วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

ชงบรรจุ”วัคซีนโรตา”ป้องกันโรคอุจจาระร่วงในเด็กเป็นวัคซีนพื้นฐาน

On May 20, 2019

นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ (บอร์วัคซีน) กล่าวถึงความคืบหน้าการเพิ่มวัคซีนโรคพื้นฐานของประเทศไทย ว่า วัคซีนป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรตา ขณะนี้ผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแล้ว และที่ผ่านมาก็มีการทดลองนำร่องใช้วัคซีนหลายพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อให้ทราบถึงข้อดีข้อเสีย มีข้อบกพร่องอะไรระหว่างการใช้งานหรือไม่ เช่น การขนส่ง การจัดเก็บวัคซีน คนให้วัคซีนให้อย่างถูกต้องหรือไม่ ซึ่งก็พบว่าวัคซีนให้ผลดี โดยคาดว่าในปี 2563 จะประกาศใช้เป็นวัคซีนพื้นฐานของประเทศไทยตัวต่อไป ซึ่งวัคซีนโรตาจะให้แก่เด็กแรกเกิดทุกคนในช่วง อายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน ซึ่งจะต้องหยอดให้ครบ

นพ.ทวี กล่าวว่า วัคซีนโรตาขณะนี้มี 2 แบบ คือ แบบที่ให้เพียง 2 ครั้ง และแบบที่ให้ 3 ครั้ง ซึ่งมีประสิทธิภาพเหมือนกัน แต่การบรรจุเป็นวัคซีนพื้นฐานนั้นจะเลือกใช้วัคซีนชนิดใด ก็อยู่ที่การแข่งขันทางด้านราคา เพราะแม้วัคซีนชนิดแบบให้ 2 ครั้งจะสะดวกกว่า แต่หากราคาโดยรวมเท่ากับวัคซีนให้แบบ 3 ครั้ง เช่น 600 บาทเท่ากัน แต่ชนิดให้ 2 ครั้งก็จะตกโดสละ 300 บาท ขณะที่ให้ 3 ครั้งจะตกโดสละ 200 บาท ตรงนี้ก็ต้องมาพิจารณาและดูเรื่องของการแข่งขันทางด้านราคา

นพ.ทวี กล่าวว่า ส่วนในปีถัดไปหรือปี 2564 คาดว่าจะบรรจุวัคซีนไอพีดี (IPD) ได้ ซึ่งวัคซีนดังกล่าวเป็นการป้องกันเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส ซึ่งเชื้อแบคทีเรียนี้จะเกาะอยู่ที่คอมนุษย์ทุกคน แต่มีมากหรือน้อยก็อาจแตกต่างกันไปตามเศรษฐานะและการดูแลตนเอง ซึ่งเมื่อเป็นหวัด ไม่สบาย โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะไปทำลายระบบทางเดินหายใจให้เกิดการอักเสบ เชื้อดังกล่าวที่เกาะอยู่ที่คอจึงแทรกลงไปได้ ลงไปที่ปอดกลายเป็นโรคปอดบวม ซึ่งหากแย่กว่านั้นเมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสโลหิต ก็จะทำให้เกิดภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งมีเชื้อนี้เป็นเชื้อหลัก จนทำให้มีผู้เสียชีวิตตามโรงพยาบาลนั่นเอง

นพ.ทวี กล่าวว่า วัคซีนดังกล่าวหากฉีดให้คนแก่มักจะเรียกว่า วัคซีนป้องกันปอดบวม แต่ในเด็กมักจะเรียกว่าวัคซีนไอพีดี ซึ่งจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่า วัคซีนดังกล่าวมีประโยชน์ในการป้องกันโรค แต่ที่ยังไม่ได้บรรจุเป็นวัคซีนพื้นฐาน เพราะการศึกษายังไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ แต่จากสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ก็พบว่า ขณะนี้มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สำหรับคนไทยแล้ว จึงน่าจะได้บรรจุเป็นวัคซีนพื้นฐานตัวต่อไปในปี 2564


You must be logged in to post a comment Login