วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

สจล.จัดนิทรรศการ “ขุมทรัพย์ความรู้..รถไฟความเร็วสูง” พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง

On March 30, 2019

วันนี้ (30 มี.ค.) ที่ ห้องโถงกลางอาคารคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระ   จอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ผศ.ดร.ชลิดา อู่ตะเภา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อม และผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สจล. เป็นประธานกล่าวเปิดงานนิทรรศการ “ขุมทรัพย์ความรู้…รถไฟความเร็วสูง” โดยศูนย์วิจัยพัฒนา ทดสอบ และถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟ  ความเร็วสูงของประเทศไทย (M2RC) สจล. จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 30-31 มี.ค. 62 เพื่อถ่ายทอดความรู้และทักษะด้านระบบรางและระบบที่เกี่ยวข้อง ให้มีศักยภาพ เทียบเท่ามาตรฐานสากลหรือ ต่างประเทศ เพื่อลดการจ้าง ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ  ทั้งนี้ภายในงานได้มีการบรรยายหัวข้อ เกี่ยวกับ “การตรวจสอบระบบ รางรถไฟความเร็วสูงด้วยวิธีการทดลองแบบไม่ทำลาย” ผลกระทบของรถไฟความเร็วสูงต่อระบบส่งจ่ายไฟฟ้า และ อิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงแรงดันน้ำในดินต่อ การใช้งานและความเสถียรของคันดินทางรถไฟ

2

ผศ.ดร.ชลิดา กล่าวว่าตามที่นโยบายรัฐบาลได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟระหว่าง ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน เส้นทางกรุงเทพ-หนองคาย ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อ เส้นทาง การคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และจีน ก่อให้เกิด ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว สอดรับกับนโยบาย One belt One Road ของจีน โดยประเทศไทยจะเป็นผู้ลงทุน รวมทั้งเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินงานจากรถไฟความเร็วปานกลาง เป็นรถไฟความเร็วสูง ที่ 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยเส้นทางช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมาจะดำเนินการก่อนเป็นลำดับแรก จากนั้นจะขยายต่อจนถึงหนองคาย เพื่อเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟของลาว และ จีนต่อไป

ผศ.ดร.ชลิดา  กล่าวว่า จากนโยบายดังกล่าว สจล. ซึ่งมีพันธกิจ 3 ด้าน คือ สอน วิจัย และบริการวิชาการ ได้เห็นถึงความสำคัญ และต้องการที่จะขอรับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินงาน โครงการศูนย์วิจัยพัฒนา ทดสอบ และถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของไทย (M2RC) เนื่องจากเป็นโครงการที่ดำเนินการโดยมีการเรียนรู้จากโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ด้วยการถ่ายทอดและสร้างประสบการณ์จากการใช้เทคโนโลยีต่างประเทศ เพื่อสร้างองค์ความรู้และพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง สู่การพึ่งพาตนเองในอนาคตได้ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยต้องเร่งดำเนินการสร้างองค์ความรู้และพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องด้วยตนเอง ลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ เป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยศึกษาตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ เกาหลีใต้ มาเลเซีย ซึ่งใช้กลไกทางพันธสัญญาในการจัดซื้อโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ในรูปแบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อสร้างองค์ความรู้ของตนเองในอนาคต

3

ผศ.ดร.ชลิดา กล่าวอีกว่า จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า กรณีของไทย จะมีความคล้ายคลึงกับประเทศมาเลเซีย คือ สามารถนำลักษณะของ Offset Program มาใช้ในการบริหารโครงการ สิ่งสำคัญ สำหรับประเทศที่ไม่ได้สะสมองค์ความรู้ คือ จะต้องมีหน่วยงานกลางเป็นเจ้าภาพทำหน้าที่บริหารจัดการ ถ่ายทอดเทคโนโลยี พัฒนาอุตสาหกรรม การวิจัยและพัฒนา มาตรฐานและการทดสอบ และการพัฒนาบุคลากร

ประกอบกับนโยบายในการลงทุนและพัฒนาระบบรางของรัฐบาล ซึ่งประกอบไปด้วยการลงทุนก่อสร้างในระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑล การลงทุนก่อสร้างรถไฟรางคู่ระหว่างเมือง และรถไฟความเร็วสูงระหว่างเมือง ทำให้ประเทศไทยต้องการกำลังคนที่มีทักษะในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับระบบรางตั้งแต่การวางแผนโครงข่าย การออกแบบด้านวิศวกรรม การวิจัย และผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนต่างๆ ของระบบราง การก่อสร้างและติดตั้ง ทั้งด้านโยธา งานระบบราง การบำรุงรักษาทั้งระบบ ในโครงการรถไฟที่รัฐบาลจะลงทุน

4

​ผศ.ดร.ชลิดา กล่าวว่า  สจล.มีความพร้อมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของไทย เนื่องจากมีการเรียนการสอน หลักสูตรวิศวกรรมระบบราง มีบุคลากรที่มีศักยภาพด้านระบบรางวิศวกรรมโยธา เครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ในด้านโครงสร้างพื้นฐานในงานโยธา ระบบเครื่องกลและระบบไฟฟ้า รวมทั้งพื้นที่สถาบันมีความเหมาะสม เพราะตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟพระจอมเกล้า (สายตะวันออก) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และแอร์พอร์ตเรียลลิงค์ ซึ่งมีความสะดวกในการขนส่งอุปกรณ์หรือเครื่องมือหรือสินค้า ที่จะนำมาทดสอบระบบได้ และโครงการนี้ยังมีสถาบันอุดมศึกษาพันธมิตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน


You must be logged in to post a comment Login