วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

‘ไขมันพอกตับ’ภัยเงียบ กว่าจะรู้ตัวอาจสายเกินไป

On May 24, 2019

คอลัมน์ : โลกสุขภาพ

ผู้เขียน : พญ.ปิติญา รุ่งภูวภัทร โรงพยาบาลพระรามเก้า

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 24-31 พฤษภาคม 2562 )

ปัจจุบันผู้คนสามารถเกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ง่ายขึ้น ยิ่งโรคที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการรับประทานยิ่งพบเจอได้ง่าย เวลาตรวจสุขภาพต้องมานั่งลุ้นว่าโคเลสเตอรอลจะเกินไหม ไตรกลีเซอไรด์จะพุ่งหรือไม่ โดยเฉพาะค่าน้ำตาลในเลือดที่มีผลให้เกิดความเสี่ยงสารพัดโรค นอกจากโรคเบาหวานแล้ว ยังมีอีกหนึ่งโรคที่น่ากลัวไม่แพ้กันคือ ไขมันพอกตับ ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถนำไขมันที่รับประทานแล้วไปใช้ได้หมด จนทำให้เกิดการสะสมอยู่ที่ตับ

ไขมันพอกตับเป็นภัยเงียบ เนื่องจากผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวว่าตับมีความผิดปรกติ เพราะส่วนใหญ่ไม่มีอาการใดๆ มักตรวจพบและได้รับการวินิจฉัยเมื่อมาตรวจสุขภาพประจำปี อาจมีอาการอ่อนเพลียควบคู่ไปด้วย มีอาการจุกแน่นบริเวณชายโครงขวา ภาวะไขมันพอกตับโดยส่วนใหญ่มักพบในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง กลุ่มอาการอ้วนลงพุง ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวมาก ชอบรับประทานอาหารหวาน ไม่ออกกำลังกาย และโดยส่วนใหญ่ไขมันพอกตับระยะแรกมักไม่มีอาการ แต่หากปล่อยทิ้งไว้จนเกิดการอักเสบเรื้อรังอาจทำให้กลายเป็นตับแข็ง และเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งตับได้

นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันพอกตับพบความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้มากกว่าผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะไขมันพอกตับ ซึ่งภาวะนี้เกิดจากร่างกายไม่สามารถนำไขมันที่เรารับประทานไปใช้ได้หมด ส่วนใหญ่ผู้ป่วยไม่มีอาการจึงอาจทำให้ไม่ทราบว่าตัวเองกำลังอยู่ในภาวะไขมันพอกตับ ดังนั้น การตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีหรือทุก 6 เดือน จะช่วยให้พบความผิดปรกติของตับได้เร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะไขมันพอกตับสามารถตรวจเจอในระยะแรกๆ สามารถตรวจพบได้ผ่านการตรวจเลือด อัลตราซาวนด์ หรือการตรวจด้วยเครื่อง FibroScan

วิธีการป้องกัน ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว หรืออาหารที่มีไขมันทรานส์สูง เช่น เนื้อติดมัน เบคอน แฮม น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว เบเกอรี่ ครีมเทียม หลีกเลี่ยงน้ำตาลฟรุกโตส เช่น เครื่องดื่มที่มีรสหวาน คุกกี้ ลูกอม น้ำผลไม้ (ควรรับประทานผลไม้ทั้งผลมากกว่า) และแนะนำว่าควรรับประทานไขมันดี เช่น น้ำมันมะกอก อโวคาโด ถั่วต่างๆ ปลาทู ปลาแซลมอน ปลาทูน่า และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อย 4-5 วันต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30-45 นาที

หากใครอยู่ในเกณฑ์อ้วน คือมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ให้ลดน้ำหนักตัว สามารถปรึกษาแพทย์ได้ว่าควรจะมีน้ำหนักประมาณเท่าไร ลดการดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 5-6 ชั่วโมงต่อวัน และควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เป็นต้น

 


You must be logged in to post a comment Login