วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

งูเห่ายังไม่ร้ายเท่างูเขียว

On May 9, 2019

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 10-17 พฤษภาคม 2562 )

ในที่สุดผลการเลือกตั้งที่ทำให้การเมืองและการจัดตั้งรัฐบาลอึมครึมมากว่า 1 เดือนก็ได้ภาพที่ชัดเจน โดยเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ระบบแบ่งเขตจำนวน 349 คน จาก 350 เขตเลือกตั้ง และจากนี้จะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป โดย 1 เขตเลือกตั้งที่ กกต. แจกใบส้มและกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่คือ เขต 8 เชียงใหม่ และกำหนดจะเลือกตั้งใหม่วันที่ 26 พฤษภาคม โดยใช้ผู้สมัครเดิมยกเว้นนายสุรพล เกียรติไชยากร พรรคเพื่อไทย ที่ถูก กกต. แจกใบส้ม

ม.128 ไม่ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ

วันที่ 8 พฤษภาคม ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องกรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 231 (1) ว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.) มาตรา 128 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 91 หรือไม่ องค์คณะตุลาการได้ปรึกษาหารือร่วมกันและมีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 91 และ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 เป็นบทบัญญัติที่มีหลักการเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณคิดอัตราส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์) เพื่อให้ได้จำนวน 150 คน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 83 วรรคหนึ่ง (2)

แม้บทบัญญัติ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 มีการบัญญัติรายละเอียดเพิ่มเติมจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 91 แต่ก็เป็นเพียงการกำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณคิดอัตราส่วนเพื่อให้ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ครบจำนวนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยกำหนดวิธีการคิดคำนวณในกรณีที่ไม่สามารถจัดสรรให้ครบ 150 คน ดังปรากฏรายละเอียดตามมาตรา 128 วรรคหนึ่ง (2) (3) (4) (5) (6) และ (7) ซึ่งเป็นไปตามหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 91 วรรคหนึ่งและวรรคสาม แล้วจึงวินิจฉัยว่า พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 91 จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 128

กกต. ใช้สูตรแจก ส.ส. 26 พรรค

ในวันเดียวกัน (8 พฤษภาคม) กกต. ได้ประกาศรับรอง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อทั้งหมด 26 พรรค โดยพรรคพลังประชารัฐได้ 18 ที่นั่ง พรรคอนาคตใหม่ 50 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ 19 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทย 12 ที่นั่ง พรรคเสรีรวมไทย 10 ที่นั่ง พรรคชาติไทยพัฒนา 4 ที่นั่ง พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 ที่นั่ง พรรคประชาชาติ 1 ที่นั่ง พรรคเพื่อชาติ 5 ที่นั่ง พรรครวมพลังประชาชาติไทย 4 ที่นั่ง พรรคชาติพัฒนา 2 ที่นั่ง พรรคพลังท้องถิ่นไท 3 ที่นั่ง พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 ที่นั่ง

ส่วนพรรคที่ได้ 1 ที่นั่ง ได้แก่ พรรคพลังปวงชนไทย พรรคพลังชาติไทย พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคพลังไทยรักไทย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคประชานิยม พรรคประชาธรรมไทย พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคพลเมืองไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคพลังธรรมใหม่ และพรรคไทรักธรรม

1.5 ล้านเสียงโดนทิ้งน้ำ

หลัง กกต. รับรอง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่มีทั้งหมด 26 พรรคการเมือง นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ แถลงร่วมกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถึงการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของ กกต.ว่า ตนได้ยื่นหมายไปยัง กกต. ว่าต้องยึดหลักตามมาตรา 91 ไม่ว่าจะใช้สูตรใดก็ตาม ซึ่งคะแนนเพดานอยู่ที่ประมาณ 71,000 คะแนนต่อ ส.ส. 1 คน สูตร 27 พรรคของ กกต. จึงน่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 91

โดยเฉพาะคะแนนของพรรคอนาคตใหม่ได้ ส.ส. ทั้งหมด 80 คน แทนที่จะได้ 87 คน คิดเป็นคะแนนที่ถูก “ทิ้งน้ำ” ประมาณ 600,000 คะแนน ทั้งที่บอกว่าระบบการเลือกตั้งครั้งนี้ทุกคะแนนมีความสำคัญ และเมื่อรวมพรรคการเมืองอื่น ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเสรีรวมไทย จะมีคะแนนถูกทิ้งน้ำประมาณ 1.5 ล้านคะแนน

ขณะที่คะแนน 11 พรรคเล็กที่รวมกันทั้งประเทศได้เพียง 550,000 คะแนนเท่านั้น หมายความว่า กกต. เลือกที่จะทิ้งคะแนนเสียงกว่า 1.5 ล้านเสียง หรือลองเปรียบเทียบคะแนนนายเอกการ ซื่อทรงธรรม ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เขต 1 แพร่ ที่ได้คะแนนรายเขตสูงที่สุดในประเทศ 72,000 คะแนน แต่พรรคอื่นๆได้ระหว่าง 30,000-60,000 คะแนน ซึ่งเอามาจากทั่วประเทศยังน้อยกว่า ส.ส.พรรคอนาคตใหม่เขตเดียว หากคำนวณคะแนนจากพรรคที่ได้น้อยสุด 33,000 คะแนน เมื่อหารด้วย 77 จังหวัด จะเท่ากับได้เพียงจังหวัดละ 417 คะแนน หรือคิดจาก 350 เขตทั่วประเทศก็ขอเพียงเขตละ 100 คะแนน ซึ่งเป็นตัวเลขการคำนวณที่ผิดเพี้ยนและทำให้เกิดปัญหา

ยื่นศาล รธน. วินิจฉัยสูตร กกต.

นายปิยบุตรยืนยันว่า พรรคอนาคตใหม่ที่เป็นผู้เสียหายโดยตรงจาก 600,000 คะแนนที่ถูกทิ้งน้ำ ทำให้ ส.ส. หายไป 7 คน ซึ่งพรรคถือเป็นตัวแทนของประชาชน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาช่องทางการดำเนินการต่อไปคือ 1.ยื่นคำร้องไปยัง กกต. ให้เสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 210 (2) เพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่ากรณีนี้มีปัญหาเกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ

2.ใช้อำนาจตามมาตรา 213 ที่ระบุว่า บุคคลใดที่ถูกละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญมีสิทธิยื่นเรื่องฟ้องตรงไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ โดยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า หากจะฟ้องตรงต้องเริ่มจากการร้องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน หากผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ส่งเรื่องต่อไปศาลรัฐธรรมนูญ คนที่เริ่มร้องก็สามารถส่งเรื่องด้วยตนเองให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการใช้สูตรคำนวณแบบ 27 พรรคนั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยวินิจฉัยประเด็นนี้ โดยจะทำทั้ง 2 วิธี

กกต. ต้องคำนวณตามมาตรา 91

โดยก่อนหน้า กกต. จะรับรอง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ นายปิยบุตรได้โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊คหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 91 และ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญว่า ไม่ได้วินิจฉัยสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งทางวิชาการเรียกว่าศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบว่ากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ในแบบ “นามธรรม” หรือ abstract control ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยการนำมาตรา 128 มาใช้แล้วขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ในแบบ “รูปธรรม” หรือ concrete control

เมื่อศาลวินิจฉัยว่าไม่ขัด มาตรา 128 ก็ยังคงดำรงอยู่ กกต. ในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่เป็นผู้ใช้และตีความมาตรา 128 ก็ต้องใช้และตีตวามมาตรานี้ออกมาเพื่อคำนวณจำนวน ส.ส. ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 91 กกต. จะนำคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนี้มาเป็น “หลังพิง” เพื่อคำนวณตามสูตร 26 พรรคไม่ได้

เพื่อไทยค้านสูตรแจกพรรคเล็ก

พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ (8 พฤษภาคม) คัดค้านวิธีการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของ กกต. ทั้งที่พรรคการเมืองนั้นๆมีคะแนนไม่ถึงจำนวน ส.ส. ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ และยังปรากฏว่าพรรคการเมืองที่ได้รับจัดสรรที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อเหล่านั้นได้รับคะแนนเสียงไม่ถึงจำนวนเสียงต่อ ส.ส. 1 คน ตามที่รัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. กำหนดไว้

แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่า มาตรา 128 ของ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 91 แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็มิได้วินิจฉัยลงไปในรายละเอียดถึงวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อว่า กกต. สามารถจะคำนวณให้พรรคการเมืองที่มีคะแนนต่ำกว่าคะแนนต่อ ส.ส. 1 คนได้หรือไม่ จึงต้องยึดหลักเกณฑ์วิธีการคำนวณที่ไม่ขัดต่อหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 91 คือ

1.พรรคการเมืองที่จะได้รับจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อต้องมีคะแนนไม่ต่ำกว่าคะแนนต่อ ส.ส. 1 คน คือประมาณ 70,000 คะแนน

2.พรรคการเมืองที่มีคะแนนต่ำกว่าจำนวนคะแนนต่อ ส.ส. 1 คน ย่อมไม่มีจำนวน ส.ส.พึงมี และไม่มีสิทธิได้รับจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 (4) ประกอบมาตรา 128 (4) แห่ง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ให้จัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อให้กับพรรคการเมืองเฉพาะพรรคที่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับเท่านั้น

3.หลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญมาตรา 91 (4) และมาตรา 128 (5) แห่ง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ส่วนท้ายกำหนดไว้ชัดเจนว่า การจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดมี ส.ส. เกินจำนวนที่จะพึงมีได้ พรรคที่มีคะแนนต่ำกว่าคะแนนต่อ ส.ส.พึงมี 1 คน หากจัดสรรให้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อจะมีผลให้พรรคนั้นมีจำนวน ส.ส. เกินจำนวนที่พึงมี (เพราะเดิมไม่มี ส.ส. เลย) จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ รวมถึงขัดต่อมาตรา 128 (5) แห่ง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ด้วย

จองกฐินเล่นงาน กกต.

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์และอดีต กกต. ได้โพสต์แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊คก่อน กกต. แถลงรับรอง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ว่า “ไม่ขัดรัฐธรรมนูญไม่ได้แปลว่าสูตร กรธ. ถูกต้อง” การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นการระบุเพียงแค่ว่า มาตรา 128 ของ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. มิได้มีเนื้อความขัดหรือแย้งต่อมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นเพียงการขยายความขั้นตอนวิธีการคำนวณ แต่ไม่ใช่คำตอบว่าสูตร กรธ. ที่ กกต. ตั้งใจใช้จะถูกรัฐธรรมนูญด้วย

คำวินิจฉัยของศาลจึงมีประโยชน์เป็นศูนย์สำหรับ กกต. มิได้มีส่วนสนับสนุนหรือเป็นตัวช่วยใดๆให้ กกต. เลือกใช้สูตรที่อาจมีคนแย้งว่าเป็นสูตรที่ขัดรัฐธรรมนูญแล้วจะพ้นผิด ทุกอย่างขึ้นอยู่กับ กกต. 7 ท่าน จะตัดสินใจใช้สูตรที่ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญมาเป็นเครื่องมือในการคำนวณเพื่อจัดสรรจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่เหมาะสม

หากเปรียบ กกต. เป็นวัด คาดว่าหาก กกต. ใช้สูตรผิด คงมีหลายพรรคที่ประกาศจองกฐิน งานนี้คงรับกันไม่หวาดไม่ไหว

กำกวม (เบลอ) เพียงพอ

นายวิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โพสต์เฟซบุ๊ค Viroj NaRanong ว่า ไม่ผิดจากความคาดหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตีความแค่ว่า พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 91 แต่ไม่ได้ชี้ว่าต้องตีความ/คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่ออย่างไรถึงจะไม่ขัด

ปัญหาจริงๆคือ ที่ผ่านมา กกต. เลือกตีความ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 และคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อในแบบที่ตัวเองก็คิดว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ จนในที่สุดตัดสินใจส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งครั้งนั้นศาลรัฐธรรมนูญไม่รับตีความ ทำให้หลายคนมีข้อกังขาในการตีความหรือการคำนวณของ กกต.

แม้ในความเป็นจริงการตีความครั้งนี้ของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้บอกอะไรใหม่หรือชี้ชัดว่าวิธีที่ กกต. พยายามนำมาใช้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่เลยก็ตาม แต่ในทางการเมืองคำตัดสินนี้ก็อาจจะ “กำกวม (หรือเบลอ) เพียงพอ” ที่จะทำให้ กกต. ตัดสินใจเดินหน้าประกาศผลในแนวที่ตั้งธงเอาไว้แต่แรก (ว่ามีไม่น้อยกว่า 25 พรรคที่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ)

7 พรรคเหลือ ส.ส. 245 เสียง

หลังจาก กกต. ประกาศรับรอง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 26 พรรค ทำให้มี ส.ส. ที่ กกต. รับรองแล้วทั้งสิ้น 498 คน เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 349 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 149 คน เหลือเขตเดียวคือ เขตเลือกตั้งที่ 8 เชียงใหม่ ที่อยู่ระหว่างการเลือกตั้งใหม่

ที่น่าสนใจคือ เสียงของ 7 พรรคการเมืองที่จับมือเป็นพันธมิตรฝ่ายประชาธิปไตยต่อต้านการสืบทอดอำนาจ “ระบอบ คสช.” และไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งก่อนหน้านี้มีเสียงรวมกัน 255 เสียง เมื่อคิดตามสูตร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่ กกต. มีมติ ทำให้ 7 พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยมีเสียงรวมกัน 245 เสียงคือ พรรคเพื่อไทย 136 เสียง พรรคอนาคตใหม่ 80 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 10 เสียง พรรคประชาชาติ 7 เสียง พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 เสียง พรรคเพื่อชาติ 5 เสียง และพรรคพลังปวงชนไทย 1 เสียง

“พลังประชารัฐ” คึกคักตั้งรัฐบาล

สูตรแจก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 26 พรรคการเมือง ทำให้พรรคพลังประชารัฐแสดงความดีใจอย่างออกหน้าและให้ทุกพรรคการเมืองเคารพกฎกติกา เพราะจากจำนวน ส.ส. 498 คน เสียงกึ่งหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎรคือ 249 เสียง ขณะที่จำนวน ส.ส. ของ 7 พรรคการเมืองที่ประกาศต่อต้านการสืบทอดอำนาจลดลงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร จากเดิมน่าจะได้ 255 เสียง ก็เหลือ 245 เสียง จึงจำเป็นต้องหาเสียง ส.ส. เพิ่มอีกอย่างน้อย 5 เสียงขึ้นไป จึงจะมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลและได้ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร

พรรคพลังประชารัฐจึงมั่นใจว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อแน่นอน หากรวบรวม ส.ส. ได้มากที่สุดก็สามารถอ้างความชอบธรรมหรืออ้างคะแนนป๊อปปูลาร์โหวตในการจัดตั้งรัฐบาลได้

สถานการณ์ขณะนี้พรรคพลังประชารัฐจึงได้เปรียบ 7 พรรคการเมือง สอดคล้องกับกระแสข่าวการต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีของพรรคต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าพรรคพลังประชารัฐสามารถใช้ “ผลประโยชน์” ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นให้กับพรรคเล็ก ขณะที่พรรคขนาดกลาง ไม่ว่าพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรครวมพลังประชาชาติไทย และพรรคชาติพัฒนา ก็มีกระแสข่าวการต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีกันแล้ว แม้พรรคประชาธิปัตย์จะต้องรอความชัดเจนหัวหน้าพรรคคนใหม่ก็ตาม แต่ ส.ส.จำนวนหนึ่งก็ประกาศชัดเจนว่าต้องการเข้าร่วมรัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี

ประณามอัปยศ-ไร้สง่างาม

นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตหัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึงการทำงานของ กกต. ว่า ไร้ประสิทธิภาพอย่างมาก ทั้งความไร้หลักการและไร้ความชัดเจนเรื่องต่างๆ จนเกิดเป็นข้อขัดแย้งในหมู่นักการเมืองและสังคม และยังทำงานล่าช้าอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งอาจเข้าข่ายเบียดเบียนและเบียดบังภาษีของประชาชนไปอย่างไร้ประโยชน์ รวมถึงการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 157 โดยเฉพาะการประกาศรับรอง ส.ส. ที่มีเรื่องร้องเรียน โดยอ้างว่ารับก่อนฟันทีหลัง เพราะการให้ใบเหลือง ใบแดง ใบส้ม กกต. ยังมีอำนาจตามกรอบเวลาอีก 1 ปี ทำให้ตัวผู้สมัคร ประชาชนผู้ออกเสียง และประเทศชาติเสียหาย เพราะอาจต้องเสียงบประมาณเพิ่มในการเลือกตั้งใหม่

นายอุเทนยังมองว่า กกต. ต้องปล่อยผี ส.ส. 349 เขต เพื่อต้องการให้ผลของ ส.ส.บัญชีรายชื่อทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการรวบรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาล สูตรคำนวณที่หลายพรรคการเมืองได้ ส.ส. 10 กว่าที่นั่ง เพียงพอที่จะชี้แพ้ชนะการตั้งรัฐบาล หากเป็นเช่นนี้คงต้องจารึกไว้ว่าเป็นการเลือกตั้งและการตั้งรัฐบาลที่อัปยศ ไร้ความสง่างามที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย

สนับสนุนทุกการเคลื่อนไหว

น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คแสดงความคิดเห็นทางการเมืองว่า “หลังจากการประกาศรายชื่อ ส.ส. ด้วยสูตรคำนวณพิสดารอันไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มีคำถามว่าประชาชนเจ้าของคะแนนเสียงอย่างเราจะทำอะไรกันได้บ้าง?”

“สนับสนุนผู้แทนของเราในทุกการเคลื่อนไหวค่ะ ออกไปร่วมแสดงพลังทุกครั้งที่มีการร้องเรียนหรือฟ้องร้องดำเนินคดีโดยพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย หากอยากให้ผู้ถืออำนาจและองค์กรอิสระ “เห็นหัวประชาชน” เราต้องเดินออกไปแสดงตัวให้เห็นทุกครั้งที่มีโอกาส และเชื่อมั่นในความเป็นไปได้ไปด้วยกัน”

ขณะที่การเคลื่อนไหวในโลกโซเชียลได้รวมพลังกันทวีตข้อความในทวิตเตอร์แสดงถึงข้อสงสัยว่า ทำไมพรรคเล็กที่คะแนนได้ไม่ถึงเกณฑ์ถึงมีสิทธิได้ที่นั่ง ส.ส. ในสภา จนทำให้แฮชแท็ก “#ส.ส.เอื้ออาทร” ทะยานขึ้นอันดับสูงในทวิตเตอร์ที่มีทั้งวิจารณ์หนัก วิจารณ์เบา เพราะไม่เห็นด้วยกับวิธีคำนวณของ กกต. และขอให้ กกต. ทบทวนว่าเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

“ภูมิธรรม” จี้พรรคนิ่งเลือกฝั่ง

นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ทวีตข้อความว่า

ฝ่าย ปชต. 245 ที่นั่ง (พท./อนค./สรท./ปชช./ศกม./พช./พลท.)

ฝ่ายหนุนสืบทอดอำนาจ 138 ที่นั่ง (พปชร./รปช./ปชร./+กลุ่มพรรคเล็ก)

ฝ่ายนิ่ง 116 ที่นั่ง (ปชป./ภท./ชทพ./ชพน.)

245 กับ138 ยันกันอยู่ : เป็นหน้าที่ของคนไทยต้องช่วยกันให้ฝ่ายนิ่ง…ต้องตัดสินใจ…

ปท. อยู่ในมือทุกคนครับ อย่าให้ใครมาย่ำยี ปท.

“ธนาธร” ปลุกปิดสวิตช์ ส.ว.

อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำยังต้องอาศัยเสียงจาก 250 ส.ว. ที่แต่งตั้งโดยหัวหน้า คสช. หากเสียง ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ก็ต้องอาศัยเสียง ส.ว. โหวตร่วมในรัฐสภา ซึ่งแค่พรรคพลังประชารัฐและพรรคพันธมิตรมีเสียงเกิน 126 เสียง ก็โหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีได้แล้ว

นายธนาธรจึงเรียกร้องพรรคการเมืองที่เคยหาเสียงว่ายืนเคียงข้างประชาชนให้ร่วมกัน “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ให้เกิดขึ้นจริง โดยเลือกนายกรัฐมนตรีให้ได้ในสภาผู้แทนราษฎร เพราะมีแค่ 3 พรรคการเมืองที่ประกาศชัดเจนว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ รวมกันมีเพียง 121 ที่นั่งคือ พรรคพลังประชารัฐ 115 เสียง พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง และพรรคประชาชนปฏิรูป 1 เสียง

ข้อเสนอ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” จึงเป็นไปได้หากทำให้การเลือกนายกรัฐมนตรีไม่มาจากกลไกการสืบทอดอำนาจ ไม่มาจาก ส.ว. ที่แต่งตั้งโดย คสช.

ส.ว.ลากตั้งกลไกสืบทอดอำนาจ

นายปิยบุตรกล่าวถึงการปิดสวิตช์ ส.ว. เพิ่มเติมว่า พรรคการเมืองถือกำเนิดขึ้นได้เพราะระบอบประชาธิปไตย ถ้าไม่มีระบอบประชาธิปไตยพรรคการเมืองจะเป็นองค์กรนอกกฎหมาย พันธกิจของพรรคการเมืองคือการรวบรวมความต้องการของประชาชนที่ไม่เอาการสืบทอดอำนาจมากกว่าที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ

นายปิยบุตรยังโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ค (8 พฤษภาคม) ว่า “นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่วุฒิสภาเป็นกลไกการสืบทอดอำนาจของเผด็จการทหาร” โดยระบุว่า หลายครั้งวุฒิสภากลายเป็นกลไกที่คณะรัฐประหารใช้ในการสืบทอดอำนาจ ด้วยเกรงว่าหากกลับไปสู่ระบบปรกติ มีการเลือกตั้ง ส.ส. แล้ว คณะรัฐประหารจะไม่สามารถครองอำนาจและชี้นำการเมืองได้ต่อไป จึงต้องเพียรพยายามในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ กำหนดให้วุฒิสภามี “วิญญาณ” ของพวกเขาสิงสถิตเสมอ

การอภิปรายของนายสมภพ โหตระกิตย์ ในที่ประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อ 11 มกราคม 2505 เป็นประจักษ์พยานได้อย่างดี “ถ้าหากว่าเราต้องการที่จะให้ผลงานที่เป็นอยู่ในปัจจุบันซึ่งยังไม่สำเร็จในเวลานี้ได้สำเร็จต่อไปในอนาคต การให้มีสภาเดียวจากบุคคลที่ไม่รู้ในอนาคต ไม่รู้จะมาจากประเภทใดบ้าง ย่อมเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับผลงานที่เราต้องการให้มีผลในอนาคต เพราะฉะนั้นหลักประกันที่ดีที่สุดคือ ให้มีสองสภา ให้มีดุลแห่งอำนาจที่จะคอยต่อสู้กับบุคคลที่มาเป็นตัวแทนราษฎร ซึ่งเราไม่อาจคาดหมายได้ว่ามาในอุดมคติอันใด”

การร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนั้นใช้เวลาเกือบ 10 ปี ผ่านรัฐบาลสฤษดิ์-ถนอม ในท้ายที่สุดประเทศไทยจึงได้รัฐธรรมนูญ 2511 ซึ่งมีวุฒิสภาเป็นกลไกสำคัญของคณะรัฐประหาร โดยวุฒิสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ 2511 จำนวน 120 คน มีทหาร 88 คน

แล้ววุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ 2560 ล่ะ?.. จะมีคนที่ทำงานกับระบอบ คสช. กี่คน? จะมีทหารกี่คน? จะมีคนที่เคยเป็น สนช. ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 49 และ 57 กี่คน? จะมีคนที่เคยเป็น ส.ว.แต่งตั้งกี่คน? จะมีคนที่เป็นพี่ น้อง ผัว เมีย ลูก ญาติ ของคนในระบอบ คสช. กี่คน?

สังคมการเมืองไทยเสมือนท่าเต้นมูนวอล์คเกอร์ ดูเหมือนเดินหน้า แต่ถอยหลัง เราเดินหน้าแต่เลขปี พ.ศ. แต่ระบอบรัฐธรรมนูญและสภาพการเมืองย้อนหลังกลับไปหลายทศวรรษ

อำนาจของ ส.ว.ลากตั้ง

อำนาจของ ส.ว. 250 คนที่คัดเลือกโดยหัวหน้า คสช. คนเดียวแต่มีอำนาจมากมาย โดยเฉพาะการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีหากสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ส.ว.แต่งตั้งจึงถูกจับตามองว่าจะเป็น “สภาฝักถั่ว” ตาม “ใบสั่ง” หรือไม่ และมีทีท่าอย่างไร ทว่าอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. ไม่ได้จบลงแค่นั้น แต่ยังจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดให้การปฏิรูปประเทศต้องมีการดำเนินงานที่สัมฤทธิผลภายใน 5 ปี

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศกำหนดไว้ถึง 11 ด้าน ซึ่งในบทเฉพาะกาลกำหนดให้ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมีอำนาจเกี่ยวกับกฎหมายการปฏิรูปประเทศได้ทุกเรื่องคือ อำนาจในการเร่งรัด ติดตามการดำเนินงานปฏิรูปประเทศ ซึ่งต้องเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี

งูเห่ายังไม่ร้ายเท่างูเขียว

“จอห์น-วิญญู วงศ์สุรวัฒน์” พิธีกรชื่อดัง ได้ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ (6 พฤษภาคม) ว่า “คนไทยออกไปเลือกตั้ง ส.ส. เรียกร้องกันแทบตาย รอฟังผลคะแนนกันใจจดใจจ่อ กกต. สื่อ คนทั่วไป ตรวจสอบกันยิบ ส่วน ส.ว. ก็แค่จิ้มกันเอง ตรวจสอบไรไม่ได้เลย ทุเรศจัง”

นายสุหฤท สยามวาลา นักธุรกิจและอดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. โพสต์เฟซบุ๊ค (2 พฤษภาคม) สั้นๆแต่กลุ่มอำนาจสะดุ้งว่า “ในการเลือกตั้งไม่มีหรอกที่เราจะได้ตามสิ่งที่เรากา มันขึ้นอยู่ที่คนส่วนมาก “แม่ง”…ไม่มีใครผิด ใครถูก ใครโง่ แค่ไอ้คนที่รับผิดชอบนับคะแนนอย่าทำให้รู้สึกว่ามันผิด มันโง่มากที่ออกไปเลือกตั้ง…???? อย่าให้เรารู้สึกเหมือนถูกหลอกให้ออกไปเลือกตั้งเลย ขอร้อง เห็นหัวกูบ้าง…”

ปัญหาการเมืองที่อึมครึมและวุ่นวายเป็นผลจากรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ต้องการให้การสืบทอดอำนาจไม่สะดุด ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่ทางออกของประเทศตามระบอบประชาธิปไตย แต่มีแนวโน้มจะเดินหน้าสู่ทางตันที่จะมีแต่สร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้น

เพราะการจัดตั้งรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ไม่ใช่ “งูเห่า” เท่านั้นที่พร้อมจะถูกดูดหรือซื้อตัวไปร่วมสนับสนุน “ทั่นผู้นำ”

แต่ที่น่ากลัวกว่าคือ “งูเขียว” ทั้งที่มาจากการ “ลากตั้ง” และ “อภินิหารทางกฎหมาย” ผ่านสูตรพิสดารของ 7 อรหันต์!!??


You must be logged in to post a comment Login