วันพฤหัสที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2567

ชาวลพบุรีจะจนลงเมื่อรถไฟรางคู่ไม่เข้าเมือง

On June 26, 2019

คอลัมน์ โลกอสังหาฯ
ชาวลพบุรีจะจนลงเมื่อรถไฟรางคู่ไม่เข้าเมือง
โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย
(โลกวันนี้วันสุข วันที่ 28 มิถุนายน – 5 กรกฎาคม 2562)

สถานีรถไฟรางคู่เมืองลพบุรีไม่ใช้สถานีเดิมที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลพบุรี ด้วยแค่คำอ้างเรื่องกลัวกระทบพระปรางค์สามยอดในด้านทรรศนะอุจาด นี่เป็นการคิดแบบราชการ แบบ NGOs ไม่ใช่การคิดเพื่อชาติและประชาชน ไม่ได้เห็นแก่ประโยชน์สุขของประชาชนในทุกวันนี้

ผมให้ความเห็นว่าการที่รถไฟรางคู่ไม่ผ่านเข้าตัวเมืองลพบุรี ไม่ใช้สถานีลพบุรีเดิม เป็นความสูญเสียเป็นอย่างมากต่อประเทศชาติและประชาชน ลำพังกรณีทรรศนะอุจาดสามารถคิดใหม่ได้ เพราะหากคิดอย่างนี้ประเทศไทยก็คงจะแย่ อย่างกรณีเมืองฉะเชิงเทราก็จะสร้างสถานีรถไฟใหม่ (ไม่รู้ผ่านที่ใคร) โดยอ้างว่าตรงบริเวณสถานีฉะเชิงเทรามีเส้นทางแบบ “หักศอก” ซึ่งไม่เป็นความจริง ในญี่ปุ่นรถไฟชินกันเซ็นก็เข้าใจกลางเมือง (https://bit.ly/2X4vKX5) ไม่ “โง่” ไปสร้างสถานีใหม่นอกเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนนั่นเอง

จากวิดีทัศน์ประชาสัมพันธ์โครงการรถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ชุดที่ 1 โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) (http://shorturl.at/hjT04) แสดงให้เห็นชัดเจนว่ารถไฟรางคู่จะไม่ผ่านเข้าเมืองลพบุรี นี่นับเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง โดยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการสร้างอ้อมเมืองและเวนคืนใหม่เป็นเงินประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท (ข้อมูลจากผู้บริหารระดับสูงของการรถไฟแห่งประเทศไทย)
รถไฟทางคู่
การที่รถไฟไม่ผ่านใจกลางเมืองจะทำให้มูลค่าทรัพย์สินด้อยค่าลง หรือไม่ได้เพิ่มขึ้นตามที่สมควร

1.ณ สิ้นปี 2561 มีประชากรเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองลพบุรี 22,815 คน (http://shorturl.at/sTV01) สมมุติให้ครอบครัวหนึ่งมีประชากร 4 คน ก็จะมีบ้าน 5,704 หน่วย ถ้าบ้านหน่วยหนึ่งมีราคา 2.333 ล้านบาท (พอๆกับสระบุรี : https://bit.ly/2AzHZSk) ก็จะเป็นเงินประมาณ 13,307 ล้านบาท

2.หากรวมทรัพย์สินอื่นซึ่งประมาณการไว้อีกเท่าตัว ก็จะเป็นมูลค่าทรัพย์สินเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองลพบุรีเป็นเงินประมาณ 26,614 ล้านบาท

3.การที่รถไฟรางคู่ไม่ผ่านเขตเทศบาลอาจทำให้มูลค่าทรัพย์สินในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ เพิ่มน้อยกว่าปกติรวม 10% โดยประมาณ แต่ยิ่งมีรถไฟรางคู่ผ่านเข้าตัวเมืองก็ยิ่งจะทำให้มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอีก 30% เท่ากับมูลค่าทรัพย์สินที่หายไปประมาณ 40% หรือเป็นเงิน 10,646 ล้านบาทในเบื้องต้น

ยิ่งกว่านั้นการไปสร้างสถานีใหม่ เมืองก็ต้องขยายตัวออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เปะปะ ไร้ทิศผิดทาง สร้างปัญหาการจราจรแออัด และการจัดหาสาธารณูปโภคเพิ่มเติมเข้าไป รฟท. เคยอ้างว่าการที่รถไฟไม่ผ่านเข้าใจกลางเมืองในบางแห่ง เช่น ฉะเชิงเทรานั้น เป็นเพราะเป็นทางโค้งหักศอก ไม่เหมาะกับรถไฟความเร็วสูง แต่ในความเป็นจริงพอรถไฟวิ่งเข้าเมืองก็ใช้ความเร็วต่ำ การตีโค้งจึงไม่ใช่ปัญหา แต่ในกรณีลพบุรีทางรถไฟเป็นเส้นตรงแท้ๆ แต่กลับถูกขัดขวางโดยความคิดอนุรักษ์
รถไฟลพบุรี - ปากน้ำโพ
หากรัฐบาลคิดใหม่ในเรื่องนี้ก็สามารถสร้างทางรถไฟยกระดับ ในนครต่างๆในญี่ปุ่นที่มีรถไฟความเร็วสูงผ่านก็ผ่านเข้าไปในตัวเมืองทั้งสิ้น เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ไม่ใช่สร้างสถานีใหม่ซึ่งเป็นความสิ้นเปลือง ทำให้ผังเมืองเปลี่ยนแปลงไป เรื่องทรรศนะอุจาดก็เป็นสิ่งที่พึงพิจารณา ไม่ใช่คิดแบบหยุดนิ่งแบบ “คนตายขายคนเป็น” อยู่ถ่ายเดียว เราอาจบูรณะพระปรางค์ให้มั่นคงแข็งแรงขึ้น และปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีกว่าปัจจุบันได้อีกเช่นกัน การอ้างว่าการจะมีรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง ต้องมีระบบขนาดใหญ่ต่างๆนั้น เป็นการคิดแบบราชการ แต่หากคิดตามความเป็นจริงและการมีประสิทธิภาพแบบญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน หรือจีน การย้ายสถานีใหม่คงไม่น่าจะเกิดขึ้นเช่นในกรณีประเทศไทย

กรณีพระปรางค์สามยอด การมีรถไฟรางคู่ หรือต่อไปอาจมีรถไฟความเร็วสูง ก็ไม่ใช่ว่าจะสะเทือนสิ่งก่อสร้างต่างๆ ดูได้ในกรณีตัวอย่างเมืองอื่นๆในต่างประเทศ แต่ถ้าเราบูรณะพระปรางค์ให้ดีก็ใช้งบประมาณไม่มาก ต่ำกว่าค่าย้ายรางรถไฟออกนอกเมืองอย่างเทียบกันไม่ได้ แต่ในอีกแง่หนึ่งการมีพระปรางค์และมีฝูงลิงนับร้อยๆตัวอยู่โดยรอบแบบนี้เป็นสิ่งที่เหมาะสมแล้วหรือไม่ ในต่างประเทศยังมีการย้ายโบราณสถาน ไม่ใช่มีอายุแค่ 400 ปีเช่นพระปรางค์สามยอดที่ถูกทิ้งร้างไว้นาน และกลายเป็นที่ทิ้งขยะไปบางส่วน (https://bit.ly/2N981ED)

ตัวอย่างที่เห็นชัดในประวัติศาสตร์โลกก็มีคือ “อาบูซิมเบล” ซึ่งเป็นมหาวิหารของอียิปต์โบราณ อันประกอบขึ้นจากหินขนาดใหญ่ 2 ก้อน มีลักษณะเป็นรูปปั้นองค์ฟาโรห์ทั้งสี่ ส่วนองค์ที่สองถล่มลงเนื่องจากแผ่นดินไหว ตั้งอยู่ทางใต้ของอียิปต์ บนริมฝั่งตะวันตกของทะเลสาบนัสซอร์ (https://bit.ly/2A8ug53) “อย่างไรก็ตาม มหาวิหารทั้งหมดถูกเคลื่อนย้ายโดยคณะวิศวกรจากสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งใช้เวลาตลอดทั้งทศวรรษที่ 1960 เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อนอัสวาน อันจะส่งผลให้มหาวิหารและโบราณสถานที่รายรอบอยู่ต้องจมอยู่ก้นทะเลสาบนัสซอร์ ปัจจุบันมหาวิหารเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอย่างมากและโด่งดังแห่งหนึ่งของอียิปต์”

มหาวิหารแห่งนี้เก่าแก่มากกว่าโบราณสถานใดๆในประเทศไทย เช่น พระปรางค์สามยอด โดยการก่อสร้างของมหาวิหารทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นประมาณปี 1224 ก่อนคริศตกาล (3,241 ปี นับถึงปี 2562) การย้ายมหาวิหารนี้เป็นเงินสูงถึง 200 ล้านโครนา (SEK) หรือ 656 ล้านบาท แต่ถ้าเป็นในวันนี้จะเป็นเงิน 1,700 ล้านโครนา (SEK) หรือ 5,576 ล้านบาท พอๆกับค่าสร้างรถไฟรางคู่ออกไปนอกเมือง) (https://bit.ly/2MRj5WH) การย้ายทำให้เกิดความยั่งยืน เพราะได้วางแผนให้เป็นที่ตั้งที่เหมาะสม และหลังจากนั้นก็ยังมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวมากขึ้น ถือว่ามากกว่าแต่ก่อนด้วยซ้ำไป กล่าวได้ว่าการย้ายที่ตั้งของมหาวิหารนี้ยิ่งดึงดูดให้มีการท่องเที่ยวมากขึ้น

เราต้องช่วยกันคิดเพื่อประเทศชาติและประชาชนที่กำลังจนกรอบลงไปทุกวัน


You must be logged in to post a comment Login