วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

DPU X โดย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ติดอาวุธความรู้ ปั้นนักพัฒนาบล็อกเชนในไทย

On June 14, 2019

“บล็อกเชน” (Blockchain) เทคโนโลยีที่ร้อนแรงและได้รับการกล่าวถึงอย่างมากในช่วง 1-2 ปีมานี้ ความสำคัญของเทคโนโลยีนี้คืออะไร?  และเข้ามาเสริมศักยภาพการทำงานของภาคธุรกิจและหน่วยงานรัฐได้มากน้อยแค่ไหน?

ด้วยจุดเด่นของบล็อกเชนในเรื่องหลักๆ โดยเฉพาะด้านความปลอดภัย (Secure) และความน่าเชื่อถือข้อมูลที่จัดเก็บเอาไว้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงได้

บล็อกเชน ยังมีข้อดีในเรื่องที่ไม่มีศูนย์กลาง (Decentralized) ในการจัดเก็บข้อมูล ดังนั้น ระบบจึงต้องฟังความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ในการตรวจสอบข้อมูล Transaction ที่เกิดขึ้น

จากการทำงานในคอนเซ็ปต์ดังกล่าวทำให้ภาคธุรกิจเริ่มมองว่า เป็นรูปแบบที่จะเข้ามาช่วยลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับระบบหลังบ้าน ลดปริมาณงานด้านเอกสาร ช่วยในการจดจำข้อมูล ติดตาม โอนย้ายข้อมูล สร้างความถูกต้องและตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับ ทั้งยังมองถึงการเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจในอนาคต

ในวันนี้ธุรกิจทั่วโลกเริ่มนำบล็อกเชนเข้ามาพัฒนางานต่างๆ ของธุรกิจกันมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงธุรกิจในไทย เช่น สถาบันการเงิน โดยมีการคาดการณ์ว่าการนำบล็อกเชนมาใช้งานในองค์กรธุรกิจจะเริ่มขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต ในขณะที่มองกลับมาอีกด้านจะพบว่าโปรแกรมเมอร์ที่มีความรู้เกี่ยวกับบล็อกเชนนั้นยังมีจำนวนไม่มากนักในไทย ซึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นแนวคิดการพัฒนาหลักสูตร บล็อกเชนระดับประเทศ Geeks on the Block(Chain) Batch#1 ขึ้นมา  โดย DPU X มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  (มธบ.)  มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะสร้าง Developer ที่มีความรู้ด้านบล็อกเชน และสามารถนำกลับไปพัฒนาองค์กรของตนเองเมื่ออบรมจบหลักสูตร

2

ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการ DPU X มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนไปใช้งานในภาคธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐนับว่ายังอยูในวงเล็กๆ แต่แนวโน้มในอนาคตแล้วเชื่อว่าบล็อกเชนจะเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่มีการนำไปใช้งานในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ

หากมองย้อนกลับไปในยุคแรกๆ ของอินเทอร์เน็ตที่เริ่มมีการใช้งานในระดับหนึ่งเท่านั้นจนเมื่อถึงวันที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเพื่อให้การใช้งานมากขึ้นในวงกว้าง เทคโนโลยีบล็อกเชนก็เช่นกัน

สิ่งที่ต้องเร่งทำในตอนนี้ก็คือเร่งพัฒนาคนที่มีทักษะและเข้าใจการทำงานของบล็อกเชน ไม่ใช่แค่คิดได้ แต่ต้องสามารถทดสอบไอเดียจนถึงการสร้างเป็นโปรเจ็คที่ใช้งานจริงได้

“ทุกคนคิดได้ แต่เวลาทำจริง จะมีข้อจำกัดหลายส่วนให้ต้องพิจารณา ทั้งเทคโนโลยี บิสิเนส วันนี้ Developer  ที่มีความรู้และเข้าใจในคอนเซ็ปต์ของบล็อกเชนในไทยยังมีอยู่น้อย แต่ละองค์กรยังต้องการคนที่มีความรู้ทางด้านนี้เข้าไปทำงาน  เมื่อถึงเวลา อยู่ที่ใครพร้อมกว่าจะคว้าโอกาสได้ก่อน”

ในคลาสนี้ ผู้เรียนสามารถเข้าใจถึงพื้นฐานและแนวคิดของระบบ Blockchain สามารถเขียนโค้ด Blockchain เรียนรู้การทำงานทั้ง Hyperledger และ Ethereum

ปิดท้ายด้วยโปรเจครีวิวโดย Mentors แบบ Project by Project ในแง่ของธุรกิจ, User Experience และการใช้งานเชิงเทคนิค โดยผู้เข้าอบรบสามารถนำความรู้ไปประกอบธุรกิจหรือสร้างคุณค่าให้กับองค์กรได้ทันทีที่เรียนจบ

โดยตลอดการจัดอบรมจะได้รับความรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน นำโดย ดร.ภูมิ ภูมิรัตน์ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่มาเป็นวิทยากรและผู้ออกแบบหลักสูตร รวมถึงวิทยากรสายตรงด้านบล็อกเชน อาทิ นายสถาพน พัฒนะคูหา CEO & Founder, SmartContract และ BlockM.D.และรองนายกสมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย หนึ่งในในผู้เชี่ยวชาญแถวหน้าของเมืองไทยด้านบล็อกเชน และ ดร.สิริวัฒน์ เกษมวัฒนาโรจน์ Advance Visionary Architect at KASIKORN Labs   ที่มาคอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดตลอดหลักสูตร

3

ดร.ภูมิ ภูมิรัตน์ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวเสริมว่า ในวันนี้ บล็อกเชน เป็นเทคโนโลยีที่คนเข้าใจยังมีน้อย อีกทั้งยังเป็นเทคโนโลยีที่เอาไปใช้จริงได้ยาก เพราะเอาไปใช้โจทย์เชิงโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรู้อยู่แล้วว่ายาก ทำให้เห็นว่า บล็อกเชน เป็นการนำไปใช้เพื่อสร้างสิ่งใหม่ มากกว่าการแก้ปัญหา ทั้งนี้ ข้อดีของเทคโนโลยีบล็อกเชน คือ เทคโนโลยีอื่นๆไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างได้เท่าบล็อกเชน เรียกว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ในยุคนี้ที่ให้อำนาจกับคนที่มีอำนาจน้อยกว่า ทั้งยังเป็นเทคโนโลยีที่เข้าถึงได้ทุกคน เมื่อใช้งานแล้วมีการรวมเอาอำนาจของทุกคนมาไว้ด้วยกัน ขณะที่เทคโนโลยีอื่นๆมักจะให้อำนาจกับคนที่มีอำนาจเยอะอย่าง AI หรือ ควอนตัม หากจะทำต้องลงทุนค่อนข้างสูง นอกจากด้านธุรกิจแล้วก็ยังมีความสนใจนำบล็อกเชนเข้าไปแก้ปัญหาทางสังคมเช่น แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

4


You must be logged in to post a comment Login