วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567

สสว.ประกาศความสำเร็จ”โครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต ปี 2562″

On September 23, 2019

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สสว. ได้ดำเนินการสนับสนุนผู้ประกอบการ SME โดยแบ่งกลุ่มผู้ประกอบการเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มผู้ประกอบการใหม่ (SME Startup) กลุ่มผู้ประกอบการระยะพลิกฟื้นกิจการ (Turn around) และกลุ่มผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ (SME Strong/Regular) ซึ่งจากฐานข้อมูลพบว่ากลุ่มผู้ประกอบการ Strong/Regular ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมีกว่า 600,000 ราย ในจำนวนนี้มีถึง 400,000 ราย ที่มีสถานะทางบัญชีปกติ ดังนั้น สสว. จึงเน้นการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการในกลุ่ม Strong/Regular และได้เริ่มดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Regular Level) มาตั้งแต่ปี 2559

“จากการเข้าไปดำเนินโครงการที่ผ่านมาทำให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์ โดยได้รับความรู้จากการเข้าร่วมอบรมเฉพาะด้านจำนวน 30,000 ราย ได้รับการพัฒนาเชิงลึกเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันด้านต่างๆจำนวน 10,000 กิจการ มีการต่อยอดให้ผู้ประกอบการได้รับใบรับรองมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เช่น ISO, GMP, อย. อีกจำนวน 200 กิจการ จากการพัฒนาดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างรายได้ และสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุน โดยตั้งแต่เริ่มโครงการปี 2559-2561 โครงการนี้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมาแล้วกว่า 4,000 ล้านบาท”

2

นายสุวรรณชัยกล่าวต่อว่า ในปี 2562 สสว. ได้ดำเนินโครงการสานต่อ โดยมุ่งให้ผู้ประกอบการ SME ได้รับความรู้ในการดำเนินธุรกิจจากการเข้าร่วมโครงการไม่ต่ำกว่า 9,550 ราย และผู้ประกอบการจะได้รับการพัฒนาเชิงลึกไม่ต่ำกว่า 2,850 กิจการ เน้นการสนับสนุนการเข้าถึงระบบมาตรฐานทั้งการเตรียมความพร้อมด้านมาตรฐานและต่อยอด เพื่อให้ได้รับใบรับรองมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสากลมากขึ้น

“ไม่เพียงเท่านั้น ยังสนับสนุนกิจกรรมตลาดต่างประเทศเพื่อยกระดับให้ผู้ประกอบการกลุ่มที่มีศักยภาพได้ก้าวไกลไปสู่สากล มีการพัฒนาผู้ประกอบการที่เป็นผู้ให้บริการทางบัญชี (Service Provider) ที่ต้องการพัฒนาศักยภาพในการให้บริการที่เป็นมาตรฐาน รวมทั้งเริ่มนำร่องโดยพัฒนาผู้ประกอบการในกลุ่มบริการเพื่อสุขภาพแบบเจาะลึก โดยการศึกษาข้อมูลในทุกมิติ เน้นการพัฒนาเชิงลึกเฉพาะด้าน โดยเฉพาะต่อยอดด้านการตลาด ซึ่งแนวทางการพัฒนาดังกล่าวจะนำมาเป็นต้นแบบของการพัฒนาผู้ประกอบการในปีต่อๆไป และคาดว่าจะช่วยยกระดับการพัฒนาผู้ประกอบการในโครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Regular Level) ให้ก้าวไปสู่การแข่งขันได้ในระดับสากล และเหมาะสมกับสภาวการณ์ของโลกได้อย่างแท้จริง”

สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลักในการดำเนินการพัฒนาคือผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญของประเทศ อาทิ กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม กลุ่มสปาและบริการเพื่อสุขภาพ กลุ่มแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ กลุ่มอาหารและเกษตรแปรรูป กลุ่มธุรกิจต่อเนื่องจากโลหะ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มที่ต้องการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ

3

นายสุวรรณชัยกล่าวถึงการพัฒนาว่า สสว. ได้ให้ความรู้ในด้านการดำเนินธุรกิจ และอบรมเชิงปฏิบัติการในด้านการทำธุรกิจ การทำบัญชีที่ถูกต้อง ภาษีและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ให้คำปรึกษาเชิงลึกเพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและบริการ การจัดการบริหารจัดการ การตลาด และเทคโนโลยี หรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าหรือบริการ หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือสนับสนุนกิจกรรมทดสอบตลาดทั้งในและต่างประเทศ สนับสนุนการตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเพื่อจัดทำฉลากโภชนาการ สอบเทียบเครื่องมือวัด รวมถึงให้ความสนับสนุนการเข้าถึงระบบมาตรฐานโดยการต่อยอดเพื่อให้ได้ใบรับรองมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสาล เช่น มาตรฐาน ISO,  HACCP เป็นต้น

โดยมีหน่วยพันธมิตรร่วมดำเนินโครงการ ได้แก่ สถาบันอาหาร, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ, สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ, สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย, สมาคมสำนักงานบัญชีไทย, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน), มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

สำหรับผลการพัฒนาโครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Regular Level) ปี 2562 มีดังนี้ การอบรมให้ความรู้เชิงปฏิบัติการจำนวน 10,050 ราย แบ่งเป็นการอบรมให้ความรู้ในด้านการดำเนินธุรกิจจำนวน 7,750 ราย

4

ให้ความรู้ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการในด้านการทำบัญชีที่ถูกต้อง ความสำคัญของบัญชีเดียว ภาษีและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2,300 ราย นอกจากนี้ยังมีการการพัฒนาเชิงลึกจำนวน 3,287 กิจการ โดยให้คำปรึกษาเชิงลึกเพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและบริการ และยังมีการจัดการบริหารจัดการ การตลาด และเทคโนโลยี หรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าหรือบริการ หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงการเป็นพี่เลี้ยงสำหรับผู้ให้บริการทางบัญชี (Service Provider) ที่ต้องการพัฒนายกระดับการให้บริการ

นอกจากนี้ สสว. ยังให้ความสนับสนุนการตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านมาตรฐาน จำนวน 1,200 กิจการ อาทิ จัดทำฉลากโภชนาการ, การตรวจวิเคราะห์สินค้าปลอดภัยหรือสอบเทียบเครื่องมือวัด, การตรวจวิเคราะห์เพื่อประกอบการรับรองมาตรฐานเสื้อผ้าประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5, มาตรฐานผลิตภัณฑ์สิ่งทอด้านความปลอดภัย (S-Mark), ฉลากคุณภาพสิ่งทอ (Smart Fabric), การทดสอบผลิตภัณฑ์เพื่อประกอบการขอใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.), มาตรฐานฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 และยังมีการสนับสนุนการเข้าถึงระบบมาตรฐานโดยการต่อยอดเพื่อให้ได้ใบรับรองมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสาล เช่น มาตรฐาน ISO, HACCP , GMP ฯลฯ รวมถึงสนับสนุนกิจกรรมทดสอบตลาด และเจรจาการค้าในต่างประเทศ อาทิ ประเทศบาห์เรน, พม่า, ญี่ปุ่น

“ผลลัพธ์จากการพัฒนาเชิงลึกเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและบริการ ยกระดับมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับของสากล รวมทั้งการสนับสนุนกิจกรรมตลาดต่างประเทศเพื่อยกระดับให้ผู้ประกอบการกลุ่มที่มีศักยภาพนี้ก้าวไปสู่สากล สามารถคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3,000 ล้านบาท” ผอ.สสว.กล่าว

หลังจากนั้นยังได้จัดให้มีการเสวนาจุดเปลี่ยนเพื่อความสำเร็จในหัวข้อ “พลิกโอกาส พิชิตชัยชนะ” เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองความคิด โดยผู้อำนวยการ สสว. ร่วมด้วยตัวแทนผู้ประกอบการโครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME  Regular Level) ร่วมแบ่งปันมุมมองจากประสบการณ์ กระทั่งการเสวนาจบลงด้วยความประทับใจ


You must be logged in to post a comment Login