วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

องค์กรอิสระ!!??

On May 27, 2019

คอลัมน์ : ฉุก(ละหุก)คิด

ผู้เขียน : นายหัวดี

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 27 พ.ค. 62)

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 9 ต่อ 0 รับพิจารณาวินิจฉัยการสิ้นสุดสภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” กรณีถือหุ้นสื่อบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด และมีมติ 8 ต่อ 1 ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

“ธนาธร” แถลงหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “ทุกคนอาจจะสิ้นหวัง หมดหวัง เมื่อได้ยินข่าวการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญช่วงบ่ายที่ผ่านมานี้ แต่ผมอยากบอกว่าเวลานี้ไม่ใช่เวลาแห่งการสิ้นหวัง แต่เป็นเวลาที่จะเปิดโปงความชั่วร้ายของระบอบเผด็จการ สิ่งที่เกิดขึ้นคือความอยุติธรรม”

“ธนาธร” ยังเรียกร้องประชาชนที่รักความยุติธรรมให้ยืดหน้าอย่างสง่าผ่าเผย ลุกขึ้นยืนและต่อสู้ร่วมกันเพื่อทวงคืนความยุติธรรมกลับสู่สังคมไทย “ในเมื่อพวกเขาไม่ให้ผมเข้าสภา ผมก็จะอยู่กับประชาชน”

iLaw รายงานว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน 9 คน ประกอบด้วย นายนุรักษ์ มาประณีต (ประธานศาลรัฐธรรมนูญ) นายจรัญ ภักดีธนากุล นายชัช ชลวร นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายบุญส่ง กุลบุปผา นายปัญญา อุดชาชน นายวรวิทย์ กังศศิเทียม และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี

ที่น่าสนใจคือ 7 ใน 9 ตุลาการมาจากระบบคัดเลือกของ คสช. และทั้งหมดอายุเกิน 60 ปี เพราะหลังจากรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ และประกาศใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระบางแห่งถูก “เซตซีโร่” แต่ศาลรัฐธรรมนูญยังอยู่ต่อไป ส่วนตุลาการที่หมดวาระแล้ว คสช. ก็ใช้ “มาตรา 44” ยืดอายุให้ปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีการเรียกประชุมสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง ทำให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คนอยู่ในตำแหน่งนานเกิน 11 ปี ซึ่งมีอำนาจวินิจฉัยคดีต่างๆเกี่ยวกับการเลือกตั้งและยุบพรรคการเมือง

กระบวนการสรรหาได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ตามมาตรา 8 ของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งให้เริ่มใช้ปี 2561 ประกอบด้วย 3 คนต้องมาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 2 คนมาจากตุลาการศาลปกครองสูงสุด ซึ่งคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด 1 คนมาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 1 คนมาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ และอีก 2 คนมาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่รับหรือเคยรับราชการ

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปัจจุบัน 9 คนในยุค คสช. และยุคก่อน คสช. อย่างน้อย 2 คนที่เคยทำงานกับ คสช.

ตุลาการ 5 คน “มาตรา 44” ยืดอายุให้ปฏิบัติหน้าที่และอยู่ในตำแหน่งเกิน 11 ปี มีแค่ 2 คนที่ไม่ได้มาจากการเข้าแทรกแซงของ คสช. ได้แก่ นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายวรวิทย์ กังศศิเทียม อดีตข้าราชการอัยการและตุลาการศาลปกครอง

หลายฝ่ายจึงจับตามองการทำหน้าที่ของ “องค์กรอิสระ” ภายใต้ “ระบอบ คสช.” โดยเฉพาะคณะกรรมการการเลือกตั้งและศาลรัฐธรรมนูญ!!??


You must be logged in to post a comment Login