วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

วิถีนักปกครอง … วิถีแห่งการสนับสนุนและส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

On March 23, 2019

“รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ การจัดทำบริการสาธารณะทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมตลอดทั้งการตัดสินใจทางการเมือง และการอื่นใดบรรดาที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชนหรือชุมชน” … มาตรา 78 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

2

ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2559 กำหนดภารกิจหน้าที่ของกรมการปกครองไว้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นภารกิจเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายในประเทศ การอำนวยความเป็นธรรม การปกครองท้องที่ การอาสารักษาดินแดน และการทะเบียนนอกจากนี้ ภารกิจประการสำคัญ นั่นคือ การสนับสนุนและส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้งทุกระดับ กล่าวได้ว่า เป็นภารกิจหน้าที่ซึ่งข้าราชการฝ่ายปกครองล้วนตระหนัก และปฏิบัติอย่างต่อเนื่องตลอดมา

3

ทั้งนี้ พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562
มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2562 และคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 นั้น กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีภารกิจหน้าที่ในการสนับสนุนและส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้งทุกระดับนั้น ถือได้ว่าบุคลากรฝ่ายปกครองทุกภาคส่วน เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการสนับสนุนการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สุจริต เที่ยงธรรม และเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย

4

ในห้วงก่อนการเลือกตั้ง กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครองได้ซักซ้อมแนวทางในการเตรียมความพร้อมสนับสนุนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 เพื่อทำความเข้าใจระหว่างหน่วยงานหลักทั้งผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารของกรมการปกครอง และผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลให้การสนับสนุนการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป โดยเน้นย้ำถึงแนวทาง กฎระเบียบต่างๆ ในการเลือกตั้ง บทบาทหน้าที่ของราชการต่อการเลือกตั้ง ส.ส. ตลอดจนแนวทางการดำเนินการร่วมกันระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้งและกระทรวงมหาดไทย รวมถึงรายละเอียดการเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง ส.ส. ในบทบาทของจังหวัด อำเภอ และเขตของกรุงเทพมหานคร

5

ทั้งนี้ ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมการปกครองนั้นครอบคลุมการปฏิบัติในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านการทะเบียนราษฎร ทั้งในการรับลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งและนอกราชอาณาจักร การพิมพ์บัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การรับคำร้องเพิ่มชื่อ – ถอนชื่อในบัญชีรายชื่อ รวมไปถึงการรับแจ้งเหตุที่ทำให้ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เป็นต้น นอกจากนี้ภารกิจของฝ่ายปกครอง ยังรวมไปถึงการบริหารจัดการเลือกตั้ง ซึ่งในทุกจังหวัดและอำเภอจะมีการตั้งศูนย์สนับสนุนและประสานงานการเลือกตั้งระดับจังหวัดและอำเภอ ทั้งนี้ บุคลากรในสังกัดจึงเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง หรือเป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขต หรือผู้ช่วยเหลือการปฏิบัติงาน/กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ตามที่ กกต. ร้องขอหรือทาบทาม

6

อย่างไรก็ตาม ในการจัดการเลือกตั้งนั้น องค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้อีกประการหนึ่ง คือ การรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งในครั้งนี้ กำหนดให้มีการจัดทำแผนเผชิญเหตุ รวมทั้งการซักซ้อมแผน การติดตามข่าวสารและสถานการณ์ในพื้นที่อย่างจริงจัง โดยบูรณาการหน่วยงานสนับสนุนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น ทหาร ตำรวจ หรือหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยในการอำนวยการการเลือกตั้ง หากเกิดเหตุต่างๆ สามารถบริหารจัดการได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างเครือข่ายทั้งส่วนกลางและภูมิภาคทั่วประเทศ

7

ชัดเจนว่า บุคลากรฝ่ายปกครองทุกภาคส่วนล้วนตระหนักถึงความสำคัญและมีส่วนร่วมในการสนับสนุนคณะกรรมการเลือกตั้งในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ด้วยเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่ง ทั้งในภารกิจที่ได้รับการร้องขอจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ภารกิจตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยและกรมการปกครอง หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ผ่านกลไกองค์กรเครือข่ายต่างๆ ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการหมู่บ้าน กลุ่มสตรี อาสาสมัครกลุ่มต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งมีตัวชี้วัดคือ ผู้มาใช้สิทธิ์ ร้อยละ 80 และมีบัตรเสีย ไม่เกินร้อยละ 2 นั่นเอง

8

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่การสนับสนุนการเลือกตั้งทุกระดับ แต่ยังรวมไปถึงการสนับสนุนและส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยด้วย ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ถึงปัจจุบัน โดยการจัดกิจกรรมต่อยอดการดำเนินงานตามโครงการส่งเสริมวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป้าหมายสำคัญ คือการสร้างการตระหนักรู้ถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามหลักการสำคัญ 4 ประการ คือ หลักที่ 1 การยึดหลักกฎหมาย หลักที่ 2 การยึดหลักเสียงข้างมากที่ชอบธรรมและรับฟังเหตุผลของเสียงข้างน้อย หลักที่ 3 มีความรับผิดชอบและเสียสละเพื่อส่วนรวม และหลักที่ 4 การมีส่วนร่วมกิจกรรมทางสังคมและการเมือง ปัจจุบันมีอาสาสมัครต้นแบบประชาธิปไตยทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ มุ่งหวังให้เป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิตแบบประชาธิปไตย เป็นผู้นำในการจัดกิจกรรมส่งเสริมวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยระดับหมู่บ้าน ผลักดันประชาชนในพื้นที่ให้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ส่งเสริมให้สังคมระดับฐานรากมีความเข้าใจและมีความเข้มแข็งทางความคิด และนำไปปรับใช้ในวิถีชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้อง สามารถขยายผลสู่ระดับต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

1

อาจกล่าวได้ว่า 7 ปีที่ไทยห่างร้างจากการเลือกตั้ง เป็นช่วงเวลาแห่งการเฝ้ารอและคาดหวังถึงวิถีชีวิตในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กับการเลือกตั้งครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาที่ผ่านมา นักปกครองทุกภาคส่วนต่างเป็นกำลังหนุนที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนวิถีชีวิตในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยการปรับประยุกต์ตามวิถีชีวิตของประชาชนในแต่ละพื้นที่ ขับเคลื่อนด้วยการผสมผสานอย่างกลมกลืน สร้างสรรค์ นำไปสู่วิถีวิชีวิตตามหลักประชาธิปไตยเพื่อความปรองดองสมานฉันท์และการพัฒนาในทุกมิติอย่างยั่งยืนต่อไป

 

 


You must be logged in to post a comment Login