วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

“วิษณุ”ชี้”ไพบูลย์”ยุบพรรคเป็นโจทย์ยากถึงศาลรธน.แน่นอน

On August 26, 2019

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ยื่นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยุบพรรคตัวเองเพื่อเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐว่า ยังงงกับเรื่องนี้อยู่ ต้องให้ กกต. เป็นผู้พิจารณา และไม่รู้ว่าหากยุบพรรคได้จริง คะแนนในส่วนของพรรคประชาชนปฏิรูปจะเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ การยุบพรรคตัวเองไม่ใช่เรื่องลำบาก แต่จะกระทบต่อ ส.ส. ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติถึงเรื่องนี้ 3 กรณีเท่านั้นคือ 1.ส.ส.ลาออก ทำให้ขาดการเป็นสมาชิกภาพของพรรค 2.พรรคขับออกจากการเป็นสมาชิก จึงต้องไปหาพรรคใหม่ภายในเวลาที่กำหนด และ 3.มีคำสั่งยุบพรรค จึงต้องไปหาพรรคใหม่ภายใน 60 วัน แต่กรณีของนายไพบูลย์นั้นไม่เกี่ยวกับ 3 ข้อที่ยกมา จึงไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร

นายวิษณุกล่าวว่า โดยหลักแล้วเมื่อพรรคถูกยุบจะต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่าทุกคนต้องมีพรรคสังกัด ขณะเดียวกัน ส.ส. ที่ไม่ได้กระทำความผิดจะต้องดำเนินการอย่างไร เพราะบางครั้ง ส.ส. กระทำความผิดแล้วถูกพรรคไล่ออกก็ยังไม่ขาดจากการเป็น ส.ส. กรณีนี้นายไพบูลย์ยื่นยุบพรรคเองก็ต้องคุ้มครองคนที่ไม่ได้กระทำความผิดด้วย ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะพรรคประชาชนปฏิรูป แต่หมายถึงทุกพรรคการเมือง จึงเป็นเรื่องที่ กกต. ต้องพิจารณา และเรื่องดังกล่าวที่สุดแล้วศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องพิจารณาอยู่ดี

เมื่อถามว่าไม่ว่า กกต. หรือศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไรจะถือเป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคตใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า แน่นอน ส่วนจะวุ่นวายหรือไม่ตนไม่ทราบ

เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่พรรคเล็กซึ่งมีไม่ถึง 70,000 คะแนน จะยื่นยุบพรรคตัวเองเพื่อเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐเหมือนนายไพบูลย์ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 99 ระบุว่า ห้ามมีการควบรวมพรรค ซึ่งหมายถึงการยุบพรรคหนึ่งไปรวมกับอีกพรรคหนึ่ง แต่กรณีของนายไพบูลย์ไม่ได้ควบรวม แต่ยุบทิ้งให้หายไปเฉยๆ

เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยวิเคราะห์ว่าหากนายไพบูลย์ยุบพรรคได้ คะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อถูกเฉลี่ยนับใหม่ให้พรรคอื่นๆ ซึ่งต่อไปอาจมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ ทำให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 50 คนหายไปทันที นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ ตอบไม่ถูก ส่วนเมื่อพรรคถูกยุบแล้ว ส.ส.บัญชีรายชื่อจะยังมีสถานะเป็น ส.ส. หรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ เพราะถือเป็นโจทย์ยาก ไม่ใช่เรื่องของนักกฎหมายที่จะต้องคิดหาทางออก เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ที่รับผิดชอบ คนที่จะไขโจทย์นี้คือ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนจะใช้เวลานานหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ


You must be logged in to post a comment Login