วันพฤหัสที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567

อยากรวยให้เข็ดมาทางนี้

On July 11, 2019

คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 12-19 ก.ค. 2562 )

คนที่คิดอยากจะรวยนั้น ถูกโค้ชหรือพวกอาจม-อาจานหลอก (“แดก”) ไปนักต่อนักแล้ว ยิ่งโง่ ยิ่งจน ยิ่งเจ็บเข้าไปเป็นทวีคูณ เราจะรวยก็ต้องมีสติคิดให้ชัดเจน การจะรวยนั้นใช่ว่าต้องยึดอาชีพใดอาชีพหนึ่งเท่านั้น ในวงการอสังหาริมทรัพย์ก็ใช่ว่าจะต้องเป็นนักพัฒนาที่ดินอย่างเดียว คนที่เป็นนักพัฒนาที่ดินที่ไม่ประสบความสำเร็จก็มี เราจะรวยต้องทำอย่างไร

ในพระพุทธศาสนา แม้ว่านิพพานและการหลุดพ้นจะเป็นสิ่งสูงสุดที่พระพุทธเจ้าสอน แต่สำหรับชีวิตคฤหัสถ์หรือผู้ครองเรือน พระองค์สอนเรื่อง “คฤหัสถ์ 4” หรือความสุขของผู้ครองเรือน 4 อย่าง (http://bit.ly/2hZ7jKc)

1.อัตถิสุข สุขเกิดจากความมีทรัพย์ คือมีทรัพย์ที่หามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนที่หามาโดยสุจริต ชอบธรรม เมื่อมีทรัพย์แล้วก็ทำให้ภาคภูมิใจ เอิบอิ่มใจ ไม่เดือดร้อนใจ

2.โภคสุข สุขเกิดแต่การใช้จ่ายทรัพย์ที่หามาได้ คนที่มีทรัพย์อยู่ในมือแล้วย่อมสบายใจ เอิบอิ่มใจ เมื่อเวลาที่ต้องการจะใช้ก็สามารถเอามาใช้ได้ไม่ขาดแคลน ข้อที่ว่าสุขเกิดแต่การใช้จ่ายทรัพย์ได้ตามต้องการนี้ รู้สึกคนไทยทุกคนจะซาบซึ้งใจกันดี เพราะคนไทยเป็นนักจ่าย เห็นอะไรก็อยากได้อยากซื้อไปหมด ถ้าไม่มีเงินคงไม่เป็นสุขแน่เทียว

3.อนณสุข สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้ ถ้าเราเป็นหนี้ ต้องขวนขวายหาเงินมาใช้หนี้เขา จะหาความสุขได้อย่างไร ยิ่งเวลาที่ต้องส่งเงินต้นหรือดอกเบี้ยแต่ไม่มีจะส่งยิ่งเป็นทุกข์ใจมาก ถ้าเราพยายามใช้จ่ายให้พอเหมาะพอสมกับฐานะ ไม่ใช้จ่ายเกินตัวจนต้องเป็นหนี้เป็นสินเขาแล้ว เราจะมีความสุขมากทีเดียว เพราะฉะนั้นความไม่เป็นหนี้จึงเป็นความสุขของผู้ครองเรือน

4.อนวัชชสุข สุขอันเกิดจากความประพฤติที่ไม่มีโทษ คือประพฤติสุจริตธรรม เมื่อประพฤติแต่สุจริตธรรมก็ไม่มีใครที่จะติเตียนเราได้ ทำให้เกิดความภูมิใจ เอิบอิ่มใจว่าเราประพฤติตนดี ไม่เป็นที่ครหาของใครๆ

พระพุทธเจ้ายังสอนให้คนรวย (ไม่เคยสอนให้คนเป็นคนจน ยกเว้นพวกนักบวชที่ต้องสละทุกสิ่ง — อย่าสับสน) พระองค์ให้คาถา “หัวใจมหาเศรษฐี” หัวใจของมหาเศรษฐีนี้มี 4 คำสั้นๆ และสามารถท่องได้ง่ายว่า อุ อา กะ สะ ถือเป็นหลักธรรมที่จะอำนวยประโยชน์สุขในขั้นต้นให้คนทั่วไป หรือเรียกว่าทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4 หรือทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ซึ่งประกอบด้วยหลักปฏิบัติ 4 ประการคือ 1.อุฏฐานสัมปทา 2.อารักขสัมปทา 3.กัลยาณมิตตตา และ 4.สมชีวิตา

1. อุ : อุฏฐานสัมปทา หมายถึง การถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือให้มีความขยันหมั่นเพียรในการแสวงหาความรู้ ขยันทำงานและประกอบอาชีพโดยสุจริต หมั่นฝึกฝนในวิชาชีพให้มีความชำนาญ รู้จักใช้ปัญญาในการจัดการงานให้เหมาะสมและสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ด้วยความขยันหมั่นเพียรนี้เราก็จะมีทรัพย์สินเงินทองเพิ่มพูนขึ้น

2. อา : อารักขสัมปทา หมายถึง การถึงพร้อมด้วยการรักษาโภคทรัพย์ คือต้องรู้จักรักษาคุ้มครองทรัพย์สินที่หามาได้ไม่ให้หมดไป รวมทั้งรักษาผลงานที่สร้างมาได้โดยชอบธรรม ไม่ให้เป็นอันตรายหรือเสื่อมเสีย รวมไปถึงการรักษาความรับผิดชอบต่อภาระการงานที่ได้รับมอบหมายอย่างไม่ขาดตกบกพร่องด้วย

3. กะ : กัลยาณมิตตตา หมายถึง การรู้จักคบคนดีเป็นมิตร การมีมิตรที่ดีจะช่วยสนับสนุนและนำพาเราไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ทั้งในหน้าที่การงาน สร้างความสุข ความสบายใจในการใช้ชีวิต ในทางตรงข้าม มิตรที่ไม่ดี มิตรเทียม หรือมิตรปอกลอก จะนำพาเราไปสู่อบายมุขในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นเหตุให้เราเสียทรัพย์ เสียงานเสียการ จนเสียสมดุลชีวิตไปในที่สุด

4. สะ : สมชีวิตา หมายถึง การเลี้ยงชีวิตให้พอดี คือรู้จักกำหนดการใช้จ่ายให้สมควรแก่ฐานะและสมดุลกับรายได้ รู้จักใช้ทรัพย์สินเงินทองที่หามาได้อย่างเหมาะสม ไม่ฟุ่มเฟือยมากเกินไปจนต้องลำบากในอนาคต หรือไม่ฝืดเคืองจนสร้างความลำบากในปัจจุบัน จงดำเนินชีวิตโดยยึดทางสายกลางที่ไม่มากไปไม่น้อยไป แต่ต้องพอดี ซึ่งจุดสมดุลแห่งความพอดีอาจวัดได้จากความสุขที่อิ่มเอิบในใจ ไม่ใช่สิ่งบำเรอหรือวัตถุที่เป็น (http://bit.ly/2iHnF9h)

นอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังสอนเรื่องปาปณิกธรรม 3 (ปาปณิกังคะ หลักพ่อค้า, องค์คุณของพ่อค้า) – qualities of a successful shopkeeper or businessman) อันประกอบด้วย

1.จักขุมา ตาดี (รู้จักสินค้า ดูของเป็น สามารถคำนวณราคา กะทุนเก็งกำไรแม่นยำ – shrewd)

2.วิธูโร จัดเจนธุรกิจ (รู้แหล่งซื้อแหล่งขาย รู้ความเคลื่อนไหวความต้องการของตลาด สามารถในการจัดซื้อจัดจำหน่าย รู้ใจและรู้จักเอาใจลูกค้า – capable of administering business)

3.นิสสยสัมปันโน พร้อมด้วยแหล่งทุนเป็นที่อาศัย (เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจในหมู่แหล่งทุนใหญ่ๆ หาเงินมาลงทุนหรือดำเนินกิจการโดยง่าย – having good credit rating) (http://bit.ly/2iOeLaJ)

สุดท้ายนี้ผมขอมอบพุทธสุภาษิตต่อไปนี้แด่ทุกท่าน (https://bit.ly/2Jj5Dap)

โภคา สนฺนิจยํ ยนฺติ วมฺมิโกวูปจียติ. โภคทรัพย์ของผู้ครองเรือนดีย่อมถึงความพอกพูน เหมือนจอมปลวกกำลังก่อขึ้น. ที. ปาฏิ. ๑๑/๒๐๒.

ปฏิรูปการี ธุรวา อุฏฐาตา วินฺทเต ธนํ. คนมีธุระหมั่นทำการงานให้เหมาะเจาะย่อมหาทรัพย์ได้. สํ. ส. ๑๕/๓๑๖. ขุ. สุ. ๒๕/๓๖๑.

อิติ วิสฺสฏฺฐกมฺมนฺเต อตฺถา อจฺเจนฺติ มาณเว. ประโยชน์ย่อมล่วงเลยคนหนุ่มผู้ทอดทิ้งการงาน. ที. ปาฏิ. ๑๑/๑๙๙.

ธีโร โภเค อธิคมฺม สงฺคณฺหาติ จ ญาตเก. ปราชญ์ได้โภคทรัพย์แล้วย่อมสงเคราะห์ญาติ. ขุ. ชา. ฉกฺก. ๒๗/๒๐๕.

น นิพฺพินฺทิยการิสฺส สมฺมทตฺโถ วิปจฺจติ. ประโยชน์ย่อมไม่สำเร็จโดยชอบแก่ผู้ทำโดยเบื่อหน่าย. ขุ. ชา. จตฺตาฬีส. ๒๗/๕๓๓.

สิริ โภคานมาสโย. ศรีเป็นที่อาศัยแห่งโภคทรัพย์ (ต้องสร้าง brand value). สํ. ส. ๑๕/๖๑.

ขอให้ทุกท่านรวยๆ เฮงๆ และทำดีเพื่อชาติและประชาชน

 

หมายเหตุ

ขอเชิญท่านเข้าร่วมงานอบรม RE142 “การจัดตั้งนิติบุคคลบ้านจัดสรร-อาคารชุด” รุ่นที่ 30, วันศุกร์ที่ 19 – เสาร์ที่ 20 กรกฎาคม 2562 เวลา 08.30-17.00 น. ดูรายละเอียดที่ https://www.trebs.ac.th/th/20/RE142


You must be logged in to post a comment Login