วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

‘ประหยัด-มีน้ำใจ’แก้ภัยแล้ง

On August 2, 2019

คอลัมน์ : สำนัก(ข่าว)พระพยอม

ผู้เขียน : พระพยอม กัลยาโณ

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 2 ส.ค. 62)

ช่วงนี้ไม่มีอะไรเป็นปัญหาใหญ่เท่ากับภัยแล้ง รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เจองานใหญ่อย่างชนิดหนักหนาสาหัส ถ้าใครผ่านไปเขื่อนลำตะคองจะพบว่าประสบปัญหาภัยแล้งเช่นกัน โดยภาพรวมฤดูฝนที่ผ่านมามีปริมาณฝนต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 30% ส่งผลให้น้ำดิบจากแหล่งมรดกโลกแหล่งที่ 5 ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำลำตะคอง ไหลเข้าเขื่อนน้อยที่สุดในรอบ 20 ปี โดยมีเพียง 18.9 ล้าน ลบ.ม. จากปกติเฉลี่ย 30-40 ล้าน ลบ.ม.

ขณะนี้การทำนาปีในเขต อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ขยายเต็มพื้นที่ชลประทาน 135,000 ไร่ หากทุกพื้นที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงจะเกิดผลกระทบต่อต้นข้าวที่กำลังตั้งท้องออกรวง ทราบข่าวว่าเจ้าหน้าที่ชลประทานได้ลงพื้นที่ชี้แจง ทำความเข้าใจ ร้องขอให้การทำนาปีอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้ เพราะเกรงว่าจะเกิดปัญหาแย่งชิงน้ำดิบกัน เรียกว่าใครไหวตัวไม่ทันก็แย่ ใครที่ไม่เตรียมตัวเก็บกักน้ำไว้กินไว้ใช้ในภาคเกษตรคงจะลำบาก

ล่าสุดได้ข่าวว่าคณะรัฐมนตรีอนุมัติแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงปี 2562 โดยระยะเร่งด่วนเร่งดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง ส่วนเงินชดเชยกรณีเสียหายโดยสิ้นเชิงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง ก่อนนำเสนอกลับไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อขอปรับวงเงินชดเชยเพิ่มขึ้น

ตัวเลขเดิมที่กระทรวงการคลังชดเชยให้กับพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิงจากภัยธรรมชาติคือ ข้าว 1,113 บาท/ไร่ พืชไร่ 1,148 บาท/ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 1,690 บาท/ไร่ ชดเชยรายละไม่เกิน 30 ไร่ กรณีพืชที่เพาะปลูกถูกดิน หิน ทราย ไม้ โคลนทับ ช่วยเหลือไร่ละ 7,000 บาท ไม่เกิน 5 ไร่/ราย ซึ่งตัวเลขเหล่านี้เป็นตัวเลขที่ล้าสมัย ควรพิจารณาปรับเพิ่มขึ้นให้เกษตรกรได้แล้ว ทั้งนี้ ในส่วนของการจ่ายชดเชย หากมีการประกาศเขตภัยพิบัติกระทรวงการคลังจะจ่ายให้เกษตรกรในวงเงินช่วยเหลือเดิม แต่หากการหารือเห็นว่าต้องชดเชยเพิ่มก็จะจ่ายเพิ่มในส่วนที่พิจารณาว่าเหมาะสม

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ บอกว่า การบรรเทาความเดือดร้อนด้านรายได้เพื่อเสริมสภาพคล่องเศรษฐกิจครัวเรือนของเกษตรกรที่ประสบภัยฝนทิ้งช่วง โดยการสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์วงเงิน 1,600 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1% ระยะเวลา 3-5 ปี โดยมีวงเงินกู้ให้สมาชิกรายละ 30,000-50,000 บาท ผ่านการดำเนินโครงการดังนี้คือ โครงการส่งเสริมอาชีพสมาชิกสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากฝนทิ้งช่วง วงเงิน 600 ล้านบาท มี 2 กิจกรรม ได้แก่ ให้สมาชิกกู้ยืมเพื่อพัฒนาอาชีพ และเพื่อจัดหาแหล่งน้ำทำการเกษตร โครงการจัดหาแหล่งน้ำให้สมาชิกสหกรณ์ วงเงิน 400 ล้านบาท และโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ วงเงิน 600 ล้านบาท

ทั้งนี้ การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังกรณีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายสิ้นเชิงและจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือ เกษตรกรจะได้รับการช่วยเหลือดังนี้ ข้าว 1,113 บาท/ไร่ พืชไร่ 1,148 บาท/ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 1,690 บาท/ไร่ รายละไม่เกิน 30 ไร่ โดยเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อให้การช่วยเหลือภายใน 90 วัน ส่วนโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2562 เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายสิ้นเชิงที่ซื้อประกันภัยกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะได้รับการช่วยเหลือไร่ละ 1,260 บาท และโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562 เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายสิ้นเชิงที่ซื้อประกันภัยกับ ธ.ก.ส. จะได้รับการช่วยเหลือไร่ละ 1,500 บาท

นอกจากนี้กระทรวงเกษตรฯโดยกรมการข้าว เตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง (มิ.ย.-ส.ค. 2562) ตามความต้องการพันธุ์ข้าวของเกษตรกร โดยต้องคำนึงถึงปริมาณน้ำและความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ส่วนการดำเนินการในระยะต่อไป ประเมินความเสี่ยงต่อปริมาณน้ำต้นทุนในอนาคต เพื่อนำไปสู่การบริหารความต้องการน้ำภาคเกษตรและวางแผนการเพาะปลูกพืชที่สอดคล้องกับปริมาณน้ำ

ขณะที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จะพิจารณาอัตราการชดเชยใหม่ โดยคณะกรรมการจะประเมินความเสี่ยงต่อระดับความมั่นคงด้านอาหาร ผลกระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร การดำรงชีวิต และสภาพคล่องทางการเงินของครัวเรือนเกษตรกร รวมทั้งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง หากพบความเสี่ยงที่จะสร้างความเสียหายต่อผลผลิต เกษตรกรเสียโอกาสในการผลิตและกระทบต่อรายได้ในครัวเรือนจนอาจทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน และไม่สามารถดำรงชีพขั้นพื้นฐาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจชุมชน

นายเฉลิมชัยบอกอีกว่า จะพิจารณามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบให้สามารถปรับตัวและมีความพร้อมที่จะเผชิญเหตุ และสามารถบริหารความเสี่ยงได้ด้วยตนเองในระดับหนึ่ง เช่น มาตรการเสริมสภาพคล่องทางการเงิน มาตรการเพิ่มขีดความสามารถการผลิตและการตลาด โดยยึดหลักไม่สร้างภาระงบประมาณภาครัฐ รวมทั้งมาตรการส่งเสริมให้เกษตรกรมีศักยภาพและความพร้อมที่จะรับมือกับภาวะฝนทิ้งช่วงในอนาคตได้ดีกว่าปัจจุบัน รวมทั้งมาตรการที่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบได้ในห้วงเวลาที่เหมาะสมหรือทันต่อสถานการณ์ต่อไป

รัฐบาลชุดใหม่ที่มารับช่วงงานตอนนี้ต้องถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไข ซึ่งต้องมีการวางแผนให้ดี อย่าปล่อยให้ชาวบ้านขาดน้ำ จะทำให้เกิดการตีรวนชวนทะเลาะแย่งน้ำแย่งท่ากัน ดังนั้น ถ้าแก้ปัญหาภายในด้วยการควบคุมกิเลสดี ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ขัดแย้งกันมาก การอยู่ร่วมกันก็ง่ายขึ้น หากยังไม่หันหน้าพูดคุยกัน มัวแต่ทะเลาะ เบาะแว้ง ขัดแย้งกัน ก็จะมีปัญหาไม่หยุดหย่อน ทั้งร่างกาย จิตใจ สิ่งแวดล้อม จะพลอยเสียหาย

อาตมาหวังว่าคงจะดีวันดีคืนด้วยการร่วมด้วยช่วยๆกันประหยัดน้ำ ช่วยกันรักษา มีน้ำใจ ยิ่งดีที่สุด

เจริญพร


You must be logged in to post a comment Login