วันพฤหัสที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2567

11องค์กรย้ำการใช้ยากัญชารักษาผู้ป่วยเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน

On May 22, 2019

จากกรณีที่ 11 องค์กร อาทิ มูลนิธิข้าวขวัญ มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมจับมือเสนอ “ปลดกัญชาออกจากยาเสพติดเพื่อการแพทย์” ผลักดันกัญชาเพื่อการรักษาโรค/ให้ออกจากบัญชียาเสพติด และเพื่อระดมทุนช่วยสนับสนุนให้การผลิตกัญชาที่ใช้กับผู้ป่วยเกิดขึ้นจริง ด้วยวิธีการ “เดินเพื่อผู้ป่วย” ซึ่งมีเส้นทางจากวัดป่าโพธิญาณ จ.พิจิตร ถึงวัดบางปลาหมอ จ.สุพรรณบุรี ระหว่างวันที่ 21 พฤษภาคม-9 มิถุนายน เพื่อประกาศเจตนารมณ์ว่าการใช้ยากัญชาเพื่อรักษาเยียวยาผู้ป่วย เป็นสิทธิและศีลธรรมขั้นพื้นฐาน ที่สืบทอดยาวนานมากว่า 300 ปี

นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ กล่าวในงานเสวนาเกี่ยวกับสิทธิและความสำคัญของการเข้าถึงยากัญชา ณ วัดบ้านหนองบัว อ.โพทะเล จ.พิจิตร ว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังสงสัยว่ากัญชามีคุณสมบัติในการรักษาโรคได้จริงหรือ หากนำมาใช้ได้จริงก็กลัวลูกหลานจะแอบนำไปเสพ และอาจทำให้เกิดเหตุร้ายแรงขึ้น ดังนั้นเราต้องกันในสิ่งที่คนกลัว โดยเสนอให้เอากัญชาออกจากยาเสพติดแล้วเปลี่ยนเป็นพืชสมุนไพรควบคุมแทน กัญชามีประโยชน์มหาศาลราคาไม่แพง ถ้าประชาชนไม่ออกมาต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อประชาชนก็จะไม่เกิด สุดท้ายนี้หากเรามองด้วยธรรมะ เอากัญชามาเป็นทานรักษาคนเจ็บป่วย เราจะต้องสู้เพื่อมัน แต่ถ้าเราจะหวังเพื่อความร่ำรวยเพื่อค้าขายแข่งกับต่างชาติ มันจะนำไปสู่ความโลภและความทุกข์ เราต้องต่อสู่เพื่อความถูกต้อง สู้กับความโลภของคนบางกลุ่มซึ่งเชื่อว่าธรรมะย่อมชนะอธรรมแน่นอน

นางรสนา โตสิตระกูล กรรมการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจในกัญชาคือ การนำมารักษาโรคและอาการต่างๆ เช่น อาการนอนไม่หลับ โรคมะเร็ง และโรคไมเกรน ที่ผ่านมามีคนเข้ามาขอกัญชาเพื่อรักษาอาการดังกล่าวมามากมายแต่เราไม่มีให้ อย่างไรก็ตาม กัญชาเป็นสิ่งที่เกิดมาโดยเสรีเพื่อมนุษยชาติแต่ขณะนี้ถูกโซ่ตรวนไว้ แม้ภาครัฐออกกฎหมายมาเพื่อคลายล็อค อนุญาตให้กัญชาเป็นยารักษาโรคแต่ไม่อนุญาตให้ปลูก ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่า ถ้ากัญชาเป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้จะส่งผลให้อุตสาหกรรมผูกขาดทั้งหลายได้รับผลกระทบหรือไม่

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เมื่อเรากล่าวถึงกัญชาจะมีความคาดหวังอยู่ 2 อย่าง คือ หนึ่ง ความหวังด้านการรักษาโรค และสองความหวังที่จะรวย ซึ่งสองความหวังดังกล่าวมีมิติที่แตกต่างกันมาก ในความหวังแรกบ้างก็รักษาโรคตามความต้องการสำเร็จ บ้างก็โฆษณาจนเกินความสามารของกัญชาที่จะรักษาได้ ส่วนความหวังที่สองเกิดจากความโลภที่อยากจะรวยของกลุ่มทุนที่ช่วงชิงกัน การทำสมรภูมิกันในครั้งนี้แท้ที่จริงเป็นการช่วงชิงกันระหว่างกลุ่มทุนขนาดใหญ่กับประชาชนเท่านั้น ถ้าจะสู้ในเรื่องดังกล่าวต้องเป็นการทวงคืนกัญชาธิปไตยให้เป็นของประชาชนทุกคน

“11 ปีที่แล้ว งานวิจัยของ ม.รังสิตชิ้นแรกคือการทดลองเซลล์มะเร็งในท่อน้ำดี ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นมากในภาคอีสานและภาคเหนือ จากงานวิจัยพบว่า สาร THC ออกฤทธิ์ทางจิตประสาททำให้เซลล์มะเร็งให้ฝ่อตายลง ส่วนสาร CBD คือสารอีกชนิดที่ไม่เมาแต่ลดความเครียดได้ และพบมากสุดในกัญชง แต่เมื่อไม่นานมานี้ ม.รังสิตได้ค้นพบสารสำคัญในกัญชาแห้ง คือ สาร CBN ที่มีฤทธิ์ไม่เมาเท่ากับ THC และสามารถยับยั้งมะเร็งปอดได้ นั่นเป็นเหตุผลที่เราออกมาเดินเพื่อประชาชน เพราะเราทำงานวิจัยทั้งหมดไม่ใช่เพื่อให้ชาวบ้านมาผูกขาดกับกลุ่มทุนใดกลุ่มทุนหนึ่ง ดังนั้นกัญชาต้องเป็นของประชาชน” นายปานเทพกล่าว

นางสายชล ศรทัตต์ เครือข่ายผู้ป่วยเรื้อรังและประธานเครือข่ายเพื่อนมะเร็งกล่าวว่า คนไข้ที่อยู่ในเครือข่ายส่วนมากมักป่วยเป็นมะเร็งระยะลุกลาม ผู้ป่วยโรคมะเร็งพยายามหาทางรอดให้กับตัวเอง พวกเขาลองใช้ยาแทบทุกตัวที่มีขายในท้องตลาด แต่ไม่ค่อยได้ผลจึงหวังพึ่งกัญชา แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าไม่สามารถหาต้นกัญชามาสกัดเป็นยาได้

“เราเคยเสนอว่า อย่างน้อยที่สุด คนไข้ซึ่งป่วยเป็นโรค ตามที่ อย. กำหนดควรจะได้รับสิทธิปลูกกัญชา อย่างน้อย 3 ต้น เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง การรักษาด้วยกัญชาหากจะให้ได้ผลดีต้องได้รับความร่วมมือจากการแพทย์แผนไทย เพราะประชาชนในต่างจังหวัดสามารถเข้าถึงได้ ไม่ต้องเสียเวลาไปโรงพยาบาล ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไข้หลายรายต้องการ ดังนั้นเราจึงอยากให้ทุกคนเข้าถึงสิทธิการใช้กัญชาโดยมีการปลดกัญชาออกจากยาเสพติดเพื่อทำให้สังคมดีขึ้น” นางสายชล กล่าว


You must be logged in to post a comment Login