วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

สรรพสามิตขยับภาษียาเส้น 2 บาท/ซอง

On May 8, 2019

นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุม ครม.เห็นชอบปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตยาเส้นมีผลหลังเที่ยงคืน 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา ด้วยการปรับเพิ่มภาษีตามปริมาณเป็น 0.1 บาท/กรัม จากเดิมจัดเก็บ 5 สตางค์/กรัม เช่น ยาเส้นขายปลีกราคา 20-30 บาทต่อซอง ภาษีจาก 10 บาท เพิ่มเป็น 13 บาทสำหรับซองใหญ่ ส่วนซองเล็กเพิ่ม 5 บาท เป็น 7 บาท หรือเพิ่มขึ้น 2 บาท/ซอง และภาษียาเส้นไม่ได้ปรับเพิ่มมาเป็นเวลานานถึง 40 ปี ส่งผลกระทบต่อโรงงานยาสูบปรุงเส้นขนาดใหญ่ แต่สำหรับโรงงานหั่นยาเส้นของชาวบ้านเพื่อส่งให้กับการยาสูบจะได้รับการยกเว้นภาษี คาดว่ามีรายได้เพิ่มจากการขยับเพิ่มภาษี 2,000 ล้านบาท จากยอดภาษีสรรพสามิตยาสูบทั้งระบบโดยรวมประมาณ 60,000 ล้านบาท/ปี

ทั้งนี้ หลังจาก ครม.ปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตยาสูบเมื่อเดือนตุลาคม 2560 ส่งผลให้ราคาขายปลีกบุหรี่ซิกาแรตสูงขึ้น ทำให้สูบบุหรี่มวนลดลง โดยหันสูบยาเส้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้รายได้ภาษียาเส้นเพิ่มจาก 12 ล้านกิโลกรัม เป็น 26 ล้านกิโลกรัม หรือเพิ่ม 2 เท่าตัว ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบอุตสาหกรรม ทั้งผู้ผลิตในประเทศและผู้นำเข้า ตลอดจนเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ อีกทั้งยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภคยาเส้นที่มีการบริโภคเพิ่มขึ้น เนื่องจากยาเส้นดังกล่าวนำไปทำเป็นบุหรี่มวนเองโดยไม่มีก้นกรอง ทำให้ผู้บริโภครับสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ที่ประชุม ครม.เมื่อ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมาจึงเห็นชอบขยายเวลาจัดเก็บภาษีตามมูลค่าร้อยละ 20 และร้อยละ 40 ออกไปอีก 1 ปี เพื่อการปรับตัวและการพัฒนาด้านต่าง ๆ อาทิ การหาพืชทดแทน การหาช่องทางการตลาดที่เหมาะสมเพื่อการผลิตและส่งออก และยังลดช่องว่างของราคาขายปลีกบุหรี่ซิกาแรตและราคายาเส้นให้มีความใกล้เคียงกันมากขึ้น จากเดิมประมาณกว่า 300 เท่า เหลือประมาณ 17 เท่า

ส่วนการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตมอเตอร์ไซค์ นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า รอประกาศลงพระราชกิจจานุเบกษากำหนดมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 โดยเปลี่ยนการจัดเก็บภาษีตามความจุของกระบอกสูบมาเป็นการจัดเก็บภาษีตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงปรับการจัดเก็บภาษีรถมอเตอร์ไซต์ ได้แก่ รถมอเตอร์ไซค์ใช้พลังงานไฟฟ้า (EV) ในอัตราร้อยละ 1 ของราคาขายปลีก จากปัจจุบันไม่ได้จัดเก็บ ขณะที่รถมอเตอร์ไซค์ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำกว่า 50 กรัม จัดเก็บภาษีร้อยละ 3 หากปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 51-90 กรัม เสียภาษีร้อยละ 5 การปล่อยก๊าซ 9-130 กรัม เสียภาษีร้อยละ 9 การปล่อยก๊าซมากกว่า 130 กรัม เสียภาษีร้อยละ 18 ขณะที่มอเตอร์ไซค์ต้นแบบเพื่อการวิจัยได้รับการยกเว้นเสียภาษี ปัจจุบันกรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีมอเตอร์ไซค์กว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี หากจัดเก็บภาษีใหม่ ทำให้กรมจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 30-40 หรือ 600-800 ล้านต่อปี

สำหรับการปรับโครงสร้างใหม่นั้น เพื่อให้เป็นไปตามหลักการจัดเก็บภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในประเทศที่คำนึงถึงประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงาน และสนับสนุนทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีการประหยัดพลังงานในอนาคต และช่วยลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 และปัญหามลพิษต่าง ๆ ที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศได้ สำหรับปัจจุบันรถมอเตอร์ไซค์ที่มีขนาดต่ำกว่า 150 CC ที่มีร้อยละ 90 ของปริมาณรถมอเตอร์ไซค์ทั้งหมดจะมีราคาขายปลีกเพิ่มขึ้น 100-200 บาท ต่อคันขณะที่รถบิ๊กไบท์จะมีราคาสูงขึ้นตามขนาด CC ซึ่งขณะนี้รถยนต์ที่มีขนาดต่ำกว่า 150 CC จะเสียภาษีในอัตราร้อยละ 2.5 ของราคาขายปลีก ขนาด 15-500 CC เสียภาษีในอัตราร้อยละ 4 ขนาด 50-1,000 CC เสียภาษีในอัตราร้อยละ 8 ขนาดสูงกว่า 1,000 CC จัดเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 17


You must be logged in to post a comment Login