วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

วัดใจ‘ภูมิใจไทย’

On May 16, 2019

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

 (โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 17-24 พฤษภาคม 2562 )

รายชื่อ 250 ส.ว. ที่แต่งตั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และใช้งบประมาณในการดำเนินการโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 1,300 ล้านบาท ปรากฏว่าเต็มไปด้วยนายพลทหารและตำรวจกว่า 100 คน พร้อมคนใกล้ชิด คสช. จำนวนมาก รวมทั้งน้องชายของ พล.อ.ประยุทธ์ และน้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะกรรมการสรรหา ส.ว.

ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งจึงจะเป็นตัวแปรสำคัญทางการเมือง โดยเฉพาะในสถานการณ์รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำและการสืบทอดอำนาจของ “ระบอบ คสช.” ซึ่งต้องจับตามองว่าจะลากกันไปได้ไกลและนานแค่ไหน

สภาพวกพ้องน้องพี่

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศแต่งตั้ง 250 ส.ว. เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม และเป็นประเด็นร้อนในโซเชียลมีเดียทันที เพราะส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนหน้าเดิม หน้าซ้ำ ที่สำคัญไม่ใช่มีชื่อ 15 อดีตคณะรัฐมนตรี คสช. ที่ลาออกไปเท่านั้น แต่ ส.ว. ชุดนี้มีนายทหารและตำรวจถึง 104 คน ซึ่งมีชื่อ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องชาย พล.อ.ประวิตรด้วย

นอกจากนี้ยังมีชื่อ พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม น้องชายนายวิษณุ เครืองาม นายสม จาตุศรีพิทักษ์ น้องชายนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นายปรีชา บัววิรัตน์เลิศ พี่ชายนายวารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ หรือโหร คมช.

รายชื่อ ส.ว. เกือบครึ่งมาจากอดีตสมาชิกองค์กรตามรัฐธรรมนูญปี 2560 และรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ที่มาจาก “แม่น้ำ 5 สาย”  จึงไม่แปลกที่ ส.ว.ลากตั้งชุดนี้จะถูกเปรียบเปรยว่าเป็น “สภาพวกพ้องน้องพี่” หรือ “สภาทายาท คสช.” หรืออาจมองว่าการแต่งตั้ง ส.ว. ชุดนี้เหมือนการตบรางวัลอดีต คสช. อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลทหาร และคนที่ทำงานรับใช้ คสช.

เพราะ 250 ส.ว. มาจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 71 คน (ในจำนวนนี้มีผู้บัญชาการเหล่าทัพ 3 คนที่ได้เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง) สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) 24 คน คณะรัฐมนตรี (ครม.) 20 คน (เป็นชุดล่าสุดที่เพิ่งลาออก 15 คน) สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 5 คน (บางส่วนเป็นอดีตรัฐมนตรีด้วย) และผู้ที่เคยร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส.

ส.ว. ที่มาจาก สนช. ที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.12 รุ่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ เช่น พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ พล.ร.อ.ชัยวัฒน์ เอี่ยมสมุทร พล.ร.อ.นพดล โชคระดา พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร พล.ร.อ.ชุมนุม อาจวงษ์ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ฯลฯ รวมถึง พล.อ.นพดล อินทรปัญญา เพื่อนสนิท พล.อ.ประวิตร

นอกจากนี้ยังมีอดีตนักการเมืองที่เป็นผู้สมัคร ส.ส. สังกัดพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และเครือญาตินักการเมือง อาทิ นายอมร นิลเปรม อดีตผู้สมัคร ส.ส.อุบลราชธานี พรรค พปชร. นางจิรดา สงฆ์ประชา พี่สาวของนายมณเฑียร สงฆ์ประชา ส.ส.ชัยนาท พรรค พปชร. นายบุญส่ง ไข่เกษ อดีต ส.ส.ตราด พรรคประชาธิปัตย์ นายสุรสิทธิ์ ตรีทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์

สภาผัว-สภาเมีย-สภาทาส

พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (14 พฤษภาคม) ถึงรายชื่อ ส.ว. ที่ล้วนเป็นบุคคลใกล้ชิดนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีจนถูกเปรียบเทียบว่าแทบไม่ต่างจาก “สภาผัว-เมีย” ในรัฐบาลที่ผ่านมาว่า “ให้ลองไปเปรียบเทียบดูว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมา มีการออกกฎหมายได้มากน้อยแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาออกกฎหมายได้กว่า 500 ฉบับ แต่ ส.ว.สมัยก่อนออกได้กี่ฉบับ จะเอาไปเปรียบเทียบกันไม่ได้”

ขณะที่เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2556 นายวันชัย สอนศิริ ซึ่งได้เป็น ส.ว. เคยโพสต์เฟซบุ๊คโจมตีรัฐบาลสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า “สภาผัว สภาเมีย สภาทาส ฉ้อโกงอำนาจ หลอกลวงว่าเลือกตั้ง แท้ที่จริงนั้นก็คือต้องการฮุบอำนาจ”

คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์และนายวันชัยสะท้อนถึงการแต่งตั้ง ส.ว. ครั้งนี้ได้อย่างดีว่ามีความถูกต้องชอบธรรมและมี “ธรรมาภิบาลทางการเมือง” หรือไม่ เมื่อรายชื่อ ส.ว. เต็มไปด้วยคนหน้าเก่า หน้าซ้ำๆ ที่เป็นเครือญาติ คนใกล้ชิด และคนที่ทำงานรับใช้รัฐบาล คสช. ซึ่งทั้งนายวันชัยและผู้มีอำนาจต่างเคยประณามนักการเมืองและรัฐบาลในอดีตในทางลบต่างๆนานา แต่วันนี้ได้ย้อนดูตัวเองหรือไม่

อุกอาจ-ท้าทายอำนาจประชาชน

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ แถลงถึงการแต่งตั้ง 250 ส.ว. ว่า ส.ว. มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ที่ทำรัฐประหาร จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการสืบทอดอำนาจของ คสช. และยังเป็นระบบ ส.ว. ผลัดกันเกาหลังคนละทีสองที ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ให้ ส.ว. มีอำนาจอย่างมาก และ คสช. เป็นผู้เคาะ ส.ว. ทั้งหมด ผลคือเป็นทหาร 93 คน ตำรวจ 14 คน ซึ่งเป็นคนที่เคยทำงานกับ คสช. คนที่ได้รับประโยชน์จากการยึดอำนาจ

ส.ว. บางส่วนเคยเป็น สนช. ตั้งแต่ปี 2549 ส.ว.สรรหาปี 2550 สนช. ปี 2557 และ ส.ว. ปี 2560 หากอยู่จนครบวาระ 5 ปี หมายความว่าคนเหล่านี้ได้นั่งในสภาใช้อำนาจนิติบัญญัติอย่างต่อเนื่อง นั่งกระดิกเท้าอยู่เฉยๆแล้วมีคนอัญเชิญให้เป็น ส.ว. เกือบ 20 ปีโดยไม่ทำอะไรเลย แต่ได้ใช้อำนาจนิติบัญญัติของประชาชน

ขณะที่ประชาชน 51 ล้านคน เลือก ส.ส. ได้ 500 คน แต่ พล.อ.ประยุทธ์คนเดียวตั้ง ส.ว. 250 คน ส.ส. 1 คนต้องได้คะแนน 71,000 เสียง แต่ พล.อ.ประยุทธ์คนเดียวมี 17.7 ล้านเสียง แล้วรัฐธรรมนูญยังเขียนว่า ส.ว. เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ถามว่า 250 ส.ว. เป็นผู้แทนได้อย่างไรเมื่อปวงชนชาวไทยไม่ได้เลือก ไม่รู้แม้แต่รายชื่อที่ คสช. จะเลือก ขณะที่ ส.ส. ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

รัฐธรรมนูญมาตรา 114 เขียนว่า ส.ส. และ ส.ว. ต้องไม่อยู่ในความผูกมัดครอบงำภายใต้อาณัติมอบหมายของใคร ทั้งยังระบุด้วยว่าการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. และ ส.ว. ต้องไม่ขัดกันโดยผลประโยชน์ แล้ว ส.ว.แต่งตั้งอยู่ภายใต้อาณัติครอบงำโดย คสช. หรือไม่ จึงให้จับตามองการเลือกนายกรัฐมนตรี หากเลือก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีก็ถือว่าใช้อำนาจหน้าที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ตั้ง ส.ว. และขัดมาตรา 114 หรือไม่

“คณะรัฐประหารมีอาวุธสำคัญคือวุฒิสภา กลไกสืบทอดอำนาจของ คสช. โดยงบประมาณมหาศาล เพื่อแต่งหน้าทาปากเอาวงศ์วานว่านเครือ วงศาคนาญาติของ คสช. ปรากฏการณ์แบบนี้ต้องเรียกว่าอุกอาจและท้าทายอำนาจประชาชนมาก เหมือนบอกว่าพวกอั๊วจะเอาแบบนี้”

นายปิยบุตรยังเรียกร้องให้ ส.ว. เคารพประชาชน อายประชาชนที่จ่ายภาษีเป็นเงินเดือนให้ ส.ว. ใช้อำนาจหน้าที่เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย ไม่ใช่ผู้แทน คสช. และใช้อำนาจโดยไม่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามมาตรา 114

“วันนี้ทุกคนปรามาสเต็มไปหมด รายชื่อ 250 ส.ว. ไม่ใช่เรื่องเป็นไปตามคาดหมาย แต่เป็นเรื่องผิดปรกติที่ไม่ควรมีเลย ไม่ชอบธรรมอย่างยิ่ง เพราะเป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจ”

ส.ว. 1 คนจ่าย 22 ล้านคุ้มมั้ย?

นายวีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า ผมคำนวณค่าใช้จ่ายคร่าวๆของ ส.ว. 1 ตำแหน่ง ในกรอบเวลา 5 ปี ใช้สมมุติฐานง่ายๆอิงระเบียบทางราชการ พบว่า ส.ว. 1 คน จะก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายต่องบประมาณแผ่นดินราว 22 ล้านบาทใน 5 ปี รวม 250 คน ประมาณ 5,500 ล้านบาท เทียบได้กับการซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ได้จำนวนมากทีเดียว “เพื่อนๆคิดว่าผลงานที่ประเทศชาติหรือสังคมจะได้จาก ส.ว. 1 คน ตลอด 5 ปี คุ้มเงินภาษีมั้ยครับ???”

อย่างเช่น นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มารายงานตัวเป็น ส.ว. คนแรกก็ประกาศทันทีว่าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี

ศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แสดงความเห็นกรณีรายชื่อ ส.ว.สรรหา 250 คนที่ออกมาว่า คณะกรรมการสรรหา ส.ว. กระทำการเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 (1) ที่จะต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง แต่กลับสรรหาตัวเองและเครือญาติ ตลอดจนสมัครพรรคพวกในวงศ์วานว่านเครือของตน นับเป็นความอัปยศน่าอดสูใจอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ยังระบุว่า การเมืองไทยหนีไม่พ้นทฤษฎี familyism หรือทฤษฎีโคตรเหง้าเหล่ากอนิยม, ระบอบญาติมิตรธิปไตย หรือ Cronyism, Nepotism ระบบพวกกูในประเทศกูมี

สภาเครือข่ายเพื่อนพ้องน้องพี่

นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊คว่า 5 คำถามที่สังคมอยากฟังคำตอบเมื่อเห็นรายชื่อ ส.ว. คือ 1.งบประมาณ 1,300 ล้านบาท ที่ใช้ในกระบวนการเพื่อให้ได้ ส.ว. 250 คนนั้น เอาไปทำอะไรบ้างถึงมากมายขนาดนั้น ทั้งที่ ส.ว. ที่ประกาศออกมา ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับ คสช. และรัฐบาลแทบทั้งสิ้น

2.ตามรัฐธรรมนูญได้ระบุกระบวนการขั้นตอนคัดสรร ส.ว. ไว้อย่างชัดเจน โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหา แต่ในทางปฏิบัติสังคมกลับมองไม่เห็นขั้นตอนสรรหา มีแต่ความคลุมเครือไม่ชัดเจน ไม่เคยมีคำตอบจากผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบเกี่ยวข้อง เหมือนเลือกสรรกันอยู่ในแดนสนธยา

3.สังคมไม่เคยรับรู้ว่านอกจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่เป็นประธานกรรมการสรรหาแล้ว มีใครเป็นคณะกรรมการสรรหาบ้าง ทั้งที่ควรต้องมีความโปร่งใสชัดเจนว่าไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน มีความเป็นกลางทางการเมือง

4.สำคัญที่สุดคือ ส.ว.ชุดนี้ขาดความหลากหลายของกลุ่มอาชีพ เพราะมีบุคคลที่เป็นทหาร ตำรวจ ทั้งในและนอกราชการถึงกว่า 100 คน

5.ในอดีตเคยวิพากษ์วิจารณ์ ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งว่าเป็นสภาผัวเมีย แต่วันนี้ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งจาก คสช. กลายเป็นสภาเครือข่ายเพื่อนพ้องน้องพี่ ซึ่งแต่งตั้งให้มาเลือกผู้มีอำนาจคนเดิมกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อสืบทอดอำนาจอีกครั้ง แทนที่จะเป็นการเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจากความต้องการของพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งมีผลที่ชัดเจนจากการเลือกตั้ง

ชาวบ้านยี้ รมต. ลาออกนั่ง ส.ว.

ก่อนหน้าจะมีประกาศรายชื่อ ส.ว. 250 คน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้เปิดเผยผลสำรวจความเห็นกรณี 15 รัฐมนตรีลาออกเพื่อไปดำรงตำแหน่ง ส.ว. ว่า ร้อยละ 83.15 ไม่เห็นด้วย เพราะเหมือนเตรียมการไว้แล้ว และมีความใกล้ชิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งอาจทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง

เช่นเดียวกับ คสช. ที่ไปดำรงตำแหน่ง ส.ว. ประชาชนร้อยละ 85 ก็ไม่เห็นด้วย เพราะอยากให้เข้ามาเพื่อช่วยเหลือทำประโยชน์แก่บ้านเมืองอย่างแท้จริง ไม่ใช่เข้ามาเพื่อต้องการกุมอำนาจหรือหวังผลใดๆ

ขณะที่นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล สำรวจเรื่องการเมืองปัจจุบันกับความสุขของประชาชน ปรากฏว่าร้อยละ 89.9 ระบุการเมืองปัจจุบันส่งผลกระทบทำลายความสุขของประชาชน และที่น่าเป็นห่วงคือ ร้อยละ 42.6 ระบุระดับความขัดแย้งทางการเมืองเปรียบเทียบกับช่วงการชุมนุมปี 2557 เพิ่มขึ้น ขณะที่ร้อยละ 39.5 ระบุเท่าเดิม และร้อยละ 17.9 ระบุลดลง

นายนพดลเห็นว่า ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองน่าจะตัดสินใจอะไรบางอย่างที่บริหารจัดการอารมณ์ของสาธารณชนได้ดี ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขัดแย้งรุนแรงบานปลายจนยากจะควบคุม ทางออกคือเลือกทางที่นำไปสู่ความขัดแย้งน้อยที่สุด และไม่มองมวลหมู่ประชาชนแบบเหมารวม แต่ควรแก้ไขเป็นรายๆไป

11 พรรคเอื้ออาทรหนุน “ลุงตู่”

จากรายชื่อ 250 ส.ว. จึงไม่แปลกที่พรรคพลังประชารัฐจะยืนยันมาตลอดว่าสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้และ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ เช่นเดียวกับเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมที่ 11 พรรคการเมืองขนาดเล็กที่ได้ ส.ส. พรรคละ 1 คนจากสูตรพิสดารของ กกต. ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี และสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งทำให้เกิดข้อกังขาว่าทำไม กกต. จึงยืนยันใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็ก 11 พรรคได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แม้จะถูกท้วงติงมากมายจากนักการเมือง นักกฎหมาย และนักคณิตศาสตร์

พรรคการเมืองขนาดเล็ก 11 พรรค ประกอบด้วย พรรคพลเมืองไทย พรรคพลังชาติไทย พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคพลังไทยรักไทย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคประชาธรรมไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคไทยรักธรรม และพรรคประชานิยม

นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ให้เหตุผลว่า ไม่ได้คิดว่าตนเป็น ส.ส. แต่เป็นตัวแทนของประชาชนทั้ง 60,358 เสียงที่เลือกมา การตัดสินใจอย่างไม่ลังเลเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐเป็นความจำเป็นที่จะทำให้บ้านเมืองเดินหน้าได้ พวกตนจึงมีฉันทามติผ่าทางตันเพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ ต้องการเปิดสวิตช์ประเทศไทย

มี “งูเขียว” ไม่มี “งูเห่า”?

นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค เดินทางมารับมอบหนังสือจาก 11 พรรคการเมืองที่ประกาศเจตนารมณ์ร่วมงานกับ พปชร. และสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

นายอุตตมแสดงความปลาบปลื้มใจและกล่าวว่า เป็นก้าวสำคัญที่จะนำพาประเทศไปข้างหน้า ทุกพรรคมาร่วมงานกันถือเป็นหุ้นส่วนในการทำงาน โดยสามารถปรึกษา แนะนำ ท้วงติงกันได้ และในวันต่อมา (14 พฤษภาคม) นายอุตตมยังยืนยันว่า แม้จะเป็นพรรคเกิดใหม่ แต่ก็ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน จึงมั่นใจว่าจะไม่เกิดสัตว์เลื้อยคลานภายในพรรคแน่นอน

เช่นเดียวกับนายสนธิรัตน์ได้ปฏิเสธข่าวการซื้องูเห่า 40 ล้านบาทต่อ ส.ส. 1 คน เพื่อให้เข้ามาสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐในการจัดตั้งรัฐบาล

 

หุหุ..อย่าต่อรองเยอะ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้โพสต์ภาพข่าว 11 พรรคเล็กที่บอกว่า “อย่าต่อรองเยอะ” พร้อมพิมพ์แคปชั่นสั้นๆว่า “#หุหุ” ทิ้งปริศนาให้ผู้ที่เข้ามาตอบอย่างมากมาย

ขณะที่โลกออนไลน์มีการแชร์ข่าวที่นายมงคลกิตติ์เคยระบุว่าจะไม่สนับสนุน “ลุงตู่” เป็นนายกรัฐมนตรีอีก ทั้งยังมีการติดแฮชแท็ก “#มงคลกิตติ์ #ส.ส.เอื้ออาทร” และในเฟซบุ๊คของนายมงคลกิตติ์ได้มีผู้เข้าไปแสดงความคิดตำหนิการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะก่อนหน้านี้ (14 มีนาคม) นายมงคลกิตติ์ยืนยันว่าไม่ร่วมกับคนที่เคยโกงชาติเด็ดขาด ไม่ว่าเผด็จการนายทุน เผด็จการทหาร ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เพราะไม่มีความสามารถทางเศรษฐกิจ หากหมดอำนาจก็เชื่อว่าคดีทุจริตจะถูกเปิดเผย พร้อมจะตรวจสอบหาก พล.อ.ประยุทธ์นั่งนายกฯต่อ

อย่าตระบัดสัตย์ประชาชน

นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า สนับสนุนพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล เพราะได้หาเสียงกับประชาชนไว้แล้วว่าจะสนับสนุนพรรคที่ได้ ส.ส. มากที่สุดเป็นรัฐบาล แต่มีตัวแทนจาก พปชร. 2-3 คนติดต่อเข้ามา ซึ่งตนยืนยันยืนหยัดหลักการที่ถูกต้อง จึงอยากให้พรรคที่หาเสียงว่าอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย และบางพรรคพูดว่าจะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ขอให้ฟังเสียงประชาชน ไม่ใช่ได้ ส.ส. เพียง 1 คนก็พูดอีกอย่าง ถือว่าไม่มีสัจจะและต่อรองเรื่องผลประโยชน์

นายนิคมกล่าวถึงกรณี 11 พรรคเล็กลงสัตยาบันร่วมกับ พปชร. ว่า ทราบตั้งแต่แรกแล้ว เพราะบางพรรคตอนหาเสียงอาจจะเอาเงินอีกฝ่ายด้วย เมื่อได้เป็น ส.ส. ก็จำเป็นต้องไปอยู่ด้วย ส่วนพรรคตนไม่มีเงิน ไม่ซื้อเสียง ได้คะแนนเสียงบริสุทธิ์จริงๆ จึงไม่จำเป็นต้องให้ใครมาชี้นำ รัฐบาลชุดนี้บริหารมา 5 ปี ประชาชนยังไม่ได้ลืมตาอ้าปาก หากยังให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ตนไม่เชื่อว่า ส.ว. ทั้ง 250 คนจะยกมือให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ และตนยังมั่นใจว่าฝ่ายประชาธิปไตยจะตั้งรัฐบาลได้

ร่วมกันส่ง คสช. กลับบ้าน

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการถึงจัดตั้งรัฐบาลของ 2 ขั้วการเมืองว่า ขณะนี้ฝ่ายประชาธิปไตยมี 245 เสียงมั่นคง และรวมเสียงได้มากที่สุด ดังนั้น ต้องรอดูท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยที่เคยสัญญาว่าจะไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจจะตัดสินใจอย่างไร จะมาอยู่กับพรรคเพื่อไทยหรือไม่

ส่วนกระแสข่าวพรรคเพื่อไทยจะยอมยกเก้าอี้นายกฯให้นายอนุทินนั้น คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า ยังไม่ได้พูดคุยกัน การชักชวนให้พรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยเข้ามาร่วมไม่ได้ให้มาสนับสนุนให้พรรคเพื่อไทยมีอำนาจ เพียงแต่ให้มาร่วมกันส่ง คสช. กลับบ้าน เพราะตนไม่อยากเห็นการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเพียงพิธีกรรมเปลี่ยนสถานะให้ คสช. เท่านั้น

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า พรรคเสรีรวมไทยได้ ส.ส. 10 คน ซึ่งถือเป็นพรรคเล็ก แต่ก็เข้าร่วมกับฝ่ายประชาธิปไตย จึงขอเชิญชวนพรรคที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะอยู่ฝ่ายไหนทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย หากทั้งสองพรรคมาร่วมพรรคฝ่ายประชาธิปไตย มั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยจะยกตำแหน่งสำคัญให้ทั้งสองพรรค หากนายอนุทินและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ อยากเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคเสรีรวมไทยก็พร้อมสนับสนุน หรือไม่ก็เอาตำแหน่งของตนเองไปเลย

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ระบุว่า ถ้าพรรคพลังประชารัฐตั้งรัฐบาลได้ก็ตั้งไป แต่เชื่อว่าจะอยู่ยากแน่นอน เพราะคงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ตั้งรัฐบาลจาก 20 พรรคการเมือง ส่วน 7 พรรคร่วมฝ่ายประชาธิปไตยยังเหนียวแน่น ไม่แตกแถว สำหรับขั้วที่ 3 ที่อาจเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์และนายอนุทินเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ขณะนี้ทุกอย่างมีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า อยากเตือนพรรคการเมืองทุกพรรค โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยให้รักษาคำมั่นสัญญาที่ให้กับประชาชนก่อนการเลือกตั้งว่าไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจและไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ ส่วนตัวเห็นว่านายอนุทินมีโอกาสสูงที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีและเหมาะสมอย่างยิ่ง ซึ่งโอกาสแบบนี้มีเข้ามาไม่บ่อยนัก

น.ส.เกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า เมื่อเผด็จการทหารเสพติดอำนาจ ทำให้คนรุ่นใหม่อย่างตนได้รู้จักมหกรรมการค้ามนุษย์หรือการต้อนเสียงนักการเมืองที่ไม่มั่นคงในอุดมการณ์ไปสนับสนุน ซึ่งมีข่าวลือว่ามีการซื้อเสียงสูงถึง 200 ล้านบาทต่อหนึ่งเสียง

ไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวร

นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊คจั่วหัว “ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร” ว่านักการเมืองทุกคนล้วนหวังจะได้บริหารประเทศ ได้เป็นรัฐบาล เป็นรัฐมนตรี หรืออย่างน้อยได้เป็นเลขาฯรัฐมนตรีก็ยังดี แต่การเมืองประชาธิปไตยมี 2 ฝั่ง ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ในวงการเมืองถึงบอกว่า “ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร” เพื่อจะได้เป็นรัฐบาลต้องยอมทำทุกอย่าง “แม้ศัตรูของศัตรูยังกลับเป็นมิตรได้หน้าตาเฉย”

หากพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ถึงขนาดยอมประเคนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้นายอภิสิทธิ์ก็จบกัน อย่าไปคาดหวังอะไรกับนักการเมืองอีกแล้วในประเทศนี้ หากอยากทำเพื่อบ้านเมืองจริง เป็นฝ่ายค้านก็ทำงานให้ประชาชนได้เหมือนกัน การเป็นฝ่ายค้านไม่ได้ด้อยค่าแต่อย่างใด ฝ่ายค้านเก่งๆคนเดียวก็เคยล้มรัฐบาลได้มาแล้ว ไม่มีเรื่องก็ทำให้เป็นเรื่อง เรื่องเล็กก็ทำให้เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องใหญ่ก็ทำให้ยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีก ตีฆ้องร้องป่าวเข้าไป ก็จะมีพวก “วัวสันหลังหวะ” ต่อหน้ายืนกรานกระต่ายขาเดียวว่าไม่มีอะไรในกอไผ่ แต่เบื้องลึกใจกล้าขาสั่น ถูกล่อเป้า กลายเป็นสายล่อฟ้า จนหัวหน้ารัฐบาลต้องรีบปลดชนวนออกก่อนจะพาเรือล่มทั้งลำ

นายชูวิทย์ยังกล่าวว่า หลังการเลือกตั้งนักการเมืองต้อง “เก็บอุดมการณ์ไว้ในลิ้นชัก” ที่เคยหาเสียงแกล้งทำเป็นลืมๆไป ขอเป็นฝ่ายรัฐบาลอิ่มหมีพีมัน สะสมทุนไว้ไปคืนชาวบ้านตอนซื้อคะแนนเลือกตั้งครั้งต่อไป แทนที่จะยอมเป็นฝ่ายค้านคอยตรวจสอบรัฐบาลทั้งที่มีศักดิ์ศรีกว่า เลือกตั้งเที่ยวหน้าคะแนนคงไม่ต่ำจนตกใจขนาดต้องหาหัวหน้าพรรคใหม่ ครั้งนี้ถึงแม้ไปร่วมรัฐบาลก็เป็นได้ไม่นาน อย่างเก่งไม่เกิน 6 เดือนก็ก้มหน้าเก็บกระเป๋าม้วนเสื่อกลับบ้าน อย่าไปคิดว่าจะได้อะไรมาก เพราะหากยังตัดสินใจผิดอีก รอบหน้าบางพรรคอาจถึงขั้นสูญพันธุ์

7 วันตัดสินอนาคตประเทศ

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวก่อนจะมีการประกาศรายชื่อ 250 ส.ว. ว่า ใน 7 วันข้างหน้าจะตัดสินอนาคตประเทศไทย เพราะเรื่องใหญ่มากกว่าตัวใครคนหนึ่งคือการตัดสินใจของ ส.ส. 500 คน จะกำหนดอนาคตของประเทศ ถ้า คสช. สืบทอดอำนาจได้ ไม่รู้จะได้ประชาธิปไตยกลับมาเมื่อไร หลายคนมองโลกสวย บอกอยู่ได้ไม่ถึงปี แต่ปี 2557 เห็นแล้วว่า คสช. อยู่มาถึง 5 ปี ตนไม่ได้คาดหวังกับ 1-2 พรรค แต่คาดหวังกับคนที่เรียกตนเองว่าเป็น ส.ส. ทุกคน

“ช่วงแรกคือต้องเอาชนะกันที่สภาล่างคือ 250 เสียง เราถูกขโมยไปแล้ว 7 เสียงจากการคิด ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของ กกต. ซึ่งคือการเปลี่ยนประเทศไปแล้วรอบหนึ่ง ความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลอยู่ที่ฝ่ายไม่สนับสนุนคุณประยุทธ์ ซึ่งเกิน 250 ไปแล้ว แต่พอใช้อีกสูตรหนึ่งเสียงต่ำกว่า 250 เสียงทันที เมื่อใช้สูตรแบบนี้เราถอยหลังกลับมา เพราะการตัดสินใจของคน 7 คนเปลี่ยนทิศทางของประเทศไปทันที เราจึงต้องมาวิ่งหามันว่าจะก้าวข้ามเส้น 250 ได้อย่างไร จึงต้องเอาชนะที่สภาล่างเพื่อความชอบธรรมก่อน ถ้าสู้สภาล่างไม่จบ ส.ว. ก็จะเข้ามาอีก และอย่าลืมว่ายังมีกลไกของศาลรัฐธรรมนูญอีก นี่คือการเดินทางที่ยากลำบากกว่าเดินทางขึ้นเขา แต่ถ้าไม่เริ่มวันนี้อีก 10 ปีก็ไม่ถึงเสียที”

นายธนาธรยังกล่าวว่า รอบแรกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมี 7 คนคือ พรรคเพื่อไทย 3 คน นายธนาธร นายอภิสิทธิ์ นายอนุทิน และ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีคนอื่น ถ้าตกลงร่วมกันว่าการสืบทอดอำนาจไม่ควรจะเกิดขึ้น แล้วมาคุยกันว่าใครเป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายใดรวมเสียงเกิน 251 เสียง ใครเหมาะสมนายกฯก็เป็นเลย อย่างแรกต้องยืนยันก่อนว่าไม่เอาการสืบทอดอำนาจ

ส่วน 11 พรรคเล็กที่ประกาศร่วมกับพรรคพลังประชารัฐยังสรุปไม่ได้ เพราะอยู่ที่มีนายอนุทินเข้ามาร่วมกับฝ่ายประชาธิปไตยหรือไม่ ถ้าร่วมก็มี 290 กว่าเสียง ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่โหวตใคร จะโหวตนายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯก็ต้องไปรอบสอง เพราะไม่มีใครเกิน 250 เสียง

นายธนาธรย้ำว่า หากมองอนาคตเพื่อลูกหลาน การเข้าร่วมสืบทอดอำนาจจึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดี ทั้งยืนยันว่าไม่ได้เป็นศัตรูกับ 11 พรรค เพราะคนที่แย่งคะแนนพรรคอนาคตใหม่ไป 600,000 คะแนนคือ กกต. จึงต้องเรียกร้องความเป็นธรรมจาก กกต. ต่อไป

นายธนาธรยังกล่าวว่า เราต้องพูดให้ชัดนี่คือการรัฐประหารของ กกต. ย้ำเราสร้างเส้น 250 คนมาแล้ว แม้ข้ามมานิดเดียว 253 คน แต่พอเป็นแบบนี้เกมพลิกเลย จากคน 7 คน ทำให้มีจุดเปลี่ยน 1 จุด แม้มันมีแค่ 7 ที่นั่ง แต่มันก็พลิกเกมทางการเมือง พอมันเป็นแบบนี้ต้องมาคุยเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลต่อไป ถามว่ามันจะเดินไปอย่างไร จะจบอย่างไร ตนว่ามันยังเร็วเกินไป สงครามยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพทหาร ยกตัวอย่างถ้าฝ่าย ส.ส. เรารวมเสียงได้ 295 ถือว่าจบแล้ว มั่นคงมากแล้ว โอเคอาจแพ้ ส.ว. ใช่ แม้มันไม่ถึง 376 แต่ถ้าเป็นแบบนั้นถามว่า 250 ส.ว. จะกล้าโหวตสวนไหม ดังนั้น อย่าเพิ่งหมดหวัง มันยังไม่ถึงจุดนั้นที่พรรคอนาคตใหม่จะเข้าไปเป็นฝ่ายค้านในสภา

ไม่เห็นหัวประชาชน

แม้ 11 พรรคเล็กจะเป็นแนวหน้าปั่นกระแสสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์และการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็ต้องได้เสียงสนับสนุนจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคอื่นๆที่เหลืออยู่ทั้งหมด จึงจะสามารถได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และเข้าสู่กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาล

พรรคพลังประชารัฐมั่นใจว่าจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะมั่นใจว่าพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยจะเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลและสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์แน่นอน แม้จะมีแรงกดดันจากพรรคฝ่ายประชาธิปไตยและเครือข่ายต่างๆที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจก็ตาม

ปัญหาจึงอยู่ที่ “งูเขียว” มากกว่า “งูเห่า” แม้จะเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ แต่การสืบทอดอำนาจก็จะยังเดินหน้าต่อได้ เพราะ 250 ส.ว. ที่ล้วนมาจากพี่น้องวงศาคณาญาติและพวกพ้องพร้อมที่จะยกมือสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ โดยไม่สนใจความละอาย ความสง่างาม หรือจริยธรรมทางการเมือง

รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ อดีตอาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งถือเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและอาจารย์พิเศษของสถาบันต่างๆ กล่าวถึง ส.ว. 250 คนว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2562 กำหนดให้ ส.ว. ที่ได้รับการแต่งตั้งนี้ต้องมาจากหลากหลายอาชีพ แต่มีนายพล 100 คน คือ 40% ของ ส.ว.ทั้งหมด ดูสัดส่วนแล้วสรุปได้ว่า “ไม่เห็นหัวประชาชนเลยนิ”

ขณะที่ “ทั่นผู้นำ” ก็ตอบคำถามถึงการตั้ง ส.ว. แบบงูๆปลาๆ ถามช้างตอบม้า ถามวัวตอบควาย! ถาม ส.ว.ไม่ต่างสภาผัว-เมีย!? “ทั่นผู้นำ” ตอบ “5 ปีออกกฎหมาย 500 ฉบับ”!!

วัดใจ “ภูมิใจไทย”

การจัดตั้งรัฐบาลยังไม่ปิดประตูตายตราบใดที่พรรคพลังประชารัฐยังไม่ได้เสียง ส.ส. จากพรรคต่างๆเกิน 250 เสียง แม้มีเสียงจาก 11 พรรคเล็ก แต่เมื่อรวมเสียงพรรคพลังประชารัฐ 115 เสียง พรรครวมพลังประชาชาติไทยของ “ลุงกำนัน” 5 เสียง พรรคพลังท้องถิ่นไทของนายชัชวาลย์ คงอุดม 3 เสียง และพรรคประชาชนปฏิรูปของนายไพบูลย์ นิติตะวัน 1 เสียง รวมเสียง ส.ส. ทั้งหมดก็ยังมีเพียง 135 เสียง ไม่เกิน 250 เสียง

ดังนั้น 250 ส.ว. ที่เกือบทั้งหมดเป็นเพื่อนพ้องน้องพี่ที่เต็มไปด้วยคนหน้าเดิมที่เคยร่วม “เรือแป๊ะ” หรือ “แม่น้ำ 5 สาย” จึงเชื่อว่าจะไม่มี “งูเห่า” หรือแตกแถวหากพรรคพลังประชารัฐดึงดันจะตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย หากพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคภูมิใจไทยไม่ร่วมรัฐบาลด้วยก็ต้องใช้กระบวนการประชุมร่วมรัฐสภาตามบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญดันก้น “ลุงตู่” เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะได้เสียง 385 เสียง เกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมร่วมรัฐสภา 376 เสียง

อย่างไรก็ตาม หากพรรคภูมิใจไทยที่มี 51 เสียงร่วมกับพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย แม้จะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลและโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ก็มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและได้ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร

แต่ฝ่ายประชาธิปไตยก็ยังมีความหวังว่าพรรคประชาธิปัตย์จะร่วมกับฝ่ายประชาธิปไตยโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ก็จะได้เสียงทั้งหมด 348 เสียง ขาดอีกเพียง 28 เสียงก็สามารถ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ไม่ให้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้

แม้พรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยจะร่วมกับพรรคพลังประชารัฐจัดตั้งรัฐบาลก็เป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำที่จะถูก “ขึงพืด” เป็นรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ จุดเปลี่ยนการเมืองจึงอยู่ที่พรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์

อย่างไรก็ตาม หากพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์พรรคใดพรรคหนึ่งไม่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ การจัดตั้งรัฐบาลและสนับสนุน “ลุงตู่” ก็ยังใช้ขั้นตอนของ ส.ว.ลากตั้งได้ โดยยอมเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยหรือเสียงปริ่มน้ำ ไม่จำเป็นต้องอาศัย “งูเห่า” ที่อาจมีบางพรรคโผล่ออกมาเลื้อยเพ่นพ่าน

การต่อสู้ทางการเมืองจะอยู่ที่สภาผู้แทนราษฎรที่จะทำให้รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำอยู่ได้นานแค่ไหน รวมถึงกระแสนอกสภาที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจที่จะดังมากขึ้นเรื่อยๆ

จุดเปลี่ยนการเมืองและประเทศไทยจึงอยู่ที่พรรคภูมิใจไทยที่ประกาศว่าวันที่ 20 พฤษภาคม จะตัดสินใจว่าจะเลือกอยู่กับฝ่ายใด..พรรคภูมิใจไทยจะร่วมกันกับฝ่ายประชาธิปไตย “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ไม่ให้ 250 ส.ว. มีโอกาสได้โหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ..หรือจะร่วมกับ “คนดีลากตั้ง” แช่แข็งและปิดประเทศไปอีก 20 ปี!!?? 


You must be logged in to post a comment Login