเอวรู้สึกใจหายมากว่าทำไมโรงเรียนดูพังขนาดนี้ มีแต่โคลนเต็มไปหมด มีงู มีตะขาบ คิดไม่ออกเลยว่าจะฟื้นฟูอย่างไรดี เพราะโรงเรียนมีแต่เด็กอนุบาล ส่วนครูและบุคลากรก็เป็นผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ ถ้าไม่ได้ความช่วยเหลือจากมูลนิธิเอสซีจี พนักงานเอสซีจี และพี่ๆจากกรมทหารพรานที่ 23 พวกเราคงแย่แน่ ไม่รู้จะได้เปิดเรียนเมื่อไร” คำบอกเล่าทั้งน้ำตาของครูหนึ่ง – น.ส.เสาวนีย์ พรมสุข คุณครูโรงเรียนวัดคูเดื่อวิทยาคม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

สืบเนื่องจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “โพดุล” ที่เคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ และอิทธิพลพายุโซนร้อน “คาจิกิ” ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ และวาตภัยในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงวันที่ 29 สิงหาคม-1 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา มูลนิธิเอสซีจีจึงร่วมกับเอสซีจี ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน ให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนกับพี่น้องผู้ประสบภัยในจังหวัดอุบลราชธานี ขอนแก่น ยโสธร ร้อยเอ็ด พิษณุโลก และแม่ฮ่องสอน โดยแบ่งการช่วยเหลือเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน ระยะฟื้นฟู และระยะพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยในระยะเร่งด่วนนั้นมูลนิธิเอสซีจีได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายมอบสิ่งของที่จำเป็นให้แก่พี่น้องผู้ประสบภัย ประกอบด้วยถุงยังชีพจำนวน 1,150 ถุง สุขากระดาษจำนวน 5,500 ชุด มุ้งจำนวน 226 หลัง และยากันยุงจำนวน 200 ขวด

1-3

นายเชาวลิต เอกบุตร กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า สำหรับการช่วยเหลือระยะเร่งด่วนนี้มูลนิธิไม่ได้ทำเพียงลำพัง แต่ได้ร่วมมือกับพันธมิตรเครือข่ายจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เครือข่ายอาสาดุสิต ตลอดจนพนักงานจิตอาสาเอสซีจีในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ธุรกิจแพคเกจจิ้ง และธุรกิจเคมิคอลส์ ทั้งนี้ เราเล็งเห็นว่าสุขากระดาษน่าจะช่วยให้พี่น้องผู้ประสบภัยได้ใช้ประโยชน์ในภาวการณ์ที่คับขัน เนื่องจากเป็นกล่องกระดาษลูกฟูก น้ำหนักเบา แต่รับน้ำหนักได้ดีถึง 100 กิโลกรัม ประกอบง่ายภายใน 10 วินาที สามารถใช้ร่วมกับถุงดำเพื่อขับถ่ายได้ทั้งหนักและเบา นอกจากนี้เรายังได้ให้การช่วยเหลือระยะฟื้นฟูหลังน้ำลดในพื้นที่อุบลราชธานีและร้อยเอ็ดเพื่อส่งคืนพื้นที่ให้พร้อมกับการดำเนินกิจกรรมต่างๆต่อไป ไม่ว่าจะเป็นพนักงานจิตอาสาจากปูนซิเมนต์ไทยแก่งคอยที่ลงพื้นที่ทำความสะอาดและซ่อมแซมระบบไฟฟ้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองกินเพล อ.วารินชำราบ รวมถึงทำความสะอาดและซ่อมแซมระบบไฟฟ้าให้แก่โรงเรียนทั้งในตัว อ.เมือง และ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

1-4

ด้านครูหนึ่ง – น.ส.เสาวนีย์ พรมสุข คุณครูอนุบาลโรงเรียนวัดคูเดื่อวิทยาคม ต.แจระแม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เล่าว่า “ตอนที่ได้รับการติดต่อมาว่าทางมูลนิธิเอสซีจีและทีมจิตอาสาจากปูนซิเมนต์ไทยแก่งคอยจะลงมาช่วย ตอนนั้นดีใจมากๆ เพราะครูสอนโรงเรียนนี้มา 12-13 ปีแล้ว โรงเรียนเลยเป็นเหมือนบ้านหลังที่สอง เราเป็นห่วงโรงเรียนเพราะปิดมาตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน และห่วงเด็กๆว่าเมื่อไรจะได้กลับไปเรียน พอได้งบประมาณฟื้นฟูจากมูลนิธิเอสซีจี และมีทีมจิตอาสาจากปูนซิเมนต์ไทยแก่งคอยมาช่วยทำความสะอาด ซ่อมแซมระบบไฟ ทาสี ร่วมกับกรมทหารพรานที่ 23 ที่มาช่วยล้างโคลน ขัดพื้น ฆ่าเชื้อ ทาสี ทำให้ตอนนี้เราเหมือนได้โรงเรียนใหม่เลย พนักงานจิตอาสาเอสซีจียังให้พวกเราช่วยออกแบบและตกแต่งด้วย ทำให้เรามีอาคารเรียนสีฟ้า ด้านในสีชมพู กำแพงสีม่วง ตามความต้องการของพวกเรา พี่ๆพนักงานและทหารใจดีมากๆ ขอบคุณมากจริงๆที่ไม่ทิ้งกันค่ะ”

3-2

นอกจากนี้ที่โรงเรียนวัดหนองกินเพล อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี มูลนิธิเอสซีจีได้ร่วมกับเพื่อนพนักงานเอสซีจีภาคอีสานในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างร่วมทำความสะอาดโรงเรียน ทาสี และปรับปรุงสนามเด็กเล่นเพื่อน้องๆ รวมทั้งคณาจารย์และนักศึกษาจากคณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี กรรมาธิการสถาปนิกอีสานมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ตลอดจนร้านผู้แทนจำหน่ายเอสซีจี จ.อุบลราชธานี ยังร่วมสนับสนุนการปรับปรุงและซ่อมแซมอาคารเรียนอีกด้วย

3-3

นายภาณุ ภิญโญทรัพย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เล่าด้วยความประทับใจที่ได้ร่วมให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้ว่า “ผมคิดว่าถ้าบ้านผมถูกน้ำท่วมผมจะรู้สึกอย่างไร ผมคิดว่าน้องๆก็คงรู้สึกใจหายไม่ต่างกันที่โรงเรียนอยู่ในสภาพเสียหาย ผมเลยมาช่วยทาสีโรงเรียนและห้องเรียน นอกจากนี้การที่เราเรียนมาทางด้านนี้ก็ทำให้เราได้ใช้สิ่งที่เราเรียน มาลงพื้นที่จริงและช่วยฟื้นฟูโรงเรียนให้กลับมามีสภาพที่น่าอยู่ น่าเรียนเหมือนเดิม เด็กๆก็คงจะดีใจครับ”

3-13

ไม่เพียงเท่านี้ มูลนิธิเอสซีจียังได้รับความร่วมมือจากนายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.อุบลราชธานี รวมถึงพนักงานเอสซีจีจิตอาสาจากธุรกิจแพคเกจจิ้ง โดยทีม S.E.R.T. (SCG Emergency Response Team) เข้าทำความสะอาดบ้าน วัด โรงเรียน ในพื้นที่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เพื่อให้สามารถกลับมาใช้งานได้โดยเร็ว

4-2

สำหรับระยะยั่งยืนนั้น มูลนิธิเอสซีจีตระหนักดีว่าการเยียวยาพื้นที่และความรู้สึกของผู้ประสบภัยในพื้นที่ไม่อาจทำได้เพียงชั่วข้ามคืน มูลนิธิจึงร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมแสวงหาแนวทางการช่วยเหลืออย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม

4-13

“มูลนิธิจะยึดหลักการช่วยเหลือบนพื้นฐานของความต้องการที่แท้จริงของชุมชนเป็นหลัก เช่น การฟื้นฟูอาชีพของเกษตรกร ได้แก่ การตั้งกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติ เรือกสวนไร่นาเสียหาย หรือเครื่องมือที่ใช้ในการเกษตรชำรุดเสียหาย เพราะมูลนิธิเชื่อว่าการช่วยเหลือที่ยั่งยืนคือการช่วยให้พี่น้องที่ประสบภัยสามารถกลับมาทำมาหากินประกอบอาชีพได้ดังเดิม” นายเชาวลิตกล่าวปิดท้าย


You must be logged in to post a comment Login