วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

ตามหานักสำรวจ

On May 31, 2019

คอลัมน์ : ร้ายสาระ

ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 31 พฤษภาคม-7 มิถุนายน 2562 )

ทีมนักสำรวจเดินทางเข้าไปในดินแดนที่ไม่มีใครเคยรู้จักมาก่อนก่อนจะหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย พบแต่เพียงข้าวของเครื่องใช้และเครื่องหมายสัญลักษณ์บนต้นไม้กระจายอยู่ตามที่ต่างๆจนจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าพวกเขาใช้เส้นทางใด และเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา

ลุดวิก ไลช์ฮาร์ต เป็นชาวเยอรมัน สนใจด้านวิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยา ช่วงระหว่างปี 1831-1836 เขาศึกษาศาสตร์หลายแขนง ตั้งแต่ปรัชญา ภาษาศาสตร์ เภสัชกรรม สรีรวิทยา ธรณีวิทยา ตลอดไปจนถึงวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ที่มหาวิทยาลัยกอทิงเกนและมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน ก่อนจะเดินทางมาเรียนต่อที่อังกฤษในปี 1837

ลุดวิกเชี่ยวชาญทางด้านภาษาศาสตร์เป็นพิเศษ สามารถพูด เขียน และอ่านได้ 6 ภาษา แต่เขาไม่ได้รับปริญญา เพราะเขาเลือกเดินตามเส้นทางที่เขาให้ความสนใจมากกว่าสิ่งอื่นใดก่อนที่จะเรียนจบ นั่นคือการสำรวจโลก อย่างไรก็ตาม จากการที่เขารอบรู้ในหลากหลายสาขาวิชาทำให้ผู้คนรอบข้างยกย่องเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์

แม้จะไม่มีปริญญาแต่ลุดวิกก็สามารถหางานทำได้ในหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี และสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนที่จะเดินทางมายังเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ในปี 1842 ด้วยความฝันว่าจะศึกษาพันธุ์พืชและสัตว์ที่ชาวยุโรปหรือแม้แต่คนออสเตรเลียเองก็ไม่เคยรู้จักมาก่อน

เริ่มจากศูนย์

ลุดวิกเริ่มต้นใช้เวลาคลุกคลีกับชนพื้นเมืองอะบอริจินที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำฮันเตอร์ เพื่อเรียนรู้ภาษาอะบอริจิน การทำไร่ ทำสวนของชนพื้นเมือง พร้อมกับศึกษาพันธุ์พืชและสัตว์บริเวณริมฝั่งแม่น้ำ ลุดวิกไม่ได้ปักหลักอยู่กับที่ แต่เขาเดินทางไปเรื่อยๆ จากเมืองนิวคาสเซิล ไปยังรัฐนิวเซาท์เวลส์ เลยไปจนถึงเมืองมอร์ตันเบย์ในรัฐควีนส์แลนด์

การศึกษาอย่างจริงจังตลอดระยะเวลา 2 ปี ทำให้ชาวออสเตรเลียเริ่มรู้จักชื่อเสียงเรียงนามของลุดวิกในฐานะนักธรรมชาติวิทยาที่เก่งกาจสามารถ ปี 1844 ลุดวิกตัดสินใจเขียนโปรเจกต์แผนการสำรวจพื้นที่จากเมืองมอร์ตันเบย์ไปยังเมืองพอร์ตเอสซิงตัน ระยะทาง 4,800 กิโลเมตร เสนอต่อรัฐบาลออสเตรเลียเพื่อขอเงินทุนสนับสนุน

พื้นที่ดังกล่าวเป็นดินแดนทุรกันดาร ไม่เคยมีการสำรวจมาก่อน แต่รัฐบาลออสเตรเลียปฏิเสธให้การสนับสนุน อย่างไรก็ตาม ลุดวิกไม่ละความตั้งใจ เขาควักกระเป๋าตัวเอง รวบรวมผู้ร่วมอุดมการณ์ได้จำนวนหนึ่ง ออกเดินทางสำรวจดินแดนที่แม้แต่ชาวออสเตรเลียเองก็ไม่รู้จัก

การสำรวจเป็นไปอย่างยากลำบาก ไม่เพียงเพราะเป็นถิ่นทุรกันดารเท่านั้น นักสำรวจมีเสบียงอาหารไม่เพียงพอ พวกเขาต้องเดินทางอย่างอดๆอยากๆนานถึง 7 เดือน ฝ่าดงต้นไม้พิษ สัตว์ร้าย และชาวอะบอริจินที่ดุร้าย ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ตอนใน

ช่วงเวลาใกล้เคียงกันมีกลุ่มนักปักษีวิทยา นำทีมโดยจอห์น กิลเบิร์ต พวกเขาพบกันโดยบังเอิญเมื่อเดือนกันยายน 1844 ตอนแรกจอห์นและลุดวิกวางแผนว่าจะออกสำรวจร่วมกัน แต่เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายนลุดวิกเปลี่ยนใจ โดยเห็นว่าผู้คนมากไปไม่สะดวกต่อการสำรวจ เห็นควรให้ต่างคนต่างไปจะดีกว่า

วันที่ 28 มิถุนายน 1845 กลุ่มของจอห์นถูกชาวอะบอริจินบุกเข้าโจมตีขณะนอนหลับในแคมป์บริเวณคาบสมุทรเคปยอร์ก จอห์นถูกสังหารด้วยหอกเสียชีวิตทันที ผู้ร่วมคณะเดินทางได้รับบาดเจ็บ 2 คน

ชนะใจรัฐบาล

เดือนมีนาคม 1846 ลุดวิกเดินทางถึงเมืองซิดนีย์ ผ่านดินแดนที่มีคนกล่าวว่าใครก็ไม่สามารถเข้าไปแล้วออกมาได้อย่างปลอดภัย คณะสำรวจอยู่ในอาการอ่อนล้าและอดอยาก โดยขาดสมาชิกไปเพียงคนเดียวเนื่องจากเสียชีวิตระหว่างทาง

เป็นการสำรวจที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะลุดวิกไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆจากรัฐบาลออสเตรเลีย เขาทำสำเร็จเพราะมีใจเกินร้อย ความสำเร็จครั้งนี้ทำให้ลุดวิกได้รับการยกย่องว่าเป็น “เจ้าชายนักสำรวจ” ทำให้รัฐบาลออสเตรเลียใจอ่อนให้งบประมาณสนับสนุนในการสำรวจครั้งต่อไป

ปลายปีเดียวกันลุดวิกออกเดินทางสำรวจทวีปออสเตรเลียอีกครั้ง คราวนี้เขาได้เงินทุนจากรัฐบาลออสเตรเลียและจากเอกชนที่ศรัทธา เป้าหมายคือเขตดาร์ลิ่งดาวน์ในรัฐควีนส์แลนด์ เลาะตามแม่น้ำสวอนไปยังเมืองเพิร์ทซึ่งอยู่ทางตะวันตกของทวีป เรียกว่าสำรวจข้ามทวีปเลยทีเดียว

ลุดวิกกล้าออกสำรวจระยะทางไกลขนาดนั้นก็เพราะคราวนี้เขามีทั้งเสบียงและกำลังคนเพียบพร้อม แต่ความคาดหมายของลุดวิกผิดถนัด คณะสำรวจเจอพายุฝนและไข้ป่า ม้าที่ใช้เป็นพาหนะล้มตาย เช่นเดียวกับวัวที่ใช้ขนลากเสบียง ตัวลุดวิกเองก็โดนไข้ป่าเล่นงาน คณะสำรวจจำใจต้องเดินทางกลับหลังจากเดินทางไปได้เพียง 800 กิโลเมตร

ได้กำลังใจ

รายงานบันทึกเส้นทางจากการสำรวจคราวก่อนทำให้สมาคมภูมิศาสตร์แห่งปารีสมอบเหรียญ Patron ซึ่งเป็นรางวัลชั้นสูงสุดมอบให้แก่ผู้ที่ค้นพบภูมิศาสตร์ที่สำคัญ สิ่งนี้ทำให้ลุดวิกมีกำลังใจ ตัดสินใจออกสำรวจอีกครั้ง คราวนี้เขาเลือกใช้เส้นทางผ่ากลางทวีป ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่โหดที่สุดของทวีปออสเตรเลีย

เดือนเมษายน 1848 รวบรวมคณะสำรวจได้ชาวยุโรป 5 คน ไกด์นำทางชาวอะบอริจิน 2 คน ม้า 7 ตัว ลา 20 ตัว และวัว 50 ตัว พร้อมกับเสบียงและเครื่องใช้ที่จำเป็นจำนวนมาก คาดว่าการสำรวจครั้งนี้จะใช้เวลาราว 2-3 ปี

ไม่มีใครรู้ว่าคณะสำรวจดำเนินไปจนกระทั่งถึงปี 1851 ซึ่งสมควรแก่เวลาที่คณะสำรวจจะเดินทางถึงเมืองเพิร์ท แต่ก็ไม่มีวี่แววของคณะสำรวจแต่อย่างใด พอถึงปี 1852 คณะสำรวจก็ยังไม่โผล่ รัฐบาลออสเตรเลียจึงจัดตั้งหน่วยค้นหาออกติดตาม

ทีมค้นหาพบเครื่องหมาย “L” ทับลงบนตัวอักษร “XVA” บนต้นไม้ต้นหนึ่ง ในสมัยนั้นนักสำรวจนิยมสลักตัวย่อชื่อสกุลไว้บนต้นไม้ใหญ่เพื่อเป็นหลักฐานว่าคณะสำรวจได้เดินทางผ่านเส้นทางนี้ แต่ทีมค้นหาไม่เข้าใจว่าทำไมถึงมีตัวอักษร “XVA” อยู่ด้วย และมันหมายถึงอะไรกันแน่ นอกจากนี้แล้วก็ไม่พบอะไรอีกเลย

ไปแล้วไปลับ

ปี 1858 เซอร์ออกัสตุส เกรกอรี นำทีมสำรวจออกตามรอยลุดวิก เขาพบเครื่องหมาย “L” บนต้นไม้หลายต้นในที่ต่างๆ ปี 1864 นักสำรวจดันแคน แมคอินไทร์ พบเครื่องหมาย “L” บนต้นไม้ 2 ต้นริมฝั่งแม่น้ำฟลินเดอร์ การพบเครื่องหมาย “L” ในสถานที่แตกต่างกันทำให้เกิดความสับสนว่าลุดวิกใช้เส้นทางใดกันแน่ ทำไมเครื่องหมายถึงสะเปะสะปะอยู่หลายที่

การค้นหาทีมสำรวจลุดวิกมีขึ้นอย่างน้อย 14 ครั้ง แต่ไม่มีใครพบเบาะแสใดๆเลย จนกระทั่งในปี 1896 นักสำรวจเดวิด คาร์เนกี พบชาวอะบอริจินนำฝากล่องไม้ขีดทำจากโลหะและชิ้นส่วนโลหะจากอานม้ามาให้ดู พร้อมกับบอกว่ามีคนขาวให้เขามาเมื่อหลายปีก่อน

สิ่งที่พบยังไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัดว่าเป็นของคณะสำรวจลุดวิก ปี 1900 คนงานชาวอะบอริจินคนหนึ่งพบปืนลูกซองสั้นมีรอยถูกไฟไหม้ติดอยู่กับต้นบาวบาบ บนด้ามปืนมีแผ่นทองเหลืองสลัก “LUDWIG LEICHHARDT 1848” และต้นบาวบาบมีเครื่องหมาย “L” สลักที่โคนต้น

ต้นบาวบาบดังกล่าวอยู่ในทะเลทรายเกรทแซนดี้ทางด้านตะวันตกของทวีปออสเตรเลีย เป็นระยะทาง 2 ใน 3 ของเส้นทางที่สุดวิกใช้ เท่ากับว่าคณะสำรวจเดินทางมาถึงจุดนี้เป็นอย่างน้อย แต่นั่นก็ยังไม่ใช่คำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นกับคณะสำรวจลุดวิก การค้นหาในทะเลทรายเกรทแซนดี้ทำได้ยาก เพราะมีพื้นที่กว้างมากถึง 284,993 ตารางกิโลเมตร การหายไปของคณะสำรวจลุดวิกโดยแทบจะไม่ทิ้งหลักฐานใดให้ตามสืบได้จึงยังคงเป็นปริศนาจวบจนทุกวันนี้

1

1.ลุดวิก ไลช์ฮาร์ต

2

2.ลุดวิกเดินทางสำรวจพันธุ์พืชและสัตว์

3

3.เพิงที่พักของลุดวิก

4

4.บันทึกการสำรวจลายมือลุดวิก

5

5.พื้นที่ใจกลางทวีปออสเตรเลียเป็นถิ่นทุรกันดาร

6

6.ทะเลทรายเกรทแซนดี้

7

7.เครื่องหมาย “L” บนต้นไม้

8

8.เครื่องหมายบนต้นไม้

9

9.ต้นบาวบาบ

10

10.แผ่นทองเหลือง “LUDWIG LEICHHARDT 1848”


You must be logged in to post a comment Login