วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

ตั้งรัฐบาลไม่เสร็จก่อนมิถุนายนจีดีพีโตแค่ 3.2%

On April 3, 2019

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวในงานเสวนาจับอุณหภูมิเศรษฐกิจไทยหลังเลือกตั้งว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจ ไทยขยายตัว (จีดีพี) ปีนี้ลงเหลือ 3.7% จากเดิมที่ 4.0% และมีกรอบคาดการณ์ใหม่ที่ 3.20-3.90% เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ไม่ว่าจะมีองค์ประกอบรูปแบบรัฐบาลผสมแบบใด ต่างก็ต้องเผชิญโจทย์การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่กระทบภาคการส่งออกทั้งสิ้น ทำให้รัฐบาลใหม่ต้องผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนภายใต้กรอบงบประมาณปี 2562 รวมถึงการผ่านร่างงบประมาณปี 2563 โดยเร็ว ซึ่งหากการจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จได้ภายในเดือน มิ.ย.2562 และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาตามคาด ก็จะช่วยหนุนการบริโภคครัวเรือนได้ราว 0.2-0.4% ของจีดีพี

“การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงในครั้งนี้ สะท้อนจากการส่งออกที่มีแนวโน้มอ่อนแรงลง ตามผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทย แม้ว่าประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะมีพัฒนาการที่ดีกว่าเดิม โดยปรับลดคาดการณ์การขยายตัวการส่งออกในปีนี้ จากเดิม 4.5% เหลือ 3.2% และปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของการนำเข้าจากเดิม 5.3% เหลือ 4.3%”

ทั้งนี้ มาตรการเร่งด่วน ที่คาดว่ารัฐบาลใหม่จะนำมากระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ 1.มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมาย 15.6 ล้านคน 2.เพิ่ม สวัสดิการผู้มีรายได้น้อย 14.5 ล้านคน 3.มาตรการหักลดหย่อนภาษี 10.3 ล้านคน ซึ่งทั้ง 3 มาตรการสามารถดำเนินการได้ทันที ซึ่งจะทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังดีกว่าครึ่งปีแรก

แต่หากจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ล่าช้ากว่าเดือน มิ.ย.2562 หรือไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และการส่งออกขยายตัวได้ต่ำกว่า 2.5% เศรษฐกิจไทยในปีนี้อาจเติบโตเพียง 3.2%

สำหรับแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าจะทรงตัวตลอดทั้งปีที่ระดับ 1.75% เนื่องจากสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีอยู่มาก และการปล่อยสินเชื่อที่ยังค่อยเป็นค่อยไป ทำให้การแข่งขันด้านอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ยังไม่รุนแรง ประกอบกับธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด อาจลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปีนี้

ส่วนทิศทางค่าเงินบาท คาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบประมาณ 31.20 – 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปัจจัยติดตามยังเป็นปัจจัยในประเทศ ทั้งสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจไทย

นอกจากนั้น จากการสำรวจความเห็นของภาคประชาชนและภาคธุรกิจในช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้ง พบว่า ประชาชน 47.5% เห็นว่าความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจหลังเลือกตั้งมีเพิ่มขึ้น โดยในจำนวนดังกล่าว พบว่า 50.6% คาดหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและนำไปสู่เศรษฐกิจที่ดีขึ้น 19% มองว่าการเมืองมีเสถียรภาพจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้มีการลงทุนเพิ่ม ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ และ 18.7% มองว่านโยบายหาเสียงของพรรคที่ได้รับการเลือกตั้ง จะช่วยให้ปัญหาปากท้องได้รับการแก้ไข ขณะที่ประชาชน 35.7% ของผลสำรวจ มีความเห็นต่างโดยระบุว่า หลังเลือกตั้งความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจลดลง โดย 36.8% กังวล
เกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมือง 24.1% กังวลว่าจะนำนโยบายหาเสียงมาทำได้จริงหรือไม่ และอีก 15.3% ระบุว่านโยบายหาเสียงบางส่วนไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจไทย ส่วนกลุ่มที่มีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจเท่าเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงมีสัดส่วน 16.8% ของผลสำรวจ.


You must be logged in to post a comment Login