วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

ม.มหิดล เผยผลประกวดขับร้องเพลงกล่อมลูกรอบชิงชนะเลิศ

On July 22, 2019

รองศาสตราจารย์ ดร.ขวัญจิต ศศิวงศาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย  มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะประธานคณะกรรมการตัดสินการประกวดขับร้องเพลงกล่อมลูก 4 ภาคว่า มหาวิทยาลัยมหิดลจัดการประกวดเพลงกล่อมลูก4ภาคขึ้นเป็นปีที่ 31 ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของเพลงกล่อมลูก ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญและมีคุณค่า ควรแก่การอนุรักษ์และฟื้นฟู  โดยเริ่มจัดการประกวดเมื่อปี พ.ศ.2531

มหาวิทยาลัยมหิดลจัดการประกวดเพลงกล่อมลูก 4 ภาคขึ้นเป็นปีที่ 32 ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของเพลงกล่อมลูก ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญและมีคุณค่า ควรแก่การอนุรักษ์และฟื้นฟู  โดยเริ่มจัดการประกวดเมื่อปี พ.ศ.2531 และได้จัดประกวดมาอย่างต่อเนื่อง เป็นกิจกรรมหนึ่งในงาน “มหิดล – วันแม่” เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา การประกวดแยกเป็นระดับมัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษา ซึ่งในปีนี้มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจำนวน 82 ราย ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ  จำนวน 28 ราย ผลการประกวดรอบชิงชนะเลิศมีดังนี้

ระดับมัธยมศึกษา

ภาคเหนือ

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางสาวเกศณี ดีสมปรารถนา จาก โรงเรียนอมก๋อยวิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่

รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ นายโชคมงคล แก้วศรี จาก โรงเรียนลำปางกัลยาณี จังหวัดลำปาง

ภาคกลาง

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เด็กหญิงณิชา วรสกุล จาก โรงเรียนพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี

รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ นางสาวพิมพ์ชนก สำลี จาก โรงเรียนสตรีวัดมหาพฤฒารามในพระบรมราชินูปถัมภ์   จังหวัดกรุงเทพมหานคร

ภาคอีสาน

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางสาวพรชิตา กุสุมาลย์ จาก โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม จังหวัดร้อยเอ็ด

รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ นายพลพรรธณ์ ผลาพฤกษ์ จาก โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม จังหวัดร้อยเอ็ด

ภาคใต้

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางสาวญาณินท์ สัจมณี จาก โรงเรียนก้างปลาวิทยาคม จังหวัดนครศรีธรรมราช

รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่นายธัชนนท์ ศักพันธ์ จาก โรงเรียนมหาวชิราวุธจังหวัดสงขลา

ระดับอุดมศึกษา

ภาคเหนือ

รางวัลชนะเลิศ ไม่มีผู้ผ่านรอบชิงชนะเลิศ

รางวัลรองชนะเลิศ ไม่มีผู้ผ่านรอบชิงชนะเลิศ

ภาคกลาง

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางสาวชนกนันท์ จันทร์สว่าง จาก วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จังหวัดนครปฐม

รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ นางสาวปนัดดา จินดา จาก คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม

ภาคอีสาน

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายเจษฎาวุฒิ รักษากุล จาก คณะศิลปกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ นายเจริญทรัพย์ ทองกลม จาก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

ภาคใต้

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายธนวิทย์ ศิริพงศ์ประพันธ์ จาก คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา จังหวัดสงขลา

รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ นายอภิชัย จันทร์เกษ จาก คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา  จังหวัดสงขลา

“นอกจากการจัดประกวดเพลงกล่อมลูกแล้ว สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย  มหาวิทยาลัยมหิดล ยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับเพลงกล่อมลูก ส่วนหนึ่งมีการศึกษาค้นคว้าโดยนักวิจัยและนักศึกษาหลักสูตรวัฒนธรรมศึกษา สาขาวิชาวัฒนธรรมดนตรี ของ โดยศึกษาเกี่ยวกับเนื้อหา ภาษา ทำนองร้อง และการสืบทอดเพลงกล่อมลูกของแต่ละภาค  การที่เราจัดประกวดเพลงกล่อมลูกขึ้นเป็นประจำทุกปี เป็นการจุดประกายให้นักศึกษาสนใจและเลือกเป็นหัวข้อในการทำวิทยานิพนธ์ และในปีนี้ ดร.จิติกานต์ จินารักษ์ นักวิชาการดนตรีไทยของสถาบันฯ ได้ทำโครงการวิจัยโดยใช้เพลงกล่อมลูกที่บันทึกจากผู้ประกวดมาศึกษาเปรียบเทียบเนื้อหาของเพลงทั้ง 4 ภาค โดยใช้แนวคิด คติชนวิทยา” รองศาสตราจารย์ ดร.ขวัญจิต ศศิวงศาโรจน์ กล่าวเสริม

อาจารย์วีระพงศ์ มีสถาน นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย  มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่า สมัยเรียนปริญญาโท สาขาวิชาภาษาศาสตร์ ที่สถาบันฯ ตนได้มีโอกาสเข้าร่วมประกวดขับร้องเพลงกล่อมลูก ภาคอีสาน เมื่อปี 2533 โดยต่อมาได้ทำงานเป็นนักวิจัยที่สถาบันฯ และได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน ให้ความเห็นว่า ผู้เข้าร่วมประกวดถือเป็นผู้ที่ร่วมอนุรักษ์มรดกไทย หากต้องการให้มีการสืบทอดเพลงกล่อมลูกต่อไปในอนาคต การประกวดอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ผลงานวิจัยที่จับต้องได้และสอดคล้องกับยุคสมัยจะช่วยให้เห็นความสำคัญของเพลงกล่อมลูกมากยิ่งขึ้น

ธนวิทย์ ศิริพงศ์ประพันธ์ ผู้ชนะเลิศประกวดเพลงกล่อมลูก ภาคใต้ ระดับอุดมศึกษา เล่าว่า ตนเป็นศิลปินพื้นบ้านหนังตะลุงซึ่งในการแสดงก็จะมีการขับกลอนหนังตะลุง โดยใช้ภาษาถิ่น สำเนียง และทำนองคล้ายเพลงกล่อมลูกของภาคใต้ แม้ในอนาคตยังไม่ทราบว่าเด็กรุ่นใหม่จะฟังเพลงกล่อมลูกรู้เรื่องหรือไม่ ตนจะพยายามนำเพลงกล่อมลูกภาคใต้ไปสอดแทรกทั้งในการแสดงหนังตะลุง และการเป็นครูที่สอนหนังสือโดยมีการนำเพลงกล่อมลูกภาคใต้ รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งเป็นมรดกของชาติไปสอดแทรกให้กับนักเรียนด้วย ในขณะที่ เจริญทรัพย์ ทองกลม รองชนะเลิศประกวดเพลงกล่อมลูก ภาคอีสาน ระดับอุดมศึกษา กล่าวว่า อยากให้มีการบรรจุเรื่องวัฒนธรรมการกล่อมลูกลงในหลักสูตรการศึกษา โดยอาจจะทำให้อยู่ในรายวิชาเสรี ปลูกฝังกันตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาเพื่อให้วัฒนธรรมการกล่อมลูกคงอยู่สืบไป โดยในปีนี้ ณิชา วรสกุล นักเรียนผู้พิการทางสายตามาเข้าร่วมประกวดเป็นปีแรก โดยสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ จากการขับร้องเพลงกล่อมลูกภาคกลางในระดับมัธยมศึกษา ด้วยเพลงนกกาเหว่า ซึ่งฝึกด้วยตนเองจาก youtube และได้รับการสนับสนุนจากโรงเรียนพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี ในการเตรียมตัวและเดินทางมาประกวด

ในส่วนของการเผยแพร่ อาจารย์วาทิตต์ ดุริยอังกูร ประธานศูนย์ศิลปวัฒนธรรมสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นรองประธานคณะกรรมการตัดสินการประกวดขับร้องเพลงกล่อมลูก 4 ภาค กล่าวว่า ทางสถาบันฯ ได้มีการรวบรวมเสียงผู้ชนะเลิศการประกวดทุกปี โดยจัดทำเป็นซีดีเพื่อจัดส่งเผยแพร่ตามโรงเรียน และหน่วยงานต่างๆ นอกจากนี้ ยังเปิดให้ผู้สนใจทั่วไปได้คลิกเข้าไปกดฟังได้ในเว็บ http://www.lullaby.lc.mahidol.ac.th นอกจากนี้ ยังมีโครงการพิเศษที่จะจัดทำหนังสือรวบรวมมุมมองต่างๆ ของนักวิชาการที่มีส่วนร่วมในการประกวดเพลงกล่อมลูก เพื่อเผยแพร่ประเด็นที่เป็นประโยชน์และน่าใจของเพลงกล่อมลูกให้กว้างขวางออกไปอีกด้วย

ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศจะได้เข้ารับรางวัลในงาน “มหิดล-วันแม่”ในวันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม 2562ณ สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล  ศาลายา  จังหวัดนครปฐม และในงานจะมีให้บริการตรวจสุขภาพ และทำฟันฟรี ตั้งแต่เวลา 07.00 –14.00 น.


You must be logged in to post a comment Login