วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

ดนตรีกับสมองเสื่อม

On April 12, 2019

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช

ผู้เขียน : รศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่  12 – 19 เมษายน 2562)

ในปัจจุบันเนื่องจากคนเราอายุขัยยืนยาวขึ้น ภาวะสมองเสื่อมซึ่งมักพบมากขึ้นตามอายุจึงมีมากขึ้น การชะลอป้องกันการเกิดสมองเสื่อมและการบำบัดรักษาจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น

สำหรับผู้สูงอายุปรกติหรือเพิ่งเริ่มมีปัญหาในด้านความจำเพียงเล็กน้อย การออกกำลังกาย การได้คิดอ่านไปพร้อมๆกับการออกกำลังกาย การทำกิจกรรมกลุ่มสันทนาการ การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง การตรวจสุขภาพและควบคุมโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง งดการสูบบุหรี่ และการมีภาวะโภชนาการที่ดี ลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน พบว่าช่วยชะลอการถดถอยของความจำได้

ถึงแม้หลักฐานวิจัยทางการแพทย์เกี่ยวกับผลของดนตรีต่อสมองยังมีไม่ชัดเจนนัก แต่โดยทั่วไปมักออกมาว่าดนตรีมีผลต่อสุขภาพในด้านต่างๆ โดยผ่านทางการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีต่างๆในสมอง เช่น สารสื่อประสาทหลายๆชนิดเปลี่ยนแปลงไปในทางที่มีผลดีกับสุขภาพมากขึ้น เช่น ฮอร์โมนคอร์ติซอลลดลง ทำให้ความเครียดลดลง ผลต่อเมลาโทนินทำให้หลับได้ดีขึ้น ผลต่อออกซิโทซินทำให้เข้าสังคมได้ดี นอกจากนั้นยังมีผลต่อสารสื่อประสาทชนิดอื่นๆอีกหลายชนิด ซึ่งผลของดนตรีต่อสมองมีหลายอย่างที่เหมือนกับผลของการฝึกสมาธิ

ดนตรีกระตุ้นอารมณ์ ซึ่งเชื่อมไปสู่ความจำ ทำให้ชะลอการถดถอยของความจำ ผู้ป่วยสมองเสื่อมยังมีความสามารถในการรับรู้ดนตรี ถึงแม้ความสามารถในหลายๆด้านของสมองจะสูญเสียไปแล้วก็ตาม การฟังและร้องเพลงเป็นการกระตุ้นสมองทั้งสองด้าน ผู้ป่วยสมองเสื่อมถึงแม้จะมีอาการในระยะปานกลางหรือระยะรุนแรงจนไม่สามารถพูดสื่อสารได้แล้ว ก็ยังมีการตอบสนองต่อดนตรีและสื่อสารกับผู้ดูแลได้มากขึ้น ความสามารถของสมองในบางด้านดีขึ้น เช่น สมาธิจดจ่อดีขึ้น ความจำเกี่ยวกับภาพที่เห็นดีขึ้น

นอกจากนั้นดนตรียังช่วยให้พฤติกรรมและอารมณ์ของผู้ป่วยดีขึ้น เช่น ลดอาการพลุ่งพล่านกระวนกระวาย ลดอารมณ์ซึมเศร้า ความวิตกกังวลและความเครียด และเมื่อประสานดนตรีไปกับกิจวัตรประจำวัน จังหวะของดนตรีอาจกระตุ้นให้เกิดความจำในการทำกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้น

 


You must be logged in to post a comment Login