วันพฤหัสที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567

มองหาตัวช่วย

On April 11, 2019

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 11 เม.ย. 62)

การเลือกตั้งผ่านมากว่าครึ่งเดือนแล้ว ยังไม่มีความชัดเจนมากนักจากหน่วยงานรับผิดชอบหลักอย่าง กกต. โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสูตรที่จะใช้คำนวณแบ่งเก้าอี้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ล่าสุดดูเหมือนว่ามีความเป็นไปได้ที่ กกต. จะเลือกใช้ตัวช่วยอย่างศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาชี้ขาด เพราะคำตัดสินถือเป็นที่สุด ผูกพันทุกองค์กร แถมวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ ทำตามคำสั่งศาลอย่างไรก็ห่างไกลคุก

ประเทศไทยผ่านการเลือกตั้งมาแล้วกว่าครึ่งเดือน แต่บรรยากาศไม่ใกล้เคียงกับการกลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตย บรรยากาศบ้านเมืองยังเป็นไปแบบเดิม ไม่เหมือนอยู่ในช่วงปลายอำนาจของรัฐบาลทหาร คสช.

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ได้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการออกมาแม้แต่เขตเดียว ทั้งที่ควรทยอยประกาศรับรองในเขตที่ไม่มีปัญหาร้องเรียนทุจริตเลือกตั้งก่อน ไม่จำเป็นต้องรอประกาศพร้อมกันทีเดียวในวันที่ 9 พฤษภาคม

ขณะที่สูตรที่จะใช้คิดคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ กกต. ก็ยังไม่รู้ว่าจะใช้สูตรไหน อย่างไร

ล่าสุดดูเหมือนว่า กกต. อาจจะเพลย์เซฟตัวเองด้วยการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่าจะใช้สูตรไหนมาคิดแบ่งโควตา ส.ส.บัญชีรายชื่อให้พรรคการเมือง

แม้นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. จะระบุในการให้สัมภาษณ์ล่าสุดว่า

“กกต. จะพิจารณาข้อความในมาตรา 128 ตาม พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. และมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ ว่ามีข้อแตกต่างกันอย่างไร แต่ยืนยันว่ามีแนวคิดในการคำนวณไว้อยู่แล้ว ขอให้รอมติจากที่ประชุมก่อน โดยสำนักงานได้เสนอเรื่องและวิธีการคำนวณมายังคณะกรรมการ กกต. แล้ว”

แต่ก็ไม่ได้ปิดประตูส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด

ทั้งนี้ หาก กกต. ไม่กล้าตัดสินใจและต้องการเพลย์เซฟก็ควรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด และควรรีบส่งเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีเวลาพิจารณาและตัดสินได้ทันก่อนการประกาศรับรองผลเลือกตั้งในวันที่ 9 พฤษภาคม

ในขณะที่ กกต. ยังไม่กล้าฟันธงสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็มีเรื่องแทรกซ้อนให้ต้องลุ้นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นโมฆะหรือไม่เมื่อนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักษาชาติ ยื่นคำร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาด

กรณีนี้ต้องลุ้น 2 ขยัก

ขยักแรก ลุ้นว่าผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีมติรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ หากไม่รับก็จบ แต่หากรับก็ต้องตามต่อว่าจะมีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตามคำร้องหรือไม่

ขยักที่สอง หากเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญ ศาลจะชี้ขาดออกมาอย่างไร จะรับไว้พิจารณาหรือไม่ หากรับจะสั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่

ที่ต้องลุ้นหนักคือกระบวนการทั้งหมดนี้จะเสร็จก่อนหรือหลังการประกาศรับรองผลเลือกตั้งในวันที่ 9 พฤษภาคม

อย่างไรก็ตาม หากฟังจากการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่พูดทำนองว่าอยากให้เข้าใจและเห็นใจการทำงานของ กกต. เพราะการจัดการเลือกตั้ง 350 เขต มีหน่วยเลือกตั้งมากกว่า 90,000 หน่วย มีกรรมการประจำหน่วยหลายแสนคน รวมถึงการรายงานผลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่มุ่งเรื่องความรวดเร็ว แต่อาจมีปัญหาเรื่องความถูกต้องแม่นยำ โอกาสที่จะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ ความน่าจะเป็นของเรื่องนี้น่าจะให้น้ำหนักไปทางไม่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดมากกว่า

ดูจากรูปการณ์แล้วก็พอจะเดาๆกันได้ว่าโอกาสที่การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นโมฆะนั้นเป็นไปได้ยากมาก เรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อคงจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะคำตัดสินถือเป็นที่สุด

ผูกพันทุกองค์กร แถมวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ กกต. ก็สบายใจ เพราะเมื่อมีคำตัดสินแล้วใครจะไปฟ้องร้องภายหลังไม่ได้ เพราะมีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญเป็นเกราะคุ้มกันอยู่


You must be logged in to post a comment Login