วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

(งดพาดหัวข่าว)

On June 27, 2019

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 28 มิถุนายน – 5 กรกฎาคม 2562 )

วันที่ 24 มิถุนายนปีนี้คึกคัก หลังจาก 5 ปีประชาชนถูกปิดปากด้วย “ระบอบเผด็จการ” โดยเครือข่ายภาคประชาชนและฝ่ายการเมืองต่างออกมาแสดงจุดยืนเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. รวมถึงยกเลิกประกาศ คำสั่ง และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ขัดหลักการสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยอย่างน้อย 35 ฉบับ

ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่ง่าย

ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์มติชนรายสัปดาห์โดยยืนยันว่า 87 ปีประชาธิปไตยไม่สูญเปล่า หากพิจารณาจากคณะราษฎรที่ครั้งนั้นมีคนในกลุ่มไม่กี่คน การตื่นตัวเรื่องประชาธิปไตยยังไปไม่ถึงชนบท แต่วันนี้ตื่นตัวเรื่องประชาธิปไตยมากกว่าตอนปี 2475 หรือ 14 ตุลาเยอะ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจะให้สำเร็จไม่สามารถทำได้ในชั่วข้ามคืน โดยเฉพาะสังคมไทยที่วัฒนธรรมอำนาจนิยมฝังรากลึก โครงสร้างสังคมที่เหลื่อมล้ำตกทอดมาตั้งแต่โบราณก็ยังคงอยู่ แต่ประชาธิปไตยไทยก็ก้าวหน้าในหลายเรื่อง อย่างเช่นสิทธิเลือกตั้งที่เท่าเทียมกันทั้งชายหญิงและทุกชนชั้น ผ่านมา 87 ปีเราก็ต้องเดินต่อไปให้ถึงเป้าหมาย

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกือบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะกลุ่มอำนาจวางกลไกไว้ให้แก้ยากมากๆ พรรคเล็กพรรคน้อยก็สกัดได้ ส.ว. ก็สกัดได้ ศาลรัฐธรรมนูญก็ยับยั้งได้ โอกาสจะแก้รัฐธรรมนูญได้ต้องเป็นมติมหาชนและจับมือกับนักการเมือง ต้องทำให้เห็นเป็นวงกว้างว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญอย่างขบวนการธงเขียวปี 2540

อาจารย์ประจักษ์ยังชี้ว่า ตอนนี้ถือว่าสังคมตื่นตัวมาก นักเรียนก็ตื่นตัวทางการเมืองแล้ว การจะเปลี่ยนแปลงได้เมื่อสภาพแวดล้อมและเจตจำนงของประชาชนมาบรรจบกันเป็นพลังทางการเมือง ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้นำพรรคการเมืองและกลุ่มเครือข่ายต่างๆ เราจึงต้องมีความหวัง เพราะการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่จบในวันเดียว เมื่อไรที่เรายังมีความหวัง ประชาธิปไตยก็เกิดขึ้นได้ เมื่อไรที่เราหมดความหวัง การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก็จะจบสิ้นทันที

ภาคประชาชนยื่นปลดอาวุธ คสช.

ความเห็นของอาจารย์ประจักษ์สอดคล้องกับ 87 ปีที่บ้านเมืองยังวนเวียนกับการรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญครั้งแล้วครั้งเล่า แต่การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริงก็ไม่ได้สูญเปล่า ประชาชนยิ่งตื่นตัวและเข้มแข็งมากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ถูกกลไกต่างๆของอำนาจเผด็จการควบคุมและกล่าวหาต่างๆ แม้แต่กรณีล่าสุดแค่นักศึกษากลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดกิจกรรมรำลึก 24 มิถุนายน พยายามออกเดินไปยังอนุสาวรีย์ปราบกบฏหลักสี่ บางเขน ยังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าคุมตัวโดยไม่ระบุข้อหาชัดเจน

ขณะที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และภาคประชาชนจาก 23 เครือข่าย จัดกิจกรรมล่ารายชื่อประชาชนเพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศ คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ขัดหลักการสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยรวม 35 ฉบับ มีผู้สนับสนุนจำนวน 13,409 รายชื่อ ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 133 (3) ให้สิทธิประชาชน 10,000 คน เสนอกฎหมายได้ รวมทั้งตัวแทนพรรคการเมือง 5 พรรค ประกอบด้วย พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทย และพรรคเพื่อชาติ ร่วมแถลงจุดยืนต่อร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศ คำสั่ง และคำสั่งหัวหน้า คสช.

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการ iLaw กล่าวว่า ประกาศและคำสั่งของ คสช. มีกว่า 500 ฉบับ และมีแนวโน้มจะถูกทิ้งให้มีผลบังคับใช้หลังจาก คสช. หมดอำนาจกว่า 200 ฉบับ ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น เพราะประกาศและคำสั่งเหล่านี้ออกโดย คสช. ฝ่ายเดียว ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม ภายใต้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง หากนโยบายใดจะเดินหน้าต่อก็ควรออกเป็นพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาของสภา

โดยเฉพาะการบังคับใช้ประกาศและคำสั่งของ คสช. ที่ยังคงมีอยู่ ทั้งการให้ทหารจับกุมประชาชน มีอำนาจออกหมายเรียกประชาชนและนำพลเรือนเข้าค่ายทหาร ซึ่งยังมีพลเรือนจำนวนมากที่ต้องขึ้นศาลทหาร จึงเรียกร้องทุกพรรคการเมือง หากต้องการเห็นบ้านเมืองมีประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ มีสถานการณ์ที่ปกติ ไม่ให้อำนาจทหารเข้ามาควบคุมในทุกเรื่อง ไม่ให้ทหารมีอำนาจเหนือกระบวนการยุติธรรม ควรร่วมกันสนับสนุนให้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ผ่านการพิจารณา หากร่วมมือกันอย่างแท้จริงคาดว่าจะใช้เวลาเพียง 2-3 เดือน ผลักดันกฎหมายฉบับนี้ให้บังคับใช้ได้

นอกจากนี้นายยิ่งชีพยังทวีตข้อความว่า “ถึงเราจะมีทหารโง่ๆปกครองประเทศนานหลายปี แต่ไม่เคยอยากไล่เขาเพราะเขาเป็นเขา ผมไม่เอา คสช. เพราะการกระทำของเขาเห็นได้ชัดเจนว่าทำลายสังคมในระยะยาว ถ้าเขาเลิกการกระทำนั้นเสียก็ยังพออยู่ด้วยกันได้ แต่เมื่อเขายืนยันจะทำสิ่งนั้นต่อไปก็จำเป็นต้องสู้กันไป ไม่ใช่เพราะเกลียดตัวบุคคล”

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์เฟซบุ๊ค Piyabutr Saengkanokkul ว่า พรรคอนาคตใหม่จะเดินหน้า “จัดการมรดก คสช.” ต่อไปตามนโยบายหาเสียง รวมถึงผลักดันให้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อยกเลิกมาตรา 272 และมาตรา 279 เพื่อคืนความปกติให้กับสังคมไทย เริ่มต้นกำจัดสิ่งแปลกปลอมในระบบกฎหมาย ระบบการเมืองไทย

ไฟลามทุ่ง ส.ส.-ส.ว. ถือหุ้นสื่อ

ขณะที่ประเด็นร้อนไม่ใช่แค่การจัดตั้งรัฐบาล ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าจะเรียบร้อยกลางเดือนกรกฎาคม แต่ปัญหาที่จะมีผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและสถานการณ์ทางการเมืองคือ กรณี 41 ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และ 21 ส.ว. ที่ถูกยื่นให้ตรวจสอบกรณีถือหุ้นสื่อ ขณะที่พรรคฝ่ายค้านเข้าข่ายจำนวน 55 คน

สำหรับกรณีตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลางสั่งไม่รับคำฟ้องของคณะราษฎรไทยแห่งชาติกับพวกรวม 34 คน ที่ยื่นฟ้องคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ พล.อ.ประยุทธ์ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากแต่งตั้งบุคคลที่ไม่เป็นกลางทางการเมือง แต่บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้การรับรองการตั้งกรรมการสรรหา ส.ว. เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญโดยตรงเพื่อสรรหาบุคคลไปทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ จึงไม่ใช่ข้อพิพาทจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง

อย่างไรก็ตาม ประเด็น 21 ส.ว. อาจเข้าข่ายการถือหุ้นสื่อ ซึ่งนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบและรีบส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติอันเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพการเป็น ส.ว. และขอให้มีคำสั่งให้ ส.ว. หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามแนวทางที่ กกต. ใช้กับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

เปรียบเทียบคำพิพากษาศาลฎีกาฯ

โดยเฉพาะกรณีศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งมีคำสั่งถอนชื่อนายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัคร ส.ส.สกลนคร เขต 2 พรรคอนาคตใหม่ ออกจากการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เนื่องจากขาดคุณสมบัติจากการเป็นบุคคลต้องห้าม เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98 (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 42 (3)

ทั้งที่นายภูเบศวร์ชี้แจงผ่านสื่อว่า เคยจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส ไว้เพื่อประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง แต่ยังไม่ได้ดำเนินกิจการใดๆจนถึงปัจจุบัน ส่วนขั้นตอนการจดจัดตั้งได้ใช้แบบฟอร์มสำเร็จรูปที่มีวัตถุประสงค์จดจัดตั้ง 43 ข้อที่ครอบคลุมทุกอย่าง แต่คำพิพากษาศาลฎีกาฯชี้ว่า การเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดที่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์และออกหนังสือพิมพ์ นายภูเบศวร์จึงเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แม้นายภูเบศวร์จะจดทะเบียนเลิกกิจการในวันที่ 6 มีนาคม แต่เป็นช่วงที่ยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งไปแล้ว

เช่นเดียวกับกรณีนายคมสัน ศรีวนิชย์ ผู้สมัคร ส.ส.อ่างทอง เขต 1 พรรคประชาชาติ ศาลฎีกาฯยกคำร้องหลังจากนายคมสันยื่นคำร้องคัดค้านคำวินิจฉัยของ กกต. ที่ไม่ประกาศรายชื่อเป็นผู้สมัคร ส.ส. กรณีเป็นเจ้าของหรือถือครองหุ้นสื่อในบริษัท ที.เอ็ม.อินเตอร์เนชั่นแนล อิมพอร์ท เอ็กซ์พอร์ท จำกัด ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการโรงพิมพ์ รับพิมพ์หนังสือ พิมพ์หนังสือจำหน่าย และออกหนังสือพิมพ์ จึงเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

“วิษณุ” รู้ ส.ว. ถือหุ้นสื่อ

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ (24 มิถุนายน) ยอมรับว่ารู้ว่า 21 ส.ว. ถือหุ้นสื่อ แต่เมื่อยังไม่มีคำวินิจฉัยตรงนี้ คำวินิจฉัยที่มีอยู่ก่อนไม่สามารถนำไปใช้กับคนอื่นได้ เพราะเป็นคำวินิจฉัยเฉพาะตัว ไม่เป็นบรรทัดฐานสำหรับคดีอื่น ไม่เหมือนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีผลผูกมัดเป็นการทั่วไป

ส่วนจะกระทบกับการทำงานหรือไม่นั้นก็อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร จะให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ โดยอาจดูจากความเสียหายที่จะได้รับ ไม่เกี่ยวกับว่าเรื่องจะมีมูลหรือไม่ เช่นกรณีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถ้าหยุดปฏิบัติหน้าที่จะมีผลกระทบ จึงวินิจฉัยไม่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

คำวินิจฉัยของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งกรณีคุณสมบัติ ส.ส. ก่อนหน้านี้มีผลเฉพาะตัว และเป็นเรื่องที่ไปร้องเรียนกันทีหลัง จึงไม่ได้ทำอะไร ถ้าจะไปตัดเสียก่อนก็ต้องตัดเกือบหมด แม้คุณสมบัติ ส.ว. เหมือนกับ ส.ส. แต่เราไม่รู้ว่าคำว่าถือหุ้นสื่อแปลว่าอะไร ถ้าถือหุ้นตามความเป็นจริง มีกิจการทำหนังสือพิมพ์ชื่ออะไร ออกเป็นรายวันหรือรายสัปดาห์ ถ้าเจอเช่นนี้ก็ไม่ให้อยู่แล้ว แต่การถือหุ้นสื่อที่มีวัตถุประสงค์ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ การจัดตั้งสื่อเป็นเพียงวัตถุประสงค์หนึ่ง แต่ไม่ได้ประกอบการจริง ตรงนี้เราก็ไม่กล้าวินิจฉัยตัดสิทธิ

นายวันชัย สอนศิริ หนึ่งใน ส.ว. ที่มีรายชื่อถือหุ้นสื่อ ยืนยันว่า ไม่มีข้อบกพร่องเรื่องคุณสมบัติการเป็น ส.ว. ก่อนหน้านี้เคยถือหุ้นอยู่ใน 2 บริษัท แต่ได้โอนหุ้นไปหมดแล้ว รวมถึงลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทด้วย ส่วนบริษัท แคล นู ไฮเรอร์ จำกัด ที่นายเรืองไกรระบุนั้น ไม่เคยได้ยิน ไม่แน่ใจว่าจะเป็นบริษัท จัดการบุญ จำกัด ที่ลูกเขยนำไปเปลี่ยนชื่อหรือไม่ ซึ่งตนได้โอนหุ้นจากบริษัทดังกล่าวอย่างถูกต้องก่อนเป็น ส.ว. ทั้งขู่ว่าจะฟ้องกลับทั้งทางแพ่งและทางอาญาให้เป็นตัวอย่าง

ต้องตีความมาตรฐานเดียวกัน

นายปิยบุตรกล่าวกรณีนายวิษณุระบุถึงการตีความ 41 ส.ส. และ 21 ส.ว. ถือหุ้นสื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญควรต้องดูจากความเสียหายที่ตามมาเป็นหลัก ซึ่งก็เห็นด้วย แต่เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีของนายธนาธรที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8 ต่อ 1 ให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ว่า หากให้เข้าประชุม ส.ส. จะมีข้อโต้แย้งคัดค้านทางกฎหมายตามมาจำนวนมาก เมื่อศาลมองว่ากรณีนายธนาธรเป็น ส.ส. คนเดียวทำให้เสียหาย กรณี 41 ส.ส. ก็น่าจะเสียหายมากกว่าหรือไม่ จะบอกว่าเสียหายเพราะจะโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีไม่ผ่านก็คงไม่ได้ จึงต้องดูว่าศาลจะมีดุลยพินิจเป็นอย่างไร

นายปิยบุตรยังกล่าวว่า ขอให้ดูคำร้องของ ส.ส.อนาคตใหม่ที่เข้าชื่อร้อง 41 ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล กับที่ กกต. ทำคำร้องของนายธนาธรส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ จะเห็นได้ว่าแตกต่างกันมาก คำร้องของ กกต. มีรายละเอียดตามเนื้อหาของสำนักข่าวแห่งหนึ่งเท่านั้น แต่คำร้องของ ส.ส.อนาคตใหม่มีรายละเอียดมาก มีการตรวจสอบว่าใครยังถือหุ้นในบริษัทใดบ้าง บริษัทที่ปิดกิจการไปแล้วก็ไม่ได้ยื่นร้อง จึงขอให้มีมาตรฐานเดียวกัน ไม่เลือกปฏิบัติโดยดูจากหน้าผู้ถูกร้อง

รัฐธรรมนูญระบุชัดแต่ไม่ปฏิบัติ

นายเจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ NEW18 กรณี ส.ส. และ ส.ว. ถือหุ้นสื่อว่า ศาลรัฐธรรมนูญอาจให้หยุดปฏิบัติหน้าที่และรอการวินิจฉัย กรณี ส.ว. ก็เหมือน ส.ส. หาก ส.ว. ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ก็ไม่ได้กระทบอะไรมาก ไม่ว่าจะช่วยพรรคพลังประชารัฐหรือรัฐบาล เพราะทำหน้าที่ตรวจสอบ ส.ส. หรือสภาพี่เลี้ยงในบางเรื่อง จำนวน 21 คนจาก 250 คนก็ไม่ใช่จำนวนมาก เทียบกับสภาวการณ์ของ ส.ว. แล้วง่ายกว่า ส.ส. เยอะ แม้ ส.ว. ถูกตัดออกก็ยังมีสำรองอีก 50 คนแทนได้ อีก 194 คนก็มีสำรองอีก 50 คน ถ้าออกไปไม่เกิน 50 คนก็ไม่มีปัญหาอะไร ไม่เหมือน ส.ส. ที่หากฝ่ายรัฐบาลขาดมากกว่า เมื่อไปรวมกันแล้วน้อยกว่าฝ่ายค้าน ลงมติอะไรก็แพ้หมด

นายเจษฎ์ยังชี้ว่า รัฐธรรมนูญมีผลตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ดังนั้น ผู้จะสมัครเพื่อเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. ก็ต้องพิจารณาตัวเองว่ามีคุณสมบัติหรือไม่ สงสัยว่ามีชื่ออยู่ในบริคณห์สนธิหรือวัตถุประสงค์ทั่วไป หรือประกอบการจริงอย่างไร ก็สอบถาม กกต. ได้ว่านับตรงไหนที่ถือหุ้นหรือเป็นเจ้าของ แต่เท่าที่รู้มาไม่มีการถาม จึงอยู่ที่ต้นทางคือผู้สมัครและรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ ซึ่งต้องเคลียร์ตั้งแต่เป็นผู้สมัคร หากบอกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่ได้บอกว่าสื่อใดๆ แต่วันนี้สื่อมีความหลากหลาย รัฐธรรมนูญปี 2560 จึงเขียนว่าวิทยุ หนังสือพิมพ์ และโทรคมนาคม ซึ่งผู้สมัครต้องศึกษา

ส่วนที่ว่าแก้รัฐธรรมนูญดีมั้ย ก็ได้ผลในเบื้องหน้า ส่วนกรณีนายธนาธรแตกต่างจาก ส.ส. และ ส.ว. ขณะนี้คือ กกต. เป็นผู้พิจารณาและมีข้อมูลส่งมาให้มากมาย เป็นเพียง 1 คน ไม่เหมือน ส.ส. และ ส.ว. ที่มีมาก ทั้ง กกต. ก็ยังไม่มีการสรุปอะไรให้ศาล จึงต้องใช้เวลา แต่เชื่อว่าศาลคงไม่เนิ่นนานเกินไป ทั้งยังเห็นว่าหากศาลจะให้คุ้มครอง ส.ส.พลังประชารัฐก็ต้องให้ความคุ้มครองนายธนาธรด้วย ถ้าไม่ให้ก็ต้องไม่ให้ทั้งหมด

ขอประชามติแก้รัฐธรรมนูญ

นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกรณีการตรวจสอบการถือหุ้นสื่อของนักการเมืองก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย 41 ส.ส. ว่า ศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ใช้บรรทัดฐานเดียวกับนายธนาธร คือให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จะอ้างเหตุการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่และมีภาระหน้าที่จำเป็นต้องปฏิบัติจึงอนุญาตให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ก็จะทำให้ประชาชนไม่ยอมรับผลคำวินิจฉัย รวมถึงกรอบเวลาการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

“คุณธนาธรก็เป็น ส.ส. ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าถ้าให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจะเป็นปัญหาต่างๆขึ้นมาอย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญว่า ดังนั้น ฉันใดก็ฉันนั้น อีก 41 คนก็เป็น ส.ส. เหมือนกัน ก็ควรที่จะต้องให้ปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกัน มันถึงจะเป็นมาตรฐานเดียวกัน”

นายพนัสยังเห็นว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทั้ง 2 กรณีออกมาแตกต่างกัน สังคมจะมองว่าศาลมีการทำงานสองมาตรฐาน โดยเฉพาะเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญนำมาอ้างให้นายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ในสภามีกฎกติกา มีข้อบังคับควบคุม มีประธานรัฐสภาเป็นผู้ควบคุมกฎกติกา และยังมี ส.ส. พรรคฝ่ายตรงข้ามคอยกำกับควบคุม

นายพนัสกล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า จะต้องอาศัยมติมหาชน คือการทำประชามติขอความเห็นประชาชนว่าต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพื่อฟังเสียงของประชาชนคนไทยทั้งประเทศว่ารู้สึกอย่างไรต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อย่างปี 2540 ที่ทำในรูปแบบของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพราะไปสร้างกลไกจนทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องผ่านความเห็นชอบจากสมาชิกฝ่ายค้านและสมาชิกวุฒิสภาซึ่งได้รับประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเรื่องยาก

การเมืองศรีธนญชัย

ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊คถึงสถานการณ์การเมืองที่ขัดแย้งและฟ้องร้องกันไปมา โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการถือครองหุ้นสื่อว่า การเมืองไทยตลอด 87 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยของประชาชนที่แท้จริงเลย เป็นแต่ของกลุ่มนักการเมืองและกลุ่มทหารการเมือง ประเทศชาติบ้านเมืองเสื่อมทรุดลงมากแล้ว

การเมืองไทยที่นักการเมืองต่างต่อสู้แย่งชิงอำนาจกัน ทำลายล้างซึ่งกันและกัน โดยใช้เวลาและพละกำลังห้ำหั่นกันแบบศรีธนญชัยไร้สาระไม่จบสิ้น ไม่ได้ทุ่มเทช่วยกันสร้างบ้านสร้างเมืองเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเลย

รับคำร้อง 32 ส.ส. แต่ไม่พักงาน

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณารับหรือไม่รับกรณีคำร้องที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยื่นขอให้ศาลวินิจฉัย 41 ส.ส. ที่ถือครองหุ้นสื่อเข้าข่ายทำให้ขาดคุณสมบัติดำรงตำแหน่ง ส.ส. หรือไม่ ซึ่งนายทศพล เพ็งส้ม หัวหน้าทีมต่อสู้คดีหุ้นสื่อของ 27 ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ยื่นขอให้ศาลจำหน่ายคดี เนื่องจากพรรคอนาคตใหม่ซึ่งเป็นผู้ยื่นเรื่องต่อประธานสภาเสนอเรื่องดังกล่าวเป็นหนังสือ ไม่ได้ทำเป็นคำร้อง ถือว่าไม่ถูกต้องตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษาพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 จำนวน 2 คำร้อง โดยขอให้วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของ ส.ส. จำนวน 41 คน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ โดยผู้ร้องขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของ ส.ส. จำนวน 41 คนผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่ง เนื่องจาก ส.ส. จำนวน 41 คน เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ซึ่งเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของ ส.ส. ของผู้ถูกร้องทั้ง 41 คน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)

ปรากฏว่าศาลประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) บัญญัติลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ว่า “เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ” ซึ่งก่อนที่จะรับคำร้องไว้พิจารณาต่อไปได้ยังจำเป็นต้องตรวจสอบวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ผู้ถูกร้องทั้ง 41 คน ถือหุ้นอยู่ว่า เป็นวัตถุประสงค์ที่จะประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆหรือไม่

เมื่อตรวจสอบจากเอกสารประกอบคำร้องของผู้ร้องแล้ว ปรากฏว่าหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งออกให้แก่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทของนายศาสตรา ศรีปาน, นายสุรศักดิ์ ชิงนวรรณ์, น.ส.ภริม พูลเจริญ, น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์, นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ และนายจักรพันธ์ พรนิมิตร ตามคำร้องที่หนึ่ง และนายกรณ์ จาติกวณิช, นายประมวล พงศ์ถาวราเดช และนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ตามคำร้องที่สอง ปรากฏว่ามีวัตถุประสงค์ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆที่จะมีลักษณะเข้าข่ายอันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของ ส.ส. ของผู้ถูกร้องจำนวน 9 คน ต้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) แต่อย่างใด จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องในส่วนของผู้ถูกร้องจำนวน 9 คน ไว้พิจารณาวินิจฉัย

ส่วนคำร้องของผู้ร้องในส่วนของผู้ถูกร้องที่เหลือจำนวน 32 คน เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (5) ศาลจึงสั่งรับคำร้องของผู้ถูกร้อง 32 คน ไว้พิจารณาวินิจฉัย

สำหรับคำขอให้ผู้ถูกร้องทั้ง 32 คน หยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง บัญญัติเงื่อนไขไว้ว่าจะต้องปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง แต่ในคดีนี้ผู้ร้องไม่ได้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง คงมีเอกสารประกอบคำร้องเพียงหนังสือรับรองห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทระบุรายละเอียดวัตถุประสงค์กับสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเท่านั้น จึงยังไม่มีความชัดเจนว่าผู้ถูกร้องประกอบธุรกิจใด ซึ่งศาลจะต้องดำเนินการไต่สวนเพื่อหาข้อเท็จจริงให้ยุติต่อไป เมื่อยังไม่ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องจำนวน 32 คน มีกรณีตามที่ถูกร้อง ในชั้นนี้จึงยังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้ง 32 คน หยุดปฏิบัติหน้าที่

ให้เหตุผลกรณี “ธนาธร-32 ส.ส.”

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องขอให้วินิจฉัยสมาชิกภาพของ ส.ส. จำนวน 32 คน กรณีถือหุ้นสื่อไว้พิจารณา และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง โดยไม่ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ว่า “จะต้องปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง” แต่คดีนี้ผู้ร้องไม่ได้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง มีเพียงเอกสารประกอบคำร้องเท่านั้น ไม่ปรากฏแบบแสดงรายการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจและแบบนำส่งงบการเงินของบริษัทว่ามีรายได้จากการประกอบกิจการใด จึงยังไม่ชัดเจนว่าผู้ถูกร้องประกอบธุรกิจใด ซึ่งศาลจะต้องดำเนินการไต่สวนเพื่อหาข้อเท็จจริงให้ยุติต่อไป ดังนั้น ผู้ถูกร้องทั้ง 32 คนนี้จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่จะหยุดปฏิบัติหน้าที่

ศาลรัฐธรรมนูญยังชี้แจงด้วยว่า ในส่วนคดีของนายธนาธรที่ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่นั้น เป็นเพราะเป็นคดีที่ กกต. ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยสมาชิกภาพของนายธนาธร มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ กกต. มาก่อนที่จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีเอกสารประกอบคำร้องไว้ชัดเจนว่ามีรายได้จากการขายนิตยสาร และรายได้จากการให้บริการโฆษณา กรณีนี้จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่านายธนาธรมีกรณีตามที่ถูกร้อง ศาลรัฐธรรมนูญจึงได้มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ชั่วคราว

มาตรฐานศาลรัฐธรรมนูญ

นายปิยบุตรแถลงหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง ส.ส. ถือหุ้นสื่อ 32 ราย แต่ไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ และไม่รับคำร้อง 9 รายว่า ดูเหมือนศาลรัฐธรรมนูญจะบอกว่าไม่ได้ดูแต่เหตุผลในหนังสือบริคณห์สนธิและความประสงค์จะทำกิจการเท่านั้น แต่ดูว่าประกอบกิจการจริงๆหรือไม่ พร้อมถามว่าเมื่อมีการวินิจฉัยลงไปในเนื้อคดีศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาหรือไม่ ถ้าหากไม่เหมือนแสดงว่า 2 รายที่ถูกศาลพิจารณาตัดสิทธิเลือกตั้งไปแล้วจะกลายเป็น 2 รายเท่านั้นที่ถูกตัดสิทธิ ส่วนรายอื่นใช้เกณฑ์อื่น ต้องฝากให้พิจารณาต่อไป

ส่วนกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง ส.ส. 32 รายโดยไม่สั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ เพราะ 41 รายที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นไปเป็นการยื่นโดย ส.ส. เข้าชื่อ ไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ในขณะที่คดีของนายธนาธรยื่นผ่าน กกต. กรณีของนายธนาธรแม้จะมีการไต่สวนข้อเท็จจริง แต่การไต่สวนข้อเท็จจริงมีปัญหาเรื่องมาตรฐานและการไม่ให้สิทธิแก่ผู้ถูกกล่าวหาอย่างเพียงพอ เช่น การเปิดโอกาสให้นายธนาธรไปชี้แจงเพียง 1 ครั้ง มีหนังสือเรียกให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาของนายธนาธร ไปสอบสวน เรียกตอนเช้าแต่หนังสือถึงบ่าย เป็นต้น

นอกจากนั้นศาลรัฐธรรมนูญยังให้เกณฑ์เพิ่มเติมว่าจะดูจากใบ บอจ. อย่างเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องดูแบบแสดงรายการประกอบธุรกิจของห้างหุ้นส่วนบริษัท (สสช.1) หรือดูแบบนำส่งงบการเงินของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทด้วยว่ามีรายได้จากการประกอบกิจการใด ซึ่งนายธนาธรได้ส่งเอกสารเหล่านี้ไปที่ กกต. ด้วย

นายปิยบุตรยังให้ข้อสังเกตทิ้งท้ายว่า เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญปรารถนาดีตามที่สังคมกำลังตั้งคำถามถึงมาตรฐานจะเท่าเทียมกันหรือไม่ ศาลจึงทิ้งท้ายในเอกสารข่าวกรณีคดีนายธนาธรที่สั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ต้องมีแบบ สสช.1 แบบงบการเงินประกอบด้วย จึงเป็นที่น่าเสียดายว่าถ้าพูดเอาไว้ตั้งแต่เมื่อมีมติกรณีนายธนาธรก็จะได้รู้ว่าศาลใช้มาตรฐานนี้ในการดู จะได้เตรียมแบบ สสช.1 และงบการเงินไปด้วย

ไม่มีคำพาดหัว??

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแตกต่างกับกรณีนายธนาธรที่หลายฝ่ายตั้งคำถามเรื่อง “มาตรฐานเดียวกัน” จึงต้องดูว่าในที่สุดผลการวินิจฉัยของนายธนาธรจะออกมาอย่างไร เพราะยังมีกรณี 21 ส.ว. ที่ถือหุ้นสื่อด้วย ขณะที่การตรวจสอบกระบวนการสรรหาที่มาของ “ส.ว.ลากตั้ง” ว่ามีความถูกต้องโปร่งใสหรือไม่ก็ยังทำไม่ได้ เพราะนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคภูมิใจไทย ในฐานะผู้รับผิดชอบกลั่นกรองเรื่องการยื่นญัตติและตั้งกระทู้ต่างๆ ให้เหตุผลว่า การสรรหา ส.ว. เป็นอำนาจหน้าที่ของ คสช. ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้ว

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธานกรรมการสรรหา ส.ว. ยืนยันว่า กรณี ส.ว. ถือหุ้นสื่อไม่ถือเป็นความผิดพลาดในการคัดเลือก เพราะคณะกรรมการสรรหาไม่รู้เรื่อง ไม่ได้ตรวจสอบ “ตอนนั้นก็ยังมั่วกันอยู่ เพราะมีการรวมกัน และการตั้งบริษัทก็พ่วงกันไปหมด บางคนก็ไม่ได้ทำสื่อจริงๆ คนที่ถูกร้องถ้าขาดคุณสมบัติจริงก็ขยับรายชื่อสำรองมาทดแทน ไม่ถือเป็นความผิดพลาดในการคัดเลือกเพราะคณะกรรมการไม่รู้เรื่อง”

ประเด็นการถือหุ้นสื่อ การตั้งรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ สะท้อนชัดเจนว่าการเมืองไทยยังเหมือนอยู่ในกะลา เพราะการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการสืบทอดอำนาจ การเลือกตั้งที่พิสดารพันลึก และกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยว แถมยังมี “อภินิหารทางกฎหมาย” อีก

อย่างที่นายธีร์ อันมัย อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โพสต์ตั้งคำถาม “2 เนติบริกรใหญ่” ว่า “อยากรู้จริงๆนะครับว่า คนอย่างมีชัย ฤชุพันธุ์ คนอย่างวิษณุ เครืองาม ถูกกล่าวถึงอย่างไรในห้องเรียนนิติศาสตร์ ผมจะนั่งขี้สูบยารอฟังคำตอบในเชิงวิชาการ”

วิกฤตการเมืองที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก โดยเฉพาะการทำหน้าที่ของ “องค์กรอิสระ” กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำจึงเต็มไปด้วยคำถามว่า มีความยุติธรรม เป็นธรรม และเท่าเทียมกันจริงหรือไม่?

“ตรรกะประหลาด” หลายกรณีที่โผล่มาพร้อมกับ “อภินิหารทางกฎหมาย” ภายใต้ “ระบอบเผด็จการ” จึงกลายเป็นเรื่องปกติที่ใช้กำจัดฝ่ายตรงข้าม

เช่นเดียวกับ “หมุดคณะราษฎร” ที่หายไปที่ตอกย้ำถึงวงจรอุบาทว์ การรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญครั้งแล้วครั้งเล่า โดยเฉพาะรัฐประหาร 2 ครั้งหลังสุดคือ 19 กันยายน 2549 และ 22 พฤษภาคม 2557 สะท้อนชัดเจนถึงการพยายามดึงสังคมไทยให้ย้อนกลับไปเหมือนในอดีต ไม่ใช่การ “ปฏิรูปประเทศ” เพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงและยั่งยืน แต่เป็นการ “แช่แข็งประเทศ” ภายใต้ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นวาระของประชาชนและนักการเมืองทุกคนที่รักประชาธิปไตยตราบที่ประชาชนไม่ท้อแท้และไม่สิ้นความหวัง เมื่อไรที่หมดความหวัง การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก็จะจบสิ้นทันที!!??

 


You must be logged in to post a comment Login