วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

บลจ.กสิกรไทย ชวนล็อกผลตอบแทนผ่านเทอมฟันด์โค้งสุดท้ายก่อนเสียภาษีตราสารหนี้

On August 6, 2019

นายนาวิน อินทรสมบัติ Chief Investment Officer (รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุนต่างประเทศ) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) เปิดเผยว่า บลจ.กสิกรไทย เปิดเสนอขาย กองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ต่างประเทศ 6 เดือน HH (KFF6MHH) ประมาณการผลตอบแทนไว้ที่ 1.50% ต่อปี และกองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ต่างประเทศ 1 ปี GS (KFF1YGS) ประมาณการผลตอบแทนไว้ที่ 1.65% ต่อปี โดยเปิดเสนอขายในระหว่างวันที่ 6 – 9 ส.ค. 62

เบื้องต้นคาดว่าทั้ง 2 กองทุน มีนโยบายเข้าไปลงทุนในเงินฝาก China Construction Bank, เงินฝาก Bank of China, เงินฝาก Agricultural Bank of China และบัตรเงินฝาก China Merchants Bank, ประเทศจีน รวมถึงเงินฝาก Commercial Bank of Qatar, เงินฝาก AI Khalij Commercial Bank และบัตรเงินฝาก Qatar National Bank, ประเทศกาตาร์ นอกจากนี้ยังมีตราสารหนี้ Malayan Banking Berhad, ประเทศมาเลเซีย โดยกองทุนมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน ทั้งนี้ กองทุนจะยังไม่ได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีกองทุนตราสารหนี้ในอัตรา 15% เนื่องจาก กองทุนได้เปิดเสนอขายก่อนที่กฎหมายจัดเก็บภาษีกองทุนตราสารหนี้จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ กองทุนก็จะถูกเก็บภาษีแล้ว

ภาวะตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศในสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มีความชันลดลง โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปี เพิ่มขึ้น 3 bps มาอยู่ที่ระดับ 1.87% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ลดลง 4 bps มาอยู่ที่ระดับ 2.02% ด้านธนาคารกลางสหรัฐฯ ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps มาอยู่ที่ 2.00 – 2.25% ตามที่ตลาดคาดไว้ โดยการลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ถือเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังขยายตัวได้ดีโดยเฉพาะในภาคแรงงาน ที่มีอัตราการจ้างงานสูงขึ้น อีกทั้งยังได้ปรับค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นด้วย ด้านรัฐบาลและธนาคารจีนได้ส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องโดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย รวมถึงการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน โดยมองว่าเป็นตัวสนับสนุนให้เศรษฐกิจจีนมีการขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามการเจรจาทางการค้าในประเด็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงประเด็น Brexit หลังจากที่อังกฤษได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการถอนตัวของอังกฤษจากสหภาพยุโรปแบบไร้ข้อตกลง (No-deal Brexit)


You must be logged in to post a comment Login