วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

อะไรก็ฉุดไม่อยู่

On June 4, 2019

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 4 มิ.ย.62)

การจัดตั้งรัฐบาลที่ดูเหมือนว่ามีปัญหาบ้าง แต่ในที่สุดก็จะเรียบร้อยโรงเรียนพรรคพลังประชารัฐ เมื่อฝ่ายคุมอำนาจไม่ให้ราคากับทุกการต่อรอง ทุกคำขู่ แถมยังส่งเสียงคำรามกลับชนิดพวกหนูที่คิดจะแหย่ราชสีห์ต้องหงอไปตามๆกัน นักการเมืองต้องไม่ลืมว่าแม้จะมีเลือกตั้งแล้ว มีประธานสภาแล้ว มีนายกรัฐมนตรีแล้ว ตราบใดที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ยังไม่ได้เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณ คสช. ก็ยังอยู่ หัวหน้า คสช. ก็ยังมีอำนาจเต็มมือ แถมมีทีเด็ดตรงที่กติกาอย่างรัฐธรรมนูญเขียนรองรับไว้ทุกปัญหาให้หาทางออกได้

การรวมเสียง ส.ส. จัดตั้งรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐแม้จะออกอาการเครื่องรวนไปบ้าง แต่สุดท้ายเชื่อว่าปิดจ๊อบได้อย่างไร้ปัญหา

หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรอย่างเป็นทางการแล้ว ทุกอย่างจะเดินหน้าต่อไปตามกรอบเวลาที่ควรจะเป็น

การนัดประชุมเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีน่าจะมีขึ้นได้ช่วงปลายสัปดาห์หน้า ซึ่งพรรคพลังประชารัฐและบรรดา ส.ว. ที่เป็นลิ่วล้อของ คสช. ก็ส่งสัญญาณชัดเจนแล้วว่า “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแบบไร้คู่แข่ง

แม้ฝ่ายพรรคเพื่อไทยเตรียมตีรวนด้วยการอภิปรายเรื่องคุณสมบัติที่อาจขัดรัฐธรรมนูญเรื่องความเลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารมาก่อน

แต่เชื่อว่าไม่เป็นอุปสรรค ต่อให้ยื่นตีความคุณสมบัติก็เชื่อได้ว่าผ่านฉลุย

เมื่อ “ลุงตู่” นอนมาแบบไร้คู่แข่ง แถมพร้อมเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยหากพรรคประชาธิปัตย์เล่นตัวไม่ยอมมาหมดทั้งพรรค ทำให้พรรคอื่นที่ทำเสียงเขียวก่อนหน้านี้ต้องอ่อนลง

ทั้งนี้เพราะสัญญาณที่ส่งออกมาจากพรรคพลังประชารัฐนั้นมีทั้งขู่ทั้งปลอบพรรคอื่นไปในตัว

ยกตัวอย่างเช่น กรณีมีพวกวงในออกมาเปรยทำนองว่า “ลุงตู่” ภาค 2 จะเข้มเรื่องการตรวจสอบทุจริตมากขึ้น โดยเฉพาะกับนักการเมือง

แม้ไม่พูดตรงๆว่าจะเข้มงวดตรวจสอบกับนักการเมืองฝ่ายไหน แต่ที่ผ่านมาก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าถ้าไม่ใช่พวกโดนจัดหนักแน่นอน เพียงเท่านี้นักการเมืองประเภทวัวสันหลังหวะทั้งหลายก็เสียงอ่อยลงไปเยอะ

ไม่ใช่แต่นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม แม้แต่ในพรรคเดียวกันเองที่ทำขึงขังประกาศจองเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ก็เริ่มเสียงอ่อยลงเหมือนกัน

ที่สำคัญนักการเมืองต้องไม่ลืมว่าแม้จะมีเลือกตั้งแล้ว มีประธานสภาแล้ว มีนายกรัฐมนตรีแล้ว ตราบใดที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ยังไม่ได้เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณ คสช. ก็ยังอยู่ หัวหน้า คสช. ก็ยังมีอำนาจเต็มมือ

แถมมีทีเด็ดตรงที่กติกาอย่างรัฐธรรมนูญเขียนรองรับไว้ทุกปัญหาให้หาทางออกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ ส.ว. ที่เสนอแต่งตั้งโดย คสช. มีอำนาจร่วมโหวตเลือกนายกฯในช่วง 5 ปีแรกของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

เดิมทีตั้งใจจะเอาไว้โหวตให้เป็น 2 สมัย รวม 8 ปี แต่เมื่อผิดคาดเรื่องผลเลือกตั้งที่อาจทำให้สมัยแรกอยู่ไม่ครบ 4 ปี แต่ ส.ว.ลิ่วล้อบางคนก็ออกมาประกาศชัดเจนแล้วว่าไม่มีปัญหา พ้นตำแหน่งได้ก็โหวตกลับมาเป็นนายกฯใหม่ได้

อะไรมาฉุดก็ไม่อยู่


You must be logged in to post a comment Login