วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

“จุลเจิม”ปัดใส่ร้าย ปชป.ถ้าเข้าใจผิดขออภัย

On May 22, 2019

จากกรณีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เตรียมส่งหนังสือชี้แจงถึง ม.จ.จุลเจิม ยุคคล กรณีที่ระบุว่า คนรุ่นใหม่ของประชาธิปัตย์มีแผนอยากเปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นแบบของประเทศญี่ปุ่น แต่ถ้าได้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นหัวหน้าพรรค ย่อมดีกว่าคนรุ่นใหม่ในพรรค ถ้านายกรณ์ จาติกวิณิช หรือนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นหัวหน้าพรรค ประชาธิปัตย์เตรียมสูญพันธุ์ และสถาบันพระมหากษัตริย์จะอยู่ในช่วงอันตราย

ล่าสุด ม.จ.จุลเจิม ยุคล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า

กราบเรียน คุณชวน ที่เคารพรัก ผมกับพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพรรค คุณควง อภัยวงศ์ ก็เป็นเพื่อนรักของบิดาผม เปรียบเสมือนญาติ ท่านต่อมา คือ ม.ร.ว เสนีย์ ปราโมท ท่านก็เป็นญาติผม ผมจึงไม่มีอะไรที่จะจงเกลียดจงชัง พรรคประชาธิปัตย์ ครอบครัวเราได้เลือก พรรคประชาธิปัตย์ มาตลอด จนปัจจุบัน หลายๆท่านในพรรคท่าน เสนอ “นโยบายการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด” แล้วจะให้ผมเข้าใจเป็นอื่นได้อย่างไร ขอให้ท่านลองอ่านดูนะครับ ว่าผมใส่ร้าย ใส่ความพรรค ประชาธิปัตย์ ไหม (โปรดพิจารณาทางวิชาการ) ถ้าผมเข้าใจผิด หรือพูดผิดก็ขอกราบขออภัย ด้วยครับ

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เป็น “การกระจาย อำนาจ การปกครอง” คนละประเด็นกับ การกระจาย อำนาจอธิปไตยของปวงชน ( กระจายความเป็นเจ้าของประเทศ รูปธรรม คือ กระจายทุน กระจายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติทั้งทางบก ในน้ำ ในอากาศ แร่ธาตุต่างๆ พลังงาน ฯลฯ )

การกระจายอำนาจการปกครอง โดยการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด จึงเป็นการ “ล้มล้างราชอาณาจักรไทย” แบ่งแยกประเทศออกเป็นหลายรัฐ และ เป็นการยกเลิก สถาบันพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี ที่เป็นประมุขประเทศ (ประมุขแห่งรัฐเดียว)

1.การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นการยกเลิก สถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นประมุขประเทศ ด้วยเหตุใด?? เราต้องทำความเข้าใจกันด้วยว่า ประเทศไทย นั้น มีรูปแบบของรัฐ หรือ รูปของรัฐ ( Form of State ) เป็น “รัฐเดียว “หรือ ระบบรัฐเดี่ยว (Unitary System) และ มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขประเทศโดยมีชื่อเต็มตามหลักการจัดตั้งองค์การรัฐว่า “ราชอาณาจักรไทย (Kingdom of Thailand)”

ที่มาและรากเหง้า ของสยามประเทศ ตามยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่ (ไม่ใช่ยุคกลาง) นั้นเริ่มต้นจากแนวความคิดการสร้างชาติ สร้างสังคมประชาธิปไตย ของ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยการประกาศเลิกทาส, จัดตั้งการปกครองในส่วนกลาง ในรูป กระทรวง ทบวง กรม และ ส่วนภูมิภาค ในรูป มณฑล จังหวัด อำเภอ ฯลฯ การจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ, การรวบรวมดินแดน ประกาศเขตแดนที่แน่นอน สถาปนาอำนาจอธิปไตยชาติ ฯลฯ

จึงถือเป็นการ “จัดตั้งองค์การรัฐ ตามยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่” ตั้งแต่ปี 2431 แล้วเสร็จในปี 2435 เปลี่ยนประเทศให้ทันสมัย ไม่ได้ล้าหลัง เพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นเมืองขึ้นของ ประเทศมหาอำนาจล่าอาณานิคม ที่มักใช้เป็น “ข้ออ้าง”

สยามประเทศจึงก่อเกิดรัฐชาติใหม่ เป็นรูปแบบรัฐ คือ “ราชอาณาจักร” และเป็น “รัฐเดียว” ไม่ได้มาจาก “หลายๆรัฐ” มารวมตัวกัน แล้วจัดตั้งเป็นประเทศ และ “มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ หรือประมุขประเทศ”

ดังนั้น “หลักของการกระจายอำนาจ” ในประเทศที่มีความเป็น “รัฐเดียว” และ ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ นั้นต้องเป็นการกระจายอำนาจอธิปไตย (Sovereignty of People ) ให้กับ ปวงชน หรือ ราษฎรทุกคนได้เป็น “เจ้าของ” นั่นหมายความถึง การกระจายทุน (ที่ดิน,ทรัพยากรธรรมชาติทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ แร่ธาตุต่าง พลังงาน ฯลฯ )ให้ประชาชนได้เป็นเจ้าของ

แต่ “อำนาจการปกครอง” จะเป็น “การรวมศูนย์” เพื่อความเป็นเอกภาพ ความเป็นอธิปไตยชาติ เอกราช และ ความมั่นคงแห่งรัฐชาติ ที่มีเพียงหนึ่งเดียว

ดังนั้น การกระจายอำนาจการปกครอง ด้วยการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด จะทำให้รูปแบบของประเทศ เปลี่ยนไปเป็น “สหพันธรัฐ” (Federal System) ที่ “ประมุขแห่งรัฐ” หรือ “ประมุขประเทศ” จะไม่ใช่ “สถาบันพระมหากษัตริย์” แต่เป็น สถาบันอื่น เช่น ประธานาธิบดี หรือ ประธานประเทศ เป็นต้น

2.การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นการกระจายอำนาจการปกครอง เป็นการแบ่งแยกประเทศออกเป็นรัฐหลายรัฐ หรือ สหพันธรัฐ (Federal System)

เราต้องทำความเข้าใจกันด้วยว่า การปกครองประเทศในรูปแบบ รัฐเดี่ยว หรือ ราชอาณาจักร (Kingdom) แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ การปกครองส่วนกลาง และ การปกครองส่วนท้องถิ่น

การปกครองส่วนกลาง ก็คือ รัฐบาล, กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ

การปกครองส่วนท้องถิ่น ก็คือ สุขาภิบาล เทศบาลตำบล, เทศบาลเมืองต่างๆ

ส่วนการปกครองส่วนภูมิภาค คือ จังหวัด, อำเภอ,ตำบล ฯลฯ นั้น เป็น “ตัวแทน” การใช้อำนาจจากการปกครองส่วนกลาง

ถ้า ผู้ว่าราชการจังหวัด มาจากเลือกตั้ง นั่นหมายความถึง เป็นการนำเอา “การปกครองส่วนภูมิภาค” ออกจาก “การปกครองส่วนกลาง” และ จะทำให้ ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นตัวแทนของประชาชน ในจังหวัดนั้นๆ ไม่มีความจำเป็นต้อง ฟัง หรือกระทำตาม นโยบายจาก รัฐบาล (กระทรวงต่างๆ) หรือ การปกครองส่วนกลางอีก

“จังหวัด” จะไม่ใช่การปกครองส่วนภูมิภาค แต่จะกลายเป็น “รัฐอิสระ” ที่สามารถ ออกนโยบายต่างๆของจังหวัดได้เอง ทุนต่างชาติ หรือ ทุนผูกขาด จึงสามารถแทรกแซง “นโยบาย” ในแต่ละจังหวัด ได้อย่างง่ายดาย รวมถึงการแสวงหาประโยชน์ บนทรัพยากรของชาติ ในแต่ละจังหวัด นั้นๆด้วย

ด้วยเหตุที่ ทรัพยากรธรรมชาติในแต่ละจังหวัด รายได้ต่างๆ ภาษี งบประมาณ ในแต่ละจังหวัดจะเป็นอิสระจากส่วนกลาง จังหวัดใดยากจน ทรัพยากรน้อย รายได้จากภาษีน้อย จะพัฒนาจังหวัดจากอะไร! งบประมาณจังหวัดจะมาจากที่ใด!

ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จะส่งผลให้จังหวัดมีการปกครองส่วนกลางของตนเอง ด้วยเหตุที่มี เทศบาล/อบจ./อบต. ประจำจังหวัดนั้นๆ เป็นการปกครองส่วนท้องถิ่น อยู่แล้ว!! ตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้าน หรือ กำนัน จะไม่มีความหมายใดๆ จะถูกยกเลิกไป ในที่สุด

“ผู้ว่าราชการจังหวัด” ที่มาจากการเลือกตั้ง ก็จะกลายเป็น “ผู้ว่าราชการรัฐ” แทน และ ท้ายที่สุด

รัฐหลายรัฐ ที่เป็นรัฐอิสระเหล่านั้น อาจรวมตัวกัน จัดตั้งเป็น “ประเทศใหม่” ในอนาคต และ/หรือ สถาปนาสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐของตนเอง ก็เป็นได้
แบบนี้ถ้าไม่ใช่ เป็นการ “ล้มล้างราชอาณาจักรไทย” แบ่งประเทศออกเป็นหลายรัฐ ยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วจะให้เรียกว่าอะไร??

ด้วยความเคารพ ผมไม่ได้ใส่ร้าย พรรคประชาธิปัตย์ แต่ผมพูดในเชิงวิชาการ ตามหลักรัฐศาสตร์ว่าด้วยการเมืองการปกครอง และตามที่ได้ยินและเห็นมาครับ

ม.จ.จุลเจิม ยุคล


You must be logged in to post a comment Login