วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

5 พรรคหนุนปลดอาวุธ คสช.ยื่นรายชื่อต่อสภาพรุ่งนี้

On June 23, 2019

ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ องค์กรภาคประชาชน 23 องค์กร นำโดย โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) สมัชชาคนจน ตัวแทนคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม เครือข่ายสลัมสี่ภาค กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ขบวนการผู้หญิงเพื่อประชาธิปไตย (วีมูฟ) เป็นต้น จัดกิจกรรม “วาระแรกประชาชน ปักหมุด ปลดอาวุธ คสช.” ภายหลังจากนำ 20 รายชื่อ ผู้ริเริ่ม ยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ใช้สิทธิชักชวนประชาชนเข้าชื่อ เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชน และหลักการประชาธิปไตยรวม 35 ฉบับ

โดยนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. 35 ฉบับ ซึ่งปัจจุบัน คสช.ยกเลิกแล้วบางส่วน เหลือ 22 ฉบับ ที่เรายังเสนอให้ยกเลิก โดยที่วันที่ 24 มิถุนายน ทางเครือข่ายจะนำรายชื่อประชาชน 1 หมื่นรายชื่อ ไปยื่นเสนอให้ยกเลิกต่อรัฐสภา

จากนั้น ตัวแทนพรรคการเมือง ประกอบด้วย พล.ท.พงศกร รอดชมพู รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ นายวิโชติ วัณโณ รองหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และนายวิรัตน์ วรศสิริน รองหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ร่วมกันแถลงจุดยืนของแต่ละพรรคต่อร่าง พ.ร.บ.ที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอ

โดย พล.ท.พงศกรกล่าวถึงจุดยืนของพรรคอนาคตใหม่ ว่าเราพยายามหยุดยั้งอำนาจ คสช. ล้มล้างผลพวงรัฐประหาร ซึ่งการจะแก้กฎหมายได้สำเร็จ ภาคประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อที่จะมีข้อสรุปจากทุกฝ่าย ดังนั้น แม้ว่าหลังจากมีรัฐบาลใหม่มาตรา 44 จะหมดไป แต่ 5 ปีที่ผ่านมา คสช. วางกลไกที่จะควบคุมประชาชนไว้ทุกด้าน อาทิ การยึดอำนาจโดย กอ.รมน. ในการควบคุมผู้ว่าราชการจังหวัด การวางกรอบยุทธศาสตร์ 20 ปี เป็นต้น แต่ในความโชคร้ายยังมีความโชคดีที่ตอนนี้ประชาชนตื่นรู้มากขึ้นแล้วจะมาควบคุมสิทธิ เสรีภาพไม่ได้ ประชาชนไม่ยอม เมื่อประชาชนตื่นรู้ สิ่งที่ตามมาเรื่องการแก้กฎหมายจะไม่ใช่เรื่องยาก พรรคอนาคตใหม่จะทำกฎหมายแล้วเดินไปด้วยกันกับประชาชน อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเปลี่ยนระบบการเมืองเราต้องปฏิรูปกองทัพ ต้องเลิกให้ทหารไปด้อมๆ มองๆ บ้านเรือนของประชาชน ดังนั้น ต้องยุติหน้าที่เหล่านั้นที่ซ่อนในกฎหมายหลายฉบับ หากเราดูการยึดอำนาจที่ผ่านมาจะเห็นการค่อยๆ พัฒนาของ กอ.รมน. แปลว่าเรื่องนี้มีการวางแผนอยู่ตลอดเวลาที่จะเอาอำนาจจากประชาชนไป

ด้าน พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า หลังการปฏิวัติเป็นระบอบเผด็จการ มีการสร้างรัฐธรรมนูญขึ้นมาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ทำหน้าที่รับใช้ประชาชน แต่รับใช้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชน เราจึงเห็นว่าหลังการเลือกตั้ง วันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา พรรคการเมืองที่ประกาศตัวสนับสนุนประชาธิปไตย กลับไปร่วมในกระบวนการสืบทอดอำนาจ ซึ่งปกติมาตรฐานคุณธรรม เกียรติยศ สัจจะ เป็นเรื่องสำคัญ ก่อนการเลือกตั้งพรรคการเมืองบางพรรคบอกจะไม่สืบทอดอำนาจประชาชนก็ไปเลือก และไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม สุดท้ายพรรคการเมืองกลุ่มนั้นก็ลืมประชาชน

อย่างไรก็ตาม 7 พรรคฝ่ายค้าน มีอุดมการณ์เหมือนกันคือทำให้บ้านเมืองไปสู่ประชาธิปไตย เพราะเราเห็นว่าการแก้ปัญหาโดยเผด็จการจะมีแต่ความเหลื่อมล้ำ แต่หากแก้ปัญหาด้วยประชาธิปไตยจะนำพาประเทศรุ่งเรือง ซึ่งตนเชื่อว่าประชาชนต้องการระบอบประชาธิปไตย ฉะนั้น ส.ส. พรรคการเมือง และประชาชน ต้องร่วมมือกันนำประชาธิปไตยกลับคืนมาซึ่งไม่ใช่การลงถนน

นายวิโชติกล่าวว่า เรามุ่งมั่นสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เชื่อมั่นว่ามนุษย์มีความเท่าเทียมกัน ดังนั้น อำนาจในการปกครองประเทศจะต้องเป็นของประชาชนทุกคน กฎหมายทุกฉบับต้องเกิดจากประชาชน โดยมีผู้แทนเข้ามามาทำหน้าที่ เพราะเราเชื่อมั่นว่า เมื่อประชาชนออกกฎหมายจะไม่ออกกฎหมายใดเพื่อทำร้ายตัวเอง ตนมีจุดยืนชัดเจนที่จะไม่ยอมรับระบอบเผด็จการ และเห็นว่าคำสั่ง คสช. ประกาศ คสช. ล้วนแต่ออกโดยกลุ่มบุคคล ซึ่งแน่นอนว่าชนชั้นใดออกกฎหมายย่อมเป็นกฎหมายของชนชั้นนั้น โดยไม่ได้เกิดจากรากฐานความต้องการของประชาชน

ทั้งนี้ การที่จะยื่นร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่ง คสช. เป็นความชอบธรรมทั้งปวง จึงขอสนับสนุนเต็มที่ อย่างไรก็ตาม มีคำกล่าวว่า ระบอบเผด็จการไม่ได้ตายไป เมื่อจอมเผด็จการหลุดจากเวทีแต่ว่าเผด็จการยังฝังอยู่ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 279 ทำให้คำสั่ง คสช.ถูกต้องและเป็นอมตะ ตนจึงเห็นว่าคำสั่งทั้งหมดจะต้องถูกลบล้างไป โดยรัฐสภาและประชาชน

ด้าน พล.ท.ภราดรกล่าวว่า เราเห็นพ้องกับประชาชน คือยุติผลพวงการสืบทอดอำนาจ คสช. เราจะขับเคลื่อนขยายผลว่ากฎหมายใดเป็นผลพวงจากการสืบทอดอำนาจจะต้องยุติทั้งหมด ตราบใดที่รัฐธรรมนูญระบุว่าอำนาจธิปไตยเป็นของปวงชนจะไม่มีทางตันแน่นอน ขอให้ประชาชนมั่นใจ แม้ว่าเราจะเจอสถานการณ์ที่ขลุกขลักไปบ้าง เป็นเพราะเราเจอผู้นำที่ไร้ซึ่งสปิริต และไร้ซึ่งสัจจะ วาจา แต่เมื่อมีรัฐบาลที่สมบูรณ์แบบแล้ว นั่นคือการนับเวลาถอยหลังของพวกเขา ที่ผ่านมา คสช.ใช้อำนาจในการออกคำสั่งต่างๆ ใช้ความฉ้อฉล ความแยบยล โดยใช้คำสั่ง คสช.ไปซ่อนไว้ในกฎหมายปกติ เช่น อำนาจ กอ.รมน. ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ที่นำคำสั่ง คสช.ที่ 51/60 มาแก้ไขให้กอ.รมน.สามารถใช้อำนาจเรียกบุคคลเข้ามาให้ข้อมูลได้ แต่ประชาชนไม่ต้องกังวล เพราะเมื่อเป็น พ.ร.บ.แล้วจะสามารถแก้ไขได้โดยรัฐสภาอีกไม่นานเกินรอ ซึ่งเงื่อนไขที่จะระงับยับยั้งคงลำบาก เพราะมีกระบวนการที่ประชาชนจะดำเนินการได้อยู่ดี

พล.ท.ภราดรกล่าวต่อว่า ส่วน พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในฯ ปัจจุบันเราเกิดการผลิตซ้ำทางความคิดของปีกผู้มีอำนาจ ที่พยายามทำความเข้าใจว่าการรักษาความมั่นคงภายในเป็นภารกิจของทหาร แต่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย การรักษาความมั่นคงภายในเป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และพลเรือน แต่ประเทศไทยพยายามเอาภารกิจนี้ไปเป็นของทหาร ทั้งที่ภารกิจหลักของทหาร คือการเตรียมกำลังกับใช้กำลังเพื่อไปรบกับศัตรูนอกประเทศ ส่วนภารกิจรอง คือการบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งมีความพยายามเอาภารกิจรองมาเป็นภารกิจหลักของทหาร โดยนำมาซ่อนไว้ใน พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในฯ


You must be logged in to post a comment Login